ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๐๒

 
khampan.a
วันที่  4 ส.ค. 2556
หมายเลข  23298
อ่าน  1,956

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรม จากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจสั้นๆ เหมาะสำหรับผู้ที่มีเวลาน้อย เพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ถึงแม้ว่าจะเป็นข้อความที่สั้น แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์อยู่ในตัว ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้

[ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๐๒]

[1] เรื่องเศร้าทั้งนั้นเลย สำหรับชีวิตซึ่งเต็มไปด้วยความรักใคร่ ความริษยา ความอาฆาตต่างๆ จากชาติหนึ่งไปสู่อีกชาติหนึ่ง ไม่มีสิ้นสุดเลย ถ้าในขณะนั้นไม่ได้ระลึกรู้ว่าเป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรม ชีวิตก็ย่อมจะไม่มีการขัดเกลา แล้วก็ย่อมจะพอกพูนเต็มไปด้วยความรักใคร่ ความผูกพัน ความริษยาอาฆาตต่างๆ สืบต่อไป เป็นภพเป็นชาติต่อๆ ไปในสังสารวัฎฎ์

[2] คนที่จากโลกนี้ไปแล้ว จะกลับมาเป็นบุคคลเหมือนเดิมอีกได้ไหม? ไม่ได้อย่างแน่นอน เมื่อจากไปแล้วจะไปสู่กำเนิดอะไร แม้ว่าบุคคลนั้นจะเป็นมารดา จะเป็นบิดาจะเป็นผู้เป็นที่รัก แต่ก็จากไปแล้วจากความเป็นบุคคลนี้ ไปสู่ความเป็นบุคคลอื่น มีกำเนิดอื่น มีความสัมพันธุ์เกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นต่อไป แล้วทำไมถึงจะคร่ำครวญเศร้าโศกถึงผู้ที่ตาย เพราะฉะนั้นถ้าพิจารณาธรรมจริงๆ พระธรรมที่ได้พิจารณาแล้ว ก็จะดับความเศร้าโศกของบุคคลทั้งหลายได้ แล้วก็จะน้อมประพฤติปฏิบัติหนทางที่จะทำให้พ้นจากความเศร้าโศก พ้นจากความทุกข์ได้จริงๆ

[3] เมื่อยังไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม อกุศลกรรม ก็ยังกระทำอยู่บ้าง แล้วก็ในอดีต อกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว ก็ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้ปฏิสนธิในกำเนิดของอบายภูมิได้

[4] การที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมนั้น ต้องเป็นการเจริญเหตุให้สมควรแก่ผล เมื่อผลพร้อมที่จะเกิดแล้ว ไม่ว่าผู้นั้นจะอยู่ที่ใด ผลคือการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมก็เกิดได้

[5] ชาวนาผู้หนึ่ง เสียใจที่นาของตนถูกน้ำท่วมเสียหายมาก มีความเศร้าโศกเสียใจ พระผู้มีพระภาคทรงเล็งเห็นอุปนิสสัยของการที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอริยสาวกของชาวนาท่านนั้น เพราะฉะนั้นก็ได้เสด็จไปโปรด ทรงแสดงธรรมให้ชาวนานั้นคลายความโศกเศร้าและบรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล เป็นชีวิตจริงๆ ใน ขณะนั้น ไม่ได้ไปเปลี่ยน ไม่ได้ไปบอกว่าให้ไปที่อื่น

[6] จิตใจของสัตว์ดิรัจฉาน ก็มีทั้ง โลภะ โทสะ โมหะ บางขณะก็รุนแรงไม่ต่างกับผู้ที่เป็นมนุษย์เลย ในทางฝ่ายอกุศลมีมาก แต่ทางฝ่ายกุศลนั้นมีน้อย สำหรับกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน

[7] ถ้ายังสะสมโลภะ โทสะ ไว้มากๆ ถึงจะไปเกิดในกำเนิดไหน ก็ไม่พ้นจากโลภะ โทสะ ซึ่งแสดงออกมาตามควรแก่กำเนิดนั้นๆ

[8] จะห้ามได้ไหมเรื่องของกิเลส? ไม่ได้อย่างแน่นอน เพราะสะสมไว้มากๆ ปาณาติบาตแม้สัตว์เล็กๆ นิดๆ หน่อยๆ ไหม นั่นก็เป็นกรรมที่จะทำให้เกิดในนรก แต่ถ้าผู้นั้นยังไม่หมดจากกิเลส ก็ย่อมมีกิเลสที่มีกำลังที่จะทำให้กระทำทุจริตกรรมได้

[9] สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก จึงจะเป็นผู้ไม่ประมาท

[10]
ขณะที่อกุศลเกิด นั้น อยู่ไม่สุข แต่ที่จะอยู่เย็นเป็นสุขได้ ก็ด้วยกุศลธรรม

[11] ผลดีจะเกิดมาจากเหตุเลวได้ไหม? ไม่ได้อย่างแน่นอน

[12] เพราะไม่รู้ (อวิชชา) จึงมีเดี๋ยวนี้ มีสภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นไป จะหมดความไม่รู้ได้ก็ต้องด้วยปัญญา

[13] เพราะไม่รู้ จึงเห็นผิดว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือเป็นตัวตน ได้ยินคำว่าอนัตตาบ่อยมาก ซึ่งจะต้องฟังจนกว่าจะมั่นคงจริงๆ ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา เป็นอนัตตาจริงๆ

[14] อวิชชายังเกิดได้ แล้วทำไมปัญญาจะเกิดไม่ได้ แต่ต้องอาศัยความอดทน คงไม่เหลือวิสัยแน่สำหรับการเข้าใจ เข้าใจบ้างนิดๆ หน่อยๆ ก็ยังดีกว่าไม่ เข้าใจ

[15] ที่จะทำให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้นในการฟังพระธรรม คือ คิดถึงความตาย ว่าจะต้อง ตายอย่างแน่นอน ควรที่จะได้เข้าใจธรรมก่อนตาย ซึ่งไม่รู้ว่าจะเป็นเมื่อใด

[16] ธรรม ชนะอธรรมตอนไหน? ก็ตอนที่กุศลธรรมเกิดขึ้น เช่น มีศรัทธาที่จะฟัง พระธรรม นั่นก็ชนะความไม่ดีที่เป็นอกุศลธรรมแล้ว

[17] การที่จะเข้าใจธรรมนั้น ต้องเป็นขณะที่ตื่น ไม่ใช่ขณะที่หลับ เพราะขณะหลับ โลก นี้ไม่ปรากฏ กุศล อกุศล ไม่เกิดในขณะหลับ

[18] ต้องมีความอดทนอย่างยิ่งในการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม แต่ละคำที่ได้ยินได้ ฟังนั้นจะเป็นปัจจัยให้เข้าใจถูกเห็นถูกยิ่งขึ้น

[19] ถ้าไม่มีความไม่รู้ ก็จะไม่ติดข้อง ถ้าไม่มีความไม่รู้ ก็จะไม่โกรธ แต่ที่ยังมีสิ่ง ที่ไม่ดีเกิดขึ้น ก็เพราะยังมีอวิชชาอยู่นั่นเอง

[20] ขณะที่อวิชชาเกิด เป็นกุศลไม่ได้

[21] ปัญญานำไปในกิจทั้งปวง แม้ในการฟัง การศึกษาพิจารณาไตร่ตรองพระธรรม ก็จะขาดปัญญาไม่ได้

[22] อวิชชา ไม่สามารถจะทำให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริง ในขณะนี้ได้เลย อวิชชา เกิดเมื่อไหร่ ก็ไม่รู้เมื่อนั้น

[23] อวิชชา เกิดขึ้นทำกิจมากมาย แม้ในวันนี้ ยกเว้นในขณะที่เป็นกุศล ในขณะ ที่เป็นวิบาก

[24] ในขณะที่เข้าใจ ในขณะที่เป็นกุศล นั้น อวิชชาไม่เกิด

[25] การฟังพระธรรม จะเผินไม่ได้ เพราะถ้าเผิน ก็ไม่สามารถที่จะละคลายการยึดถือ สภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้เลย

[26] สิ่งใด ควรฟัง อย่างยิ่ง ควรศึกษา อย่างยิ่ง และ ยากเป็นอย่างยิ่ง? คำตอบ คือ พระธรรม

[27] เป็นผู้ตรงว่า ไม่มีเรา แต่ มี ธรรม

[28] พอไม่โกรธแล้ว เป็นอะไร ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นโลภะ ความติดข้องต้องการ แต่ไม่ว่าจะเป็นอกุศลประเภทใด เกิดขึ้น ก็จะไม่ปราศจากอวิชชาเลย

[29] ประโยชน์ของการเกิดเป็นมนุษย์ ก็คือ ควรที่จะได้ขัดเกลา ละคลายกิเลส

[30] ถ้ามีปัญญาแล้ว จะไม่หวั่นเกรงต่อความตายเลย เพราะอย่างไรก็จะต้องตาย อย่างแน่นอน เพราะฉะนั้น ก่อนตายจึงสำคญมาก ทำดี หรือ ทำชั่ว

[31] ขอให้ฟังพระธรรมต่อไปเรื่อยๆ ไม่ใช่คิดเองไปเรื่อยๆ

(ขอเชิญผู้ศึกษาพระธรรมร่วมกันทุกท่าน ร่วมแบ่งปันข้อความธรรม ด้วยนะครับ)

ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ ๑๐๑ ได้ที่นี่ครับ

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๐๑


...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 4 ส.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตร่วมปันธรรม ด้วยครับ

[1] ต้องฟังให้รู้ตัว ที่จริงการฟังธัมมะ คงลืม เพื่อรู้สภาพธัมมะที่เคยยึดถือว่าเป็น เรา เวลาที่เราคิดถึงใครก็ตาม ส่วนใหญ่จะเห็นความไม่ดีของคนอื่น ลองคิดถึงใคร สักคน และก็ลองคิดดูว่า วันนี้เราคิดถึงเขา คิดถึงอะไรคิดถึงความดีหรือความไม่ดี ของเขา

[2] ถ้าจะพูดถึงการประเมินผลนะคะ ไม่ใช่เป็นการประเมินทางด้าน จำนวนผู้ฟัง หรือว่าจำนวนของกิจกรรมต่างๆ แต่อยู่ที่สภาพจิตของผู้ที่ได้ฟังว่า เมื่อมีความเข้าใจพระธรรมแล้วก็มีความจริงใจ เป็นสัจจะบารมี มีอธิษฐานบารมีคือ ไม่หวั่นไหวในการละคลายกิเลส มั่นคงขึ้นเรื่อยๆ

[3] ความเป็นจริงของสภาพธัมมะเป็นอย่างไร คือมีแต่สภาพธัมมะ และสภาพธัมมะ นั้นก็เกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว แม้ยังไม่ประจักษ์ แต่เป็นความจริงใช่ไหมคะ ใน เมื่อเป็นความจริง มีประโยชน์ไหมคะ ที่รู้ความจริงของสภาพธัมมะที่เกิดดับ และที่ สำคัญ ประโยชน์ที่นี่คือ เพื่อไม่เป็นเรา เพราะเป็นแต่เพียงสภาพธัมมะที่เกิดขึ้น และ ดับไป

[4] การกระทำของบุคคลอื่นไม่เป็นประมาณ ที่สำคัญต้องรักษาจิตของตนไม่ให้เป็น อกุศล เพราะฉะนั้นการศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญา จึงเป็นไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูลในชีวิตประจำวันค่อยๆ สั่งสมอบรมเจริญไปทีละเล็กทีละน้อย บ่อยๆ เนืองๆ เพราะปัญญาเท่านั้นที่จะสามารถดับกิเลสได้ และที่สำคัญพระธรรม ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ไม่มีคำสอนส่วนใดที่ส่งเสริมให้พุทธบริษัทเกิดอกุศลจิต เลย แม้แต่นิดเดียว

[5] ความจริง ความตายเร็วที่สุด ก่อนตายอาจจะนอน ป่วย ไข้ หรือ สนุกสนาน ร่าเริง แต่พอถึงเวลาตายก็ตายได้ แม้ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยก็ตายได้ ... เพราะฉะนั้นความตายตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ชั่วขณะจิต ดังนั้น ใครจะรู้ว่าเมื่อใด ถ้าคิดว่าก่อนตายจะทำอย่างไร จงทำเสียตั้งแต่เดี๋ยวนี้

[6] แต่ว่าไม่มีใครจะไปทำอะไรได้ เพราะปกติคนอยากจะมีกุศลทุกวัน แต่ตามเหตุพอมีเหตุของอกุศล อกุศลก็เกิด และไม่ต้องคร่ำครวญว่า อกุศลมากเหลือเกินเพราะ เหตุว่า ถ้ารู้เรื่องเหตุและผลแล้ว และรู้ว่ากุศลน้อยก็ต้องอบรมเจริญกุศลโดยไม่ประมาท

[7] บางคนฟังพระธรรมก็เห็นจริงว่าเกิดมาไม่นาน ก็ต้องจากโลกนี้ไปแต่ก็ยังผูกโกรธ คนนั้นคนนี้ แล้วพระธรรมจะมีประโยชน์อะไรเมื่อพบกันแล้วก็ควรเกื้อกูลกัน ดีกว่าพบกันแล้วก็โกรธกันแล้วก็ตายจากกันไปทั้งๆ ที่ยังโกรธกันอยู่

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
napachant
วันที่ 5 ส.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wittawat
วันที่ 5 ส.ค. 2556

กระผมขออนุโมทนาครับ อ. คำปั่น

และกระผมขอเพิ่มเติม ธรรมย่อจาก ชม. สนทนาพระสูตร ที่ อ. คำปั่นก็ ได้ยกมาแล้ว จากสชาติปัญญา (ปัญญาที่เกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต) ซึ่งเกิดได้เพราะกรรมที่ ประกอบด้วยปัญญาในอดีต เช่น การฟังธรรมเข้าใจ เป็นบุญแต่ปางก่อน ให้ปฏิสนธิจิต ไม่ได้มีเพียงเหตุ ๒ (อโลภเหตุ และอโทสเหตุ) ยังมีอโมหเหตุ คือ ปัญญาที่เกิดพร้อมกับ ปฏิสนธิจิตด้วย และ จากสชาติปัญญานั้น ก็เป็นปัจจัยให้เกิด วิปัสสนาปัญญา ได้ เพราะมีความเข้าใจ และการระลึกศึกษา ธรรมที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน จนกว่าจะถึง ปาริหาริยาปัญญา (ปัญญาที่เป็น เครื่องนำไปโดยรอบ) หรือปัญญาเป็นสิ่งที่นำไปในกิจทั้งปวง คือ ถ้าเป็นผู้ฟัง ธรรม ไตร่ตรองธรรม ชีวิตนั้นก็นำไปโดยธรรม ชีวิตของ ผู้มีปัญญา ก็ไม่นำไปสู่ทางทุจริตเลย ตามลำดับขั้นของปัญญานั้นๆ และถ้าเป็น ผู้สะสมปัญญาไว้มาก ปัญญานั้นก็นำไปสู่การรู้ความจริง ลาภ ยศ หรือสิ่งดีๆ ทั้งหมด ไม่ได้ได้มาด้วยอกุศล (ตามที่คนทั่วไปเข้าใจ) สิ่งดีๆ ทั้งหมด ได้มาด้วยกุศลเท่านั้น

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 5 ส.ค. 2556

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาทุกๆ ท่านครับ

ขอความกรุณาอธิบายถ้อยคำเพิ่มเติม ที่ได้มีการสนทนากันในชั่วโมงสนทนา ธรรมที่ผ่านมาครับว่า "อวิชชาทำให้ได้ในสิ่งที่ไม่ควรได้ วิชชาทำให้ได้ในสิ่งที่ควรได้"

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 5 ส.ค. 2556

เรียนความเห็นที่ 4 ครับ

อวิชชา คือ สภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นเจตสิก แต่ เป็นเจตสิกที่ไม่ดี ที่เป็นความไม่รู้ ซึง อวิชชา เป็นหัวหน้าของอกุศลธรรม คือ เพราะมี อวิชชา จึงทำให้ อกุศลประการ ต่างๆ เจริญขึ้น เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น อวิชชา ทำให้ได้ในสิ่งที่ไม่สมควร

โดยนัยแรกที่เป็นปรมัตถ์ คือ อวิชชา นำมาซึ่ง สภาพธรรมที่ไม่ดี คือ อกุศลธรรม ประการต่างๆ มี โลภะ โทสะ เป็นต้น อันเป็นสภาพธรรมที่ไม่ควรได้ เพราะ กิเลสนำ มาซึ่งทุกข์ และ โทษ ครับ อาศัย อวิชชา ย่อมทำให้คิดผิด วาจาก็ผิด การกระทำ ทางกายก็ผิด ระลึกผิด ตั้งมั่นผิด เพียรผิด เพราะอาศัยอวิชชา อันเป็นสิ่งที่ได้มาที่ ไม่สมควร ครับ

อีกนัยหนึ่ง อวิชชา ตามนัยปฎิจจสมุปบาท เป็นเบื้องต้น วงจรแรก ที่จะเป็นไปใน การเกิด ตาย ไม่มีที่สุด เพราะอาศัย อวิชชา จึงเกิดสังขาร มีการทำกรรมที่ดี ไม่ดี และ เป็นปัจจัยให้มีการเกิด เมื่อมีการเกิดแล้ว ก็ต้องทุกข์กาย ทุกข์ใจ และ นำมา ซึ่งความตายอีก ไม่มีที่สิ้นสุด ที่เป็น ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริทวะ ... มรณะ เป็นต้น

เพราะฉะนั้น อาศัยอวิชชา ทำให้ ได้ในสิ่งที่ไม่ควร คือ ได้การเกิด ที่นำมาซึ่งทุกข์ และ ได้ความทุกข์กาย และ ทุกข์ใจประการต่างๆ อันเป็นสิ่งที่ไม่ควร และได้ความตายในที่สุด ครับ

ส่วน วิชชา เป็นหัวหน้าของกุศลธรรม คือ วิชชา ที่เป็นปัญญา สัมามาทิฏฐิที่เป็น ชื่อต่างๆ ของปัญญา เมื่อมีปัญญา ย่อมได้มาซึ่งสิ่งอันควร คือ กุศลธรรมประการต่างๆ ก็เกิดขึ้น เจริญขึ้น เพราะมีความเห็นถูก ย่อมนำมาซึ่งการคิดถูก วาจาก็ถูกต้อง การกระทำทางกายก็ถูก เพียรถูก ระลึกถูก ตั้งมั่นถูกต้อง เพราะ อาศัยปัญญา ที่เป็น วิชชา นำหน้า จึงนำมาซึ่งสิ่งที่ควรประการต่างๆ และ เมื่อมีปัญญา วิชชา ย่อมนำมา ซึ่งกุศลธรรม มี เมตตา ขันติ หิริ โอตตัปปะ เป็นต้น ที่เป็นเจตสิกฝ่ายดีเจริญเพิ่มขึ้น ซึ่ง สภาพธรรมที่เป็นกุศลธรรม เป็นสิ่งที่สมควร เพราะ นำความสุข ไม่นำทุกข์มาให้ และ เป็นปัจจัยให้ละคลายกิเลส จึงกล่าวได้ว่า เพราะอาศัย วิชชา ปัญญา จึงนำมา ซึ่งสิ่งที่สมควร คือ กุศลธรรม และ โดยลึกลงไป นำมาซึ่ง สภาพธรรมที่ไม่เกิด ไม่ดับ คือ พระนิพพาน อันเป็นสิ่งที่สมควร เพราะประจักษ์พระนิพพาน ปัญญาระดับ สูง วิชชาระดับสูงย่อมนำมาซึ่ง การละกิเลสอันเป็นสิ่งที่ไม่ควร และ ถึงการไม่เกิด การไม่ตาย ปรินิพพาน ที่สิ่งที่สมควรสูงสุดในพระพุทธศาสนานี้ ครับ

[เล่มที่ 30] ชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ ครับ

อวิชชา และวิชชาเป็นหัวหน้าแห่งอกุศลและกุศล [อวิชชาสูตร]

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 5 ส.ค. 2556

ขอบพระคุณอาจารย์ผเดิมมากๆ ครับ

ชัดเจนมากทีเดียวครับ ในตอนแรกผมไปเข้าใจในอีกความหมายหนึ่ง กล่าวคือ การที่เรามีความหวังหรือต้องการสิ่งใด แล้วลงมือทำไปด้วยความหวังหรือต้องการอันประกอบด้วยความไม่รู้นั้น เมื่อเราได้สิ่งที่ต้องการมา เราก็คิดความได้มาจากความหวังความต้องการนั้นๆ ซึ่งจริงๆ แล้ว การได้สิ่งที่นั้น เนื่องจากกุศลกรรม ไม่ใช่ด้วยความต้องการอันเป็น โลภะเลย เป็นเพราะ อวิชชาจึงทำให้เข้าใจไปได้ว่า ทำให้ได้มา ในสิ่งที่ไม่ควร ได้นั้นเอง เข้าใจว่าผมจะแปลความผิดออกไปนะครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
khampan.a
วันที่ 5 ส.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็น "อวิชชา" ครับ

[เล่มที่ 68] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้าที่ ๒๔๗

กายทุจริตเป็นต้นชื่อว่า วินทิยะ ความว่า ไม่ควรได้ เพราะอรรถว่า ไม่ควรบำเพ็ญ ธรรมชาติใด ย่อมได้ซึ่งอวินทิยะนั้น ฉะนั้น ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า อวิชชา กายสุจริต เป็นต้น ชื่อว่า วินทิยะ (ควรได้) เพราะตรงกันข้ามกับวินทิยะนั้น ธรรมชาติใด ย่อมไม่ได้ ซึ่งวินทิยะนั้น ฉะนั้น ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า อวิชชา


เพราะมีความไม่รู้เป็นเหตุ จึงทำให้มีการกระทำอกุศลกรรมประการต่างๆ มากมาย มีกายทุจริตเป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรบำเพ็ญ ไม่สะสมเป็นอย่างยิ่ง ไม่ควรได้เป็น อย่างยิ่ง เพราะเป็นการสะสมเหตุที่ไม่ดี ให้กับตนเอง และ เมื่อผลที่ไม่ดีเกิดขึ้นก็เกิด ขึ้นกับตนเองเท่านั้น เพราะอวิชชา จึงกระทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ เมื่อกระทำในสิ่งที่ไม่ ควรทำ ก็เป็นการตัดโอกาสแห่งการเกิดขึ้นของกุศลธรรมประการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน จึงสรุปได้ว่า อวิชชาทำให้ได้ในสิ่งที่ไม่ควรได้ และ ทำให้ไม่ได้ในสิ่งที่ควรได้

แต่ถ้าเป็นปัญญาแล้ว ตรงกันข้ามกับอวิชชาอย่างสิ้นเชิง เป็นเหตุให้ความดีประการ ต่างๆ เจริญยิ่งขึ้น ทำให้ได้ในสิ่งที่ควรได้ เพราะกุศลธรรมเจริญ จนกระทั่งสามารถดับ กิเลสได้ตามลำดับขั้น ปัญญาหรือวิชชา จึงเป็นธรรมที่นำไปสู่ความดีทั้งปวงอย่าง แท้จริง ทำให้เว้นจากสิ่งที่ไม่ดี ครับ ดังข้อความที่ควรเก็บไว้ในหทัย ที่ได้ฟังจาก ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ว่า "มีหรือ ที่ปัญญาจะเลือกทำชั่ว" ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 5 ส.ค. 2556

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์คำปั่นมากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Noparat
วันที่ 5 ส.ค. 2556

สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก จึงจะเป็นผู้ไม่ประมาท ประโยชน์ของการเกิดเป็นมนุษย์ ก็คือ ควรที่จะได้ขัดเกลา ละคลายกิเลส "มีหรือ ที่ปัญญาจะเลือกทำชั่ว"

...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน.ค่...

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
wannee.s
วันที่ 5 ส.ค. 2556

- ความจริง ความตายเร็วที่สุด ก่อนตายอาจจะนอน ป่วย ไข้ หรือ สนุกสนาน ร่าเริง แต่พอถึงเวลาตายก็ตายได้ แม้ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยก็ตายได้ ... เพราะฉะนั้นความตายตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ชั่วขณะจิต ดังนั้น ใครจะรู้ว่าเมื่อใด ถ้าคิดว่าก่อนตายจะทำอย่างไร จงทำเสียตั้งแต่เดี๋ยวนี้

ขออนุโมทนา ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
jaturong
วันที่ 5 ส.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
kinder
วันที่ 5 ส.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
หลานตาจอน
วันที่ 6 ส.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 6 ส.ค. 2556

ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
natural
วันที่ 7 ส.ค. 2556

ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
orawan.c
วันที่ 31 ส.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
chatchai.k
วันที่ 29 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
มังกรทอง
วันที่ 16 ธ.ค. 2564

ธรรม ชนะอธรรมตอนไหน? ก็ตอนที่กุศลธรรมเกิดขึ้น เช่น มีศรัทธาที่จะฟัง พระธรรม นั่นก็ชนะความไม่ดีที่เป็นอกุศลธรรมแล้ว น้อมกราบอนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุ ขอรับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ