สมถภาวนาโดยนัยของสติปัฏฐาน - เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย

 
phawinee
วันที่  15 พ.ค. 2557
หมายเลข  24861
อ่าน  1,202

ขออนุญาตส่งต่อขอความรู้จากท่านอาจารย์ด้วยค่ะ ซึ่งเป็นคำถามจากเพื่อนสหายธรรมค่ะ (ขอบพระคุณค่ะ)

"ผมเข้าใจว่าการเจริญวิปัสสนาก็มีทั้งสมถะเกิดร่วมด้วย เกิดพร้อมกันกับวิปัสสนา ในฝ่ายของสมถะก็มีสัมมาสติ สัมมาสมาธิ และสัมมาวายามะ และฝ่ายของวิปัสนาก็มีสัมมาทิฏฐิและสัมมากัปปะ ไม่ทราบว่าผมเข้าใจถูกต้องหรือไม่ครับ ช่วยอธิบายเพิ่มเติมด้วยครับ ขอบพระคุณครับ"


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 15 พ.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ประโยชน์จริงๆ คือ ความเข้าใจถูก การอบรมเจริญสมถภาวนา เป็นอย่างหนึ่ง การอบรมเจริญปัญญาที่เป็นวิปัสสนาภาวนา ก็เป็นอย่างหนึ่ง แยกกัน ไม่ใช่อย่างเดียวกัน

ภาวนาทั้งสองอย่าง คือ สมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา (สติปัฏฐาน) เป็นเรื่องของปัญญาทั้งหมด ถ้าไม่มีปัญญาก็ไม่ใช่สมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา, สมถภาวนา เป็นการอบรมเจริญกุศลที่สามารถทำให้นิวรณ์ซึ่งเป็นอกุศลธรรมทั้งปวง มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น นั้น สงบระงับ ซึ่งผู้อบรมนั้นจะต้องเป็นผู้มีปัญญาที่รู้ความต่างระหว่างอกุศล กับ กุศล เห็นโทษของอกุศลธรรมประการต่างๆ จึงจะเจริญได้ และในขณะนั้นก็จะต้องมีอารมณ์ของสมถภาวนาที่จะทำให้จิตสงบจากอกุศลธรรม ซึ่งผู้เจริญจะต้องมีความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวนี้ด้วย เมื่ออบรมเจริญกุศลประเภทนี้เพิ่มขึ้นๆ ก็จะเป็นเหตุให้อกุศลจิตไม่สามารถเกิดแทรกคั่นได้ เมื่ออบรมเจริญความสงบเมื่อจิตสงบมั่นคงขึ้นแล้ว ก็จะสามารถบรรลุถึงอัปปนาสมาธิ ซึ่งเป็นฌานจิตขั้นต่างๆ แต่การบรรลุฌานจิตนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก แม้ในสมัยพุทธกาลผู้ที่บรรลุเป็นพระอริยบุคคลโดยที่ไม่ได้ฌาน มีมากกว่าผู้ที่ได้ฌาน ซึ่งเห็นได้ว่าการเจริญสมถภาวนาทำให้จิตสงบได้ระงับอกุศลได้เพียงชั่วคราว แต่ละอนุสัยกิเลส อันเป็นพื้ชเชื้อของกิเลสไม่ได้เลย เมื่อใดฌานจิตไม่เกิด โลภะ โทสะ โมหะ ก็เกิดอีกได้ ผู้ที่เจริญสมถภาวนา (โดยที่ไม่ได้อบรมเจริญวิปัสสนา) ไม่สามารถจะละความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนสัตว์ บุคคลได้ และตราบใดที่ยังมีความเห็นผิดว่ามีตัวตนอยู่ ก็จะละกิเลสให้หมดสิ้นไปไม่ได้เลย ถึงแม้จะได้ฌานขั้นต่างๆ แต่ถ้าไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็ไม่สามารถที่รู้ฌานจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ตามความเป็นจริงได้เลย ซึ่งจะต่างจากผู้ที่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน การอบรมเจริญสติปัฏฐานหรือวิปัสสนาภาวนาเท่านั้น ที่จะเป็นไปเพื่อการดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงไม่เกิดอีกเลย ซึ่งเป็นทางเดียวที่ทำให้สัตว์ดำเนินไปถึงซึ่งการพ้นจากทุกข์ได้จริง เป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏตามความเป็นจริง ในขณะที่สติปัฏฐานเกิด ในชีวิตประจำวันนั้น มรรคมีองค์ ๕ ก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของตน กล่าวคือ สัมมาทิฏฐิ (ปัญญาเจตสิก) ทำกิจหน้าที่เห็นตามความเป็นจริงในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ สัมมาสังกัปปะ (วิตักกเจตสิก) ก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ตรึกหรือจรดในอารมณ์ เพื่อสติจะได้ระลึกและปัญญารู้ตามความเป็นจริง สัมมาสติ (สติเจตสิก) ระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรม หรือ นามธรรมที่กำลังปรากฏ สัมมาวายามะ (วิริยเจตสิก) เพียรระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง สัมมาสมาธิ (เอกัคคตเจตสิก) ก็ตั้งมั่นในอารมณ์ที่กำลังปรากฏเพื่อปัญญาจะได้รู้ตามความเป็นจริง และถ้ามีวิรตีเจตสิกหนึ่งเจตสิกใด เกิดร่วมด้วย ก็เป็นมรรคมีองค์ ๖ และมรรคทั้งแปดองค์ ก็เกิดร่วมกันเมื่อเป็นโลกุตตระ ขณะที่มรรคจิต ผลจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์เดียวกัน คือ พระนิพพาน ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ต้องเริ่มจากการสะสมปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ ยังคงไม่ต้องกล่าวถึงสติปัฏฐานก็ได้ ขณะนี้มีธรรมอะไรบ้าง ที่ควรรู้ควรศึกษาให้เข้าใจ เมื่อฟังในเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงบ่อยๆ เนืองๆ ก็จะเป็นเหตุให้สติเกิดขึ้นระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนั้นได้ซึ่งเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น สิ่งสำคัญ คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูก ตั้งแต่ต้น

จากประเด็นคำถาม นั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มรรค มีองค์ ๘ เป็นองค์ของสมถะ คือ สภาพธรรมที่สงบจากกิเลส ก็มี และ องค์แห่งปัญญา ที่เป็นวิปัสสนา ก็มี โดยที่ฝ่ายสมถะ มี ๖ ประเภท คือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ส่วนองค์ของปัญญาหรือวิปัสสนา มี ๒ คือ สัมมาทิฏฐิ กับ สัมมาสังกัปปะ ดังนั้น ในขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นสติปัฏฐาน มรรค องค์ต่างๆ ก็เกิดพร้อมกัน ในขณะนั้น มีปัญญาที่เข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง มีสัมมาสังกัปปะ ที่ตรึกหรือจรดในอารมณ์ที่เป็นที่ตั้งให้ปัญญารู้ตามความเป็นจริง ก็เป็นฝ่ายของปัญญา ส่วนมรรคองค์อื่นๆ ก็เป็นองค์ของสมถะ ถ้ายังไม่ถึงขั้นที่เป็นโลกุตตระ มรรคจะไม่เกิดพร้อมกันทั้ง ๘ องค์ โดยปกติจึงเป็นมรรคมีองค์ ๕ หรือ ถ้ามีวิรตีเจตสิกดวงหนึ่งดวงใดเกิดด้วยก็เป็นมรรคมีองค์ ๖ ดังนั้น ในประเด็นคำถาม มุ่งถึงขณะที่สติปัฏฐานเกิด มรรคมีองค์ ๕ เกิดขึ้น สัมมาทิฏฐิ กับ สัมมาสังกัปปะ เป็นองค์ของปัญญา ส่วนอีก ๓ ประเภท คือ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ เป็นองค์ของสมถะ จึงเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 15 พ.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้ง ผู้ที่ศึกษาพระธรรมโดยละเอียดรอบคอบย่อมได้สาระจากพระธรรมวินัย

โดยมากจะเข้าใจกันว่า การเจริญสติปัฏฐาน จะต้องเจริญสมถภาวนาก่อน คือ อบรมให้ได้ฌานจึงจะเจริญสติปัฏฐานได้ ดังนั้นเรามาเข้าใจคำว่า สมถะที่ควบคู่กับการเจริญวิปัสสนา คือ อย่างไรครับ

สมถะ กับสมถกรรมฐาน (สมถภาวนา) ไม่เหมือนกันนะครับ ต้องเข้าใจตรงนี้ก่อน สมถะหมายถึงสภาพธรรมที่สงบ สงบจากกิเลส ส่วนสมถภาวนาหมายถึงการอบรมเจริญความสงบจากกิเลส มีการเจริญพุทธานุสสติ เป็นต้น จะเห็นนะครับว่าต่างกัน สมถะ คือ สภาพธรรมที่สงบจากกิเลสขณะนั้น คำถามจึงมีว่าจำเป็นไหมจะต้องเจริญสมถภาวนาก่อนถึงจะเจริญวิปัสสนาได้ คำตอบคือไม่จำเป็น เพราะ สมถภาวนาและวิปัสสนานั้นเป็นคนละส่วน แยกกันเลยครับ ผู้ที่อบรมสมถภาวนา เช่น เจริญฌาน แต่ไม่มีความเข้าใจในเรื่องการเจริญวิปัสสนา หรือ หนทางการรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ แม้จะได้ฌาน แต่ก็ไม่สามารถที่จะรู้ความจริง และไม่มีทางบรรลุธรรมได้เลยครับ ดังเช่น พวกฤาษี ดาบส อาจารย์พระโพธิสัตว์ มี อาฬารดาบส อุททกดาบส ก็อบรมสมถภาวนา ได้ฌานแต่ไม่รู้หนทางการดับกิเลส ไม่เข้าใจการเจริญวิปัสสนา ก็ไม่บรรลุอะไรเลยครับ แต่ผู้ที่อบรมเจริญวิปัสสนาอย่างเดียว แต่ไม่ได้อบรมสมถภาวนา ได้บรรลุธรรมมีไหมครับ คำตอบ คือ มี มีมากด้วยครับ ดังเช่น นางวิสาขา ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านบรรลุธรรม โดยการเจริญสมถภาวนาก่อนไหมครับ คำตอบคือไม่ แต่ท่านฟังพระธรรม จากพระพุทธเจ้า ปัญญาที่เคยสะสม การเจริญวิปัสสนา หรือการรู้ความจริงในสภาพธรรมในอดีตชาติ ก็เกิดขึ้นรู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไมใช่เรา ทำให้เห็นถึงความไม่เที่ยงของสภาพธรรมและเป็นอนัตตาครับ ซึ่งการเจริญสมถภาวนาไม่สามารถรู้ความจริงเช่นนี้ได้เลยครับ

ได้อธิบายแล้วว่า สมถะ กับ สมถภาวนานั้นต่างกัน สมถะ หมายถึง สภาพธรรมที่สงบจากกิเลส ซึ่งพระพุทธเจ้าได้แสดงองค์ของ สมถะ และวิปัสสนาว่าเป็นอย่างไรบ้างดังนี้

มรรค มี องค์ 8 มี สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติและสัมมาสมาธิ นี่คือการเจริญมรรค อันเป็นหนทางดับกิเลส คือวิปัสสนานั่นเองครับ คำถามมีว่า มรรคมีองค์ 8 มีสมถะหรือเปล่าครับ หรือ มีแต่วิปัสสนาอย่างเดียว คำตอบคือ มีทั้ง องค์ธรรมของสมถะ และมีวิปัสสนาด้วย พระพุทธเจ้าแสดงธรรมที่เป็นคู่กันในการอบรมปัญญา คือ สมถะและวิปัสสนา ดังนั้นในอริยมรรคมีองค์ 8 ตามที่กล่าวมามีทั้งสมถะและวิปัสสนาด้วย มีอย่างไร พระพุทธเจ้า แสดงว่า ฝ่ายของวิปัสสนา มี 2 อย่างคือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ นี่คือฝ่ายวิปัสสนา ส่วน 6 ประการหลังคือ สัมมาวาจา...สัมมาสมาธิ เป็นฝักฝ่ายของสมถะนั่นเองครับ

แม้ขณะที่เจริญวิปัสสนา เจริญมรรค อย่างเดียว ไม่ได้เจริญสมถภาวนาก่อน หรือไม่ได้เจริญสมถภาวนาเลย ขณะที่เจริญวิปัสสนาอย่างเดียวก็มีทั้งสมถะและวิปัสสนาเกิดพร้อมกันอยู่แล้วครับ ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ขณะนั้นมีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ เกิดพร้อมกัน ถามว่ามีสมถะไหมในขณะนั้น มีครับ คือ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ เป็นฝักฝ่ายของสมถะ คือ สภาพธรรมที่สงบจากกิเลส และมีฝักฝ่ายวิปัสสนาในขณะนั้นด้วย คือ สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ....มรรคหรือสติปัฏฐาน เป็นทั้งสมถและวิปัสนนา

จะเห็นนะครับว่าขณะที่สติปัฏฐานเกิด ที่เป็นการเจริญวิปัสสนาอย่างเดียว มีทั้ง สมถะและวิปัสสนาเกิดพร้อมกันอยู่แล้ว ดังนั้นจะต้องเข้าใจใหม่ว่า จะต้องไปทำสมถภาวนาก่อนถึงจะเจริญวิปัสสนาภาวนาได้ อันนี้ไม่ใช่ครับ เพราะเราจะต้องเข้าใจคำพูดที่ว่าธรรมที่เป็นคู่กัน คือ สมถะและวิปัสสนา สมถะในที่นี้ไมได้มุ่งหมายถึงการเจริญฌานเท่านั้น สมถะในที่นี้ มุ่งหมายถึงสภาพธรรมที่สงบ เป็นฝักฝ่ายสมถะ ก็เกิดอยู่แล้วในขณะเจริญวิปัสสนา ฝักฝ่ายสมถะก็คือสัมมาวายามะ สัมมาสติและสัมมาสมาธิครับ

ตามที่กล่าวแล้ว สมถะ หมายถึง ความสงบจากกิเลสด้วย ดังนั้นขณะที่สติปัฏฐานเกิด เจริญวิปัสสนา ขณะนั้นจิตก็สงบจากกิเลสด้วยในขณะนั้น จึงเป็นทั้ง สมถะและวิปัสสนาในขณะี่ที่สติปัฏฐานเกิดครับ

ดังนั้น การเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องของสติและปัญญาเป็นสำคัญ ไม่ใช่เรื่องของสมาธิ ดังเช่น อริยมรรคมีองค์ 8 สำคัญคือ เริ่มที่ สัมมาทิฏฐิก่อน คือ ปัญญา ความเห็นถูก หากมีสมาธิดี แต่ไม่ไ่ด้เข้าใจการเจริญวิปัสสนา ไม่มีปัญญาที่เป็นการเจริญวิปัสสนา ก็ไม่สามารถที่จะเจริญวิปัสสนาได้เลย ดังนั้น การเจริญวิปัสสนาที่ดีได้ ไม่ใช่อยู่ที่สมาธิ แต่อยู่ที่ปัญญาครับ และผู้ที่ไม่ไ่ด้เจริญสมถภาวนา หรือ ไม่ได้ฌาน แต่เจริญวิปัสสนาอย่างเดียว และได้บรรลุธรรมีมากมาย นับไม่ถ้วน ซึ่งขณะที่เจริญวิปัสสนานั้น จะเป็นสมาธิที่ตั้งมั่นได้ฌานไม่ได้ ต้องเป็นขณิกสมาธิเสมอ คือ สมาธิชั่วขณะ ครับ ดังนั้น ปัญญา จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ไม่ใช่สมาธิครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
phawinee
วันที่ 19 พ.ค. 2557

ขอบพระคุณค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ