ขันธ์ที่ว่าละเอียดหยาบ เลวปราณีต ใกล้ไกล

 
papon
วันที่  1 ม.ค. 2557
หมายเลข  24273
อ่าน  4,041

เรียน อาจารย์ทั้งสองท่าน

ขันธ์ที่ว่าละเอียดหยาบ เลวประณีต ใกล้ไกล หมายความว่าอย่างไรครับ กระผมยังเข้าใจไม่ชัด (เคยเรียนถามแล้วแต่ไม่ทราบหายไปไหน) ขอความกรุณาอาจารย์ช่วยอธิบายอีกครั้ง

ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 1 ม.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขันธ์ หมายถึง สภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งความว่างเปล่าจากความเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล เกิดแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ขันธ์ มี ๕ ได้แก่ รูปขันธ์ (ได้แก่รูปธรรมทั้งหมด) สัญญาขันธ์ (สัญญาเจตสิก สภาพธรรมที่จำ) เวทนาขันธ์ (เวทนาเจตสิก สภาพธรรมที่รู้สึก) สังขารขันธ์ (เจตสิกธรรม ๕๐ มี ผัสสะ เจตนา เป็นต้น) และ วิญญาณขันธ์ (จิตทุกประเภท) ต่างก็เป็นสภาพธรรม ที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไปทั้งสิ้น ทุกขณะไม่พ้นไปจากขันธ์ เพราะมีสภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ตลอด

ขนฺธ = หมวด หมู่ กอง คณะ หมายถึง สภาพที่ถูกชาติ ชรา มรณเคี้ยวกิน ได้แก่ สภาพธรรมที่เป็นไปโดยอาการ ๑๑ อย่าง คือ

๑. อดีต

๒. อนาคต

๓. ปัจจุบัน

๔. ภายใน

๕. ภายนอก

๖. หยาบ

๗. ละเอียด

๘. ทราม

๙. ประณีต

๑๐. ไกล

๑๑. ใกล้

ขันธ์ ๕ คือ

๑. รูปขันธ์ (กองรูป) ได้แก่ รูป ๒๘

๒. เวทนาขันธ์ (กองเวทนา) ได้แก่ เวทนาเจตสิก ๑

๓. สัญญาขันธ์ (กองสัญญา) ได้แก่ สัญญาเจตสิก ๑

๔. สังขารขันธ์ (กองสังขาร) ได้แก่ เจตสิกที่เหลือ ๕๐

๕. วิญญาณขันธ์ (กองวิญญาณ) ได้แก่ จิต ๘๙

สภาพธรรมที่มีจริงที่จริง ที่เป็นขันธ์ ๕ มีความแตกต่างกันของสภาพธรรม แม้จะเป็นสภาพธรรมเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณ ซึ่งก็แบ่งสภาพธรรมที่เป็นขันธ์ ๕ ทั้งที่เป็น ไกล ใกล้ หยาบ ละเอียด เลว ประณีต แม้แต่ความความไกล ใกล้ หมายถึง ใกล้ โดยเป็นสภาพธรรมที่รู้ได้ง่าย ส่วนไกล เพราะ มีความละเอียดลึกซึ้ง ชื่อว่ารู้ได้ยาก จึงชื่อว่าไกล

หยาบ ละเอียดของสภาพธรรม ก็แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น รูปธรรม ขณะนี้เห็น มีสิ่งที่ถูกเห็น คือ สี สีเป็นรูปที่อยู่ใกล้ เพราะปรากฏให้รู้ได้นั่นเองโดยนัยเดียวกัน เสียง กลิ่น รส เย็น ร้อน ตึง ไหว ก็ปรากฏให้รู้ได้ เป็นรูปที่หยาบและอยู่ใกล้ แต่รูปมีมากกว่านั้นมี ๒๘ รูป จึงมีรูปที่ละเอียดและอยู่ไกล นั่นคือ รูปที่ไม่สามารถปรากฏได้ในชีวิตประจำวัน จะปรากฏกับผู้มีปัญญา สะสมปัญญามามากครับ ดังนั้น รูปที่ไกล ที่เป็นรูปละเอียด เช่น วจีวิญญัติรูป สามารถรู้ได้กับผู้มีปัญญา ครับ

ขันธ์ ที่เป็นรูปธรรม นามธรรม แม้สภาพธรรมอย่างเดียวกัน ก็มีความแตกต่างกันไป ทั้งไกล ใกล้ หยาบ ละเอียด เป็นต้น ตามที่กล่าวมา แต่อย่างไรก็ดี เมื่อเป็นสภาพธรรม ที่เป็นขันธ์แล้ว ก็แสดงถึงว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา สำคัญที่เข้าใจตรงจุดนี้ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 1 ม.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สำคัญที่ความเข้าใจตั้งแต่ต้นว่า สิ่งที่มีจริงๆ นั้น เป็นสิ่งที่มีจริงๆ และมีจริงๆ ในขณะนี้ ไม่พ้นไปจากสิ่งที่มีจริงๆ เลย และสิ่งที่มีจริงๆ ที่เกิดขึ้นเป็นไปในขณะนี้ ถ้าเรียกชื่อก็เป็นขันธ์แต่ละอย่างๆ เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน เกิดแล้วดับไม่กลับมาอีกเลยความหยาบ ความประณีต ไกล ใกล้ เป็นต้น ซึ่งเป็นความเป็นจริงของธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดง ตามความเป็นจริง เช่น ขณะที่กุศลจิตเกิด กับ ขณะที่อกุศลจิต เกิด ก็ต่างกัน รูปธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน กับ รูปที่มีจริง แต่ไม่ปรากฏในชีวิตประจำวัน ก็ต่างกัน เป็นต้น

แสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

ขันธ์ ก็ไม่พ้นไปจากนามธรรม กับ รูปธรรม นามธรรมก็ได้แก่ จิต และเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย

รูปธรรม เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร มีจริง เกิดขึ้นจากสมุฏฐานของตนๆ รูปธรรมที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน เป็นประจำ ที่สามารถรู้ได้ ก็ไม่พ้นไปจาก สี เสียง กลิ่น รส และสภาพธรรมที่ปรากฏทางกาย (เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว) ก็ต้องค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมที่มีจริง ไปทีละเล็กทีละน้อย จะข้ามขั้นไม่ได้เลยทีเดียว

การที่จะเข้าใจความเป็นจริงของสภาพธรรมที่มีจริงได้ ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพราะสิ่งที่มีจริงทุกอย่างควรรู้ยิ่ง เพราะเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงๆ สามารถศึกษาและรู้ตามความเป็นจริงได้ ครับ

ขอเชิญคลิกศึกษาเพิ่มเติม ได้ที่นี่ครับ

ขันธ์หยาบ - ขันธ์ประณีต

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 1 ม.ค. 2557

ขันธ์ คือ สภาพธรรมที่เป็นกลุ่มก้อน แตกต่างกันไปหลายอย่าง ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
kullawat
วันที่ 14 ส.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 20 พ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ