เราอยู่กับธรรม แต่หลงไปกับเรื่องราว

 
papon
วันที่  22 เม.ย. 2557
หมายเลข  24750
อ่าน  1,040

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

"เราอยู่กับธรรม แต่หลงไปกับเรื่องราว" พจนาของท่านอาจารย์ในพระอภิธรรมพื้นฐานตอนที่ 255

ขอความกรุณาอาจารย์ช่วยแปลเพื่อความกระจ่างด้วยครับ ขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 22 เม.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขณะนี้ ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่มีจริงที่กำลังมีกำลังปรากฏในชีวิตประจำวัน ทั้งเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัส สี เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส และคิดนึก ก็ไม่พ้นจากจิต เจตสิก ไม่พ้นจากสภาพธรรมทั้งนั้นที่มีในชีวิตประจำวัน แต่เพราะไม่มีปัญญา ซึ่งสภาพธรรมที่หลง เรียกว่า โมหะ คือ หลง ไม่รู้ความจริง จึงเพลินไปกับเรื่องราว คือ เห็นเป็นสัตว์ บุคคล คิดนึกเป็นเรื่องราวต่างๆ และก็หลงยึดถือว่ามีเรา มีสัตว์ บุคคล เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่ไม่หลง คือ ปัญญา ที่รู้ความจริงของสภาพธรรมว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา แต่ต้องเริ่มจากการฟังให้เข้าใจ ที่เข้าใจถูกว่าเป็นแต่เพียงธรรม ซึ่งให้เข้าใจว่าเป็นปกติ ที่จะต้องหลงเพลินไปกับเรื่องราว แม้จะมีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ จนกว่า ปัญญาเกิด ก็ค่อยๆ รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในชีวิตประจำวันได้ ครับ

ขอเชิญอ่านคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ได้ที่นี่ ครับ

หาแต่เรื่องราวจนลืมสภาพธรรม

มธุรส จิตที่เกิดดับแต่ละขณะ นอกจากปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ปุถุชนจะรู้ได้เฉพาะการเรียนและเข้าใจแค่นั้น แต่ทำไมเวลาที่เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต ทำไมเราถึงสามารถระลึกรู้ได้ ไม่ทราบจะอธิบายด้วยเหตุผลอย่างไรคะ

สุ. ก่อนประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม ต้องระลึกก่อนใช่ไหมคะ เพราะว่ามีตัวจริงๆ ขณะนี้ เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจขณะที่สติสัมปชัญญะเกิดว่า ไม่ใช่สมาธิ ไม่ใช่เจตนา เพราะฉะนั้นเราจึงต้องเรียนเรื่องลักษณะของสติ และสติก็มีหลายขั้น ถ้าสติที่เป็นสติสัมปชัญญะ ตามปกติ ตามรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามปกติ นิดเดียว เพราะเหตุว่าแข็งปรากฏ ปกติไม่เคยระลึกตรงแข็ง ก็คิดเรื่องราวต่างๆ ไปเลย แต่ขณะนี้ อย่างนี้ สติเกิดระลึกที่แข็ง ได้ ลักษณะแข็งปรากฏกับกายวิญญาณ และปรากฏกับสติด้วย เพราะถ้าไม่มีกายวิญญาณ แข็งจะปรากฏได้ไหมคะ ไม่ได้ แต่เมื่อแข็งเกิดแล้วเป็นปกติ ไม่เคยมีสติระลึกตรงนั้น

เพราะฉะนั้นเวลาที่แข็งปรากฏตามปกติ สติก็ระลึกที่แข็งตามปกตินั่นแหละ และค่อยๆ เข้าใจลักษณะที่แข็งต่างกับสภาพที่กำลังรู้ลักษณะที่แข็ง ก็เป็นสิ่งที่ความกินเวลา ทำให้ดูเหมือนกับว่า แล้วเมื่อไร แล้วอย่างไร ก็เป็นอย่างนี้ ระลึกอีกก็เป็นอย่างนี้ ระลึกอีกก็เป็นอย่างนี้ จะให้เป็นอย่างอื่นได้อย่างไร

การจับด้ามมีด จับทีเดียวสึก เป็นไปไม่ได้เลย แต่อาศัยการจับบ่อยๆ ก็สึกได้ฉันใด เวลาที่สติปัฏฐานเกิด คนนั้นก็เริ่มเข้าใจ เพราะต้องมีปัญญาเกิดร่วมด้วย รู้ว่าขณะนั้นเป็นสติ ไม่ใช่เรา ต่างกับขณะที่หลงลืมสติ แต่เป็นขั้นที่เพียงเริ่มเข้าใจความต่างของสติสัมปชัญญะกับสติขั้นอื่น

มธุรส ในความหมายของหนูก็คือว่า อย่างเช่น สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ หรือว่าทวิปัญจวิญญาณ ปุถุชนคงไม่สามารถเห็นได้ ใช่ไหมคะ แต่ถ้าเป็นกุศล อกุศล เราจะระลึกและรู้ได้ ก็เลยสงสัยว่าเป็นเพราะอะไรคะ แต่ที่หนูคิด ไม่ทราบจะเกี่ยวกับเรื่องกำลัง หรือเพราะเกิดซ้ำกัน ๗ ขณะ ทำให้เรารู้สึกได้

สุ. ตอนนี้เราก็มาหาเรื่อง คือ กลับมาหาเรื่อง ทั้งๆ ที่สภาพธรรมกำลังปรากฏให้สติสัมปชัญญะระลึก เราก็กลับมาที่เรื่อง ใช่ไหมคะ

เพราะฉะนั้นเรารู้กำลังของเราว่า ขณะนี้เป็นธรรมก็ยังไม่รู้ว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้นการรู้ของเราก็ต้องตามลำดับตรงตามที่ศึกษา คือ รู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ที่มีลักษณะจริงๆ ปรากฏ อย่างเสียงก็มีลักษณะปรากฏความเป็นเสียง ลักษณะของเสียง ก็มีจริง ใช่ไหมคะ หรือว่าแข็งหรือว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาหรือคิดนึก ก็มีลักษณะจริงๆ ให้รู้ว่าเป็นสภาพธรรม

เพราะฉะนั้นเมื่อเรายังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งต่างกันเป็นนามธรรมและรูปธรรม แล้วเราไปคิดถึงสัมปฏิจฉันนะ คิดถึงปัญจทวาราวัชชนะ ขณะนั้นเราไปคิดเป็นเรื่องราว

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 22 เม.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ทุกขณะไม่พ้นไปจากธรรม ความคิดนึกถึงเรื่องราวต่างๆ นั้น ก็ต้องเข้าใจว่า ความคิดนึก มีจริง เรื่องราวไม่มีจริง ซึ่งผู้ที่เข้าใจถูกเห็นถูก ก็จะไม่เข้าใจผิดระหว่างความเป็นจริงของสภาพธรรมกับเรื่องราวต่างๆ ซึ่งก็เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ใครๆ ไม่สามารถที่จะห้ามความคิดนึกได้ เพราะเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย

คิดนึกเป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม ได้แก่ จิต และเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย ที่เป็นไปทางใจ เพราะตามปกติแล้ว จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทาง ๕ ทวาร ทวารหนึ่งทวารใด แล้วต่อด้วยวิถีจิตทางใจ โดยมีภวังคจิตคั่น นี้คือความเป็นจริงของธรรม หรือแม้ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้ลิ้มรส ไม่ได้ถูกต้องกระทบสัมผัส ก็คิดนึกได้ คิดถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เคยเห็นเคยได้ยิน เป็นต้น สภาพธรรมที่คิดมีจริง เรื่องที่คิดไม่มีจริง ไม่มีใครที่จะไปบังคับบัญชา ไม่ให้สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดเกิดขึ้นเป็นไปได้เลย เพราะธรรมเกิดเพราะเหตุปัจจัย ประโยชน์ที่ควรพิจารณาคือ เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด ก็ตาม ที่สำคัญต้องมีการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกไปเรื่อยๆ ไม่ขาดการฟังพระธรรม ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 22 เม.ย. 2557

หลงติดชื่อที่ไม่ใช่ตัวตน ว่าเป็นตัวตนจริงๆ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
h_peijen
วันที่ 22 เม.ย. 2557

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
h_peijen
วันที่ 22 เม.ย. 2557

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
pamali
วันที่ 23 เม.ย. 2557

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
papon
วันที่ 24 ธ.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
สิริพรรณ
วันที่ 24 ธ.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ