สิ่งแวดล้อมกับความคิด

 
นี่นะใหญ่สุดแล้ว
วันที่  17 มี.ค. 2557
หมายเลข  24596
อ่าน  1,065

ขอกราบเรียนถามท่านวิทยากรครับ

ผมอยากทราบว่าสิ่งแวดล้อมมีผลต่อความคิดได้อย่างไรครับ อยากทราบว่า เป็นเพราะความคิดสะสมอยู่ก่อนแล้ว จึงเกิดสิ่งแวดล้อม หรือเพราะสิ่งแวดล้อม จึงเกิดเป็นความคิด

บางคนกล่าวว่า เราคิดอย่างไร สิ่งแวดล้อมก็จะเป็นแบบนั้น เราคิดอย่างไร ห้องเราก็จะมีลักษณะแบบนั้น ห้องสกปรกแปลว่าคิดสกปรก ห้องรกแปลว่าคิดฟุ้งซ่าน

ผมอยากทราบว่าคำกล่าวแบบนี้เป็นสัจจธรรมความจริงหรือไม่ สมมติว่าอาศัยอยู่ในสถานที่รกๆ ข้าวของไม่เป็นระเบียบ จะทำให้ความคิดของตนเองแย่ตามสิ่งแวดล้อมหรือไม่


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 17 มี.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้ง แม้แต่คำว่า สิ่งแวดล้อม และ ความคิด คืออะไร

สิ่งแวดล้อม ตามที่ผู้ถามเข้าใจ คือ สิ่งที่นอกตัว คือ สภาพธรรมที่เป็น รูปธรรม ที่ไม่รู้อะไร เช่น สถานที่ต่างๆ เป็นต้น ก็คือ การประชุมรวมกันของสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรม

ความคิด คือ สภาพธรรมที่เป็น จิต เจตสิกที่เกิดขึ้น คิดดี คิดไม่ดี ก็คือ กุศลจิต อกุศลจิตที่เกิดขึ้นนั่นเอง

ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว สภาพธรรมแต่ละอย่างจะเกิดขึ้น เกี่ยวข้องกัน ก็ด้วยอำนาจปัจจัยหลายๆ ปัจจัย ซึ่งสิ่งแวดล้อมก็มีอยู่แล้ว คือ รูปธรรม ที่สมมติว่าเป็นสถานที่ เขาก็มีอยู่แล้ว ส่วนความคิดก็มีอยู่อีกเช่น คือ จิต เจตสิกเกิดขึ้นในขณะใด ก็มีในขณะนั้น เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่สิ่งแวดล้อมทำให้คิด หรือ คิด จึงมีสิ่งแวดล้อม แต่ทั้งสองอย่างเกี่ยวข้องกัน ในปัจจัยบางปัจจัย ครับ อย่างเช่น รูปธรรม ที่สมมติว่าเป็นสิ่งแวดล้อมก็มีผลต่อความคิดได้ ที่เป็น จิต เจตสิกที่เกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เพราะอาศัย สถานที่ สิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี เช่น สกปรก รกรุงรัง ร้อนเกินไป เป็นต้น ก็มีผลต่อความคิด คือ เมื่อเห็นสิ่งที่ไม่ดี ได้กลิ่นที่ไม่ดี และได้รู้กระทบสัมผัสที่ไม่ดี ก็ทำให้จิตของปุถุชนที่มากด้วยกิเลส เกิด กิเลส คือ โทสะได้ง่าย เกิดความคิดที่เป็นอกุศล นี่คือ รูปธรรม มีผลต่อความคิดได้ ตามที่กล่าวมา และแม้สิ่งแวดล้อมดี อากาศสบาย สถานที่เรียบร้อย ก็เป็นปัจจัยให้เกิดความคิดไม่ดี คือ เกิดอกุศลจิตที่ติดข้อง พอใจ ในสถานที่นั้นก็ได้ หรือ เกิดความคิดที่ดี เกิดกุศลจิตได้ อันนี้แล้วแต่การสะสมปัญญา สะสมความคิดแบบใดมา ที่จะทำให้เกิดความคิดที่ดี หรือ ไม่ดี ที่เป็นกุศลจิต อกุศลจิต ที่สะสมมาไม่เหมือนกัน ดังเช่น พระพุทธเจ้าทรงประทับที่โรงช่างหม้อ เมื่อคราวไปโปรดพระเจ้าปุกกุสาติ โรงช่างหม้อสกปรกอย่างมาก แต่พระพุทธเจ้าไม่เกิดอกุศลเลย ไม่เกิดความคิดไม่ดีตามสถานที่สกปรกเลย เพราะละกิเลส ที่เป็นสภาพธรรมที่ทำให้เกิดความคิดไม่ดีหมดแล้ว ครับ และเช่นเดียวกับพระเจ้าปุกกุสาติก็เข้าฌาน เกิดกุศลจิต แม้ประทับในโรงช่างหม้อที่สกปรกอย่างมาก นี่แสดงถึงสิ่งแวดล้อมย่อมมีผลและไม่มีผลต่อความคิดของแต่ละบุคคล ตามการสะสมที่ไม่เหมือนกัน ครับ แต่บางคน แม้อยู่ในสถานที่ที่ดี เช่น พระราชวัง สะอาดเรียบร้อย ก็เกิดความคิดที่ไม่ดีได้เช่น เกิด โลภะ ติดข้องครับ เพราะฉะนั้น เราจะต้องตีความคำว่า ความคิดที่ดี และไม่ดี ว่าคืออะไร คือ กุศลจิต เป็นความคิดที่ดี อกุศลจิต คือ ความคิดที่ไม่ดี เพราะโดยมาก เราจะเข้าใจว่า ความคิดที่ไม่ดี หมายถึง โทสะ ขุ่นใจ แต่ถ้าไม่ขุ่นใจ พอใจ หรือ เฉยๆ เป็นความคิดที่ดี ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ ครับ เพียงพอใจในสถานที่ที่สะอาดเรียบร้อย ก็เป็นความคิดที่ไม่ดี เป็นโลภะ อกุศลจิตแล้ว ครับ

และจากคำกล่าวที่ว่า บางคนกล่าวว่า เราคิดอย่างไร สิ่งแวดล้อมก็จะเป็นแบบนั้น เราคิดอย่างไร ห้องเราก็จะมีลักษณะแบบนั้น ห้องสกปรกแปลว่าคิดสกปรก ห้องรกแปลว่าคิดฟุ้งซ่าน

- สภาพธรรมทุกอย่าง จึงอาศัยเหตุปัจจัยหลายๆ อย่าง ตามที่กล่าวมา ไม่ใช่เป็นกฎเกณฑ์ตายตัว หากเป็นผู้ที่สะสมโลภะมามาก ก็มักเป็นผู้มีระเบียบ รักความสะอาดอย่างมาก ก็เป็นไปได้ที่ห้องจะสะอาด แต่ ไม่ได้หมายความว่า จิตนั้นจะสะอาด เพราะเมื่อเป็นโลภะ ก็ย่อมสกปรก เพราะเป็นอกุศลธรรม ครับ ดังนั้น ห้องรกก็เพราะอกุศล ห้องสะอาดก็เพราะอกุศล ความคิดที่ไม่ดีได้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้น สำคัญที่ใจ ที่รก สกปรกด้วยกิเลส ที่ควรจะกำจัดออกด้วย ปัญญา อันเกิดจาการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเป็นสำคัญ ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 17 มี.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็จะมีความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ โดยตั้งต้นที่ว่า เป็นธรรม ไม่ว่าจะเห็นอะไร คิดนึกอย่างไร ก็คือ ธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่่มีจริงๆ เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น แต่ละคนก็แตกต่างกันตามการสะสม ไม่เหมือนกันเลย แม้จะอยู่ในสถานการณ์อย่างเดียวกัน แต่ความคิด ความประพฤติเป็นไปต่อเหตุการณ์นั้นๆ ต่างกัน ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของกุศลธรรม กับ อกุศลธรรม นั่นเอง

ถ้าเข้าใจผิด ก็จะเข้าใจว่า ที่ตนเองเกิดอกุศล เกิดความหงุดหงิดไม่พอใจก็เพราะว่าประสบกับเหตุการณ์อย่างนี้อันไม่เป็นที่น่าพอใจ ก็ไปโทษสิ่งนั้นโดยไม่เข้าใจเลยว่า เป็นเพราะการสะสมอกุศลของตนเองเท่านั้น เป็นเพราะอกุศลธรรมของตนเองเท่านั้นจริงๆ ถ้าไม่สะสมอกุศลมา อกุศลอย่างนั้นๆ ก็เกิดขึ้นไม่ได้ ซึ่งห่างไกลกันแสนไกลกับผู้ที่ดับกิเลสได้หมดสิ้นแล้ว ท่านไม่มีกิเลสใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย ไม่ว่าจะประสบกับอารมณ์ใดๆ ก็ตาม

ถ้าหากว่าที่อยู่สกปรก ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย แทนที่จะหงุดหงิดเกิดอกุศล ก็ควรที่จะทำให้เรียบร้อย ทำความสะอาด จัดเก็บให้เป็นที่เป็นทางก็ย่อมจะเป็นประโยชน์กว่า ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 17 มี.ค. 2557

สิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยส่วนหนึ่ง แต่ไม่ทั้งหมด ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
นี่นะใหญ่สุดแล้ว
วันที่ 18 มี.ค. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 18 มี.ค. 2557

วัดเขาวัง ราชบุรี

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ และขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
papon
วันที่ 18 มี.ค. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ