คำว่า ความคิด ในทางพระธรรม

 
Biggy
วันที่  3 เม.ย. 2557
หมายเลข  24671
อ่าน  5,049

ไม่ทราบว่าดิฉันเข้าใจถูกไหมคะ พยายามทำความเข้าใจว่าที่ได้ฟังนั้นหมายถึงอะไร คำว่า ความคิด ในทางพระธรรม แค่รู้สึกว่ามีตัวเรา ก็คือความคิดแล้ว แค่เห็นว่านี่เป็นแขน เป็นขา เห็นเป็นบ้าน ถนน ก็เป็นความคิดแล้ว ความคิดแบบที่คนทั่วไปเขาพูด เขาหมายถึง การที่คิดเป็นเรื่องๆ แต่ความคิด ในทางพระธรรม หมายถึง สมมติบัญญัติใช่ไหมคะ แค่เข้าใจว่ามีเรา ก็ถือว่า "คิด" แล้ว ถ้างั้นการข้ามขั้นคิด ไปขั้นรู้ลักษณะ คงไม่ง่ายแน่ ที่ได้ฟังสนทนาธรรม ท่านอาจารย์พูดคำว่า "ชื่อ" ดิฉันไม่เข้าใจว่าคำนี้คืออะไร คำว่า ชื่อ อาจารย์หมายถึง สมมติบัญญัติหรือความคิดใช่ไหมคะ สมมติบัญญัติ คือ ชื่อ และหมายถึง ความคิด เป็นอย่างเดียวกันใช่หรือไม่คะ ดิฉันจึงสรุปจากที่ฟังขั้นต้นได้ว่า ความคิด คือ ขณะที่ล่วงลักษณะสภาพธรรมไป ถูกครอบงำโดยชื่อ หรือสมมติบัญญัติ คำถามนี้เกิดจากดิฉันได้ฟังเทศน์ของพระท่านหนึ่ง ท่านบอกว่าปัญญาขั้นการฟัง การคิดเป็นสมมติบัญญัติ จะขัดขวางปัญญาขั้นระลึกลักษณะสภาวธรรมได้ ทางนั้นเขาจึงให้ระลึกรู้ลักษณะที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน (ใช้คำเหมือนท่านอาจารย์สุจินต์เลย) เขาบอกว่าการดูจิตคือการไปรู้ลักษณะที่ปรากฏเลย เป็นวิธีปฏิบัติที่ลัดสั้นที่สุดเพราะไม่ติดอยู่ในตำราและไม่ติดการดูทวารอื่นๆ เพราะดูแค่จิต ไม่มีความคิดจากตำรามาปิดกั้นการดูสภาวะลักษณะที่เป็นของจริง ถ้าคิดเรื่องธรรมะมากจะทำให้มองไม่เห็นลักษณะของจิต เขาบอกว่า เพราะเป็นการศึกษาตัวจริงของสภาพธรรมะจากจิตในชีวิตประจำวันเลย ไม่มีความคิดเป็นอุปสรรค ดิฉันจึงสงสัยว่าตกลงแล้วคำว่าความคิดที่ใช้พูดกันนี่เข้าใจตรงกันหรือไม่ ไม่ทราบว่าเข้าใจถูกหรือไม่คะ พักนี้เพื่อนจะชอบมาชวนไปฝึกดูจิตชวนไปฟังเทศน์ด้วยกันแล้วก็บอกว่าสอนแนวเดียวกัน


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 3 เม.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ประโยชน์จากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็เพื่อเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริง ที่กำลังมี กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ซึ่งสิ่งที่ศึกษานั้นไม่พ้นจากขณะนี้เลย ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ถึงแม้จะมีสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ แต่เพราะไม่รู้ จึงต้องศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบจริงๆ ก่อนอื่น เมื่อกล่าวถึงคำอะไร ก็ต้องเข้าใจให้ชัดเจนในคำที่กล่าวถึงด้วย จึงจะเป็นประโยชน์ในการศึกษาอย่างแท้จริง แม้กระทั่งคำว่า ความคิดนึก

ขณะที่คิด เป็นธรรมที่มีจริงเป็น จิต ที่คิด คิดถึงเรื่องราวต่างๆ จากการได้เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง รวมไปถึงในขณะที่ฝันด้วย ดังนั้น ขณะที่คิด อะไรที่มีจริง ก็ต้องเป็น จิต เป็นสภาพธรรมที่มีจริง (และเมื่อจิตเกิดขึ้น ก็ต้องมีสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต คือ เจตสิก ด้วย) ส่วนเรื่องราวที่ จิต คิดนั้น ไม่ใช่สิ่งที่มีจริง ไม่ใช่รูปธรรมและนามธรรม แต่เป็นบัญญัติเรื่องราวต่างๆ เรื่องราวต่างๆ นั้น เป็นสิ่งที่จิตรู้ เรื่องราวจึงเป็นอารมณ์ของจิต ที่กำลังคิดในขณะนั้น ซึ่งก็จะเข้าใจไปถึงคำว่า อารมณ์ ด้วย เพราะสิ่งใดก็ตามที่จิตรู้ สิ่งนั้นเป็น อารมณ์ ของจิต เพราะฉะนั้น ตัวที่คิด คือ สภาพธรรมที่มีจริง คือ จิต เจตสิก ไม่ใช่สมมติบัญญัติ เป็นปรมัตถธรรม เรื่องราวที่คิดเป็นชื่อ เป็นสมมติบัญญัติ ชื่อ กับ สมมติบัญญัติ จึงเหมือนกัน

ขณะนี้กำลังเห็น เห็นเพียงสี ยังไม่ได้คิดนึก แต่เมื่อเห็นแล้ว เพียงแค่เห็น เป็นคร เป็นสัตว์ บุคคล ขณะนั้นคิดนึกแล้วทางใจ ครับ ซึ่ง การอบรมปัญญา ในหนทางที่ถูกต้อง ไม่ใช่การดูจิต ตามที่เข้าใจกัน และเป็นคนละหนทางกัน ไม่ใช่หนทางเดียวกัน ตามที่บุคคลอื่นเข้าใจ การดูจิต เป็นตัวตนที่มีความต้องการอย่างละเอียดโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นหนทางผิด ขัดกับหลักอนัตตา เพราะในความเป็นจริง ไม่มีเราที่จะไปตามดูจิต ที่สำคัญ สติและปัญญาจะเกิดได้ ก็ด้วยการฟัง ศึกษาพระธรรมเป็นสำคัญครับ ไม่ใช่การละทิ้งชื่อพระธรรม เพราะการศึกษาชื่อพระธรรมเพื่อให้เข้าใจลักษณะ สภาวะของพระธรรมในขณะนี้ โดยไม่มีตัวตนไปตามดูจิตแต่อย่างไร ซึ่งแล้วแต่ว่า สติและปัญญาจะเกิดรู้เมื่อไหร่ ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะเกิด เพราะต้องอบรมปัญญาอย่างยาวนาน ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 3 เม.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความคิดนึกเป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมได้แก่จิต และเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย ที่เป็นไปทางใจ เพราะตามปกติแล้ว จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทาง ๕ ทวาร ทวารหนึ่งทวารใด แล้วต่อด้วยวิถีจิตทางใจ โดยมีภวังคจิตคั่น นี้คือความเป็นจริงของธรรม หรือแม้ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้ลิ้มรส ไม่ได้ถูกต้องกระทบสัมผัส ก็คิดนึกได้ คิดถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เคยเห็นเคยได้ยิน เป็นต้น สภาพธรรมที่คิด มีจริง เรื่องที่คิดไม่มีจริง ไม่มีใครที่จะไปบังคับบัญชา ไม่ให้สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดเกิดขึ้นเป็นไปได้เลย เพราะธรรมเกิดเพราะเหตุปัจจัย ประโยชน์ที่ควรพิจารณา คือ เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใดก็ตาม ที่สำคัญต้องมีการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกไปเรื่อยๆ ไม่ขาดการฟังพระธรรม ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 3 เม.ย. 2557

ความคิดเป็นธรรม ไม่ใช่เรา บังคับความคิดไม่ได้ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
nop007
วันที่ 5 เม.ย. 2557

เมื่อความคิดเกิดขึ้น เช่น ผิดหวัง นั่นคือจิตที่เป็นโลภะเกิดร่วมกับจิตที่เป็นโทสะ พ่วงด้วยโมหะทุกความคิด ใช่ไหม เมื่อรู้สึกตัวดังนี้กำหนดอย่างไร เมื่อเห็นคือรู้สึกตัว จิตเมื่อสักครู่ก็ดับไป แต่ถ้ายังไม่รู้สึกตัว ยังยึดมั่นในความผิดหวังนำกลับมาคิดอีกจิตนั้นก็เกิดวนเวียนอีกผิดหวังอีกทุกข์ต่อไป แต่ถ้ารู้สึกตัวไม่ยึดมั่นความอยากนั้น มีความเข้าใจธรรมว่าทุกสิ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัย นอกเหนือการบังคับบัญชา จิตก็จะกลับเป็นจิตปกติวางเฉยได้ หรือ

.......ความคิดเป็นธรรม ไม่ใช่เรา บังคับความคิดไม่ได้ ค่ะ

ถามอีก เมื่อความคิดเกิดควรทำอย่างไร โดยเฉพาะความคิดที่ก่อให้เกิดทุกข์

ถามอีก เหมือนมีความเข้าใจแต่ความอยากยังไม่สิ้นสุดจึงยังคิดให้ทุกข์อยู่

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
papon
วันที่ 5 เม.ย. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

ขออนุญาตแชร์ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
j.jim
วันที่ 8 เม.ย. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ขอนอบน้อม
วันที่ 9 เม.ย. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ แชร์นะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
thilda
วันที่ 9 เม.ย. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
Sea
วันที่ 30 ต.ค. 2564

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
chatchai.k
วันที่ 30 ต.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ