กลายเป็นเหยื่อ

 
Vareesa
วันที่  31 ต.ค. 2556
หมายเลข  23947
อ่าน  762

ฟังมาบ่อยๆ ค่ะ ว่า มีขบวนการขอทาน เช้าเอาขอทานมาปล่อยไว้ เย็นมารับกลับ เป็นขอทานปลอม ขอแล้วได้เงินมากมายจริงๆ เมื่อพบขอทานเลยไม่กล้าให้เลยค่ะ แต่ก็มีคําถามว่า เอ๊ะ เหมือนพบคนลําบากแล้วไม่ช่วย จะเป็นบาปกรรมติดตัวเราไปหรือเปล่าคะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 1 พ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การให้ สละวัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่นนั้น เป็นสิ่งที่ควรกระทำ เพราะคนที่ควรแก่การรับวัตถุทานนั้น มีมากทีเดียว ถ้ามีการสละให้ได้ ก็เป็นการสะสมคุณความดี ขัดเกลาอกุศลของตนเอง เพราะในชีวิตประจำวัน เหตุที่จะทำให้กุศล (ความดี) เกิดขึ้นเป็นไปก็มี ขึ้นอยู่กับว่าผู้นั้นจะเห็นคุณของความดีประการนั้นๆ หรือไม่ เมื่อได้กระทำในสิ่งที่ดี ก็เป็นการคอยเติมความดีเพิ่มขึ้นในจิต จากที่เคยเป็นอกุศล ก็เริ่มเป็นกุศลขึ้น ในชีวิตประจำวัน

การช่วยเหลือผู้อื่น ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ต้องให้เงินเท่านั้น ถ้าหากว่ามีวัตถุต่างๆ เช่น ขนม อาหาร เป็นต้น ก็สามารถสละให้ได้ หรือแม้ไม่มีวัตถุสิ่งของจะให้ สามารถเกิดกุศลจิตได้ไหม เมื่อพบเขา ไม่ดูถูกเหยียดหยาม ไม่เกลี่ยดชัง แต่มีเมตตาเป็นมิตร กุศลธรรมก็เกิดขึ้นเป็นไปแล้วในขณะนั้น

ที่สำคัญคือ เราเองต้องรู้ว่าสภาพจิตของเราเป็นอย่างไร ตามธรรมดา สภาพของจิตใจกลับกลอกเกิดดับสลับกันอย่างรวดเร็ว ไม่ให้ด้วยจิตอะไร ถูกครอบงำด้วยอกุศลหรือเปล่า ในขณะนั้น แต่ถ้าจิตอ่อนโยนแล้ว จะไม่ให้หรือ นี้คือ สิ่งที่จะต้องพิจารณา ถ้าอกุศลจิตเกิดขึ้น แต่ไม่ได้กระทำการใดๆ อันเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ ย่อมไม่เป็นเหตุให้เกิดผลที่ไม่ดีในภายหน้าได้ ความเข้าใจพระธรรมเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องนำทางชีวิตที่ดี คอยประคับประคองให้ตั้งอยู่ในกุศลธรรม ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 1 พ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา มีเหตุปัจจัย ตามการสะสมมาของแต่ละจิต หากเราเข้าใจ ความเป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ที่เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปเท่านั้น ก็จะเบาในสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะ เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น ความเป็นธรรมดาของปุถชน คือ ผู้ที่หนาด้วยกิเลส มีเหตุปัจจัยกิเลส อกุศลก็เกิดขึ้นเป็นธรรมดา ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวัน ของปุถุชน โดยมากจึงเป็นไปกับ อกุศลมากกว่า กุศลเป็นอย่างมาก

เพราะฉะนั้น ในการพบเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง บางคราว ก็เกิด กุศลที่คิดจะให้ บางคราวก็เกิด อกุศลที่คิดจะไม่ให้ แม้แต่กรณีที่ผู้ถามได้พบนั้น ก็แสดงถึงความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม ที่สามารถเกิดจิตประเภทต่างๆ ได้เป็นธรรมดา เพราะแสดงให้เห็นว่า เมื่อพบขอทาน ซึ่งขณะนั้น มีบัญญัติ เป็นอารมณ์ของจิต บัญญัติเป็นอารมณ์ ของกุศล อกุศลจิตก็ได้ ตามเหตุปัจจัยว่า จะเกิด กุศล หรือ อกุศล เมื่อเกิดจิตคิดจะให้ กุศลจิตก็เกิดในขณะนั้น แต่บางคราวก็คิดที่จะไม่ให้ เพราะ พิจารณาว่า เขาหลอกมา ก็เป็นได้ ก็คิดไม่ให้ ก็แสดงว่า เกิดอกุศลจิตได้เป็นธรรมดา และ แม้บางคราว แม้จะไม่ให้ เห็นเด็กขอทานก็เกิดจิตเมตตา เกิด จิต กรุณา สงสาร ขณะนั้น แม้ไม่ให้ แต่ ก็เกิด กุศลจิตได้ ที่หวังดี มีเมตตา ในขณะนั้นจิตนั้น

เพราะฉะนั้น จะเป็นบาปหรือไม่นั้น บาป ก็มีหลายระดับ ทั้งที่เป็น บาปที่เป็นเพียงอกุศลจิต และ บาปที่ถึงกับทำบาป ล่วงศีล เพราะฉะนั้น การไม่ให้ ด้วย เกิดอกุศลจิตก็เป็นบาป ที่เกิดในจิตใจ ไม่ได้ ส่งผลใหเกิดวิบากกรรม เพราะ ไม่ได้ทำการล่วงศีลห้า แต่เพราะ ความไม่เข้าใจในความเป็นอนัตตา จึงเกิดอกุศลจิตได้เป็นธรรมดา ผู้ที่กลายเป็นเหยื่อ แท้ที่จริงแล้ว คือ จิตที่เกิดอกุศลในขณะนั้น ตกเป็นเหยื่อของความไม่รู้ เพราะไม่มีปัญญาที่เข้าใจว่า แม้อกุศล บาปทีเกิดขึ้นในจิตใจ ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ไม่เข้าใจว่าอกุศลเกิดขึ้นเป็นธรรมดา จึง เป็นเหยื่อของความไม่รู้ ผู้ตกเป็นเหยื่อ จึงไม่ได้หมายถึง ผู้ที่ถูกจับไป แต่ ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ คือ ผู้ที่ถูกจับ ด้วยกิเลส ด้วยอกุศลที่เกิดขึ้น อกุศล กิเลสเกิดขึ้น ขณะใด ถูกจับ เป็นเหยื่อแล้ว ซึ่งจะพ้นจากความเป็นเหยื่อด้วยการเข้าใจความจริงของสภาพธรรมที่เกิดขึนว่าเป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เรา อันเกิดจากการฟัง ศึกษาพระธรรมเป็นสำคัญ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Vareesa
วันที่ 1 พ.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
nopwong
วันที่ 3 พ.ย. 2556

ขออนุโมทนา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ