เกษถาม : ความหมายของ มานะ เจตสิก ในภาษาบาลี

 
wkedkaew
วันที่  28 ส.ค. 2556
หมายเลข  23454
อ่าน  6,392

ความหมายของ มานะ เจตสิก ในภาษาบาลี คืออย่างไร


Tag  มานะ  
  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 28 ส.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

มานะ ในภาษาไทยตามที่เข้าใจกันคือ ความพยายาม บากบั่น ไม่ย่อท้อ แต่ในความเป็นจริง มานะ ที่เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ที่เป็นภาษาบาลี มานะ ไม่ได้หมายถึง ความพยายาม บากบั่น แต่ความพยายามบากบั่นเป็นลักษณะของวิริยะครับ ซึ่ง มานะ ในภาษาบาลี หมายถึง

มานะ คือ ความสำคัญตน สำคัญว่าดีกว่าเขา เสมอเขา ต่ำกว่าเขา ขณะที่เปรียบเทียบมีการสำคัญตนเช่นนี้ ขณะนั้นมีมานะเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิตครับ พระอรหันต์เท่านั้น ที่สามารถดับมานะได้จนหมดสิ้น เป็นสมุจเฉท

ซึ่ง ข้อความในพระไตรปิฎก แสดงถึงลักษณะของมานะที่เป็นความสำคัญตน เปรียบเทียบ ดังนี้ ครับ

ที่ชื่อ "ความถือตัว" เนื่องด้วยกระทำมานะ คำว่า "กิริยาถือตัวความถือตัว" แสดงขยายถึงอาการและภาวะ ที่ชื่อว่า "การยกตน" เกี่ยวกับการเชิดชูตน การยกตนเกิดขึ้นแก่บุคคลใด ย่อมยังบุคคลนั้นให้เทิดขึ้นคือ สถาปนาตนยกขึ้นไว้ เหตุนั้นจึงชื่อว่า "ความเทิดตน" ที่ชื่อว่า "การเชิดชูตนดุจธง" โดยความหมายว่า ทำตัวให้เด่นขึ้น (ทำให้เด่นหรือสำคัญขึ้น)

ที่ชื่อว่า "การยกจิตขึ้น" ด้วยอรรถว่า ประคองจิตไว้โดยความหมายว่า ยกขึ้นไว้บรรดาธงหลายคัน ธงที่ยกขึ้นสูงกว่าเขา ชื่อว่า "เกตุ" หมายความว่า ธงเด่น แม้มานะเกิดขึ้นบ่อยๆ ก็เปรียบได้กับธงเด่น โดยเทียบกับมานะ

ต่อๆ มา เหตุฉะนั้นจึงชื่อว่า "เกตุ" แปลว่า ดุจธงเด่น ธรรมชาติที่ชื่อว่า "เกตุกมฺย" ด้วยอรรถว่า ปรารถนาเป็นดุจธง ภาวะแห่งธรรมชาติที่ต้องการดุจธง ชื่อว่า เกตุกมฺยตา แปลว่า ความต้องการเป็นดุจธง และความต้องการเป็นดุจธงนั้นเป็นของจิต ไม่ใช่ของตน ด้วยเหตุนั้นจึงตรัสว่า "ความที่จิตต้องการเป็นดุจธง" จริงอยู่ จิตที่สัมปยุตต์ด้วยมานะ ย่อมปรารถนาเป็นดุจธงและภาวะแห่งจิตนั้น ชื่อว่า ความต้องการเป็นดุจธง ได้แก่ "มานะ" ที่นับว่าเป็นดุจธง

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ ครับ

มานะ [ธรรมสังคณี]

ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wkedkaew
วันที่ 28 ส.ค. 2556

ขออนุโมทนา และ กราบขอบพระคุณค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 28 ส.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

มานะ ในทางโลกเข้าใจกันว่า เป็นความพยายามบากบั่นขยันหมั่นเพียร ซึ่งไม่ตรงตามความเป็นจริงของธรรม แต่ในทางธรรมแล้ว มานะ เป็นความสำคัญตน เป็นความทะนงตน ถือตน เป็นอกุศลเจตสิกที่เกิดร่วมกับอกุศลจิต ประเภทโลภมูลจิต

มานะ ซึ่งเป็นความถือตน ทะนงตนนั้น ย่อมไม่มีใครชอบ ผู้ที่ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ มานะก็ยังมี แต่ว่าความหยาบ ความเบาบางก็แตกต่างกันออกไป ทำให้เห็นว่าอกุศลในชีวิตประจำวันมีมากจริงๆ แล้วแต่ว่าใครจะสะสมหนักมากไปในทางใด หรือว่าใครจะสามารถขัดเกลาให้เบาบางลงได้ในแต่ละทาง สำหรับการขัดเกลา มานะ และอกุศลประการต่างๆ นั้น จะมีได้ก็ต้องอาศัยการเจริญกุศลทุกประการพร้อมกับการอบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวันนั่นเองครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 28 ส.ค. 2556

มานะ คือความสำคัญตน ความรู้สึกพองที่คิดว่าตนเองดีกว่าตนอื่น เก่งกว่าคนอื่น หรือคิดว่าตนเองเสมอเขา ต่ำกว่าเขา ค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ