เจตนาที่เกิดขึ้นแล้วดับไปเป็นปัจจัยแก่วิบากขันธ์ของตนและกัมมชรูป

 
papon
วันที่  20 ต.ค. 2556
หมายเลข  23886
อ่าน  1,297

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

รูปที่เกิดเพราะเจตสิก


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 20 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อพูดถึง กรรม กรรม ก็คือ เจตนาเจตสิก ดังนั้น ขณะที่เป็นกุศลกรรมและอกุศลกรรม มีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย พร้อมๆ กับ เจตสิกอื่นมี ผัสสะ เป็นต้น เจตนาเจตสิกที่เป็นไปในกุศลกรรม หรืออกุศลกรรม เป็นกัมมปัจจัยครับ ไม่ใช่ไม่เป็นครับ เพราะให้ผล คือ วิบากจิตและเจตสิก รวมทั้งให้ผล คือ รูปที่เกิดจากกรรม (กฏัตตารูป) ด้วย ให้ผลต่างขณะ เรียกว่า นานักขณิกกัมมปัจจัย ส่วนเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย กับเจตนาเจตสิก ในขณะที่ทำกุศลกรรม หรืออกุศลกรรม เช่น ผัสสะ เวทนา สัญญา มนสิการ เป็นต้น ไม่เป็นกัมมปัจจัย เพราะ กัมมปัจจัย หมายถึง เจตสิกประเภทเดียว คือ เจตนาเจตสิกเท่านั้นครับ

ส่วน เจตนาที่สัมปยุตตกับสหชาตธรรมหรือ เจตนาที่เกิดพร้อมกับ สภาพธรรมที่เกิดพร้อมกัน เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่นามคือ จิต เจตสิก และแก่รูปที่เกิดพร้อมกับเจตนานั้น ชื่อว่า สหชาตกัมมปัจจัย ครับ ส่วน เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยกับเจตนา เช่น ผัสสะเวทนา สัญญา รวมทั้งจิตและรูปที่เกิดพร้อมกับเจตนา (เช่น ขณะปฏิสนธิ) จิต เจตสิกอื่นที่ไม่ใช่เจตนาและรูป ไม่เป็นกัมมปัจจัย คือ ไม่เป็นสหชาตกัมมปัจจัยครับ แต่เจตนาที่เกิดพร้อมกับสภาพธรรมอื่นๆ เป็นสหชาตกัมมปัจจัย ดังนั้น ตัวกรรม คือ เจตนา เป็นกัมมปัจจัย แต่จะเป็นกัมมปัจจัยประเภทอะไร ก็ขึ้นอยู่กับการเกิดของเจตนานั้นว่าเกิดกับจิตประเภทอะไรครับ

พระอภิธรรมปิฎก ปัฏฐาน เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้าที่ 80

วรรณนานิทเทสแห่งกัมมปัจจัย

พึงทราบวินิจฉัยใน กัมมปัจจัยนิทเทส ต่อไป บทว่า กมฺม ได้แก่ เจตนาธรรม

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ครับ

กัมมปัจจัย

เชิญอ่านคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ได้ที่นี่ ครับ

สุ. เจตนามี ๒ ประเภท คือ สหชาตกัมมปัจจัย ๑ นานักขณิกกัมมปัจจัย ๑ สหชาตกัมมปัจจัย หมายความถึงเจตนาซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง เพราะฉะนั้นเจตนาซึ่งเกิดกับวิบากจิต ก็เป็นวิบากเจตสิก เจตนาที่เกิดกับกุศลจิตก็เป็นกุศลเจตนาเพราะเกิดกับกุศลจิต เจตนาที่เกิดกับอกุศลก็เป็นอกุศลเจตนา เกิดกับอกุศลจิต เจตนาที่เกิดกับกิริยาจิตก็เป็นกิริยาเจตนา เพราะเหตุว่าเกิดกับกิริยาจิตเพราะฉะนั้น ก็ต้องจำแนกแม้เจตนาว่า เจตนาที่เป็นกรรม เป็นนานักขณิกกรรมทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นข้างหน้าได้ คำว่า “นานักขณิกกรรม” หมายความถึงกรรมที่ให้ผลต่างขณะ ไม่ใช่ในขณะที่เจตนานั้นเกิดขึ้น แต่ถ้าเป็นสหชาตกรรม เจตนานั้นให้ผล คือ ทำให้เจตสิกอื่นเกิดพร้อมกับตนในขณะที่ตนเองเกิดขึ้น จึงเป็นสหชาตกรรม แต่ถ้าเป็นนานักขณิกกรรม ก็หมายความถึงกรรมที่เราเข้าใจกันว่า เมื่อกรรมได้กระทำแล้วก็เป็นปัจจัยทำให้วิบากเกิดขึ้นภายหลัง คือ ให้ผลต่างขณะ ไม่ใช่ในขณะที่ตนเองเกิดขึ้น

จึงควรเข้าใจแม้แต่การศึกษาเรื่องพระอภิธรรม เรื่องกรรม และ เรื่องๆ อื่น ว่าต้องใช้เวลาปัญญา ความเข้าใจถูก เห็นถูก ย่อมเจริญขึ้นไปตามลำดับ ไม่ใช่ว่าปัญญาจะเจริญขึ้นสมบูรณ์เต็มที่ด้วยการฟังเพียงครั้งเดียว หรือ สองครั้งเท่านั้น จึงต้องอาศัยการฟังบ่อยๆ เนืองๆ พิจารณาไตร่ตรองในเหตุในผล ขณะที่สามารถทำให้ตนเองได้มีความเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้นนั้น เป็นช่วงเวลาที่ประเสริฐของชีวิต เพราะเหตุว่าในวันหนึ่งๆ ส่วนมากจะเป็นไปด้วยอำนาจของอกุศล (อกุศลไม่นำคุณประโยชน์อะไรมาให้เลย) แต่บางครั้งบางเวลาก็มีเหตุปัจจัยทำให้เป็นผู้ที่มีความสนใจที่จะสละเวลาจากที่เป็นอกุศล มาเพื่อฟังพระธรรม (ซึ่งหาฟังได้ยาก อย่างยิ่ง) และจากการฟังในแต่ละครั้งความเข้าใจย่อมจะค่อยๆ เจริญขึ้น จึงเป็นช่วงเวลาที่ประเสริฐจริงๆ เพราะจะเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวัน กิเลสที่มีมาก ถ้าไม่มีปัญญาแล้ว ย่อมไม่สามารถที่จะขจัดออกไปจากจิตใจได้ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 20 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กัมมปัจจัย คือ ความเป็นปัจจัยโดยเจตนา เป็นปัจจัย และเมื่อกล่าวถึง กัมมปัจจัยแล้วก็ต้องกล่าวถึงผลของกัมมปัจจัย ด้วย

การศึกษาพระธรรมด้วยความละเอียดรอบคอบ ย่อมเป็นไปเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริงแล้ว เจตนา เป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตทุกประเภท ไม่มียกเว้น ทุกครั้งที่จิตเกิดขึ้นจะต้องมีเจตนาเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นเจตนาที่เกิดกับจิตประเภทใด กล่าวคือ ถ้าเกิดร่วมกับกุศลจิตก็เป็นกุศล ถ้าเกิดร่วมกับอกุศลจิต ก็เป็นอกุศล ถ้าเกิดร่วมกับวิบากจิต ก็เป็นวิบาก ถ้าเกิดร่วมกับกิริยาจิต ก็เป็นกิริยา ความจริงเป็นอย่างไร ก็ต้องเป็นอย่างนั้น ไม่มีใครไปเปลี่ยนแปลงได้

เจตนาเจตสิก เป็นกรรม เป็นสภาพธรรมที่ตั้งใจ จงใจขวนขวายในการปรุงแต่ง จึงเป็นกัมมปัจจัย กัมมปัจจัย จำแนกออกเป็น ๒ อย่าง คือ สหชาตกัมมปัจจัย กับ นานักขณิกกัมมปัจจัยสหชาตกัมมปัจจัย ได้แก่ เจตนาเจตสิกซึ่งเป็นกัมมปัจจัยเกิดพร้อมกับปัจจยุปบันนธรรม (ธรรมที่เป็นผลของปัจจัย) คือ เกิดพร้อมกับจิตและเจตสิกอื่นๆ ในขณะนั้น เพราะฉะนั้น สหชาตกัมมปัจจัย ได้แก่ เจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิต ๘๙ ดวง และเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมกันในขณะนั้น และรูปที่เกิดขึ้นเพราะจิตและเจตสิกในขณะนั้น ซึ่งก็ต้องเกิดเพราะเจตนาที่เกิดร่วมด้วยในขณะนั้นด้วย ตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ ที่ทำให้เกิดรูปได้ นานักขณิกกัมมปัจจัย ได้แก่ เจตนาเจตสิกซึ่งเป็นกัมมปัจจัยทำให้ปัจจยุปบันนธรรม คือ ผลของกัมมปัจจัยนั้นเกิดขึ้นต่างขณะกัน คือ ไม่ใช่เกิดพร้อมกับเจตนาเจตสิกเหมือนอย่างสหชาตกัมมปัจจัย แต่ว่า ทำให้ผลของเจตนาเจตสิก เกิดขึ้นต่างขณะกัน ไม่ใช่ในขณะเดียวกัน จึงชื่อว่า “นานักขณิกกัมมปัจจัย” เป็นกัมมปัจจัยที่ทำให้ผล คือ วิบากจิต และเจตสิก และกัมมชรูป (รูปที่เกิดจากกรรม) เกิดขึ้นในภายหลังเมื่อเจตนาซึ่งเป็นกรรมนั้นดับแล้ว เพราะฉะนั้น สำหรับนานักขณิกกัมมปัจจัย ก็ได้แก่ เจตนาในกุศลจิตและในอกุศลจิตเท่านั้น ไม่ใช่เจตนาในจิตซึ่งเป็นวิบาก หรือเจตนาในจิตซึ่งเป็นกิริยา นี้คือ ความละเอียดลึกซึ้งของธรรม

ดังนั้น วิบากขันธ์ คือ จิตและเจตสิกที่เป็นผลของกรรม นั้น รวมถึงรูปที่เกิดจากกรรม นั้น ต้องเป็นผลของกัมมปัจจัย ที่เป็น นานักขณิกกัมมปัจจัย ครับ

สำหรับเจตนาที่เกิดร่วมกับจิตชาติวิบาก กับ ชาติกิริยา แม้จะเป็นกรรม แต่ก็ไม่ใช่กรรมที่จะให้ผลในภายหน้า เพราะชาติวิบาก เป็นการรับผลของกรรม ส่วนชาติกิริยาเป็นเพียงเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่แล้วดับไป ไม่เป็นเหตุให้เกิดผลในภายหน้าได้เลย

ดังนั้นกล่าวได้ว่า ทุกขณะที่จิตเกิดขึ้น จะมีเจตนาเกิดร่วมกับจิตทุกครั้ง แต่จะบอกว่าทำกรรมอยู่ตลอดเวลาไม่ได้ เพราะการกระทำกรรม ต้องมุ่งหมายถึงขณะที่เป็นกุศล กับ ขณะที่เป็นอกุศลเท่านั้น เจตนาที่สำเร็จเป็นกุศลกรรม เป็นเจตนาที่ดี เป็นกุศล แต่ถ้าเป็นเจตนาที่ไม่ดี เช่น ประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่น เป็นต้น ก็เป็นอกุศล ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และเมื่อเหตุมีแล้ว ก็ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดผลในภายหน้าได้ กล่าวคือ กุศลกรรม ให้ผลเป็นสุข ทำให้ได้รับในสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นอกุศลกรรม แล้ว ก็เป็นเหตุให้เกิดผลที่ไม่ดี ไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ โดยที่ไม่มีใครทำให้เลย เพราะฉะนั้นแล้ว เจตนาที่เป็นประโยชน์ มีคุณ ก็ต้องเป็นเจตนาที่เป็นไปกับกุศล เท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกุศลเจตนาในการที่จะฟังที่จะศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ส่วน อกุศลเจตนา นั้น ไม่มีประโยชน์ มีแต่โทษโดยส่วนเดียว และโทษนั้นก็เกิดกับตนเองเท่านั้น ถ้าเป็นอกุศลเจตนาที่เป็นไปในทางเบียดเบียนผู้อื่น เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น ก็จะเบียดเบียนตนเองในขณะที่ผลที่ไม่น่าปรารถนาเกิดขึ้น ตรงกับข้อความที่ว่า เจตนาที่จะเบียดเบียนผู้อื่น ก็จะเบียดเบียนตนเอง ซึ่งจะประมาทอกุศลไม่ได้เลยทีเดียว ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 20 ต.ค. 2556

ถ้าเป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย จะต้องเป็นกรรมที่สำเร็จแล้วให้ผลเป็นกุศลวิบาก หรือ อกุศลวิบาก ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
papon
วันที่ 20 ต.ค. 2556

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

"รูปที่เกิดขึ้นเพราะจิตและเจตสิกในขณะนั้น" รูปที่เกิดเพราะจิตกระผมพอเข้าใจ แต่รูปที่เกิดเพราะเจตสิกเป็นอย่างไรครับ ขอความอนุเคราะห์ด้วยครับ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 22 ต.ค. 2556

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

รูปที่เกิดเพราะเจตสิก

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
natural
วันที่ 23 ต.ค. 2556

ขออนุญาตเรียนถามเพิ่มเติมว่าความเป็นไปของนามรูปด้วยปัจจัยต่างๆ ที่มีผลให้เกิดมาเป็นสัตว์โลก ที่แตกต่างกันด้วยสหชาตกัมมปัจจัยเป็นหลักใช่หรือไม่ ความเข้าใจเรื่องนี้จะเกื้อกูลให้ค่อยๆ มั่นคงว่าเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่เรา (ตามเหตุที่สมควรแก่ผล) ใช่หรือไม่ และเกี่ยวข้องกับสติปัฎฐานอย่างไรค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
khampan.a
วันที่ 24 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียนความคิดเห็นที่ ๖ ครับ

ก็ต้องมีความเข้าใจจริงๆ ว่า สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปนั้น เกิดเพราะปัจจัยหลายอย่างแสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น สภาพธรรมที่เกิดขึ้น ไม่ได้มีเพียงปัจจัยเดียว มีหลายปัจจัยในขณะนั้นตามควรแก่สภาพธรรมนั้นๆ ที่สัตว์โลกเกิดมาแตกต่างกัน ก็เพราะหลายปัจจัย เพราะความแตกต่างแห่งกรรมที่แต่ละคนได้กระทำแล้ว ความแตกต่างแห่งการสะสม แตกต่างเพราะการได้รับผลของกรรม เป็นต้น ซึ่งแต่ละคนเป็นแต่ละหนึ่งไม่เหมือนกันเลย

การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย เป็นหนทางเดียวที่จะเป็นไปเพื่อขัดเกลา ละคลายความไม่รู้ และความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์เป็นบุคคลได้ เพราะมีความเข้าใจในเรื่องของสภาพธรรมอย่างถูกต้อง และสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ เป็นสติปัฏฐาน เป็นที่ตั้งให้สติและปัญญาเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะตามความเป็นจริง สำคัญที่พื้นฐาน คือ การได้ฟังในเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริง บ่อยๆ เนืองๆ ไม่ขาดการฟังพระธรรม เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม ธรรมก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของธรรม ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
natural
วันที่ 25 ต.ค. 2556

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
orawan.c
วันที่ 25 ต.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ