?ความเบื่อหน่าย...สลด...สังเวช?

 
ธุลี
วันที่  6 พ.ย. 2556
หมายเลข  23974
อ่าน  2,512

“ความเบื่อหน่าย สลด สังเวช” ที่เกิดจาก การพิจารณาถึงความไม่สวยไม่งามของร่างกาย เพื่อลดความยึดมั่นถือมั่น เป็นอารมณ์ฝ่ายกุศลหรืออกุศลครับ

ขอบพระคุณอย่างสูงครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 6 พ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความเบื่อหน่าย องค์ธรรม คือ ปัญญาที่รู้ตามความเป็นจริง แต่ไม่ใช่ความเบื่อหน่าย ที่เป็นโทสะ ไม่ชอบใจในความไม่สบาย ป่วยของร่างกาย แต่เห็นตามความเป็นจริง ที่เป็นวิปัสสนาญาณ เบื่อหน่ายในขันธ์ เพราะเห็นถึงลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงในขณะนั้นด้วยปัญญา ระดับสูง จึงเบื่อหน่ายด้วยปัญญาและถึงการดับกิเลส ด้วยวิปัสสนาญาณขั้นอื่นๆ เกิดขึ้นครับ เพราะฉะนั้น จึงไม่พ้นไปจากเรื่องของปัญญาเป็นสำคัญ หากไม่มีปัญญา ตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว ก็สำคัญ เบื่อหน่าย ด้วยความเป็นเรา ไม่รู้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมเป็นไป การสะสมปัญญาที่จะถึงความเบื่อหน่ายที่เป็นปัญญาระดับสูง จึงต้องเริ่มจากการฟังพระธรรมให้เข้าใจ ปัญญาที่เกิดขึ้น จึงเป็นไปตามลำดับ ไม่ข้ามขั้น ไม่มีตัวตนที่จะทำให้เบือ่หน่าย แต่เมื่อปัญญาถึงพร้อม ความเบื่อหน่ายย่อมเกิดขึ้น ในสภาพธรรมที่กำลังปรกาฎในขณะนี้ เพราะ หากเบื่อหน่ายตัวเอง เบื่อหน่ายร่างกายที่สำคัญว่ามีร่างกายอยู่ ก็ไม่มีทางที่จะพ้นจาก กรง คือ ความเห็นผิดที่สำคัญว่ามีเรา มีร่างกายที่สมมติบัญญัติได้เลย ส่วน ความสังเวช สลดใจ ต้องเป็นจิตที่เป็นกุศลและประกอบด้วยปัญญา ขณะใดที่เศร้าโศก เสียใจ เพราะสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ขณะนั้นไม่ใช่ความสังเวช สลดใจ ความสังเวช สลดใจนั้น เกิดจากการเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ตามความเป็นจริง เช่น เห็นความแก่ เจ็บ ตาย หรือเพราะคำเตือน เป็นต้น เกิดความสังเวช สลดใจแต่ไม่ใช่เห็นแล้วเศร้าโศกเสียใจ แต่เห็นแล้ว รู้ตามความเป็นจริงของสภาพธัมมะนั้น จึงสังเวช สลดใจและปรารภความเพียรที่จะดับกิเลส เป็นต้น หรือเห็นตามความเป็นจริงของสภาพธัมมะ ว่าสภาพธัมมะทั้งหลายไม่เที่ยงด้วยปัญญา จึงเกิดความสังเวชสลดใจ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องของปัญญา ซึ่งไม่ใช่ความเศร้าโศกเสียใจ หมายถึง ความสังเวช สลดใจ เพราะขณะที่เศร้าโศกเสียใจ เป็นอกุศลจึงไม่ใช่ สังเวช สลดใจ ดังข้อความในพระไตรปิฎกครับ

[เล่มที่ 69] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๒- หน้าที่ 311

อรรถกถาอธิมัตตัตถนิเทศ บทว่า สเวโค อุปฺปชฺชติ ความสังเวชย่อมเกิดขึ้นคือ ความสังเวชใน เพราะความปรวนแปรของสังขารย่อมเกิดขึ้น เพราะรู้แจ้งโทษของสังขารด้วยแสงสว่าง คือญาณ

[เล่มที่ 48] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 411

ญาณประกอบด้วยโอตตัปปะ ชื่อว่าความสังเวช ความสังเวชนั้น ญาณประกอบด้วยโอตตัปปะ ชื่อว่าความสังเวช ความสังเวชนั้น เกิดขึ้นแก่นางเพราะได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ตสฺมา เม อหุ สํเวโค ดังนี้

ส่วนการพิจารณา ความเป็นอสุภะ คือ ไม่งาม ซึ่งก็ต้องมีปัญญาเป็นสำคัญ หากไม่มีปัญญา แทนที่จะเป็นกุศล ก็เป็นอกุศล เพราะไม่มีความเข้าใจเบื้องต้น แม้แต่คำว่า อสุภะ คือไม่งามอย่างไร ที่สำคัญที่สุด การละกิเลส ละคลายกิเลส ไม่ใช่การเลือกอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ตามความพอใจ เพราะการอบรมปัญญา ไม่ใช่ว่าจะต้องมาพิจารณาอสุภะครับ เพราะหนทางการอบรมปัญญาที่จะละกิเลส คือ การรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา กิเลสที่ต้องละเป็นอันดับแรก คือ ความเห็นผิดที่ยึดถือว่ามีเรา การพิจารณาอสุภะ ก็มีสัตว์ เป็นเราที่ไม่งาม เป็นเขาที่ไม่งาม ไม่ได้ละความยึดถือว่าเป็นเรา เป็นเขา ไม่ได้รู้ตามความเป็นจริงว่าเป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เราครับ

ดังนั้นขอให้เริ่มกลับมาสู่ ความเข้าใจเบื้องต้น ในหนทางการอบรมปัญญาที่ถูกต้องว่า ไม่ใช่จะต้องไปพิจารณาอสุภะ ความไม่งาม เพราะขณะนี้ มีสภาพธรรม ก็ไม่รู้จักว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา เริ่มเข้าใจหนทางการอบรมปัญญาที่ถูกต้องใหม่ครับ ว่าจะต้องรู้จักตัวธรรมที่มีในขณะนี้ก่อน เข้าใจว่า ธรรมคืออะไร เพื่อไถ่ถอนความยึดถือว่า เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนครับ ซึ่งหากอบรมปัญญาเบื้องต้นอย่างนี้ คือ เข้าใจว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ย่อมเห็นตามความเป็นจริงของสภาพธรรม ที่ไม่งาม ปฏิกูลอย่างแท้จริงครับ เพราะความปฏิกูล ไม่งามของสภาพธรรม คือ สิ่งใดเกิดขึ้นและดับไปไม่เที่ยง สิ่งนั้นไม่งาม เป็นปฏิกูลครับ ดังนั้นไม่ว่า มนุษย์ แม้แต่เทวดา ที่เป็นการประชุมรวมกัน คือ ขันธ์ 5 ที่ไม่เที่ยง ก็ไม่งาม ปฏิกูล เพราะ ความไม่เที่ยงของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปนั่นเอง แสดงถึงความปฏิกูล ไม่งามแล้วครับ แม้ร่างกายจะประณีตเพียงไร ก็เป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป จึงปฏิกูลครับ

จะเห็นนะครับว่า หากเราเข้าใจหนทางการอบรมปัญญาที่ถูกต้องคือ เข้าใจความจริงของสภาพธรรมที่ไม่ใช่เราเป็นแต่เพียงธรรม การอบรมปัญญาเช่นนี้ ปัญญาที่เจริญขึ้น ย่อมละกิเลส ความไม่รู้ และเห็นตามควาเมป็นจริงของสภาพธรรม ที่ไม่งามปฏิกูลเสมอกันหมด ไม่ว่าอยู่ในภพภูมิไหน เกิดเป็นอะไร เมื่อเป็นสภาพธรรมที่ไม่เที่ยงก็ปฏิกูลโดยประการทั้งปวง โดยที่ไม่ต้องไปพิจารณาอสุภะและไม่สามารถที่จะละกิเลสได้ เพราะไม่มีความเข้าใจเบื้องต้นนั่นเองครับ กลับมาเริ่มต้นในหนทางที่ถูก ดีกว่าการเข้าใจผิด และไม่สามารถละกิเลสได้ครับ

ดังนั้น จึงกล่าวสรุปได้ว่า หากไม่มีปัญญา เกิดความเข้าใจถูก ในขณะที่พิจารณาความไม่งาม ก็ไม่ใช่กุศล แต่เป็นอกุศล ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 6 พ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สลดสังเวช เป็นเรื่องของปัญญาที่เข้าใจถูก ไม่ใช่ด้วยความเบื่อด้วยอำนาจของโทสะ ไม่ใช่ด้วยความเดือดร้อนกระวนกระวายใจไม่สบายใจ ที่ไม่ชอบ ถ้าเริ่มต้นจากความไม่รู้ แล้วไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ (โดยที่เข้าใจผิดว่ารู้แล้ว ถูกต้องแล้ว) ก็มีแต่จะสะสมความไม่รู้ สะสมความเห็นผิดมากยิ่งขึ้น พอกพูนอกุศลให้มีมากขึ้น เพราะเหตุว่า พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏตามความเป็นจริง ไม่ใช่เพื่อความไม่รู้ ผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาเท่านั้นถึงจะเข้าใจไปตามลำดับ แต่ถ้าไม่ได้ฟัง ไม่ได้ศึกษาเลย ย่อมไม่มีทางที่จะเข้าใจ แม้แต่ในเรื่องของอสุภกรรมฐาน ที่เป็นสมถภาวนานั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นเรื่องของปัญญา ต้องมีปัญญาที่เข้าใจความต่างของกุศลและกุศล พร้อมทั้งรู้ด้วยว่าจิตจะสงบได้ด้วยอารมณ์ประเภทใด แต่ถ้าไม่รู้ไม่เข้าใจแล้วไปเพ่งอสุภะ เพ่งซากศพ ก็ไม่เป็นไปเพื่อละคลายกิเลส และถึงแม้ว่าจะเจริญถูกต้องในเรื่องอสุภกรรมฐาน ที่เป็นสมถภาวนา ก็ไม่สามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท เพียงแต่ระงับกิเลสไว้ด้วยกำลังแห่งความสงบของจิตเท่านั้น แต่ถ้าเป็นการเจริญสติปัฏฐานที่ระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ไม่ว่าสภาพธรรมใดปรากฏ สติและปัญญาก็เกิดขึ้นระลึกรู้ตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ที่เริ่มจากการสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกในเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงที่กำลังปรากฏ ย่อมจะเป็นไปเพื่อละกิเลสได้ในที่สุดสำคัญที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกตั้งแต่ต้นจริงๆ ควรอย่างยิ่งที่จะได้เริ่มต้นที่การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ เพราะธรรมมีจริงๆ ในขณะนี้ มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ต้องไปแสวงหาธรรมที่ไหนเลย สำคัญที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกอย่างแท้จริง ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 6 พ.ย. 2556

สลด สังเวช คือ สลดจากอกุศล พิจารณา สังเวควัตถุ 8 คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย อบายภูมิ 4 เพื่อให้ไม่ประมาทในการเจริญกุศล ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
peem
วันที่ 6 พ.ย. 2556

ขออนุโมทนาคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ธุลี
วันที่ 7 พ.ย. 2556

กราบขอบพระคุณความกรุณาของท่านอาจารย์ทั้งสองเป็นอย่างยิ่งครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
papon
วันที่ 8 พ.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
สิริพรรณ
วันที่ 15 พ.ย. 2556

ละเอียดลึกซึ้งยิ่ง ถ้าไม่ได้สนทนาธรรมก็คงเห็นผิด และพลาดได้ง่าย จากที่เห็นว่า เราเป็นอสุภะ ทั้งที่แท้จริงไม่มีเรา

กราบขอบพระคุณยิ่งค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ