เรียนถามเรื่องสัสสตทิฏฐิในพระอริยเจ้ามีพระโสดาบันเป็นต้นครับ

 
dets25226
วันที่  22 ม.ค. 2557
หมายเลข  24361
อ่าน  1,011

ผมไม่ได้เข้ามานาน เพราะว่าจิตวุ่นวายอยู่แต่เรื่องอื่นๆ วันนี้ผมมีปัญหามาถามครับ และเห็นว่าค่อนข้างยากพอสมควร จึงขอถามสั้นๆ นะครับ

คำถามมีว่า ใน สังโยชน์ ๑๐ ประการ [สังโยชนสูตร] เราจะเข้าใจได้อย่างไรว่า พระอริยเจ้าที่ละรูปราคะ (ภวตัณหา) ยังไม่ได้นั้น จะไม่มีมิจฉาทิฏฐิ เพราะใน ภวตัณหา นั่นเอง เราทราบกันว่า เกี่ยวข้องกับสัสสตทิฏฐิ (ซึ่งเป็นมิจฉาทิฏฐิ)

1. พระอริยเจ้าเหล่านี้ยังมีมิจฉาทิฏฐิอยู่หรือไม่?

2. ภวตัณหา จำเป็นหรือไม่ที่ต้องเกิดร่วมกับสัสสตทิฏฐิ?

โปรดช่วยอนุเคราะห์ตอบคำถามด้วยครับ

ขอบคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 22 ม.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เวลาที่ได้ศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม สำคัญที่การตั้งต้นจริงๆ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้กล่าวอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเป็นเครื่องเตือนใจที่ดีเป็นอย่างยิ่ง เพื่อไม่ประมาทในพระธรรมแต่ละคำ ว่า คำนั้น คือ อะไร มีความหมายว่าอย่างไร รวมถึงคำว่า สังโยชน์ ด้วย (บางครั้งก็เขียนเป็นสัญโญชน์) หมายถึง สภาพธรรมที่เป็นอกุศลธรรม ที่ผูกมัดเหล่าสัตว์ไว้ในวัฏฏ์ ไม่ให้ออกไปจากวัฏฏะ

สังโยชน์ มี ๑๐ อย่าง คือ

๑. กามราคสังโยชน์ ได้แก่ โลภเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิต ๘ ดวง เช่น ขณะที่ยินดีพอใจ ในอาหารที่ทาน ขณะนั้นก็เป็นกามราคะสังโยชน์ สรุปได้ว่า เป็นความยินดีพอใจ ในรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส ครับ

๒. รูปราคสังโยชน์ ได้แก่ โลภเจตสิกที่เกิดกับทิฏฐิคตวิปปยุตจิต ๔ ดวง คือ ความยินดีพอใจ ในการเกิดในรูปพรหม ครับ

๓. อรูปราคสังโยชน์ ได้แก่ โลภเจตสิกที่เกิดกับทิฏฐิคตวิปปยุตจิต ๔ ดวง คือ ความยินดีพอใจในการเกิดในอรูปพหรม

๔. ปฏิฆสังโยชน์ ได้แก่ โทสเจตสิกที่เกิดกับโทสมูลจิต ๒ ดวง คือ ความโกรธที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ครับ

๕. มานะสังโยชน์ ได้แก่ มานะเจตสิกที่เกิดกับทิฏฐิคตวิปปยุตจิต ๔ ดวง คือ ขณะที่เปรียบเทียบว่า เราเก่งกว่า ด้อยกว่า เป็นมานะในขณะนั้น ครับ เป็นมานะสังโยชน์

๖. ทิฎฐิสังโยชน์ ได้แก่ ทิฏฐิเจตสิกที่เกิดกับโลภทิฏฐิคตสัมปยุตจิต ๔ ดวง คือขณะที่เห็นผิด เช่น เกิดความเห็นผิดว่า ตายแล้วไม่เกิด ตายแล้วไปอยู่ในสถานที่ที่เที่ยง กรรมไม่มี ผลของกรรมไม่มี เป็นความเห็นผิดในขณะนั้น เป็น ทิฏฐิสังโยชน์ ครับ

๗. สีลัพพตปรามาสสังโยชน์ ได้แก่ ทิฏฐิเจตสิกที่เกิดกับโลภทิฏฐิคตสัมปยุตจิต ๔ ดวงคือ ความเห็นผิดเช่นกัน แต่เป็นความเห็นผิดในข้อวัตรปฏิบัติ เช่น เข้าใจว่าการทรมานตนเองจะทำให้หลุดพ้น เป็นต้น

๘. วิจิกิจฉาสังโยชน์ ได้แก่ วิจิกิจฉาเจตสิกที่เกิดกับโมหวิจิกิจฉาสัมปยุตจิต ๑ ดวง คือ ความลังเลสงสัย เช่น ขณะที่คิดว่า พระพุทธเจ้ามีจริงหรือ สงสัยในพระรัตนตรัยนั่นเอง สงสัยว่า ข้อปฏิบัติที่จะถึงการดับทุกข์มีจริงหรือ เป็นต้น

๙. อุทธัจจสังโยชน์ ได้แก่ อุทธัจจเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิตทั้ง ๑๒ ดวง คือความฟุ้งซ่าน ขณะที่คิดด้วยอกุศล ขณะนั้น ก็ฟุ้งซ่านไป มีการคิดเรื่องการงาน เป็นต้น

๑๐. อวิชชาสังโยชน์ ได้แก่ โมหเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิตทั้ง ๑๒ ดวง คือ ความไม่รู้ เช่น ขณะที่คิดไม่ออก หลงลืมสติ ขณะนั้น ก็เป็นโมหะ


ซึ่ง รูปราคะ หมายถึง ความติดข้องใน รูปภพ ที่ไม่ได้ประกอบด้วยความเห็นผิด ต่างจาก ภวตัณหา ที่เป็นโลภะที่ประกอบด้วยความเห็นผิด ครับ

1. พระอริยเจ้าเหล่านี้ยังมีมิจฉาทิฏฐิอยู่หรือไม่?

พระอริยบุคคล ไม่มีมิจฉาทิฏฐิ ดับความเห็นผิดได้หมดสิ้นแล้ว ตั้งแต่เป็นพระโสดาบัน ครับ

2. ภวตัณหา จำเป็นหรือไม่ที่ต้องเกิดร่วมกับสัสสตทิฏฐิ?

ตัณหา หรือ โลภะ คือ ความติดข้อง พอใจ ยินดี ซึ่ง ตัณหา หรือ โลภะ เป็นเหตุแห่งทุกข์ พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง หลากหลายนัย เพื่อให้สัตว์โลกได้เข้าใจตามความเป็นจริง แม้แต่เรื่อง ตัณหา หรือ โลภะที่เป็นความติดข้อง ต้องการ ยินดี ก็มีหลากหลายนัย ตามลักษณะ ความติดข้อง คือ ต้องมีสิ่งที่ให้ติดข้อง สิ่งที่ให้ติดข้องมีหลายอย่าง หลายประการ เพราะฉะนั้นตัณหา จึงหลายอย่าง บางครั้งพระองค์แสดง ถึงตัณหา 3 อย่าง บางครั้งแสดง ตัณหา ๖ หรือ ตัณหา ๑๘ หรือ ตัณหา ๑๐๘ ก็เพื่อเข้าใจถึงความละเอียดของสภาพธรรมที่เป็นตัณหา คือ ความยินดี พอใจติดข้องในสิ่งต่างๆ ที่มีมากมายนั่นเองครับ

สำหรับประเด็นคำถามเรื่องภวตัณหานั้นก็มาจากการแบ่ง ตัณหา เป็น ๓ ประการคือ

1. กามตัณหา

2. ภวตัณหา

3. วิภวตัณหา

กามตัณหา หมายถึง ความยินดี พอใจติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รสสิ่งที่กระทบสัมผัสที่มีในชีวิตประจำวัน เช่น เห็นสิ่งใดแล้วก็ชอบ เพียงแค่นี้ก็เป็นกามตัณหาแล้วครับ ได้ยินเสียง ก็ติดข้อง แม้เพียงเล็กน้อยก็เป็นกามตัณหาอีกเช่นกัน ดังนั้น จึงมีกามตัณหาเป็นปกติในชีวิตประจำวันโดยส่วนมากครับ

ภวตัณหา คือ ความยินดี พอใจ โลภเจตสิกที่ติดข้องยินดีในการเกิดขึ้นของนาม รูป ยินดีในความมีชีวิตอยู่ หรือ หมายถึง โลภเจตสิกที่เจือด้วยสัสสตทิฏฐิ คือมีความเห็นผิดยึดถือว่าเที่ยง คือ ยินดีพอใจ ในความเห็นผิดว่า ตายแล้วต้องเกิด มีสัตว์บุคคลที่เกิดต่อไปในภพหน้า (สัสสตทิฏฐิ) เห็นว่าโลกเที่ยง เคยเกิดเป็นสัตว์หรือบุคคลเช่นไร เมื่อตายไปแล้ว ก็จะเกิดเป็นบุคคลเช่นนั้นอีก ขณะที่มีความเห็นผิดเช่นนี้ ขณะนั้นต้องมีความยินดี พอใจเกิดร่วมด้วย ที่เป็นตัณหา หรือ โลภะ จึงเรียกว่า ภวตัณหา

วิภวตัณหา คือ โลภะ หรือความยินดีพอใจ ในความเห็นที่ผิดว่า ตายแล้วก็ไม่เกิดอีก จบกัน ขาดสูญ (อุจเฉททิฏฐิ) การที่ยินดีพอใจในความเห็นนั้น ขณะนั้นเป็นวิภวตัณหา เป็นความยินดีพอใจในความเห็นผิดนั้นที่สัตว์ตายแล้วไม่เกิดอีกนั่นเองครับ

ซึ่งภวตัณหา มีความหมายกว้าง ทั้งโลภะที่ประกอบด้วความเห็นผิดที่ยึดถือว่าเที่ยง และ ยินดีพอใจ ในความมี ความเป็นอยู่ที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิดด้วย ครับ

ซึ่ง ตามที่กล่าวแล้ว ภวตัณหา ไม่ใช่ รูปราคะ เพราะ รูปราคะ มุ่งหมายถึง ยินดีติดข้องในรูปภพ รูปพรหม ครับ แต่ ภวตัณหา หมายถึง ยินดีในความเห็นผิดที่ยึดถือว่าเที่ยง และ เป็นอยู่ที่ไม่ใช่ในรูปภพ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 22 ม.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระอริยบุคคล คือ ผู้ประเสริฐซึ่งห่างไกลจากกิเลสที่ท่านดับได้ หมายถึงว่า กิเลสใด ที่ท่านดับได้ กิเลสนั้น ย่อมไม่เกิดขึ้ันอีก ประเด็นเรื่องพระโสดาบัน ก่อนอื่นควรที่จะได้เข้าใจว่า พระโสดาบัน คือใคร? พระโสดาบัน คือ ผู้ที่ถึงพระนิพพาน เป็นครั้งแรก ซึ่งก็คือ เป็นพระอริยบุคคลขั้นที่ ๑ ที่ได้ประจักษ์แจ้งพระนิพพานดับกิเลสได้ในระดับหนึ่ง ดับกิเลสได้เพียงบางส่วนตามสมควรควรแก่มรรคที่ท่านได้ ยังไม่สามารถดับได้ทั้งหมด พระโสดาบันดับความเห็นผิดทุกประการ ดับความลังเลสงสัยในสภาพธรรม ดับความตระหนี่ ดับความริษยา ดับกิเลสอย่างหยาบที่จะเป็นเหตุให้ไปเกิดในอบายภูมิ เพราะพระโสดาบันเป็นผู้ไม่ต้องไปเกิดในอบายภูมิอีกต่อไป เป็นผู้แน่นอนที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระอริยบุคคลขั้นสูงๆ ขึ้นไป กล่าวคือบรรลุเป็นพระสกทาคามี พระอนาคามี จนกระทั่งถึงความเป็นพระอรหันต์ในที่สุด กว่าจะถึงความเป็นพระโสดาบัน ตลอดจนกถึงพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ นั้นจะขาดการสะสมอบรมเจริญปัญญา ไม่ได้

พระโสดาบัน ไม่ใช่พระอรหันต์ พระโสดาบันยังมีกิเลสที่ยังเหลืออยู่ เพราะกิเลสทั้งปวงจะดับได้อย่างหมดสิ้นไม่มีเหลือ ก็ต้องถึงความเป็นพระอรหันต์ พระโสดาบัน ไม่มีความเห็นผิดใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย แต่พระโสดาบันยังมีความข้องที่เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และ ยังมีความติดข้องในภพเพราะยังต้องมีการเกิดอีก ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
dets25226
วันที่ 22 ม.ค. 2557

ขอบคุณที่กรุณาตอบปัญหาครับ เป็นประโยชน์อย่างมากครับ

ผมพอเข้าใจในคำตอบนั้น ดังนั้น ครับ

1. รูปราคะ ไม่ใช่ ภวตัณหา เพราะรูปราคะยินดีในรูปภพ และรูปพรหม แต่ภวตัณหายินดีในความเห็นผิดว่าเที่ยง และเป็นอยู่ คือว่า ยินดีต่างกันนั่นเอง

2. รูปราคะ ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด ต่างจากภวตัณหาที่ประกอบด้วยความเห็นผิด

ขอความกรุณาด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 22 ม.ค. 2557

เรียน ความเห็นที่ 3 ครับ

จากลิ้งที่ส่งมา เป็นการแสดงว่า ภวตัณหา มุ่งหมายถึง โลภะที่ประกอบด้วยความเห็นผิด คือ โลภะที่เกิดพร้อมกับทิฏฐิเจตสิก ที่ ยินดีพอใจ ในรูปภพ อรูปภพ ว่าเที่ยง ยั่งยืน ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
dets25226
วันที่ 22 ม.ค. 2557

ขอบคุณครับ...

จากคำอธิบายของ อ. paderm นั้น ผมพอมีความเข้าใจว่า ราคะกับตัณหาเป็นตัวเดียวกัน แต่ถ้าพูดว่า รูปราคะ กับ ภวตัณหา จะต่างกันทันทีเนื่องจากตัวหนึ่งมีทิฏฐิ อีกตัวไม่มี

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 22 ม.ค. 2557

เรียน ความเห็นที่ 5 ครับ

จาก อรรถกถา ที่ยกมา ก็เป็นการแสดงถึง ภวตัณหา ที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด ที่ยินดีในความสุขในฌาน ในภพที่มีอยู่ ซึ่ง ภวตัณหา ก็กินความหมาย ทั้งที่ประกอบด้วยความเห็นผิด และไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด ครับ ดังนั้น เราจะต้องพิจารณาในแต่ละส่วนของพระไตรปิฎก ว่า ภวตัณหา ส่วนไหน แสดงโดยนัยใด ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
dets25226
วันที่ 22 ม.ค. 2557

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 26 ม.ค. 2557

ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 29 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ