หิวหรืออร่อย ก็เพียงแค่ 7 ขณะ

 
papon
วันที่  22 ก.พ. 2557
หมายเลข  24513
อ่าน  1,023

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

"หิว​หรือ​อร่อย ก็​เพียงแค่ 7 ขณะ" (ถ้าผิดต้องขออภัยด้วยครับ) พจนา​ท่าน​อาจารย์​ที่​บรรยาย ขอความกรุณาอาจารย์ช่วยแปลเพื่อความเข้าใจด้วยครับ

ขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 23 ก.พ. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

หิว​หรือ​อร่อย ก็​เพียงแค่ 7 ขณะ เป็นการแสดงถึงความจริงของสภาพธรรมที่เพียงชั่วขณะ ไม่น่ายินดี ติดข้องเลย เพราะขณะที่เพียง เกิด โลภะ ติดข้อง ขณะนั้นก็เพียง 7 ขณะเท่านั้น ที่เกิดขึ้นและดับไป และ ขณะที่หิว ก็เป็นเพียงจิตเพียงขณะเดียวที่สั้นมาก ไม่น่ายินดีติดข้องในสภาพธรรมที่เกิดดับ เพียงชั่วขณะเลย

การเกิดดับ นั้น แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน เป็นสิ่งที่ไม่น่ายินดี เพราะเป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดปรากฏแล้วก็ดับไป ขณะนี้ซึ่งมีสภาพธรรมที่เกิดดับจึงเป็นภัยคือสิ่งที่น่ากลัว เพราะตราบใดที่มีสภาพธรรมเกิดดับสืบต่อกันไป ก็ยังมีสภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นไป ทำให้วนเวียนในสังสารวัฏฏ์อย่างไม่มีวันจบสิ้น เป็นเหตุนำมาซึ่งทุกข์ในสังสารวัฏฏ์ต่างๆ มากมาย เมื่อกล่าวโดยประมวลแล้วการเกิดขึ้นและดับไป เป็นภัย แต่ถ้าไม่มีสภาพธรรมใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย นั้นเป็นการปลอดภัย ไม่มีภัยใดๆ เลย การที่จะเห็นการเกิดดับของสภาพธรรมว่าเป็นภัย ก็ต้องเป็นปัญญาระดับสูง

การศึกษาธรรม เป็นการศึกษาเพื่อให้เข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ซึ่งต้องเข้าใจถูกว่า นามธรรมเป็นนามธรรม รูปธรรมเป็นรูปธรรม โดยไม่ปะปนกัน เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งจะขาดการฟัง การศึกษาการพิจารณาไตร่ตรองในเหตุในผลของธรรมไม่ได้เลย และที่สำคัญการที่ปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูก จะรู้ความจริง ก็ไม่ใช่ไปรู้สิ่งอื่น นอกจากสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้จนกว่าจะค่อยๆ รู้ความจริงของสิ่งนั้นยิ่งขึ้น ไม่ใช่ไปรู้ความจริงของสิ่งที่ไม่ปรากฏหรือสิ่งที่ยังมาไม่ถึง สิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้เป็นธรรมซึ่งสามารถศึกษาให้เข้าใจได้ เพราะมีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ปัญญาจะเจริญขึ้นก็ต้องจากการสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ครับ.

ขออนุุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 23 ก.พ. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงนั้น เป็นสิ่งที่มีจริงทั้งหมด ไม่ว่าจะแสดงโดยนัยของขันธ์ ธาตุ อายตนะ ปรมัตถธรรม เป็นต้น ก็เพื่อแสดงให้เห็นถึง ความเป็นจริงของสภาพธรรม ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา และที่ สำคัญ ธรรมไม่พ้นไปจากชีวิตประจำวัน มีธรรมอยู่ตลอดเวลา อยู่กับธรรมตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งหลับไป ไม่ว่าจะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบ สัมผัส คิดนึก โกรธ ไม่พอใจ ขุ่นเคืองใจ ติดข้องยินดี พอใจ ริษยา หรือ ขณะที่ มีใจดี เกื้อกูลอนุเคราะห์บุคคลอื่น เป็นต้น ล้วนเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป เพียงชั่วขณะเท่านั้นเอง และไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ไม่มีใคร ทำเห็นให้เกิดขึ้นได้ ไม่มีใครทำโกรธให้เกิดขึ้นได้ แต่เกิดแล้วมีแล้วเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป หาความเป็นเราในสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ ไม่ได้เลย

หิว ก็มีจริง เป็นธรรม ความติดข้องต้องการในสิ่งที่น่าปรารถนา ในอาหารที่อร่อย ก็เป็นธรรมที่มีจริง ที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย เกิดแล้วดับไม่กลับมาอีกเลย

เมื่อไม่ได้ศึกษาพระธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ย่อมไม่เข้าใจ จึงมีความยึดถือว่า เป็นเราที่ เห็น เป็นเราที่ได้ยิน เป็นเราที่โกรธ เป็นเราที่ติดข้อง ยินดีพอใจ เป็นต้น ดังนั้น จึงต้องเริ่มด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องว่าธรรมเป็นธรรม ไม่ใช่เรา และฟังศึกษาบ่อยๆ เนืองๆ ความรู้ความเข้าใจ ก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 23 ก.พ. 2557

สภาพธรรมเกิดขึ้นและดับไป ไม่น่าติดข้อง ชั่วขณะจิต ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
papon
วันที่ 23 ก.พ. 2557

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

หิว​เป็น​สภาพ​ธรรม​อย่าง​หนึ่ง แต่​ไม่​ติด​ข้องใน​สภาพ​ธรรมนี้ จะ​ทำ​อย่างไรครับ เพราะเป็นความต้องการอาหารของร่างกายเพื่อการมีชีวิตอยู่ ขอความอนุเคราะห์อาจารย์กรุณาให้ปัญญาด้วยครับ ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 23 ก.พ. 2557

เรียนความเห็นที่ 4 ครับ

ความติดข้องเกิดชึ้นเป็นปกติ ตราบใดที่ยังมีกิเลส ผู้ที่จะไม่ติดข้องในรสอาหารเลย คือ พระอนาคามี เพราะฉะนั้น การละกิเลส คือ เข้าใจกิเลสที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ไม่ใช่จะไปละกิเลส ไม่ให้กิเลสเกิดขึ้น ครับ ซึ่งหนทางที่ถูก คือ ค่อยๆ เข้าใจว่า กิเลสก็เป็นธรรม โลภะก็เป็นธรรมไม่ใช่เรา ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
peem
วันที่ 24 ก.พ. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 25 ก.พ. 2557

ขออนุญาตสนทนาเพ่ิมเติมความเห็นที่ ๔ เรื่องสภาพธรรมของความหิวนะครับ

ตาม MP3_ชุดแนวทางเจริญวิปัสสนา 00147 แนวทางเจริญวิปัสสนา แผ่นที่ ๓๓ - ชุดเทปวิทยุ ครั้งที่ 1978 ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย วันอาทิตย์ ๑๓ มกราคม ๒๕๓๔ ได้อธิบายเรื่องหิวไว้ชัดเจนครับว่า

"....มีข้อที่น่าคิดว่า ทำไมถึงต้องหิว ซึ่งไม่มีใครบังคับที่จะไม่ให้หิวได้ เพราะความหิวเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เมื่อมีนามธรรมและมีรูปธรรม เป็นสัตว์โลกในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็จะต้องบริโภคอาหารในภูมิของมนุษย์ และเทวดา สำหรับในรูปพรหมภูมิ ดับความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ด้วยกำลังของฌาน เพราะฉะนั้น ในรูปพรหมภูมิ ไม่มีกวฬีการาหาร ที่จะต้องบริโภคเป็นคำๆ

ก็ที่ชื่อว่า ความลำบากร่างกายนี้ ได้แก่อะไร ได้แก่เตโชธาตุอันเกิดแต่กรรม ด้วยว่า เมื่อวัตถุมีข้าวสุกเป็นต้น ไม่มีอยู่ภายในท้อง เตโชธาตุอันเกิดแต่กรรมเกิดขึ้นที่พื้นท้อง ทำให้รู้สึกหิว และเมื่อบริโภคอาหารแล้ว เตโชธาตุอันเกิดแต่กรรมก็ย่อยอาหารทำให้หายหิว รู้สึกสบาย

นี่คือนามธรรมและรูปธรรม เป็นชีวิตปกติประจำวัน ซึ่งขณะใดที่สติระลึก แม้ในขณะที่กำลังหิว ก็สามารถจะรู้ลักษณะของนามธรรมที่หิว รู้ลักษณะของรูปธรรมส่วนหนึ่งส่วนใด แต่ว่าในขณะที่หิว ความทุกข์กายเกิดที่ท้อง เพราะเตโชธาตุอันเกิดแต่กรรม เกิดที่พื้นท้อง ทำให้รู้สึกหิว และเมื่อบริโภคอาหารแล้ว เตโชธาตุอันเกิดแต่กรรมก็ย่อยอาหาร ทำให้หายหิว รู้สึกสบาย เป็นสิ่งที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่สามารถจะบังคับ หรือเปลี่ยนแปลงได้ แต่เริ่มที่จะเห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมทั้งหมด ไม่ว่าพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงเรื่องใดก็ตาม เป็นเรื่องของสัจจธรรม เป็นเรื่องของนามธรรม เป็นเรื่องของรูปธรรม ซึ่งล้วนไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนทั้งสิ้น..."

ดังนั้น ตามคำถามว่า "หิว​เป็น​สภาพ​ธรรม​อย่าง​หนึ่ง แต่​ไม่​ติด​ข้องใน​สภาพ​ธรรมนี้ จะ​ทำ​อย่างไรครับ เพราะเป็นความต้องการอาหารของร่างกายเพื่อการมีชีวิตอยู่"

คำตอบจึงต้องแยกออกไปว่า หิวเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยข้างต้น เป็นนามธรรมที่แตกต่างไปจากความติดข้อง การดับความหิวก็ด้วยการรับประทานอาหารจนเพียงพอ ส่วนการติดข้องนั้นเป็นนามธรรมอีกขณะหนึ่ง การจะละความติดข้องก็ด้วยปัญญา

ตามคำถามที่ว่า "ติดข้องในสภาพธรรมนี้คือความหิว" จริงๆ แล้วเป็นความติดข้องในการรับประทานมากกว่า เพราะบางครั้งเมื่อได้รับประทานอาหารและความหิวดับลง แต่ความติดข้องรสชาติของอาหารทำให้เห็นได้ว่าแม้อิ่ม (ไม่หิวแล้ว) แต่ยังรับประทานต่อไปได้อีก จนบางครั้งรู้สึกอิ่มเกินไป หรือ บางครั้งไม่ได้รู้สึกหิวจริงๆ แต่เมื่อเห็นอาหารก็อยากรับประทานโดยเข้าใจว่า หิวแล้ว แต่แท้จริงเป็นความติดข้องในอาหาร นั่นเอง

ส่วนเรื่องติดข้องในรส อ่านคำบรรยายบางส่วนได้ตามลิ้งค์นี้ครับ

เรื่องของรส

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
papon
วันที่ 27 ก.พ. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ