ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๑๓

 
khampan.a
วันที่  20 ต.ค. 2556
หมายเลข  23888
อ่าน  1,740

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรม จากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจสั้นๆ เหมาะสำหรับผู้ที่มีเวลาน้อย เพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกันเพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ถึงแม้ว่าจะเป็นข้อความที่สั้น แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์อยู่ในตัว ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้

[ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๑๓]

ถ้าท่านผู้ใดรังเกียจกิเลส แม้ว่าจะเล็กน้อยนิดหน่อยสักเท่าไร ถ้ากิเลสใหญ่ๆ ท่านก็ยิ่งจะต้องรังเกียจ แล้วก็ละเว้นมาก เพราะฉะนั้น การขัดเกลาจิตใจ ก็จะต้องเห็นคุณของการที่ละเว้นกิเลสทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นประเภทเบา ประเภทหนักประการใด ยิ่งมีการอบรมเจริญ เห็นโทษของกิเลส รังเกียจกิเลสมาก ผู้ใดเว้นโทษเล็กๆ น้อยๆ ได้ ไม่มีคำที่จะต้องกล่าวว่า ผู้นั้นจะต้องเว้นสิ่งที่หนัก มีโทษมาก

สำหรับผู้ที่ยังมีโลภะ โทสะ โมหะอยู่ สิ่งใดที่กระทำไป ซึ่งไม่เป็นทุจริตกรรม ไม่ผิดศีล ก็เป็นเรื่องที่เป็นไปด้วยกำลังของโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ไม่มีใคร สามารถที่จะไปห้าม ไปกันใคร ไม่ให้ทำอะไร เพราะเหตุว่า ยังเป็นผู้ที่ยังมีโลภะ โทสะ โมหะด้วยกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ว่าประคับประคองกัน ระหว่าง ผู้ที่ยังมีโลภะ โทสะ โมหะ ไม่ให้ประพฤติทุจริตกรรม ไม่ให้ล่วงศีล ๕ นั่นก็เป็น สิ่งที่ควรจะเกื้อกูลกัน

เจริญกุศล ขัดเกลา เท่าที่จะกระทำกันได้ ไม่ใช่เกินกำลังความสามารถ แล้ว แต่ว่าบุคคลใด สามารถที่จะอบรมเจริญกุศลขั้นใด ก็กระทำไปตามเหตุปัจจัย เท่า ที่สามารถจะกระทำได้

ธรรมทั้งหลาย ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าเลยสักขณะจิตเดียวว่า ความรู้สึกจะเป็นสุข หรือเป็นทุกข์ หรือจะเฉยๆ จะโสมนัส หรือจะโทมนัส จะมีเรื่องร้ายแรงเกิดขึ้น ก็ไม่มี ใครสามารถที่จะรู้ได้ล่วงหน้าเลย เพราะเหตุว่าสภาพธรรมใดก็ตาม ที่จะเกิดขึ้น ก็ต้อง เกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย พร้อมที่จะเกิดขึ้นแล้ว

ทำไมถึงจะต้องพรรณนาคุณความดีของตนเอง เพื่ออะไร? ขณะที่พร่ำรำพัน ถึงคุณความดีของตนเอง ไม่รู้หรอกว่า ขณะนั้นจิตใจเป็นอะไร ผูกพันในตัวตน แล้ว ก็ปรารถนาที่จะให้ ตัวเองนั้น เป็นที่รักของบุคคลอื่น ขณะใด ที่พรรณนาถึงความ ห่วงใย ความหวังดี ความผูกพันของตนเองที่มีต่อบุคคลอื่น มุ่งประสงค์ที่จะให้ บุคคลอื่นเห็น แล้วตนเองก็จะเป็นที่รัก ขณะนั้นก็ให้ทราบว่า ขณะนั้นเป็นกิเลส หรือเปล่า?

ถ้าไม่ขัดเกลากิเลส กิเลสก็จะมากมายทับถมยิ่งขึ้น

ไม่มีมิตรแท้ สำหรับผู้ที่มีปิสุณาวาจา (วาจาส่อเสียด) มีเจตนาที่จะ มุ่งทำลาย บุคคลอื่น เพราะฉะนั้น ผลของกรรมที่เป็นวาจาส่อเสียด มุ่งทำลายผู้อื่นนั้น อย่างเบาที่สุด ก็จะทำให้เป็นผู้ที่แตกจากมิตร

ถ้ากิเลสมีกำลังแล้วล่ะก็เป็นปัจจัยให้เกิด กาย วาจา ที่นำมาซึ่งความเดือดร้อน ไม่เป็นไปเพื่อความสงบจิต

ถ้าเห็นว่า ผรุสวาจา (คำพูดหยาบคาย) นี้ไม่ดี ทำให้คนอื่นเดือดร้อน โทมนัสเสียใจ ท่านเองก็ไม่อยากจะได้ยินได้ฟัง เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะยับยั้ง ขัดเกลาบรรเทาเสียตั้งแต่ในชาตินี้ เพื่อที่จะได้ไม่ติด ไม่สะสม จนกระทั่งเป็นผู้ที่มีวาจา ที่คนอื่นฟังแล้วก็ไม่สงบใจ อาจจะคิดมาก หรือว่าเดือดร้อนใจไปนาน ทั้งๆ ที่รู้ว่า บุคคลนั้นก็ไม่ได้มีเจตนาอย่างนั้น

พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุ เพื่อให้เห็นภัยของวัฏฏะ ซึ่งจะให้ประสบ กับสิ่งที่พอใจเท่านั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่า ทุกท่านได้กระทำมาแล้ว ทั้งกุศลกรรม และอกุศลกรรม เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ว่าขณะไหน กรรมใดจะให้ผล ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็ได้รับกระทบอารมณ์ที่น่ายินดี น่าพอใจ แต่ว่าเวลาที่เป็นผลของ อกุศลกรรม ก็ย่อมจะได้รับอารมณ์ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ที่ไม่น่าพอใจ

ชีวิตของทุกท่าน ย่อมจะต้องประสบ ทั้งอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์เป็นของ ธรรมดา เพราะเหตุว่าเป็นผลของอดีตกรรมที่ได้กระทำแล้ว

ผู้ที่เกิดสลดสังเวช จะเป็นผู้ไม่ประมาท ในการเจริญกุศลทุกประการ แม้ว่า จะประสบพบเห็น กับเหตุการณ์อะไรก็ตาม สำหรับบุคคลผู้ที่มีปัญญา ท่านเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย เป็นต้น ก็เป็นสิ่งที่เตือนได้ว่า แม้เรา ก็จะต้องเป็นอย่างนั้น จึงไม่ควรที่จะประมาท ในการเจริญกุศลทุกประการ เพราะชีวิตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน เกิดเป็นมนุษย์อยู่ดีๆ แต่ถ้าอาศัยความประมาทเพียงนิดเดียว อาจจะเป็นเหตุให้ ไปเกิดในอบายภูมิก็เป็นได้

บุคคลผู้ที่ฉลาด ย่อมหากุศลของคนอื่น เพื่อจะได้อนุโมทนา (ยินดีในกุศลที่ผู้อื่น ได้กระทำ) และหาโทษของตนเองเพื่อจะได้ขัดเกลา แต่ถ้าเป็นผู้ไม่ฉลาด ก็จะ ตรงกันข้ามกัน คือ หากุศลของตนเอง และหาโทษของบุคคลอื่น ขณะที่หาโทษ ของบุคคลอื่นอกุศลก็เกิดขึ้น ขณะที่หากุศลของตนเอง ขณะนั้น ก็อาจจะเกิด ความทะนงตน ความสำคัญตนได้ ซึ่งเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่ฉลาด จริงๆ ย่อมหาโทษของตนเองว่า มีโทษอะไรบ้าง ที่คนอื่นอาจจะไม่เห็นอาจจะไม่รู้ ตนเองเท่านั้นที่จะรู้ดี และในขณะเดียวกัน ที่มีการเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่น ก็หา กุศลของคนอื่น เพื่อจะได้อนุโมทนา ถ้าเป็นอย่างนี้ทุกวันๆ กุศลจิตย่อมเจริญ

การป้องกันภัยคือกิเลสนั้น ต้องอาศัยการเจริญขึ้น ของกุศลธรรมทั้งหลาย มีศรัทธา หิริ โอตตัปปะ เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ปัญญา ความเข้าใจถูก เห็นถูก เพราะถ้ามีปัญญาแล้ว กุศลธรรมประการต่างๆ ก็จะเจริญเพิ่มขึ้น ขณะ ที่กุศลธรรมเกิดขึ้นนั้น ก็เป็นเครื่องป้องกันอกุศลแล้ว เพราะขณะนั้นอกุศลเกิดไม่ได้ จนกว่าจะมีปัญญาคมกล้า สามารถดับกิเลสได้ ตามลำดับขั้น

ชีวิต อาจจะอยู่ไม่ถึงพรุ่งนี้ก็ได้ อาจจะสิ้นชีวิตในวันนี้ก็ได้ มีโอกาสที่จะฟัง พระธรรม ก็ควรรีบฟัง รีบสะสมปัญญาทันที มีโอกาสที่จะได้สะสมกุศล ก็สะสม ทันที เป็นคนดีทันที ทุกที่ ทุกเวลา ทุกสถานการณ์

อะไรที่ผิด ก็ทิ้งไปได้เลย

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง รวมลงที่คำเดียว คือ สิ่งที่มีจริงๆ (ธรรม) และเป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

ทุกส่วนของพระธรรมคำสอนที่ได้ยินได้ฟัง ก็เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก

ลูกที่ไม่ดี ไม่ได้รับมรดกจากพ่อแม่ ฉันใด ผู้ที่ไม่ฟังพระธรรม ไม่ศึกษาพระธรรม ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็ไม่ได้รับมรดกจากพระองค์ ฉันนั้น กล่าวคือ ไม่มีทางที่จะได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง

ลาภ ที่เหนือลาภใดๆ ก็คือ มีศรัทธาเห็นประโยชน์ที่จะฟัง ที่จะศึกษาพระธรรม ให้เข้าใ

๐ คำจริง (วาจาสัจจะ พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง) เป็นคำอนุเคราะห์ จากที่มีความเห็นผิด ให้เป็นผู้มีความเข้าใจถูกเห็นถูก

ขอเชิญอ่านย้อนหลังครั้งที่ ๑๑๒ ได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๑๒

...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 20 ต.ค. 2556

ข้อมุล ย้อนหลัง ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ครั้งที่ ๑๑๒ (สำรอง)

-ถ้าตราบใดยังไม่ประจักษ์ในลักษณะของสภาพธรรม คือนามธรรมและรูปธรรม จะมีความเห็นผิดเกิดมากมายหลายประการ เนื่องมาจากการไม่รู้ลักษณะของ นามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริง นอกจากนั้นจะเห็นได้ว่า ไม่ใช่มีแต่ความ เห็นผิดเท่านั้น กิเลสอื่นที่ยังมีปัจจัยที่จะให้เกิดขึ้น ก็เกิดขึ้น เมื่อได้ปัจจัยควรแก่ กิเลสนั้นๆ ก็เกิด ซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นกาย หรือวาจา หรือใจ ก็ย่อม ประกอบไปด้วยกิเลสนานาประการ

-พูดกระทบ พูดเสียดแทงให้เจ็บช้ำน้ำใจ ด่าว่า พูดเหน็บแนม หรือแม้คำพูดที่ล้อ เลียน ล้วนมาจากอกุศลจิต

-ถ้าไม่ขัดเกลา ไม่บรรเทา ไม่เห็นว่าเป็นโทษ ไม่เห็นว่าเป็นอกุศลธรรมที่น่า รังเกียจแล้ว ก็ย่อมนำมาซึ่งทุจริตกรรมทุกประการได้ เวลาที่คิดทุจริต แม้แต่ก่อน ที่จะกระทำ ก็ต้องอำพราง ต้องปกปิด ต้องพูดเท็จ เพื่อจะกระทำทุจริตกรรมนั้น ให้สำเร็จลงไปได้ แม้ว่ากระทำแล้ว ก็ยังไม่ปรารถนาที่จะให้บุคคลอื่นเห็น รู้ว่าเป็นทุจริต ก็ยังต้องพูดเท็จ อำพราง ปกปิดต่อไปอีก

-ถ้ายังเห็นว่ามุสาวาทเป็นเรื่องธรรมดา ไม่เพียรละ ไม่เพียรขัดเกลาแล้ว ก็ย่อมนำ มาซึ่งทุจริตกรรมได้ทุกประการ

-การศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม ไม่ใช่เพื่อลาภ เพื่อสักการะ แต่เพื่อการดับกิเลส ซึ่งคนอื่นดับให้ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า เรื่องของการศึกษาธรรม ปฏิบัติ ธรรม เพื่อประโยชน์อย่างเดียว คือการดับกิเลส

-เวลาที่กิเลสเกิดขึ้น กระเพื่อมไปแล้ว หวั่นไหวไปแล้ว แล้วแต่ว่าจะเป็นไปด้วย กำลังของโลภะ หรือว่าด้วยกำลังของโทสะ

-ถ้ายังเข้าใจผิด คิดว่าที่ปฏิบัตินั้นถูก แต่ความจริงผิด เพราะฉะนั้น ก็ไม่สามารถ ทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เมื่อไม่ทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็ย่อมเกิดในอบายภูมิได้ ยังไม่พ้นไปจากอบายภูมิเลย

-เรื่องของวาจา ก็แล้วแต่สภาพของจิต พูดเรื่องธรรมที่เป็นอกุศลโดยละเอียด

แต่พูดด้วยกุศลจิตได้ เพื่อจะให้ผู้ฟังเข้าใจสภาพธรรมนั้นโดยแจ่มแจ้ง

-การกระทำใดๆ ถ้าเป็นไปด้วยอกุศลจิต แม้วาจาที่เป็นไปด้วยอกุศลจิต ก็ย่อมไม่ อาจทำถ้อยคำของตนที่พูดออกไปแล้วให้สมควรได้ อันนี้พอจะพิจารณาเห็นได้ เวลาพูดด้วยอกุศลจิต มีคำพูดที่แรงเกินไปบ้าง หรือว่าไม่ควรจะเป็นในลักษณะ กระทบกระเทียบเปรียบเปรยเสียดแทงให้เจ็บช้ำน้ำใจ แต่ก็เป็นไปแล้วด้วย อกุศลจิต เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าถ้าเป็นอกุศลจิตแล้ว ไม่อาจทำให้ถ้อยคำ ของตนที่พูดออกไปแล้วให้สมควรได้เลย เพราะจิตเป็นอกุศล วาจาก็คล้อยไป ตามจิตที่เป็นอกุศล

-ความประพฤติเป็นไปทางกาย ทางวาจา เป็นไปตามจิต ขึ้นอยู่กับว่าจะ เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต

-อกุศล เป็นสิ่งที่ควรละเว้น เป็นธรรมเกิดขึ้นเป็นไป ไม่ใช่เรา

-ฟังเรื่องของศีล เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกแล้วละเว้นจากอกุศล

-ศีล จะเจริญขึ้น ด้วยความเข้าใจถูกเห็นถูก

-เคยคิดบ้างไหมว่า ควรเป็นกุศลเพิ่มขึ้น?

-ยอมรับไหมว่า เราเป็นผู้มากไปด้วยอกุศล

-คงไม่มีใครอยากจะเข้าใจอะไรผิดๆ แน่ๆ

-การไม่ฟังพระธรรม เป็นกุศลหรืออกุศล? ธรรมเป็นสิ่งที่ควรฟังหรือไม่ควรฟัง? เห็นประโยชน์ของพระธรรมเมื่อไหร่ นั่นเป็นเพราะ หิริ โอตตัปปะ พร้อมกับโสภณ ธรรม (ธรรมฝ่ายดี) อื่นๆ เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่

-กำลังจะพูดไม่ดี กำลังจะว่าผู้อื่น กำลังจะล้อผู้อื่น แต่ไม่พูด นั่นก็เพราะหิริ โอตตัปปะ พร้อมกับโสภณธรรมอื่นๆ เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่

-ถ้าไม่มีธรรมเดช (พระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง) จะไม่มีทาง ทำให้กุศลธรรมเจริญยิ่งขึ้นได้เลย

-บาปธรรมทั้งหลาย ไม่สามารถทำให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ได้เลย

-อกุศลเกิดเมื่อใด ก็ขยายห้วงน้ำให้กว้างไกลออกไป ห่างจากฝั่งแห่ง การดับกิเลสมากขึ้น

-จะถึงการดับกิเลสเมื่อไหร่? เมื่อปัญญาถึงความเจริญสมบูรณ์พร้อมแล้ว

-ความไม่รู้ ไม่รู้อะไรเลย ความไม่รู้มีมากไหม มีมากจริงๆ

-การที่ได้ฟังและค่อยๆ เข้าใจขึ้น ก็เป็นการละความไม่รู้เพราะได้เข้าใจ ซึ่งอีก ไกลมากกว่าจะดับความไม่รู้ได้หมดสิ้น แต่ขณะนี้ก็ได้เริ่มแล้ว คือ เริ่มสะสมความ เข้าใจถูก

-วิชชาหรือปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูก จะมั่นคงขึ้น ก็ต้องเกิดบ่อยๆ เพราะตอนนี้ อวิชชามั่นคงเหลือเกิน

-เกิดมาเป็นบุคคลนี้ โอกาสที่ประเสริฐคือ ได้ฟังพระธรรม ได้เข้าใจถูกในสิ่งที่ กำลังปรากฏ

-ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม จะไม่สามารถเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ได้เลย

-ความเพลิดเพลิน เกิดขึ้นเป็นไปมาก ขณะนี้ได้เริ่มลดละคลายลงบ้างหรือยัง

-ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่มีทางที่จะเข้าใจธรรมได้เลย

-แต่ละคำที่กล่าวถึง ขอให้เข้าใจจริงๆ ว่า คืออะไร

-เที่ยวไปตลอด หลังเห็น หลังได้ยิน หลังได้กลิ่น หลังลิ้มรส หลังรู้สิ่งที่กระทบ สัมผัส เป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ นี้คือ วิตักกะเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่

-ธรรม ละเอียดลึกซึ้ง ไม่ง่าย ถ้ากล่าวว่าจะเอาธรรมมาพูดให้ยากๆ ทำไม ลืมไปหรือเปล่าว่า เราเป็นใคร?

-ธรรม ละเอียดลึกซึ้ง ไม่ง่าย ถ้ากล่าวว่า ธรรม ไม่ต้องไปศึกษา คิดเอาเองก็ได้ ลืมไปหรือเปล่าว่า เราเป็นใคร? ในเมื่อไม่ใช่ผู้ตรัสรู้เอง ก็ต้องฟัง ต้องศึกษา พระธรรมด้วยความละเอียดรอบคอบ

-เพราะไม่รู้ จึงมีความเพลิดเพลิน เพราะเริ่มเข้าใจขึ้น จึงมีการขัดเกลาละคลาย ความเพลิดเพลินและเมื่อรู้อย่างทั่วถึง ก็ดับความเพลิดเพลินได้หมดสิ้น

-ผู้ฟัง ทำกิจอะไร? ทำกิจของการฟัง แต่ยังไม่จบ ก็ต้องทำกิจนี้ต่อไป

-ดับอวิชชาได้ ก็ดับความเพลิดเพลินได้หมดสิ้นโดยประการทั้งปวง

-กำลังโกรธ ก็ทำดีไม่ได้แล้วในขณะนั้น นี้คือความเป็นจริงของอกุศลที่กลุ้มรุมจิต กางกั้นไม่ให้ความดีเกิดขึ้น.

...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารววนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 20 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตร่วมปันธรรมด้วย ครับ

- ควรที่ทุกคนจะคิดถึงประโยชน์ของการเกิดมามีชีวิตเป็นมนุษย์ในขณะนี้ ทุกคนย่อมจะมีทางเดินของชีวิตซึ่งมี ๒ ทาง คือ ทางหนึ่ง เลือกที่จะหมุนเกลียวเข้าให้จมลึกลงในปลักของสังสารวัฏฏ์ต่อไป และ อีกทางหนึ่ง คือ เลือกที่จะหมุนเกลียวออกจากสังสารวัฏฏ์ทีละเล็กทีละน้อย

- ในขณะนี้มีโมหะ คือ ขณะที่เห็น ก็ไม่รู้สภาพความจริงของนามธรรมและรูปธรรมในขณะที่กำลังเห็นในขณะนี้เอง หรือแม้ในขณะที่ได้ยินเดี๋ยวนี้ ไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ในขณะที่ได้ยินและเสียงที่ปรากฏ ขณะนี้จะคลายเกลียวจากโมหะ โดยการอบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรม หรือว่าจะพอใจในการหมุนเกลียวของโมหะให้มากขึ้นอีก โดยละเลยการที่จะระลึกศึกษารู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

- เราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น พรุ่งนี้ หรือแม้แต่ขณะต่อไป” ถ้าเรารู้ว่า แต่ละขณะเกิดขึ้นเพราะปัจจัยหลายอย่างต่างๆ กัน และทุกขณะต่างกันอย่างสิ้นเชิง จากขณะก่อนๆ และขณะหลัง ก็จะทำให้เราไม่รีรอ ที่จะศึกษาสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏขณะนี้ยิ่งขึ้น

- ถ้าไม่ได้อบรมเจริญปัญญา โลภะที่สะสมมาก็จะติดตามไป และย่อมจะหนาแน่นมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด คือปัญญาที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง นอกจากปัญญาแล้ว ไม่มีธรรมะใดที่จะมาดับกิเลสได้เลย ต้องเห็นประโยชน์สูงสุดของปัญญา ซึ่งเกิดจากการฟังพระธรรม แล้วเข้าใจสภาพธรรมมากขึ้นโดยไม่หวังว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเมื่อไร

- เมื่อระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้น ก็จะเห็นผิดว่าเป็นตัวตนน้อยลง เราจะคิดถึงตัวเราน้อยลงว่าเป็นคนดีหรือเป็นคนเลว สภาพธรรมที่เป็นกุศลและอกุศลเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เมื่อคลายความยึดมั่นว่าเป็นตัวตนที่เห็นที่ได้ยิน ที่เป็นคนดีหรือเป็นคนเลวแล้ว ก็ย่อมเป็นประโยชน์

ขออนุโมทนา
 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 20 ต.ค. 2556

ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ปวีร์
วันที่ 20 ต.ค. 2556

อนุโมทนาครับผม

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
orawan.c
วันที่ 21 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

.กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของ อ.คำปั่น, อ.ผเดิม และทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
jaturong
วันที่ 21 ต.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
intra
วันที่ 21 ต.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
เข้าใจ
วันที่ 21 ต.ค. 2556

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
kinder
วันที่ 21 ต.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
สิริพรรณ
วันที่ 19 พ.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นด้วยเศียรเกล้า

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขอบคุณและอนุโมทนาในกุศลจิตของ อ.คำปั่น อ.ผเดิม และทุกท่านค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ