รูปเกิดดับด้วยสมุฏฐานอะไร

 
papon
วันที่  20 พ.ย. 2556
หมายเลข  24045
อ่าน  1,313

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

ขณะที่คนป่วยมีความทุกข์ทางกายด้วยโรคร้ายต่างๆ ขณะนั้นรูปเกิดดับด้วยสมุฏฐานอะไรบ้างครับ ขอความอนุเคราะห์ด้วยครับ

ขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 21 พ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขณะที่เจ็บป่วย คือ ขณะที่เกิดทุกขกายวิญญาณจิต ซึ่งเป็นผลของกรรม ที่เกิดจากอกุศลกรรมเป็นปัจจัย แต่ ขณะนั้น ก็มีรูปเกิดดับ ตามสมุฏฐานของตนเองด้วย ซึ่ง เกิดดับ ด้วย สมุฏฐาน 4 ตามประเภทของรูปนั้น เช่น ถ้า กายปสาทรูป ที่เป็นที่เกิดของจิตที่รู้กระทบทางกาย ที่รู้สึก ปวด เจ็บ กายปสาทรูปก็เกิดจากรรมเป็นปัจจัยส่วนรูปอื่นๆ ก็เกิดจาก จิต อุตุ และ อาหารเป็นปัจจัยได้ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
papon
วันที่ 21 พ.ย. 2556

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน จิตและอุตุขณะนั้นเกิดดับอย่างไรครับ ขอความอนุเคราะห์ช่วยยกตัวอย่างด้วยครับ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 21 พ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียนความคิดเห็นที่ ๒ ครับ

ตามความเป็นจริงแล้ว ตราบใดก็ตามที่ยังมีกาย ก็ย่อมเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ทางกายอันเป็นผลของอดีตอกุศลกรรมที่ได้กระทำมาแล้ว ถึงคราวให้ผล ซึ่งไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าเป็นผลของอกุศลกรรมอะไร ในชาติไหน ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

สำหรับในประเด็นคำถาม ที่กล่าวถึงเรื่องจิต กับ อุตุ ก็ต้องมีความเข้าใจตั้งแต่ต้นว่าสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย อันได้แก่ จิต เจตสิก และ รูป นััน ไม่มีแม้แต่อย่างเดียวที่เกิดแล้วจะยั่งยืนถาวร เพราะจะต้องมีความดับไปเป็นธรรมดาทั้งหมด

จิต มีอายุที่สั้นแสนสั้น เพียงชั่วอนุขณะ (คือขณะย่อย) ๓ อนุขณะเท่านั้น คือ ขณะที่เกิดขึ้น ขณะที่ยังไม่ดับ และขณะที่ดับไป ส่วนรูปธรรม มีอายุที่ยืนยาวกว่าจิต เพราะรูปๆ หนึ่ง มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ สำหรับจิตแล้ว มีการเกิดดับสืบต่อกันอย่างไม่ขาดสาย กล่าวคือ จิตขณะหนึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไป เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อ ทันที ส่วนรูปธรรม ไม่ได้สืบต่อเหมือนอย่างจิต เพราะรูป เกิดตามสมุฏฐานของตนๆ แล้วก็ดับไป และที่กล่าวถึงอุตุ ซึ่งเป็นสมุฏฐานให้เกิดรูป นั้น เป็นเตโชธาตุ คือ ธาตุไฟ เป็นรูปธรรม เกิดแล้วก็ต้องดับไป และตามความเข้าใจเบื้องต้นก็จะเข้าใจว่า มหาภูตรูป ๔ ไม่แยกจากกัน เวลาที่ธาตุไฟเกิด ก็จะต้องมีธาตุอีก ๓ ธาตุ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม เกิดด้วย แต่ที่จะเป็นสมุฏฐานให้เกิดรูปที่เป็นรูปที่เกิดจากอุตุ นั้น มุ่งหมายถึงเฉพาะธาตุไฟ เท่านั้น รูปที่เกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐานมีทั้งในภายในสัตว์บุคคล และะ ในภายนอก ด้วย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 21 พ.ย. 2556

เรียนเพิ่มเติมในความเห็นที่ 2 ครับ

จากประเด็นที่ถาม คงมุ่งหมายถึง รูปที่เกิดจากจิต และ รูปที่เกิดจากอุตุเกิดดับอย่างไรก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจ รูปที่เกิดจากจิต และ อุตุเป็นอย่างไรก่อน ครับ

จิตตชรูป คือ รูปที่เกิดจากจิต หมายถึง รูป ๑๕ รูป คือ อวินิพโภครูป ๘ วิการรูป ๓ วิญญัติรูป ๒ สัททรูป ๑ ปริจเฉทรูป ๑ ซึ่่งเกิดจากจิตเป็นปัจจัย จิตที่เป็นปัจจัยให้เกิดรูปได้มี ๗๕ ดวงเท่านั้น เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ อรูป วิบาก ๔ (จิตที่ทำกิจปฏิสนธิ ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดจิตตชรูป เพราะจิตในขณะปฏิสนธิกาลมีกำลังอ่อน จุติจิตของพระอรหันต์ก็ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดจิตตชรูป เพราะเป็นความสิ้นสุดของสังสารวัฏฏ์ หมดความสืบต่อของนามและรูปทั้งปวง)

ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่ มีเสียง พูดออกมา เสียง ที่เป็นรูป ก็มีเหตุมากจาก จิตที่มีความต้องการที่จะพูด จึงพูดออกมา เพื่อสื่อความหมายให้เข้าใจกัน ครับ

อุตุชรูป คือ รูปที่เกิดจากอุตุ (ความเย็น ความร้อน) และอุตุชรูปนี้เกิดได้ทั้งภายในและภายนอก สำหรับภายในสัตว์ เกิดขึ้นได้ทุกๆ ขณะของจิต นับตั้งแต่ฐีติขณะของปฏิสนธิ เป็นต้นมา จิตเกิดขึ้น ๑ ขณะ จะมีอนุขณะ ๓ คือ อุปาทขณะ ฐีติขณะ ภังคขณะ อุตุชรูป ๑๓ อุตุชรูป คือรูปที่เกิดจากอุตุ และรูปที่เกิดจากอุตุมี ๑๓ คือ อวินิพโภครูป ๘ (มหาภูตรูป ๔, วัณณรูป ๑, คันธรูป ๑, รสรูป ๑, โอชา ๑) ปริจเฉทรูป๑ วิการรูป ๓ (ลหุตารูป มุทุตารูป กัมมัญญตารูป) สัททรูป ๑

ยกตัวอย่างเช่น ต้นไม้ ภูเขา เหล่านี้ ก็เกิดจากปัจจัย คือ อุตุ ความเย็น ความร้อน อากาศให้เป็นไป ทำให้เกิดรูปขึ้น ที่เป็น สมมติบัญญัติว่าเป็นภูเขา ต้นไม้ ครับ ดังนั้น ไม่ว่ารูปที่เกิดจากจิต หรือ เกิดจากอุตุ ล้วนแล้วแต่เกิดดับ 17 ขณะจิตเหมือนกัน ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
papon
วันที่ 21 พ.ย. 2556

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

ภูเขาและต้นไม้เกิดจากปัจจัย อุตุ เรียนถามว่าต้นไม้และละภูเขาที่ประเทศที่มีภูมิอากาศ ร้อน เย็น ที่แตกต่างกัน มีความแตกต่างกันของรูปหรือไม่ อย่างไรครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 21 พ.ย. 2556

แตกต่างกันได้โดยเป็น ความหยาบ ละเอียดของรูปธรรม ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
pamali
วันที่ 21 พ.ย. 2556

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
thilda
วันที่ 22 พ.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
peem
วันที่ 22 พ.ย. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ