อยากทราบว่าพระสงฆ์ล้างเท้ามารดาผิดพระวินัย และชาวโลกติเตียนไหมครับ

 
สืบต่อพุทธ
วันที่  17 เม.ย. 2557
หมายเลข  24727
อ่าน  1,502

พระสงฆ์ล้างเท้ามารดาผิดพระวินัย หรือไม่ และชาวโลกติเตียนไหมครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 17 เม.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ มีความละเอียด คือ ละเอียดลงไปถึงใจที่เป็นสภาพธรรม ที่เป็นนามธรรม ที่ไม่สามารถเห็นด้วยตาเปล่า แต่เห็นด้วยตาปัญญา จึงมีความละเอียดลึกซึ้ง แม้แต่พระภิกษุ การจับต้องกายหญิง หากจับด้วยอำนาจความยินดีพอใจ ติดข้องกําหนัด ย่อมต้องอาบัติสังฆาทิเสส ถ้าพระภิกษุมีความยินดี เอาไม้เท้าไปถูกเสื้อของผู้หญิง หรือกระเป๋า เป็นอาบัติทุกกฏ ถ้าพระภิกษุมีความยินดีเอาไม้เท้าไปถูกเนื้อของผู้หญิง เป็นอาบัติถุลลัจจัย ถ้าพระภิกษุมีความยินดีเอามือไปจับเนื้อตัวผู้หญิง เป็นอาบัติสังฆาทิเสส ถ้าเสพเมถุนเป็นอาบัติปาราชิก

เพราะฉะนั้น หากไม่มีความยินดี กำหนัด ที่จงใจ จะไปจับมือมาตุคาม (ผู้หญิง) ก็ไม่ต้องอาบัติ เพราะ ไม่มีจิตยินดี จงใจจับต้อง ครับ

การถูกต้องกายหญิงที่เป็นมารดา พี่สาว น้องสาว ไม่เป็นอาบัติสังฆาทิเสส แต่เป็นอาบัติทุกกฏ เพราะการจับต้องกายหญิงด้วยความรักอาศัยเรือน คือ ด้วยความรักในฐานะของมารดา หรือ ด้วยความรักฉันน้องสาว - พี่สาว, หรือ แม้กระทั่ง ถ้าน้ำอสุจิเคลื่อน จากถูกต้องกายหญิงที่เป็นมารดา พี่สาว น้องสาว ก็ไม่เป็นอาบัติสังฆาทิเสส เพราะไม่มีจิตกำหนัด แต่ถ้ามีจิตกำหนัดแล้ว พยายามทำให้น้ำอสุจิเคลื่อน แล้วน้ำอสุจิเคลื่อน จึงเป็นอาบัติสังฆาทิเสส ดังข้อความจาก[เล่มที่ 3] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค-ทุติยภาค เล่ม ๑ ภาค ๓- หน้าที่ ๑๑๗

พึงทราบวินิจฉัยในความรักอาศัยเรือน ดังนี้:- เมื่อภิกษุลูบคลำและสวมกอดบ่อยๆ ซึ่งมารดาด้วยความรักฐานมารดาก็ดี ซึ่งพี่สาว น้องสาวด้วยความรักฉันพี่สาวน้องสาวก็ดี อสุจิเคลื่อน เป็นอนาบัติ แต่เป็นทุกกฎ เพราะถูกต้องด้วยความรักอาศัยเรือนเป็นปัจจัย. ถ้าหากว่า ภิกษุกำหนัดด้วยความรักอาศัยเรือนแล้วกลับยินดี พยายามที่นิมิตเพื่อต้องการจะปล่อย แล้วปล่อย เป็นสังฆาทิเสส.

------------

เพราะฉะนั้น ในความเป็นจริงไม่ควรไปจับต้องกายหญิงไม่ว่าใครเพราะอาจเกิดจิตที่ยินดีพอใจ เป็นอาบัติได้ จึงไม่ควรกระทำสิ่งเหล่านั้น ตามที่ผู้ถามยกตัวอย่างมา ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 17 เม.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระภิกษุ เป็นเพศบรรพชิต ซึ่งเป็นเพศที่สูงกว่าคฤหัสถ์ ผู้ที่จะบวชเป็นพระภิกษุนั้น ท่านเป็นผู้ที่เห็นโทษเห็นภัยของอกุศล เห็นโทษเห็นภัยของการอยู่ครองเรือนว่าเป็นที่หลั่งไหลมาของอกุศลประการต่างๆ มากมาย เมื่อบวชแล้ว มีความจริงใจที่จะศึกษาพระธรรมวินัย ซึ่งเป็นคำสอนของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วน้อมประพฤติปฏิบัติตาม เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

ความเป็นบรรพชิตรักษายากมาก ต้องเป็นผู้มีอัธยาศัยน้อมไปจริงๆ ถึงจะรักษาได้ ทำให้ตนเองดำรงมั่นในพระธรรมวินัยและได้ประโยชน์สูงสุดคือ การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคล ขั้นต่างๆ แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าไม่ประพฤติตามพระธรรมวินัย รักษาความเป็นบรรพชิตไม่ได้ หรือ รักษาไม่ดี ย่อมเป็นที่แน่นอนว่ามีแต่จะคร่าไปสู่นรก เท่านั้น ซึ่งเป็นอันตรายมาก

การกระทำบางอย่างของพระภิกษุ ในสายตาของชาวโลกดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งที่ดีควรกระทำ แต่ตามความเป็นจริงแล้ว บางอย่างบางเรื่อง เช่น ล้างเท้าให้มารดา แน่นอนต้องมีการจับต้องกาย อาบัติแน่ๆ ผิดพระวินัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าบัญญัติไว้ และจะผิดไปเรื่อยๆ ถ้าไม่ได้ศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้

เพราะฉะนั้น การศึกษาพระวินัยให้เข้าใจ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ขาดไม่ได้เลยทีเดียว แต่พระภิกษุสามารถเกื้อกูลต่อบิดามารดา ได้หลายทางเช่น เกื้อกูลให้ท่านได้เข้าใจถูกเห็นถูกในธรรม ตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง หรือแม้อาหารบิณฑบาตที่ได้มาก็สามารถให้ท่านได้

ข้อที่น่าพิจารณาสำหรับผู้ที่ไม่ได้บวช การเป็นคฤหัสถ์ที่ดี เป็นบุตรธิดาที่ดี ดำรงอยู่ในธรรมอันดีงามพร้อมกับได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจไปตามลำดับ ย่อมมีโอกาสที่จะตอบแทนพระคุณของมารดาบิดาได้ตลอดเวลา (ทุกที่ทุกเวลา ไม่จำกัด) ทำให้ท่านสบายได้ทั้งกายและใจ สามารถช่วยเหลือหรือแบ่งเบาภาระของท่านได้ทุกอย่างและสามารถกระทำการช่วยเหลือท่านได้อย่างเต็มที่ด้วย โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะผิดพระวินัยข้อไหนหรือไม่ (เพราะไม่ได้เป็นพระภิกษุ) ที่สำคัญที่สุด คือ เป็นคนดี และ มีความกตัญญูกตเวทีต่อท่าน ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 17 เม.ย. 2557

ถ้าไม่มีจิตกำหนัดไม่อาบัติ แต่ไม่ควรจับต้องกายหญิง ค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ