อนุสัย กับ สังโยชน์

 
vasaya
วันที่  5 พ.ย. 2556
หมายเลข  23970
อ่าน  7,836

อนุสัยและสังโยชน์ จากพุทธภาษิตที่กล่าวว่า (กราบเรียนขออภัยถ้าผิด)

เด็กอ่อนที่นอนหงายอยู่บนผ้าอ้อมเพียงจะรู้จักว่านี้ตานี้รูปก็ไม่มีในเด็กนั้น เพราะฉะนั้น สังโยชน์ จึงไม่มีในเด็กที่นอนอยู่ในผ้าอ้อมแต่ว่า อนุสัย ย่อมตามนอนในเด็กนั้นได้

เรียนถามความหมายของคำว่า อนุสัย และ สังโยชน์ และอันไหนละเอียดกว่ากันค่ะ และถ้าอนุสัยคือกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน แต่อนุสัยก็เป็นกิเลสอาศัยจิตเจตสิกเกิดชั่วคราวเมื่อจิตเจตสิกในคราวนั้นดับไปแล้ว อนุสัยจะตกค้างอยู่กับใครเท่าที่เคยเข้าใจมา หรืออ่านพบอนุสัยตามนอนเนื่อง เหมือนตะกอนนอนก้นโอ่งนำเมื่อมีคนมาคนก็ขุ่นขึ้นเหมือนเมื่อได้รับอารมณ์ที่ไม่ดีก็เกิดปฏิฆะ โกรธขึ้นมาเข้าใจว่าขุ่นขึ้นขึ้นมาเรียนว่าเป็นการเข้าใจผิดแต่ต้น เรียนอธิบายที่ถูกด้วยค่ะ

ขออนุโมทนาค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 5 พ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สังโยชน์ คือ สภาพธรรมที่ผูก ผูกสัตว์ไว้ในวัฏฏะ คือ ไม่ให้ออกไปจากวัฏฏะคือ การเกิดไปได้ เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่เป็นสังโยชน์ จึงเป็นเครื่องกั้นที่จะทำให้ออกไปจากสังสารวัฏฏ์

สังโยชน์ มี ๑๐ อย่าง คือ

๑. กามราคสังโยชน์ ได้แก่ โลภเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิต ๘ ดวง เช่น ขณะที่ยินดีพอใจ ในอาหารที่ทาน ขณะนั้นก็เป็นกามราคะสังโยชน์ สรุปได้ว่า เป็นความยินดี พอใจ ในรูป เสียง กลิ่น รสสิ่งที่กระทบสัมผัส

๒. รูปราคสังโยชน์ ได้แก่ โลภเจตสิกที่เกิดกับทิฏฐิคตวิปปยุตจิต ๔ ดวง คือ ความยินดีพอใจ ในการกิดในรูปพรหม

๓. อรูปราคสังโยชน์ ได้แก่ โลภเจตสิกที่เกิดกับทิฏฐิคตวิปปยุตจิต ๔ ดวง คือ ความยินดีพอใจในการเกิดในอรูปพหรม

๔. ปฏิฆสังโยชน์ ได้แก่ โทสเจตสิกที่เกิดกับโทสมูลจิต ๒ ดวง คือ ความโกรธที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน

๕. มานสังโยชน์ ได้แก่ มานเจตสิกที่เกิดกับทิฏฐิคตวิปปยุตจิต ๔ ดวง คือ ขณะที่เปรียบเทียบว่า เราเก่งกว่า ด้อยกว่า เป็นมานะในขณะนั้น ครับ เป็นมานะสังโยชน์

๖. ทิฎฐิสังโยชน์ ได้แก่ ทิฏฐฺเจตสิกที่เกิดกับทิฏฐิคตสัมปยุตจิต ๔ ดวง คือ ขณะที่เห็นผิด เช่นเกิดควาเมห็นผิดว่า ตายแล้วไม่เกิด ตายแล้วไปอยู่ในสถานที่ที่เที่ยง กรรมไม่มี ผลของกรรมไม่มี เป็น ความเห็นผิดในขณะนั้น เป็น ทิฏฐิสังโยชน์

๗. สีลัพพตปรามาสสังโยชน์ ได้แก่ ทิฎฐิเจตสิกที่เกิดกับทิฏฐิคตสัมปยุตจิต ๔ ดวง คือ ความเห็นผิดเช่นกัน แต่ เป็นความเห็นผิดในข้อวัตรปฏิบัติ เช่น เข้าใจว่าการทรมานตนเองจะทำให้หลุดพ้น เป็นต้น

๘. วิจิกิจฉาสังโยชน์ ได้แก่ วิจิกิจฉาเจตสิกที่เกิดกับโมหวิจิกิฉา สัมปยุตจิต ๑ ดวง คือ ความลังเลสงสัย เช่น ขณะที่คิดว่า พระพุทธเจ้ามีจริงหรือ สงสัยในพระรัตนตรัยนั่นเอง สงสัยว่า ข้อปฏิบัติที่จะถึงการดับทุกข์มีจริงหรือ เป็นต้น

๙. อุทธัจจสังโยชน์ ได้แก่ อุทธัจจเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิตทั้ง ๑๒ ดวง คือ ความฟุ้งซ่าน ขณะที่คิดด้วยอกุศล ขณะนั้น ก็ฟุ้งซ่านไป มีการคิดเรื่องการงาน เป็นต้น

๑๐. อวิชชาสังโยชน์ ได้แก่ โมหเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิตทั้ง ๑๒ ดวง คือ ความไม่รู้ เช่น ขณะที่คิดไม่ออก หลงลืมสติ ขณะนั้น ก็เป็นโมหะ

อนุสัยกิเลส หมายถึง กิเลสอย่างละเอียดที่ตามนอนเนื่องอยู่ในจิตไม่ปรากฏตัวออกมา หรือเป็นกิเลสที่มีกำลังที่ยังละไม่ได้ จะละได้ด้วยปัญญระดับมรรคจิตครับ อนุสัย มี ๗ ประการ คือ

๑. กามราคานุสัย หมายถึง โลภะ ความติดข้องในกาม

๒. ปฏิฆานุสัย หมายถึง โทสะ ความโกรธ

๓. ทิฏฐานุสัย หมายถึง ความเห็นผิด

๔. วิจิกิจฉานุสัย หมายถึง ความสงสัย

๕. มานานุสัย หมายถึง ความถือตัว ความสำคัญตัว

๖. ภวราคานุสัย หมายถึง โลภะ ความติดข้องในภพ

๗. อวิชชานุสัย หมายถึง โมหะ ความไม่รู้กามราคานุสัย เหมือน กามราคสังโยชน์ ปฏิฆานุสัย เหมือน ปฏิฆสังโยชน์ ภวราคานุสัย เหมือนกับ รูปราคสังโยชน์ และ อรูปราคสังโยชน์ ทิฏฐานุสัย เหมือน ทิฎฐิสังโยชน์ วิจิกิจฉานุสัย เหมือน วิจิกิจฉาสังโยชน์ มานานุสัย เหมือน มานะสังโยชน์ อวิชชานุสัย เหมือน อวิชชาสังโยชน์ แต่อนุสัยไม่มี สีลพตปรามาส ข้อวัตรปฺฏิบัติที่ผิด สังโยชน์ จึงมีมากกว่า อนุสัย และ อนุสัย ไม่มีอุทธัจจะ แต่ สังโยชน์มีอุทธัจจะ

พระอริยบุคคลละอนุสัยและสังโยชน์ด้วย เพราะ อกุศลธรรมแบ่งเป็น ๙ กอง อนุสัยก็เป็นอกุศลธรรมประเภทหนึ่ง สังโยชน์ก็เป็นอกุศลธรรมประเภทหนึ่ง ดังนั้น การละของพระอริยบุคคล มีพระโสดาบัน เป็นต้น พระโสดาบัน ละ วิจิกิจฉานุสัย และละ วิจิกิจฉาสังโยชน์ไปพร้อมๆ กัน และ ละ ทิฏฐานุสัย และ ละทิฏฐิสังโยชน์ และ ละ สีลพตปรามาสสังโยชน์

พระสกทาคามี ทำให้ กามราคะสังโยชน์ และกามราคานุสัย เบาบางแต่ยังละไม่ได้ และทำให้ปฏิฆะสังโยชน์และปฏิฆานุสัยเบาบางแต่ยังละไม่ได้หมดสิ้น พระอนาคามี ละ กามราคะสังโยชน์และ กามราคานุสัย ได้หมดสิ้น และ ละ ปฏิฆะสังโยชน์ และ ละ ปฏิฆานุสัยได้หมดสิ้น พระอรหันต์ ละ อวิชชาสังโยชน์ อวิชชานุสัยได้หมดสิ้น ละ มานะสังโยชน์ มานานุสัย ได้หมดสิ้น พระอรหันต์ ละอุทัจจะสังโยชน์ได้

พระอรหันต์ละ ภวาราคานุสัย และ ละ รูปราคสังโยชน์ และ อรูปราคสังโยชน์ ได้หมดสิ้น ครับ ดังนั้น ให้เข้าใจครับว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดง พระธรรมหลากหลายนัย โดย แบ่งอกุศลธรรมเป็นประเภทต่างๆ แต่องค์ธรรม ก็คือ ประเภทเดียวกัน แต่ที่เรียกชื่อต่างกัน เพราะลักษณะของกิเลสนั้น มีความละเอียดหลากหลายแตกต่างกัน ทั้งที่เป็นสภาพธรรมเดียวกัน คือ เป็นเครื่องผูกที่เป็นสังโยชน์ก็ได้ และ เป็นอนุสัย คือ เป็นกิเลสที่นอนเนื่องในสันดาน ก็ได้ ครับ

คำถามที่ว่า ถ้าอนุสัยคือ กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดานแต่อนุสัยก็เป็นกิเลสอาศัยจิตเจตสิกเกิดชั่วคราว เมื่อจิตเจตสิกในคราวนั้นดับไปแล้วอนุสัยจะตกค้างอยู่กับใครเท่าที่เคยเข้าใจมาหรืออ่านพบอนุสัยตามนอนเนื่องเหมือนตะกอนนอนก้นโอ่งน้ำเมื่อมีคนมาคนก็ขุ่นขึ้นเหมือนเมื่อได้รับอารมณ์ที่ไม่ดีก็เกิดปฏิฆะโกรธขึ้นมาเข้าใจว่าขุ่นขึ้น ขึ้นมา เรียนว่าเป็นการเข้าใจผิดแต่ต้นเรียนอธิบายที่ถูกด้วยค่ะ

อนุสัยกิเลส เป็นกิเลสอย่างละเอียด ถ้าไม่มีเชื้อโรค อาการของโรคก็ไม่ปรากฏให้รู้ ก็เพราะอาการของโรคปรากฏเพราะฉะนั้นจึงแสดงว่ามีเชื้อโรคอันทำให้เกิดอาการของโรคแสดงออกมา ในทำนองเดียวกับเรื่องของกิเลสที่เป็นอนุสัยที่เป็นเหมือนเชื้อโรคและกิเลสอย่างกลาง รวมทั้งกิเลสหยาบที่เปรียบเหมือนอาการของโรคที่แสดงออกมาทางใจและกาย วาจา ซึ่ง อนุสัยกิเลส ก็สะสมในจิตไว้ เหมือนเชื้อโรคที่ฝังในร่างกาย และก็สะสมต่อไปในจิตขณะต่อไป ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
vasaya
วันที่ 5 พ.ย. 2556

ขออนุโมทนาค่ะเช่นนั้นสังโยชน์ก็มีในเด็กที่นอนอยู่ในผ้าอ้อมใช่ไหมค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 5 พ.ย. 2556

ถูกต้องครับ ตราบใดที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ยังมีกิเลสอยู่ ก็ยังมีอนุสัยกิเลส ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
vasaya
วันที่ 5 พ.ย. 2556

กราบอนุโมทนาค่ะ ถ้าเช่นนั้นที่อ่านพบในมหามาลุงโกฺยวาทสูตรว่าสังโยชน์ ไม่มีในเด็กที่นอนอยู่ในผ้าอ้อมก็กล่าวตรงกันข้าม (อ่านจากหนังสือธัมมานุสธัมมา ปฎิบัติหน้า87 โดยพระอ.จ.มั่น) อยากทราบด้วยความเคารพเนื่องจากเกิดความสงสัยใคร่รู้จริงๆ ค่ะ

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
vasaya
วันที่ 5 พ.ย. 2556

ที่เรียนถามคือสังโยชน์ในเด็กอ่อนตามสูตรที่กล่าวค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 5 พ.ย. 2556

ในความเป็นจริงแล้ว ต้องมี ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
khampan.a
วันที่ 5 พ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหนตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อนุสัยกิเลส เป็นกิเลสที่ละเอียดมาก เพราะเหตุว่า กิเลสมี ๓ ระดับ คือ กิเลสขั้นหยาบ เราเห็นได้จากการประพฤติทุจริตล่วงศีล แสดงให้ทราบว่า กิเลสนั้นหยาบ และมีกำลัง, กิเลสที่ไม่ถึงกับล่วงศีลที่ออกมาเป็นกายทุจริต วจีทุจริต เมื่อเกิดแล้ว แต่ยังไม่แสดงออกให้รู้ได้ในขณะนั้นๆ เป็นกิเลสขั้นกลาง เช่น ความขุ่นใจ มี แต่ไม่พูด ไม่แสดงออกทางกาย ทางวาจา หรือ โลภะ มี แต่ไม่แสดงออก ก็ไม่มีผู้อื่นรู้ว่ามีโลภะกิเลสที่เกิดขึ้นทำกิจการงานร่วมกับจิต กิเลสขั้นกลางนี้เป็นกิเลสที่เกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตแต่ยังไม่ถึงกับล่วงศีลหรือกระทำทุจริตกรรม แต่กิเลสขั้นหยาบ และกิเลสขั้นกลางจะเกิดได้ก็เพราะเหตุว่า มีกิเลสขั้นละเอียดซึ่งไม่มีใครรู้เลยนอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงตรัสรู้ว่าการที่จะดับกิเลสหมดสิ้นเป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นอย่างเด็ดขาด) ได้นั้น ต้องดับอนุสัยกิเลสซึ่งเป็นพืชเชื้อที่เป็นเหตุให้กิเลสขั้นกลาง และกิเลสขั้นหยาบเกิดขึ้นได้

สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ กิเลสที่เป็นระดับที่ละเอียดมาก คือ อนุสัยกิเลสยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท ส่วนพระอรหันต์ ไม่มีอนุสัยกิเลส และไม่มีกิเลสระดับใดๆ ทั้งสิ้น พระอรหันต์ไม่ว่าจะได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัสท่านไม่หวั่นไหวไปด้วยอำนาจของกิเลส เพราะท่านดับกิเลสได้ทั้งหมดแล้ว แต่ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ย่อมหวั่นไหวไปด้วยอำนาจของกิเลสประการต่างๆ มีโลภะ โทสะ เป็นต้น

จึงแสดงให้เห็นว่ากิเลสที่ปรากฏให้รู้ได้ในชีวิตประจำวัน ก็เป็นกิเลสขั้นกลาง กับขั้นหยาบ และที่รู้ว่ายังมีกิเลสขั้นละเอียดอยู่ ก็เพราะมีกิเลสขั้นกลาง คือขณะที่เกิดขึ้นกลุ้มรุมจิต และกิเลสขั้นหยาบ คือ ล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรมทางกาย ทางวาจา นั่นเอง, เพราะยังมีกิเลสขั้นละเอียด จึงเป็นเหตุให้มีกิเลสขั้นกลาง และกิเลสขั้นหยาบ, กิเลสขั้นละเอียดจะหมดไปได้ นั้น เมื่อมีการอบรมเจริญปัญญา รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลายที่ปรากฏตามความเป็นจริงของธรรมนั้นๆ

เมื่อปัญญารู้แจ้งอริยสัจจธรรม กิเลสขั้นละเอียดก็จะหมดสิ้นไปเป็นประเภทและหมดไปตามลำดับมรรคด้วย กล่าวคือ โสตาปัตติมรรค ดับทิฏฐานุสัย และวิจิกิจฉานุสัย อนาคามิมรรค ดับกามราคานุสัย และปฏิฆานุสัย อรหัตตมรรค ดับมานานุสัย ภวราคานุสัย และ อวิชชานุสัย พระอรหันต์เท่านั้น ที่เป็นผู้ไม่มีอนุสัยกิเลสนอนเนื่องอยู่ในจิตอีกต่อไป

กว่าจะดำเนินไปถึงการดับอนุสัยกิเลสได้นั้น ต้องเริ่มที่การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ไม่ขาดการฟังพระธรรม และจะต้องอาศัยกาลเวลาอันยาวนานในการอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่เพียงแค่ชาติเดียว หรือ สองชาติเท่านั้น

ตราบใดที่ยังไม่สามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น อนุสัยกิเลสก็ยังมีอยู่ครบเป็นเหตุให้มีกิเลสขั้นต่างๆ เกิดขึ้นเป็นไป แต่ถ้ามีการอบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งสามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น อนุสัยกิเลสก็จะถูกดับตามลำดับมรรค และที่จะดับได้อย่างหมดสิ้นก็ต้องถึงความเป็นพระอรหันต์ แสดงให้เห็นตามความเป็นจริงว่า เพราะยังมีอนุสัยกิเลสจึงเป็นเหตุให้กิเลสประการต่างๆ เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ทำให้ผู้นั้นยังไม่พ้นไปจากทุกข์ยังไม่พ้นไปจากสังสารวัฏฏ์ ถูกกิเลสผูกไว้ ตรึงไว้ ประกอบไว้ในวัฏฏะ จนกว่าจะมีปัญญาสามารถที่จะดับได้ ซึ่งก็ต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานในการอบรมเจริญปัญญาจริงๆ

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แสดงให้เข้าใจ สิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง ไม่เว้นธรรมใดๆ เลย รวมทั้งกิเลส อกุศลธรรมด้วยก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง มีจริงในชีวิตประจำวันและเกิดขึ้นเป็นไปมากด้วย พระองค์ทรงแสดงไว้โดยละเอียด และมีมากมายในพระธรรมคำสอน เพื่อให้ผู้ฟังผู้ศึกษาได้เข้าใจตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา พร้อมทั้งเห็นโทษเห็นภัยของสภาพธรรมฝ่ายที่ไม่ดีเหล่านี้เพื่อประโยชน์ในการขัดเกลาให้เบาบางจนกว่าจะสามารถดับได้จนหมดสิ้นในที่สุดครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
wannee.s
วันที่ 5 พ.ย. 2556

อนุสัย คือ กิเลสที่สะสมมาในอดีต ปัจจุบัน จนถึงอนาคต ตราบใดที่ยังมีกิเลส ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
vasaya
วันที่ 5 พ.ย. 2556

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
วิริยะ
วันที่ 8 พ.ย. 2556

เรียนถาม

ดิฉันกำลังมีความสงสัยในเรื่องประเภทหรือลักษณะของกิเลสอยู่ พอดีอ่านพบในหัวข้อนี้ของท่านเจ้าของข้อความ รู้สึกว่ามีประโยชน์มาก ดิฉันอยากเรียนถามท่านผู้รู้ว่า การกดข่มกิเลสในชีวิตประจำวันนั้น มีประโยชน์หรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น เห็นของสวยงามก็อยากซื้ออยากได้ แต่ข่มใจไว้ไม่ให้ซื้อ เป็นต้น

ขอบพระคุณอย่างสูง

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
prachern.s
วันที่ 8 พ.ย. 2556

เรียนความเห็นที่ ๑๐

การข่มกิเลสในชีวิตประจำวัน ด้วยกุศล ด้วยความเห็นถูก ก็เป็นประโยชน์ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
วิริยะ
วันที่ 8 พ.ย. 2556

เรียนถาม

จากความเห็นที่ 11 อยากทราบว่า การข่มกิเลส ด้วยกุศล ด้วยความเห็นถูกนั้น มีลักษณะอย่างไรคะ การข่มกิเลสเท่าที่สังเกต ไม่น่าจะเป็นกุศลเลย ข่มอย่างไร ก็ยังอยากได้ อยากมี อยากเป็น เพียงแต่ ในวินาทีนั้นๆ หรือในขณะนั้นๆ อาจจะผ่านไปได้ แต่วันอื่นๆ ก็เหมือนเดิม น่ะค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
prachern.s
วันที่ 9 พ.ย. 2556

จากความเห็นที่ ๑๒

การข่มกิเลส หรือขัดเกลา ด้วยกุศล ด้วยความเห็นถูก มีหลายระดับขั้น เริ่มตั้งแต่กุศลขั้นทาน ขณะที่กุศลจิตขั้นทานเกิดขึ้น ขณะนั้น ละขัดเกลากิเลส คือ ความตระหนี่ ความเห็นแก่ตัว ในขณะที่กุศลขั้นศีลเกิดขึ้น ขณะนั้นก็ข่มละขัดเกลากิเลสที่ล่วงทางกาย ทางวาจา ที่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ขณะที่สมาทานอุโบสถศีล ก็ข่ม ละ ขัดเกลา กิเลส เช่นกัน ขณะที่ฟังธรรม เจริญสมถะ เมตตา ขันติ ก็ข่ม ละ ขัดเกลากิเลส เช่นเดียวกัน จริงอยู่แม้ว่าจะเป็นช่วงสั้นๆ ที่กุศลเกิดขึ้น ก็เป็นประโยชน์ เป็นอุปนิสัยให้เกิดกุศลประเภทนั้นๆ ให้เกิดขึ้นอีกครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
j.jim
วันที่ 12 พ.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
amornrat44
วันที่ 27 เม.ย. 2565

เรียนถามเพิ่มเติมคะ อนุสัยกิเลสนอนเนื่องอยู่ในจิต หมายถึงจิตทุกประเภทหรือเปล่าคะ แม้แต่วิบากจิตก็มีอนุสัยกิเลสหรือไม่

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
Smornmas
วันที่ 16 ส.ค. 2565

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ