วิธีการลาของพระภิกษุสงฆ์ในระหว่างเข้าพรรษา

 
samroang69
วันที่  18 ก.ย. 2556
หมายเลข  23632
อ่าน  60,835

ขอรบกวนถามว่า วิธีการทำสัตตาหะกรณียะ ทำอย่างไร มีการถกเถียงกันอย่างมาก ว่า การทำสัตตาหะมีวิธีการทำอย่างไรต้องใช้สงฆ์หรือไม่ หรือทำคนเดียวก็ได้ ขอความ กระจ่างหน่อยครับ และการสัตตาหะเพื่อไปศึกษาหาความรู้เรื่องของธรรมะก็ดีหรือเรื่อง วิชาการทางธรรมะเช่นไปฟังการสัมมนาวิทยานิพนธ์ดีเด่น โดยทางวิทยาลัยได้จัดให้นัก ศีกษาไปจะถือว่าเป็นกิจธุระที่สามารถสัตตาหะได้หรือไม่ และถ้าขาดพรรษาไปโดยไม่ ได้สัตตาหะจะเป็นอย่างไร หมายถึงว่าพรรษานั้นเป็นอันนับอายุพรรษาไม่ได้ใช่หรือไม่ นอกจากที่จะมีโทษคือปรับอาบัติปาจิตตีย์และไม่ได้อานิสงค์พรรษาแล้วครับ ขอรบกวน ถามด้วยนะครับ

ขอบคุณ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 18 ก.ย. 2556

ตามหลักพระวินัยเรื่อง สัตตาหกรณียะ ในช่วงจำพรรษา ทรงอนุญาตให้พระภิกษุ ไปค้างแรมที่อาวาสอื่นได้ แต่ต้องกลับมาอาวาสเดิมภายในเจ็ดวัน การเดินทางไป ค้างแรมในอาวาสอื่นได้ต่อเมื่อมีเหตุอันควร เช่น ไปในกิจของสงฆ์ เพื่อนสหธรรมิก ป่วยหรือกระสันจะสึก หรือมีญาติโยมนิมนต์ไปแสดงธรรมหรือไปรับไทยธรรม หรือ พ่อแม่ป่วย เป็นต้น ทรงอนุญาตให้ไปค้างแรมในอาวาสอื่นได้ การไปด้วยกรณียกิจ แล้วกลับภายในเจ็ดวัน ชื่อว่า สัตตาหกรณียะ ซึ่งในพระวินัยและอรรถกถาไม่ได้แสดง รูปแบบหรือระบุพิธีกรรมไว้ ว่าต้องทำอย่างไร ดังนั้นเมื่อมีกิจจำเป็นที่จะต้องทำใน อาวาสอื่นที่มิใช่อาวาสที่ตนจำพรรษา เกิดขึ้น การเดินทางไปแล้วมีความตั้งใจจะกลับ ภายในเจ็ดวัน ก็ชื่อว่า สัตตาหกรณียะ โดยไม่ต้องทำพิธีกับบุคคล คณะหรือสงฆ์ ใดๆ คือ แม้ไม่มีใครรับรู้เลยก็ใช้ได้ ไม่ผิด ไม่ขัดกับพระวินัยเลยครับ ส่วนกรณียกิจที่ว่าแค่ ไหนอย่างไร จึงควรไปได้ควรพิจารณาให้เป็นไปตามวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ แต่ถ้าเหตุอันไม่สมควรไปถ้าขืนไปก็อาบัติทุกกฎ และพรรษาขาด คือไม่ได้รับอานิสงส์ การจำพรรษา และการกรานกฐิน ส่วนการนับอายุพรรษาก็คงนับเหมือนเดิม ไม่มีผล ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 18 ก.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เป็นความละเอียดลึกซึ้งของพระวินัยจริงๆ ครับ

ขอบพระคุณ อ. ประเชิญ เป็นอย่างยิ่ง ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 18 ก.ย. 2556

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
samroang69
วันที่ 18 ก.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
orawan.c
วันที่ 23 ก.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ผีแดง
วันที่ 11 ต.ค. 2556

ขออนุโมทนา

แล้วถ้าป่วยไปเข้าโรงบาลเปงการฉุกเฉิน รีบไป กลางดึก แต่บอกพระผู้ไหญ่ในวัดแล้ว แล้วไม่ได้ทำการสัตตาหะไปจะขาดพรรษาไหมคราบช่วยบอกหน่อยคับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
พระณรงค์
วันที่ 15 ส.ค. 2564

ขอสอบถามเพิ่มเติมครับ

1. มีเรื่องของพระใหม่อีกครับ รบกวนท่านผู้รู้ช่วยพิจารณาตอบให้หน่อยครับ
คือ ท่านอธิษฐานพรรษาเมื่อวันเข้าพรรษา จากนั้น เช้ามา ท่านไม่ได้ทำการสัตตาหะ แล้วไปธุระที่อื่น ไปสงเคราะห์โยมยายท่านที่ป่วย เป็นเวลา 6 วันจึงกลับมา แต่ท่านพูดบอกให้เพื่อนๆ พระใหม่ด้วยกัน ซึ่งมีมากกว่า 4 รูปทราบแล้ว เพียงแต่ไม่ได้กล่าวคำสัตตาหะ

อย่างนี้จัดว่าขาดพรรษา หรือไม่ครับ??

ถ้าขาด..จะสามารถอธิษฐานขอเข้าพรรษาหลัง ที่นับมาอีก 1เดือน จะได้ไหมครับ แล้วออกพรรษา หลังจากคนอื่นอีกเดือน และงดรับกฐินด้วย..

ขอท่านผู้รู้ช่วยพิจารณาตอบให้ด้วยครับผม ขอบพระคุณครับ

2. มีพระท่านอธิษฐานเข้าพรรษาแรกแล้ว แต่พออยู่มา มีเรื่องทะเลาะกันเกิดขึ้นภายในวัด ไม่อาจจะอยู่ที่วัดนั้นได้ จึงย้ายออกไปอยู่วัดใหม่ โดยไม่คิดจะกลับไปวัดที่ท่านอธิษฐานเข้าพรรษาอีกแล้ว

อย่างนี้ถ้าท่านจะอธิษฐานเข้าพรรษาหลัง ในวันที่ 24 ส.ค 64 นี้ ถามว่า จะสามารถทำได้โดยไม่ผิดวินัย ได้หรือไม่ครับ สอบถามท่านผู้รู้ทั้งหลายช่วยแนะนำด้วยครับผม ขอบพระคุณมากๆ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
khampan.a
วันที่ 15 ส.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. ในกรณีที่ไปดูแลญาติที่ป่วย (ยกเว้น บิดามารดา) จะไปได้ก็ต่อเมื่อมีผู้ส่งข่าวมาบอกให้ไป ถ้าไม่มีใครมาส่งข่าวมาบอกให้ไป ก็ไม่ควรไป ดังนั้น ถ้าหากไปโดยไม่มีคนส่งข่าวมาบอกว่าให้ไป แม้ว่าจะตั้งใจว่าจะกลับมาภายใน ๗ วัน ก็เป็นอันพรรษาขาด และเป็นอาบัติทุกกฏด้วย ไม่สามารถอธิษฐานเข้าพรรษาได้อีก และไม่ได้รับอานิสงส์ของการจำพรรษาและไม่สามารถรับกฐินด้วย แต่ถ้าท่านไป โดยมีคนส่งข่าวมาบอกให้ไป และตั้งใจว่าจะกลับมาภายใน ๗ วัน พรรษาไม่ขาด และ ไม่เป็นอาบัติด้วย

เทียบเคียงจาก พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ ๕๓๙ ดังนี้

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคล ๗ จำพวก (ป่วย) แม้มิได้ส่งทูตมา เราอนุญาตให้ไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ จะต้องกล่าวไปไยเมื่อเขาส่งทูตมา บุคคล ๗ จำพวก คือ ภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร สามเณรี มารดาและบิดา ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคล ๗ จำพวกนี้ แม้มิได้ส่งทูตมา เราอนุญาตให้ไปด้วยสัตตาหกรณียะ ได้ จะต้องกล่าวไปใยเมื่อเขาส่งทูตมา แต่ต้องกลับใน ๗ วัน.



๒. เมื่อไม่ใช่เหตุอันควร ถ้าไปอยู่ในที่อื่น ก็เป็นอันขาดพรรษา และเป็นอาบัติทุกกฏ ด้วย ไม่สามารถอธิษฐานเข้าพรรษาหลังได้ แต่ถ้ามีเหตุอันควร อันเป็นอันตรายแก่ชีวิต การไปอยู่ ณ ที่อื่น ไม่เป็นอาบัติ แต่ขาดพรรษา ไม่ได้รับอานิสงส์ของการจำพรรษาและไม่สามารถรับกฐินด้วย

ในประเด็นคำถาม ในการทะเลาะกัน ก็ควรที่จะหาทางแก้ไข ขอความอนุเคราะห์จากเพื่อนสหธรรมิกด้วยกัน ให้ดำเนินการให้ถูกต้องเป็นไปตามพระธรรมวินัย

การบวช เป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง ถ้าไม่ได้มีอัธยาศัยน้อมไปในการดำรงอยู่ในเพศที่สูงยิ่งเพื่อขัดเกลากิเลสของตน ย่อมมีแต่โทษเท่านั้น ความผิด แม้นิดเดียว ถ้าทำ ในเพศบรรพชิต ไม่เห็นโทษ ไม่กระทำคืนให้ถูกต้อง ก็มีโทษด้วยกันทั้งนั้น ครับ

กราบอนุโมทนาอาจารย์ธีรพันธ์ ครองยุทธ ที่ได้อธิบายในประเด็นที่ ๒ ครับ
...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 23 ต.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ