ทำไมมีแต่โมฆะบุรุษไม่มีโมฆะสตรีครับ

 
อ๊อด
วันที่  5 ก.พ. 2557
หมายเลข  24426
อ่าน  1,749

เรียนถาม ทำไมมีแต่ "โมฆะบุรุษ" ไม่มี "โมฆะสตรี" ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 5 ก.พ. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

โดยทั่วไป บุรุษ ไม่ได้หมายถึง จะต้องเป็นผู้ชาย แต่หมายถึง บุคคลก็ได้ครับ อย่างเช่น คำว่า สัตบุรุษ หมายถึง บุคคล หรือผู้ที่มีความสงบ ซึ่งใครก็ตามไม่ว่าชายหรือ หญิง ก็เป็น สัตบุรุษได้ หากมีคุณธรรม ความดี ความสงบในจิตใจ ครับ

เช่นเดียวกับ โมฆบุรุษ บุรุษ ก็เป็นคำกลางๆ ที่ใช้ได้ทั้งชายและหญิง ซึ่งใครก็ตามที่ไม่มีคุณธรรม ในขณะนั้น ไม่ว่าชาย หรือ หญิง ก็ชื่อว่า โมฆบุรุษ ครับ

บุรุษ จึงใช้แทน บุคคลใดก็ได้ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นผู้ชายเสมอไป ส่วน คำว่า สตรี แทนเฉพาะผู้หญิงเท่านั้น ครับ จึงไม่ใช้คำว่า โมฆสตรี

ขออนุญาต เพิ่มเติม คำว่า โมฆบุรุษ มาให้อ่านเพิ่มเติมกันดังนี้ ครับ

โมฆบุรุษมีหลายนัยดังอธิบายดังนี้ครับ

โมฆบุรุษคือบุคคลที่ว่างเปล่า ไม่มีแก่นสาร ว่างเปล่าจากอะไร

1.ว่างเปล่าจากกุศลธรรมในขณะนั้นคือขณะนั้นเป็นอกุศลที่มีกำลัง เป็นโมฆบุรุษใน ขณะนั้น

2.ว่างเปล่าจากความเห็นถูกคือเป็นผู้มีความเห็นผิด เป็นโมฆบุรุษ

3.ว่างเปล่าเพราะไม่มีอุปนิสัยที่จะได้บรรลุมรรคผลในชาตินั้นคือไม่มีทางบรรลุในชาติ นั้นก็ชื่อว่าเป็นโมฆบุรุษ

4.ว่างเปล่าแม้จะมีอุปนิสัยจะได้บรรลุในชาตินั้นและท้ายที่สุดได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แต่ขณะนั้นเป็นอกุศลจึงว่างเปล่าจากการบรรลุในขณะนั้น ขณะนั้นก็ชื่อว่าเป็นโมฆบุรุษ

5.ผู้ที่ศึกษาธรรมผิดทางเปรียบเหมือนจับงูพิษที่หางก็เป็นโมฆบุรุษ

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 70

บทว่า โมฆปุริโส ความว่าบุรุษเปล่า จริงอยู่ พระพุทธเจ้าทั้งหลายเรียกบุรุษผู้ไม่มีอุปนิสัยแห่งมรรคและผลในอัตภาพนั้นว่าโมฆบุรุษ. ครั้นเมื่ออุปนิสัยแม้มีอยู่ แต่มรรคหรือผล ไม่มีในขณะนั้น ก็เรียกว่า โมฆบุรุษเหมือนกัน.

นัยที่ 1 คือว่างเปล่าจากกุศลธรรมในขณะนั้นคือขณะนั้นเป็นอกุศลที่มีกำลัง เป็นโมฆบุรุษในขณะนั้น ยกตัวอย่างเช่น ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีด่าว่ากันและกัน ขณะนั้นเป็นอกุศลที่มีกำลัง เป็นโมฆบุรุษว่างเปล่าจากกุศลธรรม พระพุทธเจ้าทรงเรียกเหล่าภิกษุชาวเมืองโกสัมพีว่าโมฆบุรุษ

นัยที่ 2 คือว่างเปล่าจากความเห็นถูกคือเป็นผู้มีความเห็นผิด เป็นโมฆบุรุษ พระพุทธเจ้า ทรงเรียกครูมักขลิโคสาลผู้ที่มีความเห็นผิดอย่างมากว่าเป็นโมฆบุรุษ

นัยที่ 3 คือว่างเปล่า เพราะไม่มีอุปนิสัยที่จะได้บรรลุมรรคผลในชาตินั้นคือ ไม่มีทางบรรลุในชาตินั้นก็ชื่อว่าเป็นโมฆบุรุษ ผู้ที่ว่างจากการบรรลุในชาตินั้นจึงเป็นโมฆบุรุษ

นัยที่ 4 คือ ว่างเปล่าแม้จะมีอุปนิสัยจะได้บรรลุในชาตินั้น และท้ายที่สุดได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แต่ขณะนั้นเป็นอกุศล จึงว่างเปล่าจากการบรรลุในขณะนั้น ขณะนั้นก็ชื่อว่าเป็นโมฆบุรุษ ในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าทรงติเตียนท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรว่าเป็นโมฆบุรุษเพราะเป็นผู้มักมาก ท่านสะสมบริขารมีบาตรและจีวรมากมาย ทำให้เป็นผู้มักมากในขณะนั้น ขณะนั้นจึงว่างเปล่าจากการบรรลุ ว่างเปล่าจากกุศลธรรมจึงเป็นโมฆบุรุษ ซึ่งท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรท่านมีอุปนิสัยได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในชาตินั้นและต่อมาไม่นานที่พระพุทธเจ้าทรงติเตียนว่าโมฆบุรุษ ท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ครับ

นัยที่ 5 ผู้ที่ศึกษาธรรมผิดทางเปรียบเหมือนจับงูพิษที่หางก็เป็นโมฆบุรุษ ผู้ที่ศึกษาธรรม ไม่ใช่เพื่อประโยชน์คือการขัดเกลากิเลส แต่มุ่งเพื่อได้ มุ่งเพื่อจำชื่อมากๆ ไม่เป็นไปเพื่อน้อมระลึกสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ก็ไม่ได้สาระจากพระธรรม ก็ย่อมเป็นโมฆบุรุษว่างเปล่าจากความเห็นถูก ว่างเปล่าจากคุณธรรมเพราะศึกษาธรรมไปในทางที่ผิดครับ เพราฉะนั้นประโยชน์สูงสุดของการศึกษาพระธรรมคือเข้าใจความจริงในขณะนี้และน้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม ตามกำลังของปัญญา ด้วยความเคารพในพระธรรมครับ เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ...โมฆบุรุษ

โมฆบุรุษ

"โมฆบุรุษ" จึงเป็นเครื่องเตือนใจที่ดีเป็นอย่างยิ่ง ครับ เพราะเมื่อกล่าวอย่างกว้างๆ แล้ว ผู้ที่เป็นโมฆบุรุษ คือ ผู้ว่างเปล่า ได้แก่ ว่างเปล่าจากคุณธรรมว่างเปล่าจากคุณความดี บุคคลผู้ที่ไม่ได้น้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ชื่อว่า เป็นโมฆบุรุษ การฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ประโยชน์ คือ เพื่อเข้าใจธรรมตามความเป็นจริง เพื่อเห็นโทษของอกุศลธรรม และเห็นคุณประโยชน์ของกุศลธรรม ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น ไม่ใช่เพื่อลาภ สักการะ สรรเสริญ จนกว่าจะเป็นผู้ถูกฝึกด้วยพระธรรม เป็นผู้ว่าง่ายและน้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม จึงจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากพระธรรม ค่อยๆ ขัดเกลาความเป็นโมฆบุรุษ ต่อไป ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
อ๊อด
วันที่ 6 ก.พ. 2557

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 6 ก.พ. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

โมฆบุรุษ หมายถึง บุรุษผู้ว่างเปล่าจากคุณธรรม ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกบุคคลที่ไม่ได้น้อมประพฤติปฏิบัติธรรมว่า โมฆบุรุษ เพราะฉะนั้นโมฆบุรุษในครั้งที่พระผู้มีพระภาคเจ้ายังไม่ปรินิพพาน เมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปี ถ้าบุคคลนั้นยังเป็นโมฆบุรุษต่อไปอีก คือ ไม่ประพฤติปฏิบัติธรรม ความเป็นโมฆบุรุษนั้น ก็ยังคงมีอยู่ต่อไปอีก จึงเป็นเครื่องเตือนใจที่ดีสำหรับทุกคนว่า ขณะนี้ถ้าผู้ใดเป็นผู้ที่ฟังพระธรรม แต่ว่าไม่น้อมที่จะประพฤติปฏิบัติตาม เช่น ยังมีความโกรธมาก ยังมีความไม่พอใจขุ่นเคืองใจมาก และไม่คิดที่จะละคลายความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ความไม่พอใจนั้นลง ผู้นั้นก็จะเป็นโมฆบุรุษด้วย ตั้งแต่ในชาตินี้และในชาติต่อๆ ไป ก็จะเพิ่มความเป็นโมฆบุรุษต่อไปอีก ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 6 ก.พ. 2557

โมฆบุรุษ เป็นคนที่ว่างเปล่าจากคุณธรรม ค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ