ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๑๑

 
khampan.a
วันที่  6 ต.ค. 2556
หมายเลข  23784
อ่าน  1,329

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรม จากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจสั้นๆ เหมาะสำหรับผู้ที่มีเวลาน้อย เพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ถึงแม้ว่าจะเป็นข้อความที่สั้น แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์อยู่ในตัว ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้

[ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ครั้งที่ ๑๑๑]

ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม ทำให้ปฏิสนธิ ก็จะปฏิสนธิใน อบายภูมิ ๔ คือ เป็นสัตว์นรกหนึ่งภูมิ เป็นเปรตหนึ่งภูมิ เป็นอสุรกายหนึ่งภูมิ เป็นดิรัจฉานหนึ่งภูมิ นี่เป็นอบายภูมิ ๔ ซึ่งเป็นภูมิที่ไม่สามารถจะเจริญกุศล ให้ถึงขั้นที่จะ บรรลุอริยสัจจธรรมได้ จึงเป็นอบายภูมิ คือ เป็นภูมิที่ไม่สามารถที่จะบรรลุอริยสัจจธรรมได้

บางคนอาจจะเห็นว่า สัตว์บางชนิดสบายมาก ไม่ต้องทำการงาน ไม่ต้องเดือดร้อนหลายอย่าง หลายประการ แต่ให้เลือกจะเป็นอย่างไหน? จะเป็นมนุษย์ แม้ว่าจะประสบความทุกข์ยากต่างๆ สักเพียงไรก็ตาม แต่ยังมีการฟังธรรมได้เข้าใจ ได้พิจารณาเหตุผล ได้เจริญอบรมกุศล จนกระทั่งอาจจะ รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

ผู้ที่จะพ้นจากอบายภูมิจริงๆ โดยเด็ดขาด ก็ต้องเป็นพระอริยเจ้า ตั้งแต่ พระโสดาบันบุคคลเท่านั้น

พระผู้มีพระภาค กับ ท่านพระเทวทัต ก็มีสิ่งที่ต่างกันในการสะสม ที่ท่าน พระเทวทัตนั้น สะสมในเรื่องความริษยา พระพุทธเจ้าในอดีตอนันตชาติ (นับไม่ถ้วน) มาแล้ว แล้วก็ที่น่าแปลก คือว่า ความริษยานั้น จะเป็นความริษยาในคุณ ความดีของบุคคลอื่น

สังสารวัฏฏ์ยาวนานมากเพียงไร กว่าจะได้รู้แจ้ง อริยสัจจธรรมเป็นพระอริยเจ้า จะต้องมีการเจริญอบรม สะสมปัญญา ที่จะละความไม่รู้ ในลักษณะของสภาพธรรม ที่ปรากฏที่เป็นสังสารวัฏฏ์ ถ้ายังคงเป็นความไม่รู้ ในสังสารวัฏฏ์ คือ ในสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จะดับความสงสัย ความไม่รู้ ความเห็นผิด ที่ยึดถือ นามธรรม และรูปธรรม ที่เกิดปรากฏอยู่ทุกขณะนี้ไม่ได้เลย

ตราบใดที่ ยังมีความเข้าใจผิด ไม่ได้ไตร่ตรองความละเอียด ในข้อปฏิบัติ ให้ถูกต้องจริงๆ ก็ย่อมจะเป็นเหตุ ให้ปฏิบัติผิดอย่างแน่นอน

ความทะเลาะกันของผู้ที่ได้บรรลุมรรคแล้ว ย่อมไม่มี เพราะเหตุว่าถ้าปฏิบัติถูก ต้องเหมือนกัน จะเห็นผิดว่า การที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมนั้นต้องประพฤติปฏิบัติอย่าง อื่นเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าเมื่อต่าง ก็ได้อบรมเจริญปัญญา ที่จะรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม จนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์ ในสภาพธรรมที่ปรากฏ ตามความเป็น จริงได้ ย่อมรู้ว่า การอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ นั้น จะต้องอบรมอย่างละเอียดรอบ คอบเพียงไร เพราะฉะนั้น เมื่อต่างก็ได้ปฏิบัติถูก เห็นว่าการเจริญสติปัฏฐานนั้น เป็นเรื่องละเอียด เป็นเรื่องที่จะต้องรู้ทั่ว ก็ไม่มีการที่จะต้องวิวาท ในเรื่องของข้อปฏิบัติ

ถ้าเกิดพูดมุสาขึ้นขณะใด แสดงให้เห็นถึงสภาพจิตที่เสื่อมแล้ว เพราะอกุศลธรรม ในขณะนั้น อกุศลนี้มากเหลือเกิน

บางท่านความที่ติดในสรรเสริญ อยากจะให้คนอื่นชมว่า ท่านนี้เก่ง ทำอะไรก็เก่ง ทำอะไรก็อร่อย บางทีท่านไม่ได้ทำเลย ทั้งๆ ที่คนทำก็นั่งอยู่ด้วย แต่คนนั้นก็ยัง สามารถที่จะอ้างได้ว่า อาหารสิ่งนั้นท่านทำเอง เห็นไหมว่า กำลังของกิเลส ความ ติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในสรรเสริญ ในคำชม ก็เป็นปัจจัยให้ กล่าวมุสาวาทได้ ทั้งๆ ที่ ผู้ทำก็นั่งอยู่ที่นั่น แต่คนนั้น ก็ยังกล่าวออกมาว่า ท่านทำ อาหารสิ่งนี้ เป็นมุสาวาทแท้ๆ เกิดขึ้นแล้ว เพียงต้องการคำชมจากบุคคลอื่น ว่า เป็นผู้ที่มีความสามารถ ในการทำอาหารก็เป็นปัจจัยให้เกิด มุสาวาทได้

เวลาที่ท่านยังไม่เป็นบุคคลที่ถูกกล่าวหา ในเรื่องที่ไม่จริง ท่านจะไม่ทราบถึง ความรู้สึกว่า คนที่ถูกกล่าวหานี้จะรู้สึกอย่างไรบ้าง จะเสียใจไหม หรือว่าจะเกรงว่า คนอื่นจะเข้าใจผิดมากน้อยเพียงไร แต่ถ้าท่านคิดถึงอกเขาอกเรา เขาถูกกล่าวหา ในเรื่องที่ไม่จริง กระทบกระเทือนเสียหาย แก่ชื่อเสียงเกียรติยศเพียงไร ถ้าเป็นตัว ท่านก็เหมือนกัน ถ้าคิดอย่างนี้ได้ อาจจะเกิดหิริ แล้วก็พิจารณาไตร่ตรองสอบสวน เรื่องราวจริงเท็จก่อนที่จะพูด รวมทั้งก็คงจะพิจารณาด้วยว่า เป็นเรื่องที่ควรหรือ ไม่ควรที่จะพูด ถ้าไม่เป็นประโยชน์ ก็ไม่ควรที่จะทำให้คนอื่น ได้รับความเสียหาย หรือว่าเสื่อมเสียชื่อเสียง

ยอมรับตามความเป็นจริงว่า มีกิเลสมาก สำหรับผู้เป็นปุถุชน ตราบใดที่ยังไม่รู้ ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แล้วจะให้กิเลสน้อย เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพียงแต่จะไม่รู้เท่านั้นเอง ว่าเป็นผู้ที่มีกิเลสมาก

ไม่ว่าจะเป็นกี่ภพกี่ชาติ กี่วัน กี่เดือน กี่ปี ก็คือ ความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพ ธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม นั่นเอง

บารมีทุกบารมี เป็นการคิดถึงคนอื่น พระบารมีทั้งหมดที่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญ ก็เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลก อย่างแท้จริง

เมื่อมีความไม่รู้มากๆ แล้วจะเป็นคนดีได้อย่างไร

จะหาความเข้าใจถูกเห็นถูก ได้จากที่ไหน ก็ต้องจากการฟัง พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง

ความทุกข์ ไม่ได้มาจากความเข้าใจถูกเห็นถูกเลย

การฟังพระธรรม ในแต่ละครั้ง ฟังบ่อยๆ ฟังเรื่อยๆ จะเพิ่มพูนความมั่นคงใน ความเป็นจริงของธรรมเพิ่มขึ้น เพราะฟังเท่าไหร่ก็ยังไม่พอ

เหมือนอยู่ในความมืด เพราะไม่เข้าใจถูกเห็นถูก ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามความเป็นจริง ถูกปกคลุมด้วยความมืด คือ ความไม่รู้

มีศรัทธา ที่จะฟังพระธรรมหรือไม่ หรือมีเพียงศรัทธา ที่จะให้ทาน ช่วยเหลือ สังคมเป็นต้น?

ควรที่จะได้ดีขึ้น จากตรงที่ไม่ดี เช่น ไม่เคยเข้าใจมาก่อน ก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

ดี ที่ได้รู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

ไม่มีอะไรที่จะไพเราะ น่าฟัง น่าศึกษา เท่ากับพระธรรมที่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพราะเป็นความจริงโดยตลอด

พระอริยสาวกทั้งหลายในอดีต ฟังพระธรรมมานานเท่าไหร่ แล้วเราฟังเท่าไหร่ แล้ว ซึ่งจะต้องฟังต่อไป

มาฟังพระธรรม เพราะยังไม่เข้าใจธรรม และจะได้เข้าใจถูกเห็นถูกขึ้น สะสม ต่อไป

ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงความเป็นจริงสภาพธรรมได้ เช่น เห็น เป็นเห็น เปลี่ยน แปลงให้เป็นได้ยินไม่ได้

ทุกคน หนีความตายไม่พ้น ช้าหรือเร็ว วันนี้เป็นเขา (คือ คนอื่นตาย) ต่อไปวันข้างหน้า เป็นเรา เมื่อไหร่ก็ได้

(ขอเชิญผู้ศึกษาพระธรรมร่วมกันทุกท่าน ร่วมแบ่งปันข้อความธรรม ด้วยนะครับ)

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความย้อนหลังครั้งที่ ๑๑๐ ได้ที่นี่ครับ

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๑๐

...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง...

และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 6 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตร่วมปันธรรม ด้วยครับ

@ ถ้าเป็น (ดุจ) ผ้าเช็ดธุลีได้เสมอๆ ก็จะเป็นผู้ที่มีความสบายใจ ไม่ว่าใครจะประพฤติ ต่อท่านด้วยกาย วาจาอย่างไร ไม่เคยเดือดร้อนเลย เพราะว่า ไม่ถือตนว่าเป็นผู้มี ความสำคัญ

@ บางคนฟังพระธรรมก็เห็นจริงว่าเกิดมาไม่นาน ก็ต้องจากโลกนี้ไปแต่ก็ยังผูกโกรธ คนนั้นคนนี้ แล้วพระธรรมจะมีประโยชน์อะไรเมื่อพบกันแล้วก็ควรเกื้อกูลกัน ดีกว่าพบ กันแล้วก็โกรธกันแล้วก็ตายจากกันไปทั้งๆ ที่ยังโกรธกันอยู่

@ พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลให้ผู้ที่ได้ฟัง ได้ ศึกษา ไม่ประมาทแม้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เพราะเหตุว่า ไม่ส่งเสริมให้เกิดอกุศล จิตแม้แต่ขณะเดียว ดังนั้น บุคคลผู้ที่มีความประพฤติไม่ดี กระทำทุจริตกรรมประการต่างๆ ก่อความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น เป็นคนพาล กล่าวได้ว่า เป็นบุคคลไม่ควรเคารพ แต่ไม่ควรเกิดอกุศลจิต ในเพราะพฤติกรรมที่ไม่ดีของบุคคลอื่น นั้น ควรมี เมตตา เห็นใจเขาที่เขาจะได้รับผลที่ไม่น่าปรารถนาในอนาคตข้างหน้า (ผู้เข้าใจ พระธรรมเท่านั้นที่จะได้รับประโยชน์จากพระธรรม)

@ เมื่อได้ศึกษาพระอภิธรรมแล้วก็เข้าใจว่า ธรรมะ คือ สิ่งที่มีจริงๆ ไม่มีธรรมะอะไรๆ ก็ไม่มี แล้วก็เข้าถึงความหมายของปรมัตถธรรมขณะนี้ "เห็น" ก็เป็นธรรมะ แต่เมื่อเป็น พระอภิธรรม คือ กล่าวเรื่อง "เห็น" โดยละเอียด ยิ่งที่จะทำให้เห็นความเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีทั้งหมดที่ทรงแสดงความละเอียดของสิ่งนั้น ก็เพื่อที่จะให้เข้าถึง ความเป็นอนัตตา

@ ผู้ที่ศึกษาพระธรรมมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า กิจใดที่ทำแล้วกุศลเจริญขึ้น อกุศลเสื่อมลง กิจนั้นควรทำ ส่วนกิจใดที่ทำแล้วอกุศลเจริญขึ้น กุศลเสื่อมลง กิจนั้นควรละเว้น

@ ถ้าเกิดพูดมุสาขึ้นขณะใด แสดงให้เห็นถึงสภาพจิตที่เสื่อมแล้ว เพราะอกุศลธรรม ในขณะนั้น อกุศลนี้มากเหลือเกิน

@ เวลาที่โกรธ บางคนก็หมดไปโดยง่าย แต่ว่าบางคนก็ยังผูกโกรธ คือ ความโกรธนั้น รัดรึงใจไว้บ่อยๆ เดี๋ยวนึกขึ้นมา ก็โกรธอีกแล้ว เดี๋ยวก็โกรธ ทำไมเรื่องนั้นนิดเดียว แต่โกรธ ต่อไปอีกได้ตั้งนาน นั่นเป็น ความผูกโกรธ

@ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด ทำสิ่งใดอยู่ กุศลและอกุศลล้วนเกิดขึ้นทำกิจสลับกันไปมาได้ หากการเดินทางไปสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ จะเป็นเหตุให้ส่วนใหญ่กุศลเจริญขึ้นๆ ก็ถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งทั้งในโลกนี้และต่อๆ ไป

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
j.jim
วันที่ 7 ต.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ปวีร์
วันที่ 7 ต.ค. 2556

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
papon
วันที่ 7 ต.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เข้าใจ
วันที่ 7 ต.ค. 2556

การได้ฟังธรรมบ่อยๆ จนมีกำลังเป็นเตชะหรือเดชที่มีกำลัง ลาภคือการได้ฟังพระธรรม ลาภในการฟังนี้ประเสริฐสูงสุดคือได้ลาภในการฟังธรรมะ การได้ฟังพระธรรมเท่าไหร่ก็ยัง ไม่พอ ฟังธรรมะจนเป็นอารักขาหรือยัง มีเตชะในการไม่เบียดเบียนผู้อื่นให้ได้รับความ เดือดร้อน ปัญญาต้องปรากฎจนเป็นเดชป้องกันอกุศลไม่ให้ไปประทุษร้ายผู้อื่น ไม่ต้องเรียกชื่อนามธรรม หรือ รูปธรรม ไปจำชื่อ เข้าใจไม่เข้าใจ เราต้องรู้เราเข้าใจได้ใน ระดับไหน การฟังการไตร่ตรองว่าเป็นธรรมะ หลงอยู่ตลอดเวลา หลงในความไม่มี เข้าใจว่ามี

จำได้เท่านี้ครับ ถ้าไม่เหมาะไม่ควรประการใด ต้องขอกราบประทานอภัยด้วยครับ ขอเรียนสอบถามอาจารย์ครับ

อุปนิสยโคจร กับ ราภานุชตาริยะ มีความหมายว่าอย่างไรครับ

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 7 ต.ค. 2556

เรียนความเห็นที่ 5 ครับ

อุปนิสัยโคจร คือ อารมณ์เป็นที่ท่องเที่ยวไปของจิต อันเป็นเหตุทำให้ได้ที่พึ่ง ที่มีกำลัง เช่น การเข้าไปอาศัยกัลยาณมิตร ผู้มีคุณธรรม มีปัญญา แล้วทำให้ตัวเองเจริญ ในคุณธรรม และ ปัญญา เข้าใจถูก ในหนทางดับกิเลส เป็นต้น รวมถึง พระธรรม ที่ พระพุทธเจ้าทรงแสดง ก็เป็นที่พึ่งที่มีกำลัง เพราะ ทำให้เกิดปัญญา ความเห็นถูก ครับ

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 99

ในโคจร ๓ อย่างนั้น อุปนิสสยโคจรเป็นอย่างไร ภิกษุประกอบด้วยคุณคือกถาวัตถุ ๑๐ มีมิตรดี เข้าไปอาศัยมิตรดีย่อมได้ฟังสิ่งที่ยังมิได้เคยฟัง ย่อมทำสิ่งที่ฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง ข้ามความสงสัย ทำความเห็นให้ตรง ทำจิตให้ผ่องใส เมื่อศึกษาตามย่อมเจริญด้วยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะปัญญา นี้ชื่อว่า อุปนิสสยโคจร.

ลาภานุตตริยะ คือ การได้ลาภที่ยอดเยี่ยม ที่ประเสริฐสุด คือ การได้ศรัทธา ในพระรัตนตรัย ชื่อว่าเป็นลาภที่ประเสริฐ เพราะเป็นลาภที่จะทำให้ถึงการบรรลุมรรคผล นิพพานดับกิเลส ครับ

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ ๖๐๘

ก็ลาภานุตริยะเป็นอย่างไร? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมได้ลาภคือบุตรบ้าง ภรรยาบ้าง ทรัพย์บ้าง หรือลาภมากบ้างน้อยบ้าง หรือได้ศรัทธาในสมณะ หรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิดดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ลาภนี้มีอยู่ เราไม่กล่าวว่า ไม่มี ก็แต่ว่าลาภนี้นั้น เป็นของเลว ... ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่นมีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมได้ศรัทธาในพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต การได้นี้ ยอดเยี่ยมกว่าการได้ทั้งหลาย ย่อมเป็นไปพร้อม เพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย ... เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เข้าใจ
วันที่ 7 ต.ค. 2556

ขอบพระคุณอาจารย์ครับ ที่ให้ความรู้และความเข้าใจครับ

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
jaturong
วันที่ 7 ต.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
khampan.a
วันที่ 7 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม สืบเนื่องจากความคิดเห็นที่ ๕

- อุปนิสสยโคจร (โคจรอันเป็นอุปนิสัย) ในอรรถกถาท่านอธิบายไว้ ไม่พ้นไปจาก ชีวิตประจำวัน คือ การเข้าไปอาศัยกัลยาณมิตร ซึ่งเป็นบุคคลผู้มีปัญญา ซึ่งจะเป็น เหตุ ให้ได้ฟังพระธรรม ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นการสะสมเหตุที่ดี สะสมปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ มีที่อาศัยที่มีกำลัง คือ อาศัย พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เมื่อมีความเข้าใจถูกเห็นถูกแล้ว ก็จะมี ปัญญาเป็นที่พี่ง จากที่เคยเป็นอกุศล ก็มีกุศลเกิดขึ้นเป็นไป เป็นการรักษา ให้พ้น จากอกุศล และ เมื่อสะสมปัญญาต่อไป มั่นคงในความเป็นจริงของสภาพธรรม ก็ จะเป็นเหตุให้มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรกาฏตามความเป็นจริง ได้ ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ก็จะเกื้อกูลกันทั้งหมด เพราะมีเหตุที่สำคัญ นั่น ก็คือ การมีโอกาสได้ฟังพระธรรม นั่นเอง

เพราะฉะนั้น จึงต้องเริ่มสะสมอุปนิสัยที่ดีงาม ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง

- ลาภ อื่น ทำให้เกิดความติดข้องยินดีพอใจ ไม่ใช่ลาภที่ประเสริฐ เพราะ เพียง ปรากฏแล้วหมดไป แต่นำมา ซึ่งความติดข้องอันเป็นอกุศลเป็นโทษ และ นำมาซึ่ง ความทุกข์ เพราะเมื่อลาภนั้นเสื่อมสิ้นไป ก็เป็นทุกข์เดือดร้อน ส่วนลาภที่ประเสริฐ ต้องนำมาซึ่งประโยชน์สุขอย่างแท้จริง ลาภนั้น คือ การได้มาซึ่งกุศลธรรม นั่นเอง และ การที่กุศลธรรมจะเจริญขึ้นได้ ต้องอาศัยปัญญาที่เกิดจากการฟังพระธรรม ที่ พระพุทธเจ้าทรงแสดง การฟังพระธรรม จึงเป็นลาภที่ประเสริฐอย่างหนึ่ง ซึ่งจะต้อง มีความเลื่อมใส เชื่อมั่นในพระปัญญาตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
kinder
วันที่ 7 ต.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
Khaeota
วันที่ 9 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาพระคุณ ท่านอาจารย์ สุจินต์ ที่เคารพยิ่ง

ขออนุโมทนาในกุศลวิริยะ คุณคำปั่น ค่ะ

อนุโมทนาในกุศลจิตทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 11 ต.ค. 2556

ขอบพระคุณ และ ขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณคำปั่น ด้วยครับ

และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
chatchai.k
วันที่ 8 พ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ