วิธีแก้ สังโยชน์ 10 ค่ะ

 
wkedkaew
วันที่  5 พ.ย. 2556
หมายเลข  23969
อ่าน  2,478

วิธีแก้ สังโยชน์ 10 ค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 5 พ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เวลาที่ได้ศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม สำคัญที่การตั้งต้นจริงๆ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้กล่าวอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเป็นเครื่องเตือนใจที่ดีเป็นอย่างยิ่ง เพื่อไม่ประมาทในพระธรรมแต่ละคำว่า คำนั้น คืออะไร มีความหมายว่าอย่างไร รวมถึงคำว่า สังโยชน์ ด้วย (บางครั้งก็เขียนเป็นสัญโญชน์) หมายถึง สภาพธรรมที่เป็นอกุศลธรรม ที่ผูกมัดเหล่าสัตว์ไว้ในวัฏฏ์ ไม่ให้ออกไปจากวัฏฏะ

สังโยชน์ มี ๑๐ อย่าง คือ

๑. กามราคสังโยชน์ ได้แก่ โลภเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิต ๘ ดวง เช่น ขณะที่ยินดีพอใจ ในอาหารที่ทาน ขณะนั้นก็เป็นกามราคะสังโยชน์ สรุปได้ว่า เป็นความยินดี พอใจ ในรูป เสียง กลิ่น รสสิ่งที่กระทบสัมผัส ครับ

๒. รูปราคสังโยชน์ ได้แก่ โลภเจตสิกที่เกิดกับทิฏฐิคตวิปปยุตจิต ๔ ดวง คือ ความยินดีพอใจ ในการกิดในรูปพรหม ครับ

๓. อรูปราคสังโยชน์ ได้แก่ โลภเจตสิกที่เกิดกับทิฏฐิคตวิปปยุตจิต ๔ ดวง คือ ความยินดีพอใจในการเกิดในอรูปพหรม

๔. ปฏิฆสังโยชน์ ได้แก่ โทสเจตสิกที่เกิดกับโทสมูลจิต ๒ ดวง คือ ความโกรธที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ครับ

๕. มานะสังโยชน์ ได้แก่ มานะเจตสิกที่เกิดกับทิฏฐิคตวิปปยุตจิต ๔ ดวง คือ ขณะที่เปรียบเทียบว่า เราเก่งกว่า ด้อยกว่า เป็นมานะในขณะนั้น ครับ เป็นมานะสังโยชน์

๖. ทิฎฐิสังโยชน์ ได้แก่ ทิฏฐฺิเจตสิกที่เกิดกับโลภทิฏฐิคตสัมปยุตจิต ๔ ดวง คือขณะที่เห็นผิด เช่นเกิดความเห็นผิดว่า ตายแล้วไม่เกิด ตายแล้วไปอยู่ในสถานที่ที่เที่ยง กรรมไม่มี ผลของกรรมไม่มี เป็น ความเห็นผิดในขณะนั้น เป็น ทิฏฐิสังโยชน์ ครับ

๗. สีลัพพตปรามาสสังโยชน์ ได้แก่ ทิฎฐิเจตสิกที่เกิดกับโลภทิฏฐิคตสัมปยุตจิต ๔ ดวงคือ ความเห็นผิดเช่นกัน ครับ แต่ เป็นความเห็นผิดในข้อวัตรปฏิบัติ เช่น เข้าใจว่า การทรมานตนเองจะทำให้หลุดพ้น เป็นต้น

๘. วิจิกิจฉาสังโยชน์ ได้แก่ วิจิกิจฉาเจตสิกที่เกิดกับโมหวิจิกิจฉาสัมปยุตจิต ๑ ดวง คือ ความลังเลสงสัย เช่น ขณะที่คิดว่า พระพุทธเจ้ามีจริงหรือ สงสัยในพระรัตนตรัยนั่นเอง สงสัยว่า ข้อปฏิบัติที่จะถึงการดับทุกข์มีจริงหรือ เป็นต้น ครับ

๙. อุทธัจจสังโยชน์ ได้แก่ อุทธัจจเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิตทั้ง ๑๒ ดวง คือ ความฟุ้งซ่าน ขณะที่คิดด้วยอกุศล ขณะนั้น ก็ฟุ้งซ่านไป มีการคิดเรื่องการงาน เป็นต้น ครับ

๑๐. อวิชชาสังโยชน์ ได้แก่ โมหเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิตทั้ง ๑๒ ดวง คือ ความไม่รู้ เช่น ขณะที่คิดไม่ออก หลงลืมสติ ขณะนั้น ก็เป็นโมหะ เมื่อกล่าวถึงความเข้าใจโดยรวมแล้ว ตราบใดก็ตามที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็ยังไม่พ้นไปจากวัฏฏะ จนกว่าจะสามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น สูงสุด คือ ถึงความเป็นพระอรหันต์ เมื่อนั้นก็จะไม่ถูกผูกไว้ด้วยกิเลสประการต่างๆ อีก พร้อมทั้งไม่เป็นเหตุให้มีการเกิดในภพใหม่อีกต่อไป

ประโยชน์ของผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาธรรมในส่วนที่กล่าวถึงอกุศลธรรม นั้น คือ เข้าใจธรรมตามความเป็นจริง เห็นโทษเห็นภัยของอกุศลที่มีมากเป็นอย่างยิ่งในชีวิตประจำวัน เพื่อเป็นผู้ไม่ประมาทในการที่จะได้ฟังพระธรรม ได้ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา จนกว่ากิเลสทั้งปวงจะถูกดับหมดสิ้นไป ครับ

วิธีแก้สังโยชน์ ไม่มีวิธีอื่น นอกจากการศึกษาธรรม อบรมปัญญา ปัญญาที่ค่อยๆ เกิดขึ้น สะสมจนมีกำลัง ก็จะค่อยๆ ละสังโยชน์ ไปตามลำดับ จนละสังโยชน์ได้ ในที่สุด ครับ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลายาวนาน ในการอบรมปัญญา ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wkedkaew
วันที่ 5 พ.ย. 2556

กราบขอบพระคุณมากๆ ค่ะ อาจารย์

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 5 พ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ถ้าไม่มีปัญญาแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะดับกิเลสใดๆ ได้เลย ถ้าได้ศึกษาพระธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนา จะพบข้อความที่แสดงถึงความเป็นไปของบุคคลในครั้งอดีตกาล ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ยังไม่เสด็จดับขันธปรินิพพาน จะเห็นได้ว่า ตัวอย่างของผู้ที่จะเป็นพระอริยบุคคล ก่อนที่จะได้ฟังพระธรรม กุศลช่างมีกำลังที่จะแสดงออกมาทางกาย ทางวาจาต่างๆ กัน แสดงให้เห็นว่า ถ้าโลกุตตรปัญญา (ปัญญาที่ทำกิจดับกิเลส) ยังไม่เกิด ยังไม่มีทางที่จะดับกุศลใดๆ ได้เลย ทางกาย ทางวาจาที่แสดงออกก็ยังต้องเป็นไปตามกำลังของกุศลนั้นๆ เช่น โลภะ ซึ่งเป็นความพอใจ ซึ่งเป็นกุศลประเภทหนึ่ง เป็นสิ่งที่มีกำลังมากแค่ไหน ในพระไตรปิฎกมีข้อความที่แสดงไว้ว่า อุปมาว่า เหมือนกับต้นยางซึ่งชุ่มด้วยยาง เมื่อใดที่เอามีดกรีดลงไป เมื่อนั้นยางก็ย่อมไหลออก ถูกผูกมัดด้วย กามราคสังโยชน์

นี่เป็นชีวิตประจำวันของทุกคนจริงๆ ว่าชอบสิ่งใด ความอยากได้มีมากแค่ไหน ทางหูอยากจะฟังเสียงที่ไพเราะ ทางจมูกอยากจะได้กลิ่นหอมๆ ทางลิ้นที่เป็นอาหารรสอร่อย เป็นต้น เป็นไปกับด้วยโลภะทั้งนั้น ในขณะนั้นที่โลภะกำลังเกิด ไม่สามารถที่จะยับยั้งโลภะได้เลย เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า เมื่อได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา แล้วโลกุตตรปัญญาเกิด จึงสามารถที่จะดับกิเลสได้ แต่ว่าก่อนนั้นทุกคนเต็มไปด้วยกุศลนานาประการ กิเลสที่มีมาก ต้องอาศัยปัญญาเท่านั้นถึงจะดับได้ ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 5 พ.ย. 2556

สังโยชน์ เป็นเครื่องผูกมัด เปรียบเหมือน เชื่อกที่มัดไว้ เชือก คือ โลภะ โทสะ โมหะ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
orawan.c
วันที่ 10 พ.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ