คำสอนนี้ตรงตามพระไตรปิฎกหรือไม่

 
medulla
วันที่  5 ธ.ค. 2549
หมายเลข  2430
อ่าน  3,257

"พระอรหันต์ทุกประเภทบรรลุทั้งเจโตวิมุตติ ทั้งปัญญาวิมุตติ อนาสวํ เจโตวิมุตฺตึ ปญฺญาวิมุตฺตึ ทิฏเฐว ธมฺเม สยํ อภิญฺญา สจฺฉิกตวา อุปฺปสมฺปชฺช วิหรติ พระบาลีนี้แสดงว่าพระอรหันต์ทั้งหลายไม่ว่าประเภทใดย่อมบรรลุทั้งเจโตวิมุตติ ทั้งปัญญาวิมุตติ ที่ปราศจากอาสวะในปัจจุบัน หาได้แบ่งแยกไว้ว่าประเภทนั้นบรรลุแต่เจโตวิมุตติ หรือปัญญาวิมุติไม่ ที่เกจิอาจารย์แต่งอธิบายไว้ว่า เจโตวิมุตติเป็นของพระอรหันต์ผู้ได้สมาธิก่อน ส่วนปัญญาวิมุตติเป็นของพระอรหันต์สุกขวิปัสสกผู้เจริญวิปัสสนาล้วนๆ นั้นย่อมขัดแย้งต่อมรรค มรรคประกอบด้วยองค์ ๘ มีทั้งสัมมาทิฏฐิ ทั้งสัมมาสมาธิ ผู้จะบรรลุวิมุตติธรรมจำต้องบำเพ็ญมรรค ๘ บริบูรณ์ มิฉะนั้น ก็บรรลุวิมุตติธรรมไม่ได้ ไตรสิกขาก็มีทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา อันผู้จะได้อาสวักขยญาณจำต้องบำเพ็ญไตรสิกขาให้บริบูรณ์ทั้ง ๓ ส่วน ฉะนั้น จึงว่า พระอรหันต์ทุกประเภทต้องบรรลุทั้งเจโตวิมุตติ ทั้งปัญญาวิมุตติด้วยประการฉะนี้แลฯ"

ขอทางมูลนิธิช่วยเทียบเคียงให้ทีนะคะ ขอบพระคุณค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 6 ธ.ค. 2549

ขอเรียนให้ทราบเกี่ยวกับศัพท์ที่กล่าวถึงพระอรหันต์ที่ว่า พระอรหันต์ทุกประเภทบรรลุทั้งเจโตวิมุตติ ทั้งปัญญาวิมุตติ คำนี้มีใช้ในพระไตรปิฎก แต่มิได้หมายความว่า พระอรหันต์ทุกประเภทต้องได้บรรลุฌาน เพราะความหมายของคำว่า เจโตวิมุตติ ในบางแห่งท่านหมายถึง สมาธิคือเอกัคคตาเจตสิกที่เกิดร่วมกับอรหัตตผล มิได้หมายถึงฌานอีกอย่างหนึ่งองค์ของสมาธิในไตรสิกขา ได้แก่ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ซึ่งจะเกิดร่วมกับสติปัฏฐานหรือวิปัสสนาอยู่แล้ว ฉะนั้น ผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานขณะนั้น องค์มรรคที่นับเนื่องในสมาธิย่อมเกิดร่วมด้วยแน่นอน สำหรับผู้ที่บรรลุเป็นพระอรหันต์สุกขวิปัสสก เป็นผู้เจริญวิปัสสนาล้วนๆ มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกและอรรถกถามากมายจึงไม่ขัดแย้งต่อมรรคและหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์แต่อย่างใด โปรดดูหลักฐานที่ยกมา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
study
วันที่ 6 ธ.ค. 2549

[เล่มที่ 22] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๑- หน้าที่ 141

ส่วนพระสุกขวิปัสสกผู้เจริญวิปัสสนาล้วนๆ พิจารณาปกิณณกสังขาร แล้วได้บรรลุพระอรหัต ย่อมลำบากเหมือนบุคคลฟันฝ่ากระแสน้ำด้วยกำลังแขนไปถึงฝั่งฉะนั้น ข้าพระองค์ขอทูลพระอรหัตของพระสุกขวิปัสสกนี้ด้วยประการดังกล่าว.

บทว่า อริยสาวโก ได้แก่ พระอริยสาวกผู้เป็นสุกขวิปัสสก จริงอยู่ พระสุกขวิปัสสกนี้ มีปัญญามากกว่าภิกษุทั้ง ๘ รูปข้างต้น ย่อมพิจารณากรรมฐานรวมกัน สำหรับภิกษุ

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒- หน้าที่ 255

บุคคลเป็นสมณะบุณฑริกเป็นอย่างไร ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เพราะสิ้นอาสวะทั้งหลาย ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง สำเร็จอยู่ในปัจจุบันนี่ แต่ว่าไม่ได้ถูกต้องวิโมกข์ ๘ ด้วย (นาม) กาย อย่างนี้แล บุคคลเป็นสมณะบุณฑริก

บทว่า สมณปุณฺฑริโก ได้เเก่ สมณะดังบัวขาว. ธรรมดาบัวขาวเกิดในสระมีใบ ๙๙ ใบ ทรงแสดงพระขีณาสพสุกวิปัสสกผู้บำเพ็ญวิปัสสนาล้วนด้วยบทนี้ ด้วยว่าพระขีณาสพสุกขวิปัสสกนั้น ชื่อว่าสมณะดังบัวขาว เพราะท่านมีคุณยังไม่บริบูรณ์ โดยที่ฌานและอภิญญาไม่มี

[เล่มที่ 79] พระอภิธรรมปิฎก ธาตุกถา-บุคคลบัญญัติ เล่ม ๓ - หน้าที่ 418

๒. บุคคล ผู้ได้ปัญญาเห็นแจ้งในธรรม กล่าวคือ อธิปัญญา แต่ไม่ได้เจโตสมถะในภายใน เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ได้โลกุตตรมรรค หรือโลกุตตรผล แต่ไม่ได้สมาบัติที่สหรคตด้วยรูป หรือสหรคตด้วยอรูป บุคคลอย่างนี้ชื่อว่า เป็นผู้ได้ปัญญาที่เห็นแจ้งในธรรม กล่าวคือ อธิปัญญา แต่ไม่ได้เจโตสมถะในภายใน.

๓. บุคคล ผู้ได้เจโตสมถะในภายใน ด้วยได้ปัญญา ที่เห็นแจ้งในธรรม กล่าวคืออธิปัญญาด้วย เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ได้สมาบัติที่สหรคตด้วยรูป หรือ สหรคต ด้วยอรูป เป็นผู้ได้โลกุตตรมรรคหรือโลกุตตรผล บุคคลอย่างนี้ชื่อว่า เป็นผู้ได้เจโตสมถะในภายในด้วย ได้ปัญญาที่เห็นแจ้งในธรรม กล่าวคือ อธิปัญญาด้วย บุคคลพวกที่ ๒ ได้แก่ พระอริยสาวกผู้สุกขวิปัสสก บุคคล พวกที่ ๓ ได้แก่ พระอริยสาวกผู้ได้สมาบัติ ๘

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
study
วันที่ 6 ธ.ค. 2549

[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้าที่ 587

บทว่า เจโตวิมุตฺตึ ได้แก่ สมาธิในอรหัตผล.

บทว่า ปญฺญาวิมุตฺตึ ได้แก่ ปัญญาในอรหัตผล.

จบอรรถกถาฌานาภิญญาสูตรที่ ๙

[เล่มที่ 45] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้าที่ 681

มรรคมีองค์ ๘ นั้น. ในบทว่า เจโตวิมุตฺติหีนา เต อโถ ปญฺญาวิมุตฺติยา ชนเหล่านั้นเสื่อมแล้วจากเจโตวิมุตติ และปัญญาวิมุตตินี้ พึงทราบว่า อรหัตผลสมาธิ เป็นเจโตวิมุตติเพราะสำรอกราคะ อรหัตผลปัญญา เป็นปัญญาวิมุตติเพราะสำรอกอวิชชา. อีกอย่างหนึ่ง อรหัตผลอันตัณหาจริตบุคคล ข่มกิเลสทั้งหลายด้วยผลแห่งอัปปนาฌาน แล้วจึงบรรลุ ชื่อว่า เจโตวิมุตติ เพราะสำรอกราคะ อรหัตผลทิฏฐิจริตบุคคลยังเพียงอุปจารฌานให้เกิด เห็นแจ้งแล้ว จึงบรรลุ ชื่อว่า ปัญญาวิมุตติ เพราะสำรอกอวิชชา. อีกอย่างหนึ่ง อนาคามิผล ชื่อว่า เจโตวิมุตติ เพราะสำรอกราคะคือ กามราคะ อรหัตผล ชื่อว่า ปัญญาวิมุตติ เพราะสำรอกอวิชชาโดยอาการทั้งปวง

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
medulla
วันที่ 6 ธ.ค. 2549
ขอกราบขอบพระคุณมูลนิธิฯมากค่ะ เป็นประโยชน์มากค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
อิสระ
วันที่ 7 ธ.ค. 2549
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
pornpaon
วันที่ 8 ธ.ค. 2549

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 16 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ