ธาตุสูตร - ธาตุ ๓ อย่าง - ๑๑ พ.ย. ๒๕๔๙

 
บ้านธัมมะ
วันที่  10 พ.ย. 2549
หมายเลข  2331
อ่าน  1,998

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

••• ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย •••

ทุกวันเสาร์ ... ขอเชิญร่วมรายการ

สนทนาธรรมที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ที่ ๑๑ พ.ย. ๒๕๔๙

เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐ น.

ธาตุสูตร

ว่าด้วยธาตุ ๓ อย่าง

[เล่มที่ 45] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ 342

นำการสนทนาโดย..

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร

ขอเชิญท่านอ่านพระสูตรนี้ได้ในกรอบต่อไป ครับ ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 พ.ย. 2549

[เล่มที่ 45] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ 342

๒. ธาตุสูตร

ว่าด้วยธาตุ ๓ อย่าง

[๒๒๙] จริงอยู่ พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้า ได้สดับมาแล้วว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธาตุ ๓ อย่างนี้ ๓ อย่างเป็นไฉน คือ รูปธาตุ ๑ อรูปธาตุ ๑ นิโรธธาตุ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธาตุ ๓ อย่างนี้แล.

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า ชนเหล่าใดกำหนดรู้รูปธาตุแล้ว ไม่ดำรงอยู่ในอรูปธาตุ น้อมไปในนิโรธ ชนเหล่านั้นเป็นผู้ละมัจจุเสียได้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้หาอาสวะนี้ได้ ถูกต้องอมตธาตุอันหาอุปธิมิได้ ด้วยนามกาย แล้วกระทำให้แจ้งซึ่งการสละคืนอุปธิ ย่อมแสดงบทอันไม่มีความโศก ปราศจากธุลี เนื้อความแม้นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้ว ฉะนี้แล

จบ ธาตุสูตรที่ ๒

อรรถกถาธาตุสูตร

ในธาตุสูตรที่ ๒

พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

บทว่า ธาตุโย ความว่า ชื่อว่าธาตุ เพราะหมายความว่า ทรงไว้ซึ่งผล และสภาวะของตน. เพราะว่า บรรดาผล และสภาวะ ทั้ง ๒ อย่างนี้สิ่งที่ให้เกิดผล ชื่อว่า ธาตุ เพราะหมายความว่า ทรงไว้ซึ่งผลของตน และสภาวะของตน

นอกจากนี้ ชื่อว่า ธาตุ เพราะหมายความว่า ทรงไว้เฉพาะสภาวะอย่างเดียว รูปภพ ชื่อว่า รูปธาตุ ที่มาของธาตุ พึงกำหนดด้วยภพที่มาของภพ พึงกำหนดด้วยธาตุ ดังนั้น ในที่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสการกำหนดด้วยภพ เพราะฉะนั้น รูปธาตุ คือ รูปาวจรธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้อย่างนี้ว่า รูปาวจรธรรม คืออะไร คือ ขันธ์ ธาตุ อายตนะที่ท่องเที่ยวไปในภพนี้ คือนับเนื่องในภพนี้ โดยเบื้องต่ำ กำหนดเอาพรหมโลกเป็นที่สุด เบื้องบนกำหนดเทพ (พรหม) ชั้นอกนิฏฐา ไว้ในภายในธรรมเหล่านี้ ชื่อว่า รูปาวจร.

อรูปภพ ชื่อว่า อรูปธาตุ ถึงในพระสูตรนี้ ก็ตรัสถึงการกำหนดด้วยภพ ดังนั้น อรูปธาตุ คือ อรูปาวจรธรรม ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้อย่างนี้ว่า อรูปาวจรธรรม คืออะไร คือ ขันธ์ ธาตุ อายตนะที่ท่องเที่ยวไปในภพนี้ คือนับเนื่องในภพนี้โดยเบื้องต่ำกำหนดด้วยเทพ (พรหม) ผู้เกิดในชั้นอากาสานัญจายตนะไว้ในภายใน เบื้องบนกำหนดด้วยเทพ (พรหม) ที่เกิดในชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ ธรรมเหล่านี้ชื่อว่า อรูปาวจรธรรม

พระนิพพาน พึงทราบว่า ชื่อว่า นิโรธธาตุ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 พ.ย. 2549

[เล่มที่ 45] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ 344

อีกนัยหนึ่ง ความเป็นไปแห่งธรรมที่ประกอบด้วยรูป คือเนื่องด้วยรูปชื่อว่า รูปธาตุ ได้แก่ ปัญจโวการภพ และเอกโวการภพ กามภพและรูปภพทั้งสิ้น สงเคราะห์เข้ากับปัญจโวการภพและเอกโวการภพนั้น ความเป็นไปแห่งธรรม ที่เว้นจากรูป ชื่อว่า อรูปธาตุ ได้แก่ จตุโวการภพ อรูปภพ สงเคราะห์เข้ากับอรูปธาตุนั้น ดังนั้น ด้วยบททั้งสอง จึงเป็นอันทรงแสดงถึงภพ ๓ อันเป็นไปในสังสารทั้งหมด แต่ด้วยบทที่ ๓ ทรงสงเคราะห์อสังขตธรรมเท่านั้น ดังนั้น ในสูตรนี้ มรรคและผลทั้งหลายจึงชื่อว่า เป็นธรรมที่พ้นจาก ๓ ภพ แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ด้วยบททั้งสองว่า ธรรมที่เป็นสภาวะของรูป ชื่อว่า รูปธาตุ ธรรมที่เป็นสภาวะของอรูป ชื่อว่า อรูปธาตุ ดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงถึงเบญจขันธ์โดยไม่มีส่วนเหลือ และว่าธรรมที่เป็นอารมณ์ของรูปตัณหา ชื่อว่า รูปธาตุ ที่เป็นอารมณ์ของอรูปตัณหาชื่อว่า อรูปธาตุ

คำทั้งหมดนั้น มิได้ทรงประสงค์เอาในสูตรนี้ เพราะฉะนั้น พึงทราบเนื้อความตามนัยที่กล่าวมาแล้วนั่นแหละ. พึงทราบวินิจฉัยในคาถาทั้งหลายดังต่อไปนี้ สองบทว่า รูปธาตุ ปริญฺญาย ความว่า กำหนดรู้ความเป็นไปแห่งธรรมอันเนื่องด้วยรูป ด้วยปริญญา ๓ มีญาตปริญญา เป็นต้น.

สองบทว่า อรูเปสุ อสณฐิตา ความว่า ไม่ประดิษฐานอยู่แล้ว คือไม่พัวพันอยู่ในธรรมทั้งหลายที่เป็นอรูปาวจร ด้วยอำนาจภวราคะและด้วยอำนาจภวทิฏฐิ.

ภิกษุทั้งหลายสวดกันว่า อรูเปสุ อสณฺฑิตา ก็มีความหมายก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน. ด้วยคำมีประมาณเท่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสการกำหนดรู้ธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓. ข้อว่า นิโรเธ เย วิมุจฺจนฺติ ความว่า ชนผู้เป็นพระขีณาสพเหล่าใด พ้นจากกิเลสโดยไม่มีเหลือในพระนิพพานที่เป็นอารมณ์ด้วยสมุจเฉท (วิมุตติ) และปฏิปัสสัทธิ (วิมุตติ) ด้วยสามารถแห่งมรรคผลชั้นสูง.

ข้อว่า เต ชนา มจฺจุหายิโน ความว่าชนผู้เป็นพระขีณาสพเหล่านั้น ล่วงพ้นความตายได้แล้ว. พระผู้มีพระเจ้า ครั้นทรงแสดง การบรรลุอมตธรรม โดยการก้าวล่วงธาตุทั้ง ๓ อย่างนี้แล้ว เมื่อจะยังอุตสาหะในการบรรลุอมตธรรมนั้นแก่ชนเหล่านั้นว่า ปฏิปทานี้ด้วย ทางที่เราตถาคตดำเนินไปแล้วด้วย เราตถาคตแสดงแล้ว แก่เธอทั้งหลายดังนี้ จึงตรัสพระคาถาที่สอง (ต่อไป) .

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กาเยน ความว่า ด้วยนามกาย คือด้วยมรรคและผลทั้งหลาย.

บทว่า ผุสิตฺวา แปลว่า บรรลุแล้ว.

บทว่า นิรูปธึ ความว่า เว้นจากอุปธิทุกอย่างมีขันธูปธิเป็นต้น.

บทว่า อุปธิ ปฏินิสฺสคฺคํ ได้แก่ เหตุเป็นเครื่องสละ ซึ่งอุปธิเหล่านั้นนั่นแหละ เพราะว่าอุปธิทั้งหมด เป็นอันพระขีณาสพสละคืนแล้ว ด้วยการกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ด้วยมรรคญาณ เพราะฉะนั้น การกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ด้วยมรรคญาณนั้น จึงเป็นเหตุแห่งการสละคืนซึ่งอุปธิเหล่านั้น.

บทว่า สจฺฉิกตฺวา ความว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้หาอาสวะมิได้ ทรงกระทำ (อมตธาตุ) ให้ประจักษ์แก่พระองค์ด้วยการเข้าผลสมาบัติ ตามกาลที่สมควร ทรงแสดงบท คือ พระนิพพานนั่นแหละ ที่ไม่เศร้าโศก ปราศจากธุลี เพราะฉะนั้นบัณฑิตควรกระทำความอุตสาหะ เพื่อบรรลุบท คือ พระนิพพานนั้น

จบ อรรถกถาธาตุสูตรที่ ๒

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ละอ่อนธรรม
วันที่ 10 พ.ย. 2549

ขออนุโมทนาสาธุครับรบกวนเรียนถามหน่อยนะครับว่าพระสูตรที่นำมาเผยแพร่ทุกอาทิตย์นี้ คือ พระสูตรที่ท่านอาจารย์สุจินต์ จะยกขึ้นมาสอนในวันเสาร์ที่จะถึงใช่มั้ยครับ (หมายถึงให้เตรียมอ่านไปก่อน)

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
study
วันที่ 11 พ.ย. 2549

ทางมูลนิธิฯ จะส่งพระสูตรที่จะสนทนาทุกวันเสาร์ มาให้บ้านธัมมะล่วงหน้า ซึ่งทางบ้านธัมมะจะนำขึ้นเวปไซต์ เพื่อให้ท่านผู้ชมได้อ่านล่วงหน้า ก่อนที่จะมีการสนทนาพระสูตรนั้น ท่านสามารถพิมพ์เก็บไว้อ่าน โดยกดที่ปุ่ม ซึ่งอยู่ด้านบนสุดของแต่ละกระทู้นะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ละอ่อนธรรม
วันที่ 11 พ.ย. 2549

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 17 พ.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ