กรรมฐานกับสติปัฏฐาน

 
papon
วันที่  25 ก.ย. 2556
หมายเลข  23695
อ่าน  3,792

เคยได้อ่านหนังสือของพระท่านหนึ่งเกี่ยวกับกรรมฐาน กระผมไม่เคยได้ยินจากมศพ. อยากเรียนถามอาจารย์ทั้งสองครับ กรรมฐานคือสติปัฏฐานหรือไม่ครับและอย่างไรครับ

ขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 25 ก.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก็ต้องเข้าใจไปทีละคำ คำว่า กรรมฐาน หรือ กัมมัฏฐาน ก็มีคำสองคำรวมกันคือ คำว่า "กัมม" ซึ่งหมายถึง การกระทำ รวมกับ "ฐาน" คือ ที่ตั้ง เมื่อแปลแล้วก็คือ ที่ตั้งแห่งการกระทำ แสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงว่า มีที่ตั้งที่จะให้กุศลธรรมเจริญขึ้นทั้งในเรื่องของความสงบของจิต ทั้งในเรื่องของความเห็นแจ้งสภาพธรรม ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น "กัมมัฏฐาน" จึงเป็นพระธรรมคำสอน ที่เป็นไปเพื่อความสงบระงับกิเลส และ เป็นไปเพื่อการเห็นธรรมตามความเป็นจริง

เพราะมีกรรมฐาน ๒ อย่าง คือ สมถกรรมฐาน เป็นไปเพื่อสงบระงับกิเลส เพียงข่มกิเลสไว้เท่านั้น ไม่สามารถดับกิเลสได้อย่างเด็ดขาด กับ วิปัสสนากรรมฐาน เป็นไปเพื่อการอบรมเจริญปัญญารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง สามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท (ละได้อย่างเด็ดขาดไม่เกิดขึ้นอีก) ในเรื่องของ สมถกรรมฐาน กับวิปัสสนากรรมฐาน ก็จะต้องฟัง ต้องศึกษาให้ละเอียด ทรงมุ่งหมายถึงอะไรเป็นสำคัญ ทั้งหมดทั้งปวงนั้นเป็นเรื่องของความเข้าใจถูก เห็นถูก ทั้งหมดเลย ถ้าหากไม่มี ความเข้าใจ ก็จะไปทำอะไรด้วยความไม่เข้าใจ หรือว่า ด้วยความเป็นตัวตนซึ่งผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

การอบรมเจริญสมถกัมมัฏฐาน แม้ในกาลสมัยที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ก็มีการอบรมเจริญ สำหรับผู้ที่เห็นโทษเห็นภัยของอกุศลซึ่งทำให้จิตไม่สงบ แต่ เมื่อมีการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็มีการอบรมเจริญปัญญา ที่เป็นวิปัสสนากัมมัฏฐาน หรือ "วิปัสสนาภาวนา" ที่จะเป็นไปเพื่อความเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า เป็นธรรม ไม่ใช่ตัวตนอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง การอบรมเจริญปัญญาจากการที่ได้ฟังพระธรรม และมีความเข้าใจขึ้นก็จะทำให้ มีการอบรมความเห็นถูก ในสิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

เพราะฉะนั้น เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว เป็นเรื่องของปัญญาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการอบรมเจริญสมถกัมมฐาน หรือว่า วิปัสสนากัมมัฏฐาน จะขาดปัญญาไม่ได้เลยทีเดียว

ดังนั้น จากประเด็นคำถาม จึงกล่าวได้ว่า กรรมฐาน คือ สติปัฏฐาน นั้น มุ่งหมายถึงเพียงส่วนหนึ่ง คือ การอบรมเจริญปัญญาที่เป็นวิปัสสนาภาวนา แต่กรรมฐานยังมีอีก ๑ อย่าง คือ สมถกรรมฐาน ด้วย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 25 ก.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คำว่า กรรมฐาน หรือ กัมมัฏฐาน ก็มีคำสองคำรวมกัน คือ คำว่า "กัมม" ซึ่งหมายถึง การกระทำ รวมกับ "ฐาน" คือ ที่ตั้ง เมื่อแปลแล้วก็คือ ที่ตั้งแห่งการกระทำสมถกรรมฐาน คือ การอบรมความสงบของจิตเพื่อข่มนิวรณ์ จนจิตสงบเป็นฌานขั้นต่างๆ เมื่อฌานไม่เสื่อมย่อมเกิดในพรหมโลก

วิปัสสนากรรมฐาน คือ การอบรมเจริญปัญญา ที่รู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ ที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา เพื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมตามความเป็นจริง ดับกิเลสตามลำดับ เพื่อดับกิเลสทั้งหมดไม่ต้องเกิดอีกเลย ซึ่งความสำคัญของกรรมฐาน คือ โดยมาก สัตว์โลกที่เกิดมาเต็มไปด้วยกิเลส มีความไม่รู้ เป็นต้น การเจริญกรรมฐาน ก็คือ เป็นการเจริญปัญญา เพื่อระงับกิเลส ไม่ให้เกิดชั่วคราว และเจริญปัญญา เพื่อถึงการดับกิเลสได้ในที่สุด ครับ

ไม่ว่าจะเป็นสมถกรรมฐาน และวิปัสสนา ก็ต้องเริ่มจากการฟังให้เข้าใจ ไม่ใช่ไปปฏิบัติโดยไม่รู้อะไร และ ปัญญาที่เจริญขึ้นจากการฟังที่เข้าใจ ย่อมปรุงแต่งให้เกิดความสงบ ที่เป็นสมถภาวนา และ เมื่ออบรมปัญญา ในเรื่องของสภาพธรรม ย่อมเกิดปัญญารู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ที่เป็น วิปัสสนากรรมฐาน

ซึ่ง จะขอกล่าวโดยละเอียด เพื่อเติมของ กรรมฐาน ลงไปเพื่อให้เข้าใจถูกต้องในเรื่องของสภาพธรรมตามความเป็นจริง กรรมฐาน เมื่อได้ยินชื่อ ก็เข้าใจว่าเป็นการกระทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า การปฏิบัติ มีการนั่งสมาธิ เดินจงกรม เป็นต้น แต่แท้ที่จริงแล้ว กรรมฐาน มุ่งหมายถึง สภาพธรรมที่มีจริง ดังนั้น ขอให้ย้อนกลับมาที่สภาพธรรมที่มีจริง กรรมฐาน ก็คือ ตัว สติและปัญญาที่รู้ตามควาเมป็นจริง ชื่อว่า กรรมฐาน และ แม้แต่ สภาพธรรมที่เป็นอารมณ์ให้ สติ และ ปัญญารู้ ก็ชื่อว่า กรรมฐานนี่คือ ความละเอียดของ คำว่า กรรมฐาน ที่ไม่ใช่การกระทำเป็นรูปแบบ การปฏิบัติเป็นสิ่งต่างๆ แต่ กรรมฐาน คือ ธรรมนั้นเอง ที่ปฏิบัติกิจหน้าที่ให้กุศลเจริญขึ้น คือ สติและปัญญาเกิดขึ้น ระลึกในอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบจากกิเลส เป็น สมถภาวนา ที่เรียกว่า สมถกรรมฐาน และ สติและปัญญาที่ทำหน้าที่รู้ตามความเป็นจริง ในขณะนั้นทำหน้าที่ เป็นตัวกรรมฐานเอง ที่เกิดขึ้น ก็เป็น วิปัสสนากรรมฐาน จึงไม่มีตัวเรา ปฏิบัติกรรมฐาน มีแต่สภาพธรรมที่ปฏฺบัติ หน้าที่รู้ความจริง จึงเรียกว่ากรรมฐาน

เมื่อตั้งต้น ด้วยความเข้าใจถูก ว่าเป็นธรรม ที่ทำหน้าที่ ที่เป็นธรรมฝ่ายดี คือ สติและปัญญา เมื่อได้ยินคำว่า กรรมฐาน ก็เข้าใจถูกว่า เป็น สติและปัญญาที่ทำหน้าที่ให้จิตสงบจากกิเลส และ รู้ความจริงของสภาพธรรม จึงโยงกลับมาที่คำถามได้ว่า สติปัฏฐาน เป็นกรรมฐานไหม ก็ต้องเป็น เพราะ สติปัฏฐาน เป็นชื่อของ สติและปัญญาที่รู้ความจริง กรรมฐาน ก็เป็นสภาพธรรมที่ทำหน้าที่รู้ความจริงที่เป็น สติและปัญญาเช่นกัน ครับ ซึ่ง สามารถรับฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ โดยตรงในประเด็นที่ถามได้ดังนี้ ครับ

พระพุทธเจ้าทรงประทานพระกรรมฐานคือสติปัฏฐาน

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
nopwong
วันที่ 27 ก.ย. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Thanapolb
วันที่ 27 ก.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุโมทนา และขอเรียนถามด้วยคนครับ สติปัญญาในสมถกรรมฐาน ได้เพียงความสงบทางจิตชั่วคราว แต่วิปัสนากรรมฐาน สติและปัญญารู้สภาพธรรมะตามความเป็นจริงในขณะนั้น แสดงว่า สมถกรรมฐานยังไม่รู้แจ้งสภาพธรรมตามเป็นจริงหรือครับ เป็นเพียงแต่เห็นโทษของอกุศลหรืออย่างไรครับ หรือจะกล่าวทั้งสองประเภทก็มีสติและปัญญาทั้งคู่ แต่แตกต่างกันที่ระดับสติและปัญญา ที่รู้แจ้งสภาพธรรมในระดับต่างกันครับ ขอขยายความให้เข้าใจเพิ่มเติมด้วยครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 27 ก.ย. 2556

เรียนความเห็นที่ 4 ครับ

สมถกรรมฐาน และ วิปัสสนากรรมฐาน ต่างก็มีปัญญาเกิดร่วมด้วย แต่ ปัญญาต่างระดับกัน สติและปัญญาของสมถภาวนา เพียงให้สงบจากกิเลสชั่วคราว แต่ไมได้รู้ความจริงของสภาพธรรม จึงเป็นเราที่สงบ เป็นต้น ก็ไม่สามารถละกิเลสที่ยึดถือว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคล แต่ การเจริญวิปัสสนา เป็นปัญญาที่เป็นระดับที่รู้ความจริงของสภาพธรรม ที่รู้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา อันเป็นการละกิเลสได้จริงๆ ที่ค่อยๆ ละความยึดถือว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคลได้ ในที่สุด อันเป็นหนทางการดับกิเลส ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Thanapolb
วันที่ 28 ก.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบพระคุณอาจารย์ผเดิมครับ สมถกรรมฐาน ยังมีเราที่เข้าใจนี่เอง

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
j.jim
วันที่ 30 ก.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
wannee.s
วันที่ 2 ต.ค. 2556

ปกติวันหนึ่งๆ เต็มไปด้วยอกุศลทุกๆ วัน ถ้ามีธรรมะเป็นที่พึ่ง ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ประมาท กรรมฐานไหนก็ได้ที่เกิดแล้วทำให้สงบจากอกุศล ควรเจริญบ่อยๆ นะค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
orawan.c
วันที่ 9 ต.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
jirat wen
วันที่ 12 ก.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
chatchai.k
วันที่ 31 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
muda muda
วันที่ 2 ส.ค. 2565

ประโยชน์อย่างยิ่งค่ะ ขอ กราบอนุโมทนา สาธุค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ