ปุณณิยสูตรที่ ๒ - เหตุใดพระธรรมจึง ไม่แจ่มแจ้ง

 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่  18 ก.ย. 2556
หมายเลข  23634
อ่าน  1,537

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕

อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต

ปุณณิยสูตร

ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา ๑. เข้าไปหา เข้าไปนั่งใกล้ ๓. สอบถาม ๔. เงี่ยโสตลงสดับธรรม ๕. ฟังแล้วทรงจำไว้ ๖. พิจารณา เนื้อความแห่งธรรม ที่ทรงจำไว้ ๗. รู้อรรถรู้ธรรมแล้ว ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ๘.

อรรถกถาปุณณิยสูตรที่ ๒

ปุณณิยสูตรที่ ๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า สทฺโธ ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยศรัทธา ๒ อย่าง

บทว่า โน จ ปยิรุปาสิตา แปลว่า ไม่เข้าไปบำรุง

บทว่า โน จ ปริปุจฺฉิตา แปลว่า ไปสอบถาม ประโยชน์ และ มิใช่ประโยชน์ เหตุ และ มิใช่เหตุ

บทว่า สมนฺนาคโต เป็น ปฐมาวิภัติ ลงในอรรถแห่งฉัฏฐีวิภัติ

อธิบายว่า สมนฺนาคตสฺส ผู้ประกอบแล้ว

บทว่า เอกนฺตปฏิภาณํ ตถาคตํ ธมฺมเทสนา โหติ ความว่า ธรรมเทศนา การแสดงธรรม ของ พระตถาคต แจ่มแจ้งโดยส่วนเดียว อธิบายว่า ย่อมแจ่มแจ้ง ย่อมปรากฏโดยส่วนเดียว

ขอเรียนถามค่ะ

๑. ช่วยกรุณาประมวลสาระสำคัญในการศึกษาพระสูตรนี้ให้ด้วยค่ะ

๒. ศรัทธา คือ ธรรมอย่างไร มีแบ่งเป็นกี่ประเภท ประการใดบ้าง มีเหตุปัจจัยใดให้เกิดศรัทธา "ผู้ประกอบด้วยศรัทธา ๒ อย่าง" หมายความว่าอย่างไร คะ

๓. "ไม่เข้าไปบำรุง" ช่วยอธิบายขยายความ หมายถึงอะไรอย่างไรคะ

๔. "ผู้ประกอบแล้ว" มีความหมายถึงอะไรอย่างไรคะ

๕. "ย่อมแจ่มแจ้ง ย่อมปรากฏโดยส่วนเดียว" หมายความว่า ไม่มี ส่วนที่ไม่แจ่มแจ้ง ไม่มี ส่วนที่ไม่ปรากฏ คือ กระจ่างชัดเจน ทำนองนี้หรือเปล่าคะ หรืออย่างไรคะ

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาสำหรับคำอธิบาย และกุศลทุกประการของทุกท่านนะคะด้วยความเคารพ จาก ธิดารัตน์ เดื่อมขันมณี (ใหญ่ราชบุรี)


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 18 ก.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. ช่วยกรุณาประมวลสาระสำคัญในการศึกษาพระสูตรนี้ให้ด้วยค่ะ

ปุณณิยสูตร เป็นพระธรรมเทศนา ที่แสดงเกี่ยวกับว่า เหตุใดพระธรรมจึง ไม่แจ่มแจ้ง คือ ไม่เกิดปัญญาความเข้าใจ และ เหตุใด พระธรรมที่พระพุทธเจ้า ทรงแสดง จึงแจ่มแจ้ง ซึ่งมีเหตุปัจจัย ดังนี้ เพราะการที่พระธรรมไม่แจ่มแจ้ง คือ ไม่เกิดความเข้าใจ เพราะ แม้มีศรัทธาในพระธรรม แต่เมื่อเข้าไปหา คือ ไม่ฟัง พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ก็เป็นไปกับการคิดเอง ก็คิดไม่ออก จึงทำให้ ธรรมไม่แจ่มแจ้ง แต่เมื่อมีการเข้าไปหา สัตบุรุษ มีการฟังธรรม ก็ทำให้เกิดปัญญา ขั้นการฟัง ก็ธรรมนั้น ในขั้นการฟัง ก็แจ่มแจ้งตามกำลังของปัญญาครับ แต่หากว่า ฟังธรรมแล้ว ไม่สอบถาม สนทนาก็เป็นการคิดเอง ตามที่ได้ฟัง ก็เข้าใจผิดได้ ก็ เป็นการไม่เข้าใจธรรมแจ่มแจ้ง แต่เพราะอาศัยการสนทนา สอบถาม ย่อมได้รับ ความเข้าใจครับ การเข้าไปหาแต่เมื่อไปนั่งใกล้ เพื่อที่จะได้ฟัง สนทนาก็เช่นกัน ย่อมเป็นเหตุให้ไม่เข้าใจธรรม แต่เพราะอาศัยการนั่งใกล้ด้วยการสนทนา สอบถาม ย่อมได้ปัญญา ได้ความเข้าใจ ธรรมก็ย่อมแจ่มแจ้งกับผู้นั้นครับและหากเมื่อเข้าไป สอบถาม สนทนาแล้ว แต่ไม่เงี่ยโสตลงสดับ ความหมาย คือ ไม่ตั้งใจที่จะฟัง ก็ทำ ให้ไม่เข้าใจ แต่หากสนทนา สอบถามและตั้งใจฟังด้วยดี ย่อมเกิดปัญญา ความเข้า ใจที่แจ่มแจ้งได้ครับ และหากได้ฟังแล้ว ไม่ทรงจำ ในสิ่งที่ได้ฟัง ธรรมก็เลอะเลือน ก็ธรรมให้ ธรรมไม่แจ่มแจ้ง ไม่เข้าใจในโอกาสต่อไป แต่หากฟังด้วยความเข้าใจ และ จำได้ คราวต่อไปก็สามารถเข้าใจ ระลึกขึ้นได้ เพราะอาศัยการจำไว้ได้ แต่ หากเพียงจำ ไม่พิจารณาไตร่ตรองธรรม ก็ทำให้ไม่เข้าใจธรรมนั้นสูงยิ่งขึ้น ปัญญา ก็ไม่แจ่มแจ้งในพระธรรมอย่างละเอียดขึ้น แต่หากมีการทรงจำไว้แล้วและพิจารณา ธรรมอย่างละเอียดรอบคอบ ย่อมเกิดปัญญาความเข้าใจพระธรรมละเอียดขึ้นครับ และ แม้พิจารณาธรรมแล้ว แต่ ไม่ได้ประพฤติปฏฺบัติธรรม ไม่ได้ปฏิบัติธรรมสมควร แก่ธรรม คือ การรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ว่า เป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่ เรา ก็ไม่สามารถที่จะเป็นความเข้าใจ แจ่มแจ้งในการรู้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมได้จริงๆ ต่อเมื่อใด เมื่อฟัง พิจารณาแล้วเกิดสติ และปัญญาที่รู้ความจริงว่าเป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เรา ธรรมย่อมแจ่มแจ้งกับบุคคลนั้น เพราะได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลัง ปรากฎตามความเป็นจริง ครับ

ดังนั้น ความเข้าใจพระธรรมและไม่เข้าใจพระธรรม ก็แบ่งเป็นหลายระดับ และ ต้องอาศํยเหตุปัจจัยหลายๆ ประการ โดยอาศัยการฟัง ศึกษาพระธรรมและสนทนา สอบถาม พิจารณาธรรม ปัญญาก็เกิดขึ้นเป็นไปตามลำดับ โดยไม่มีเราที่จะพยายาม ที่จะทำ แต่ธรรมจะปรุงแต่งเอง จากการฟัง ศึกษาพระธรรม ครับ


๒. ศรัทธา คือ ธรรมอย่างไร มีแบ่งเป็นกี่ประเภท ประการใดบ้าง มีเหตุปัจจัยใดให้เกิดศรัทธา "ผู้ประกอบด้วยศรัทธา ๒ อย่าง" หมายความว่าอย่างไร คะ

@ ศรัทธา ในคำสอนทางพระพุทธศาสนานั้น เป็นธรรมฝ่ายดี (โสภณธรรม) ที่เกิด ร่วมกับจิตที่ดีงาม คือจิตที่ไม่มีกิเลสเกิดร่วมด้วย ศรัทธาเป็นสภาพธรรมที่ผ่องใส ไม่ขุ่นมัวเป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในการอบรมความสงบของจิต และ การอบรมเจริญปัญญา จะไม่เกิดร่วมกับอกุศลจิต และสัทธา หรือศรัทธาเป็น สภาพธรรมที่ผ่องใส ศรัทธาเป็นปรมัตถธรรม เป็นเจตสิกฝ่ายดี คือเป็นเจตสิก ที่เกิดร่วมกับโสภณจิตทุกประเภท ศรัทธาจึงเปรียบเหมือนสารส้ม หรือแก้วมณีที่ ทำให้น้ำใสสะอาดไม่ขุ่นมัว เพราะเหตุว่าเมื่อศรัทธาเจตสิกเกิดขึ้น อกุศลธรรมทั้ง หลายซึ่งเปรียบเหมือนกับโคลนตมย่อมจมลง คือเกิดขึ้นไม่ได้ ดังนั้น เมื่อศรัทธา เกิดขึ้นอกุศลธรรมประการต่างๆ จะเกิดร่วมไม่ได้เลย เพราะศรัทธาเป็นธรรมฝ่ายดี จะไม่เกิดร่วมกับอกุศลจิต ลักษณะของศรัทธาในพระไตรปิฎกแสดงลักษณะไว้ 2 อย่างคือ

1. มีความเลื่อมใสเป็นลักษณะ

2. มีการข่มนิวรณ์คือข่มกิเลสทำให้จิตผ่องใสเป็นลักษณะ

ซึ่งจากข้อความในพระไตรปิฎก มีศรัทธา หรือ สัทธา ๔ อย่าง คือ

1. อาคามนียศรัทธา คือ ความเชื่อในปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

2. อธิคมศรัทธา คือ ความเชื่อ ศรัทธา ที่เกิดจากการบรรลุธรรม

3. ปสาทศรัทธา คือ ความเชื่อ ศรัทธา เกิดขึ้นเมื่อได้ยินว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

4. โอกัปปนศรัทธา คือ ความเชื่อ ศรัทธาที่เกิดจากความปักใจเชื่อ แสดงให้เห็นว่า ปสาทะ ก็เป็นชื่อหนึ่งของศรัทธาด้วย ที่เป็น ปสาทศรัทธา เป็น ความเชื่อ เลื่อมใส ในพระรัตนตรัย ครับ

ซึ่งในพระสูตร ปุณณิยสูตร แสดง ศรัทธา ๒ อย่างคือ โลกิยศรัทธา ความเชื่อ ศรัทธา ที่ยังไม่มั่นคง ที่ไม่ได้มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ โลกุตตรศรัทธา ศรัทธาที่มั่นคง ไม่หวั่นไหว ที่มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ เป็นต้น หรือ อีกนัย หนึ่ง หมายถึง ศรัทธา ๒ อย่าง ที่เป็น อาคามนียศรัทธา คือ ความเชื่อในปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ปสาทศรัทธา คือ ความเชื่อ ศรัทธา เกิดขึ้นเมื่อได้ยินว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

ส่วนให้เกิดศรัทธา เป็นดังนี้

- สภาพธรรมที่เป็น สัทธา สัทธาเจตสิก เป็นสังขารธรรม ที่จะต้องเกิดขึ้น และ ดับไปเสมอ เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม ก็เกิดขึ้น ดังนั้นขณะใดที่ จิตที่ดีเกิดขึ้น จะต้องมี สัทธาเจตสิกเกิดร่วมด้วยเสมอและสัทธาเจตสิกนั้นก็ต้องดับไป เสื่อมไปเป็นธรรมดา ซึ่งเหตุให้เกิดศรัทธา ศรัทธา จะเกิดเพิ่มขึ้นได้ ก็ต้องมีเหตุ นั่นคือ อาศัยการฟัง พระธรรม จากสัตบุรุษ มีการได้อ่าน ได้ฟังพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ย่อม จะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิด ความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเพิ่มขึ้น เพราะเหตุ ว่า การได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อันเป็นเหตุให้เกิดศรัทธาเพิ่มขึ้นนั้น เพราะ การฟังศึกษาพระธรรม เป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะ อาศัยความเข้าใจถูก ในพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ทำให้ละคลายกิเลส ละความไม่รู้ และคิดถูกต้องตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวันมากขึ้น ซึ่งก็จะทำ ให้เห็นพระพุทธคุณ หรือ คุณของพระพุทธเจ้าตามความเป็นจริงว่า พระองค์ทรง แสดงพระธรรมที่ถูกต้องและทรงมีพระปัญญา จึงเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า เพราะอาศัยปัญญาที่เกิดจากการศึกษา ฟังพระธรรมเป็นสำคัญ และเมื่อเข้าใจถูก ในพระธรรมที่ได้ศึกษา ก็เกิดความเลื่อมใส เกิดศรัทธาเพิ่มขึ้นในพระธรรม ทำให้ เห็นประโยชน์ ในคุณค่าของการได้ศึกษาพระธรรม และศึกษาพระธรรมต่อไป ก็มีศรัทธาในพระธรรมเพิ่มขึ้น เพราะปัญญาที่เพิ่มขึ้น และเมื่อมีความเข้าใจพระธรรม เมื่อเห็นพระภิกษุ ก็เกิดความเลื่อมใส ในพระภิกษุ โดยไม่ได้จำเพาะ เจาะจงว่าท่าน จะมีกิริยา อาการอย่างไร แต่น้อมนึกถึงคุณของพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ก็เกิด ความเลื่อมใสในพระสงฆ์ด้วย

นี่แสดงถึง เหตุให้เกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนา คือ การได้ฟังพระธรรม ศึกษา พระธรรม และเกิดปัญญาของตนเอง ก็จะทำให้ศรัทธาเพิ่มขึ้นและที่ละเอียดลงไปอีก ในสภาพธรรมที่เป็นศรัทธา คือ ศรัทธา เป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิตที่ดี เช่น กุศลจิต ดังนั้นขณะใดที่กุศลจิตเกิด ก็มีศรัทธาเกิดร่วมด้วยเสมอ เพราะฉะนั้นกุศลทุกๆ ประการ คือ ทาน ศีล การฟังธรรม เจริญปัญญา มีศรัทธาเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น ยิ่งกุศลจิต เกิดขึ้นมากเท่าไหร่ ศรัทธาก็มีมากเท่านั้น กุศลจิตจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการเกิดขึ้นของ ปัญญา ก็กลับมาที่เหตุให้เกิดปัญญาและศรัทธาก็คือ การฟังธรรม ศึกษาพระธรรม ครับ ดังข้อความในพระไตรปิฎก ที่แสดงเหตุให้เกิดศรัทธา เจริญขึ้นของศรัทธา ดังนี้

เรื่องเหตุให้เกิดศรัทธา

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕- หน้าที่ 203

ข้อความบางตอนจาก ตัณหาสูตร

แม้ศรัทธา เราก็กล่าวว่ามีอาหาร (เหตุ) มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของศรัทธา ควรกล่าวว่า การฟังสัทธรรม แม้การฟังสัทธรรม เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของการฟังสัทธรรม ควรกล่าวว่า การคบหาสัปบุรุษ


เชิญคลิกอ่านคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ที่นี่ ครับ

สัทธา (1)

สัทธา (2)

สัทธา (3)


๓. "ไม่เข้าไปบำรุง" ช่วยอธิบายขยายความ หมายถึงอะไรอย่างไรคะ

คือ ไม่เข้าไปปรนนิบัติ เช่น พระภิกษุที่ไม่เข้าไปหาพระผู้ใหญ่ พระอาจารย์ เมื่อไม่ เข้าไปบำรุง ทำวัตรต่างๆ กับท่าน ก็ย่อมไม่ได้โอกาสที่จะได้ฟัง สอบถาม เป็นต้น


๔. "ผู้ประกอบแล้ว" มีความหมายถึงอะไรอย่างไรคะ

ผู้ประกอบแล้ว ทั้งในการพิจารณาธรรม และ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ที่ประกอบ แล้วด้วยปัญญาความเข้าใจ ที่เป็นสัมมา ที่เป็นความถูกต้อง ที่เป็นกุศลธรรม มีปัญญา เป็นต้น


๕. "ย่อมแจ่มแจ้ง ย่อมปรากฏโดยส่วนเดียว" หมายความว่า ไม่มี ส่วนที่ไม่แจ่มแจ้ง ไม่มี ส่วนที่ไม่ปรากฏ คือ กระจ่างชัดเจน ทำนองนี้หรือเปล่าคะ หรืออย่างไรคะ

- คำว่า โดยส่วนเดียวคือ ถ้ายังไม่เข้าใจก็คิดไป หลายอย่าง แต่ ถ้าเข้าใจจริงๆ ก็ตรง อย่างเดียวเท่านั้น ดังนั้น แจ่มแจ้งโดยส่วนเดียว ก็คือ เข้าใจจริงๆ ในพระธรรม นั้นอย่างถูกต้อง ตรงประเด็น ชัดเจนที่สุด ซึ่งผู้ถามมีความเข้าใจถูกต้องแล้ว ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 18 ก.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

-พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดย ตลอด แม้แต่ปุณณิยสูตรก็เช่นเดียวกัน เป็นเครื่องเตือนให้เป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ประโยชน์ของพระธรรมว่าจะเข้าใจพระธรรมแจ่มแจ้งได้อย่างไร ซึ่งไม่ใช่ง่ายที่จะได้ ฟังได้ศึกษา เริ่มตั้งแต่มีศรัทธาเห็นประโยชน์ของพระธรรม แล้วเข้าไปหา มุ่งหมาย ถึงการเข้าไปหาผู้ที่มีปัญหาเพื่อการฟังธรรม ไม่ใช่เข้าไปหาเฉยๆ แต่หมายความว่า เพื่อฟังธรรม เพื่อสนทนาธรรม เพื่อความเข้าใจในธรรมที่ได้ยิน ได้ฟัง เมื่อเข้าไปหา แล้วก็เข้าไปนั่งใกล้ เพื่อที่จะได้ยิน ได้ฟัง ชัดเจนแจ่มแจ้ง ในความละเอียดของธรรม นั้นๆ ด้วย มีการสอบถาม เพราะเพียงแตฟังก็ไม่พอ ถ้ามีข้อสงสัยในธรรมส่วนใด ก็ควรที่จะได้ถามเพื่อให้หายความสงสัย ให้หายความข้องใจ เพื่อที่จะได้รู้ชัดในความ ละเอียดแยบคายของธรรมยิ่งขึ้นด้วย พร้อมกับตั้งใจฟังด้วยดี ฟังแล้วก็ทรงจำไว้

จะเห็นได้ว่า ถ้าฟังแล้วทรงจำข้อความที่ได้ฟังไว้ได้มาก ก็จะเป็นเหตุให้ท่านสามารถ ที่จะเข้าใจในสภาพธรรมนั้นได้ชัดเจน แต่ถ้าฟังแล้วก็สอบถาม แต่ว่าไม่ทรงจำสิ่งที่ได้ สอบถาม และที่ได้ฟังไว้ ภายหลังก็ย่อมหลงลืม แล้วก็ไม่เข้าใจชัดในสภาพธรรมนั้น และที่สำคัญที่สุด ซึ่งมีพื้นฐานมาจากการมีศรัทธา เห็นประโยชน์ของพระธรรม เป็นต้นมา ก็เป็นเหตุให้มีการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องตรงตามพระ ธรรมที่ได้ฟังมาทุกประการ

-ศรัทธา ในคำสอนทางพระพุทธศาสนา นั้น เป็นธรรมฝ่ายดี (โสภณธรรม) ที่เกิดร่วม กับจิตที่ดีงาม คือจิตที่ไม่มีกิเลสเกิดร่วมด้วย ศรัทธาเป็นสภาพธรรมที่ผ่องใส ไม่ขุ่นมัว เป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในการอบรมความสงบของจิต และการอบรมเจริญ ปัญญา จะไม่เกิดร่วมกับอกุศลจิต

ความเป็นผู้เห็นประโยชน์ของพระธรรมฟังพระธรรมบ่อยๆ เนืองๆ ละเว้นบุคคล ผู้ไม่มีศรัทธา คบหาสมาคมกับบุคคลผู้มีศรัทธา ย่อมเกื้อกูลให้ศรัทธาเจริญยิ่งขึ้นได้ใน บางพระสูตร พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่า ศรัทธา เป็นเพื่อนสองของคน หมายถึง เป็นเพื่อนของผู้ที่จะไปสู่สวรรค์และนิพพาน เพราะเหตุว่า เมื่อบุคคลประกอบ ด้วยศรัทธาแล้ว ย่อมสามารถทำให้ได้รับประโยชน์ทั้งในโลกนี้ ประโยชน์ในโลกหน้า คือเกิดในภพภูมิที่ดี (มีสวรรค์ และมนุษย์ภูมิ) และได้รับสิ่งที่ดี ที่น่าปรารถนา น่าใคร่น่า พอใจ อันเป็นผลของกุศล และทำให้ได้รับประโยชน์อย่างยิ่ง คือการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ ดับกิเลสตามลำดับขั้น เนื่องจากว่าบุคคลผู้ที่มี ศรัทธา จึงมีการเจริญกุศลประการต่างๆ มีการคบหากัลยาณมิตร ผู้มีปัญญา มีการฟัง พระธรรม ศึกษาพระธรรม ไตร่ตรองพระธรรม อบรมเจริญปัญญา เมื่อปัญญาเจริญขึ้นไป ตามลำดับก็สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคลได้ เพราะอาศัยศรัทธา เป็นเบื้องต้น นั่นเอง ดังนั้น ศรัทธา จึงเป็นสภาพธรรมที่นำมาซึ่งประโยชน์เท่านั้น นำมา ซึ่งประโยชน์ ทั้งในโลกนี้ ในโลกน้า และอุปการะเกื้อกูลให้ถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ด้วย

-ถ้าไม่เข้าไปหา นั่นก็หมายความว่า ไม่ได้เข้าไปบำรุง ไม่ได้เข้าไปทำกิจที่ควรทำ ก็ย่อมจะไม่ได้ฟังในสิ่งที่ควรฟัง คือ ไม่ได้พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง

-ประกอบพร้อม คือ เพียบพร้อม สมบูรณพร้อมด้วยความดี มีศรัทธาเห็นประโยชน์ ของพระธรรม ฟังด้วยความตั้งใจเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก พิจารณาไตร่ตรองในสิ่งที่ ได้ยินได้ฟัง พร้อมทั้งน้อมประพฤติตามพระธรรม

-แจ่มแจ้งโดยส่วนเดียว คือ เข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ถ้าหากว่า ไม่ได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง พระธรรมย่อมไม่มีทางแจ่มแจ้ง แก่ผู้นั้นอย่างแน่นอน ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

เหตุปัจจัยที่ทำให้ฟังพระธรรมแล้วเข้าใจแจ่มแจ้ง [ปุณณิยสูตร]

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 18 ก.ย. 2556

ศรัทธา คือ ความเชื่อ เชื่อกรรมและผลของกรรม เชื่อมั่นในคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
kinder
วันที่ 20 ก.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ