--- ศึกษาธรรมะ ทีละคำ ---

 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่  19 ต.ค. 2556
หมายเลข  23884
อ่าน  944

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต

อะระหะโต สัมมา สัมพุทธธัสสะ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

ขอเรียนถาม เพื่อความรู้ความเข้าใจ และเพื่อความถูกต้องเหมาะสม ดังนี้นะคะ ๑. “ศึกษาธรรมะ ทีละคำ” หมายความว่าอย่างไร กรุณายกตัวอย่างด้วยค่ะ ๒. หรือ เช่น “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย” แต่ละคำ มาจากคำบาลีใดบ้าง มีความลึก โดยศัพท์ โดยพยัญชนะ โดยอรรถะ อย่างไร เป็น ธรรม ประเภทไหน ประการใด

ขอขอบพระคุณ ขออนุโมทนาสำหรับคำอธิบาย และกุศลทุกประการของทุกๆ ท่านค่ะ ด้วยความเคารพ จาก ธิดารัตน์ เดื่อมขันมณี (ใหญ่ราชบุรี)


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 20 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กล่าวถึงที่มาก่อนนะครับ ข้อความนี้ มาจากคำปรารภของท่านอาจารย์สุจินต์ ที่ได้อธิบายการศึกษาพระธรรมที่ถูกต้อง ว่าควรเป็นอย่างไร และที่สำคัญ ก็ตรงตามพระไตรปิฎกด้วย การศึกษาธัมมะทีละคำ ความหมาย คือ เริ่มจากพื้นฐานความเข้าใจเบื้องต้น ตั้งแต่ต้น ไม่ข้าม ไม่เผิน และสำคัญที่สุดต้องละเอียด ในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังในคำนั้น การศึกษาธัมมะทีละคำ คือ เข้าใจไปตามลำดับ เช่น ศึกษาพระพุทธศาสนาแทนที่จะไปศึกษาไปปฏิบัติ เรื่องปฏิจจสมุปบาท ที่ยากลึกซึ้ง ก็กลับมาที่การศึกษาธัมมะทีละคำ ให้เข้าใจคำแต่ละคำ ให้เข้าใจถูกต้อง เพราะหากเข้าใจคำแรกผิด ก็เข้าใจผิดในคำต่อๆ ไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น เมื่อพูดถึงคำว่า ปฏิบัติธรรม โดยมากก็จะเผิน เพราะไม่ได้ศึกษาธัมมะทีละคำให้เข้าใจ ดังนั้น คำว่า ปฏิบัติธรรม ศึกษาธรรมทีละคำให้เข้าใจถูกต้อง คำว่า ปฏิบัติ คือ อะไร ปฏิ (เฉพาะ) + ปตฺติ (การถึง) ศึกษาธรรม

แม้แต่ คำว่า ปฏิบัติ ทีละคำให้เข้าใจถูกต้อง ว่า หมายถึง การถึงเฉพาะ เฉพาะอะไร มีคำว่า ธรรม ก็ศึกษาคำว่า ธรรมให้เข้าใจถูกต้อง ว่า ธรรม คือ สิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฎที่เป็นนามธรรม และ รูปธรรม หรือ จิต เจตสิก รูป ดังนั้น เมื่อเข้าใจธรรม ทีละคำแล้ว ในคำว่า ปฏิบัติ และ คำว่า ธรรม เมื่อเข้าใจแต่ละคำถูกต้อง ก็จะเข้าใจถูกในคำที่ได้ยินได้ฟัง ว่า ปฏิบัติธรรม หมายถึง การถึงเฉพาะในสภาพธรรมที่กำลังปรากฎที่เป็นจิต เจตสิก รูป อันหมายถึง การถึงเฉพาะในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฎ จะเห็นนะครับว่า การศึกษาธรรมทีละคำที่ถูกต้อง ทำให้เข้าใจถูก และไม่หลงผิดไปว่า การปฏิบัติธรรม คือ การนั่งสมาธิ เดินจงกรม เป็นต้น อันเกิดจากการไม่ได้ศึกษาธรรมทีละคำให้เข้าใจถูกต้อง ซึ่งการศึกษาธรรมทีละคำ จะต้องมีรากฐานในแต่ละคำ โดยมาจากการอ้างอิงจากพระไตรปิฎกที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ครับ ประโยชน์ของการศึกษาธรม คือ ความเข้าใจถูกต้อง อันเกิดจากการศึกษาธรรมไปตามลำดับ ไปทีละคำ เพื่อความเข้าใจถูกในองค์รวม ก็สามารถจะก้าวเดินต่อไปในคำใหม่ ด้วยความเข้าใจถูกในคำเก่า ครับ

ส่วน คำว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ต้องเข้าใจคำว่า ภิกษุ ภิกขุ ให้ถูกต้อง

คำว่า ภิกษุ หรือ ภิกขุ เป็นคำที่ใช้เรียก สำหรับผู้ที่บวชในพระศาสนานี้ คือ ในพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง สละ คฤหัสถ์ ออกจากเรือน บวชเป็นพระภิกษุ ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกทั่วไป สำหรับผู้ที่บวชแล้ว แต่ก็ยังมีความหมายลึกซึ้งของคำว่า ภิกษุ หรือภิกขุ ที่หมายถึง ผู้ขอหรือผู้มีปกติขอ เพราะธรรมดา ผู้ที่บวชในพระพุทธศาสนาย่อมเลี้ยงชีพโดยการเป็นผู้ขอ ไม่ประกอบอาชีพ เลี้ยงตนเอง แต่ขอเพื่อความดำรงอยู่ เป็นไปในการดำรงชีวิต อันเป็นไปเพื่อดับกิเลส เป็นประโยชน์กับผู้ที่ถวายทาน กับพระภิกษุ ที่จะได้บุญด้วยครับ ภิกขุจึงหมายถึงผู้เลี้ยงชีพโดยการขอ เป็นปกติ

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑- หน้าที่ 40

บทว่า ภิกฺขุ เป็นบทกล่าวถึงบุคคลที่ควรจะได้ฟังพระเทศนา อีกอย่างหนึ่ง ในบทว่า ภิกฺขุ นี้ พึงทราบความหมายของคำโดยนัยเป็นต้นว่า ชื่อว่า ภิกขุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้ขอ คือ ชื่อว่า ภิกขุ เพราะอรรถว่า เข้าถึงการเที่ยวไปเพื่อภิกษา

แต่ ยังมีความละเอียดลึกซึ้ง ที่แสดง ถึง คำว่า ภิกษุ โดยปรมัตถ โดยสัจจะ ความจริงว่า ภิกขุ ภิกษุ อีกความหมายหนึ่ง คือ ผู้ที่ดับกิเลสหมดสิ้นแล้ว จึงจะชื่อว่า ภิกษุ ซึ่ง ในพระไตรปิฎก มีพราหมณ์ท่านหนึ่ง ได้เป็นผู้ขออาหารเป็นปกติเช่นกัน แต่ไม่ใช่พระภิกษุในพระพุทธศาสนา ทูลถามพระพุทธเจ้าว่า แม้ตัวท่านก็เป็นผู้ขอ พระภิกษุก็เป็นผู้ขอ อย่างนี้ จะแตกต่างกันยังไง ในเมื่อเป็นผู้ขอ เป็นภิกขุเหมือนกัน พระพุทธเจ้าตรัสว่า

[๗๑๗] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

บุคคลหาชื่อว่า เป็นภิกษุเพียงด้วยการขอคนอื่นไม่ บุคคลสมาทานธรรมเป็นพิษ หาชื่อว่าเป็นภิกษุได้ไม่ ผู้ใดในโลกนี้ละบุญและบาปเสียแล้ว ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยการพิจารณา ผู้นั้นแลชื่อว่าเป็น ภิกษุ

ซึ่ง การใช้คำว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะตรัสว่า ภิกฺขเว (ดูกร ภิกษุทั้งหลาย) ในแต่ละพระสูตรนั้นจะมีคำนี้ หลายต่อหลายครั้งทีเดียว เพื่อเตือนให้ตั้งใจในความจริงที่พระองค์ทรงแสดงซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ เพราะก่อนหน้านั้นก็อาจจะคิดถึงเรื่องอื่น ใส่ใจในเรื่องอื่น พอได้รับการกล่าวอย่างนี้ ก็จะมีความตั้งใจที่จะฟัง เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกต่อไปซึ่งจะเห็นได้ว่า ขณะที่มีการฟังพระธรรม ก็เพราะเห็นภัยของความไม่รู้ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 20 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมทุกคำ แต่ละคำ เป็นคำจริง แสดงเพื่อให้เข้าใจความจริง ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจไปทีละคำแล้ว จะมีความเข้าใจละเอียดลึกซึ้งได้อย่างไร ถ้าไม่ตั้งต้นที่ว่า คำนั้น คือ อะไร พูดไปทั้งวันก็ไม่รู้อะไร เพราะเต็มไปด้วยความไม่รู้พูดในคำที่ไม่รู้จัก เพราะฉะนั้น พระธรรม มีคุณค่ามาก ก็จะต้องมีความละเอียดรอบคอบในการศึกษา ไม่ประมาทในแต่ละคำที่ได้ยินได้ฟัง เมื่อค่อยๆ ศึกษาไปตามลำดับ ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น และที่สำคัญธรรมเป็นเรื่องของตัวเองทั้งหมด ตั้งแต่ตื่นจนหลับตั้งแต่เกิดจนตาย พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลจริงๆ เรื่องของการเห็น แล้วก็ชอบใจ ไม่ชอบใจเกิดการกระทำทางกาย ทางวาจาที่เต็มไปด้วยกุศลจิตบ้าง อกุศลจิตบ้าง เป็นต้น ไม่ว่าจะใช้พยัญชนะใด ก็ไม่พ้นไปจากเพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ต้องฟัง ต้องศึกษาให้เข้าใจถูกเห็นถูกจริงๆ ครับ

- ประทับใจกับคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในส่วนนี้มาก

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะตรัสว่า ภิกฺขเว (ดูกร ภิกษุทั้งหลาย) เตือนให้ไม่ประมาทในการที่จะได้ยินได้ฟังความจริงที่พระองค์ทรงแสดง ซึ่งยากที่จะได้ฟัง ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านคครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 20 ต.ค. 2556

ศึกษาธรรมทีละคำ เข้าใจแต่ละความหมาย เข้าใจแต่ละประโยค และเข้าถึงธรรมตัวจริงในขณะนั้น ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 25 ต.ค. 2556

ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ