ภาษาที่ใช้อธิบายพระไตรปิฎก

 
เสือ
วันที่  10 พ.ค. 2556
หมายเลข  22882
อ่าน  972

บ้างก็ใช้แบบ ระดับสมมติบัญญัติ คนฟังก็ไปตีความแบบนึง

บ้างก็ใช้แบบ ระดับปรมัตถ์ คนฟังก็ไปตีความแบบนึง

ทีนี้ ถ้าเราอธิบายเรื่อง เดียวกัน แต่ใช้ระดับต่างกัน ความหมายก็จะต่างกัน

แล้วเราจะเข้าใจแยกแยะยังไง


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 11 พ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ตลอด ๔๕ พรรษานั้น มี ๓ ปิฏก ที่เรียกว่า พระไตรปิฎก คือ

พระวินัยปิฏก

พระสุตตันตปิฏก

พระอภิธรรมปิฏก

-พระวินัยปิฏก ส่วนใหญ่เกี่ยวกับข้อประพฤติปฏิบัติ ที่เหมาะควรแก่เพศบรรพชิต เพราะอัธยาศัยของคนในโลกนี้ต่างกัน พุทธบริษัทจึงมี ๒ พวก คือบรรพชิต และ คฤหัสถ์

บรรพชิตเป็นผู้ที่สะสมอุปนิสัยที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมตามแบบอย่างของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ อบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมโดยละอาคาร

บ้านเรือน แต่ผู้ที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาที่สะสมอุปนิสัยเป็นผู้ครองเรือน ก็อบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมในเพศคฤหัสถ์ เช่น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี และนางวิสาขามิคารมารดา เป็นต้น แสดงให้เห็นว่าแต่ละคนต่างอัธยาศัยจริงๆ ตามการสะสม

-พระสุตตันตปิฏก เป็นพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงที่ พระวิหารเชตวัน พระวิหารเวฬุวัน พระวิหารนิโครธาราม เป็นต้น และเมื่อเสด็จไปสู่ที่ต่างๆ สนทนาธรรมกับบุคคลต่างๆ ตามอุปนิสัยของผู้ฟัง

-พระอภิธรรมปิฏก เป็นส่วนที่กล่าวถึงธรรมที่ละเอียดลึกซึ้ง โดยสภาวะ ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แสดงให้เข้าใจถึงธรรมคือทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงๆ และการที่จะเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ได้ถูกต้องนั้นมีหนทางเดียว คือ ศึกษาพระอภิธรรม เพราะทุกขณะของชีวิตไม่พ้นไปจากอภิธรรม เลย ไม่พ้นไปจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งเป็นธรรมที่มีจริงทั้งหมด

ทั้งหมดนั้น ล้วนเป็นพระธรรมคำสอนที่พระองค์ทรงแสดง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด ตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด ควรอย่างยิ่งที่จะได้ฟัง ได้ศึกษาด้วยความละเอียด รอบคอบ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ

ประโยชน์จริงๆ ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม คือ เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก ตามความเป็นจริงของธรรม พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษานั้น ไม่ผิดเลย เป็นจริงโดยตลอด แสดงถึงสิ่งที่มีจริง เพื่อให้เข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง สำหรับผู้ที่ฟังแล้ว ก็ต้องมีปัญญาเป็นของตนเอง ถึงจะรู้ว่าผู้กล่าวธรรม กล่าวตรงตามความเป็นจริงหรือไม่ หรือ เพียงอ่านพระไตรปิฎกแล้วอธิบายธรรมเอาเอง คิดเอง โดยไม่ได้สอบทานให้ถูกต้องว่าสอดคล้องตรงตามที่พระองค์ทรงแสดงไว้หรือไม่ เช่น ในเรื่องของปฏิบัติ ถ้ามีการสอนให้ไปทำอะไรอย่างหนึ่งอย่างใด ด้วยความไม่รู้ ด้วยความเป็นตัวตน จดจ้องต้องการ มุ่งหวังให้สติเกิด ปัญญาเกิด เป็นต้น นั้น นั่นไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเหตุว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น จึงไม่มีใครไปบังคับบัญชาให้สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดเกิดขึ้นเป็นไปได้เลย ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า การแยกแยะ ว่า สิ่งใดถูก ตรงตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และ สิ่งใดผิดคลาด

เคลื่อนจากความเป็นจริง ก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นเอง มีปัญญา เข้าใจถูกเห็นถูกยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นแล้ว สิ่งสำคัญ คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูก ซึ่งจะขาดการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ได้ พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง เกิดจากพระปัญญาตรัสรู้ของพระองค์ ทรงแสดงความจริง โดยตลอด จริงทุกคำ ทุกพยัญชนะ ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ได้ัฟังได้ศึกษา

ด้วยความละเอียดรอบคอบจริงๆ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 11 พ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จากคำถามที่ว่า

บ้างก็ใช้แบบ ระดับสมมติบัญญัติ คนฟังก็ไปตีความแบบนึง บ้างก็ใช้แบบ ระดับปรมัตถ คนฟังก็ไปตีความแบบนึง ทีนี้ ถ้าเราอธิบายเรื่อง เดียวกัน แต่ใช้ระดับต่างกัน ความหมายก็จะต่างกัน แล้วเราจะเข้าใจแยกแยะยังไง


พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง แสดงหลากหลายนัย โดยทั้งเป็นสมมติเทศนา คือ ที่เป็นสัตว์ บุคคล เรื่องราวต่างๆ และ โดยนัย ปรมัตถเทศนา คือ โดยแสดง โดยตามสภาพธรรมที่เป็นตัวจริง ไม่มีสัตว์ บุคคล เรื่องราว มีแต่สภาพธรรมเท่านั้น ซึ่งเหตุผลที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลากหลายนัยและ หลากหลายเทศนา ทั้งสมมติ และปรมัตถ ด้วยตามอัธยาศัยของสัตว์โลกที่แตกต่างกัน สะสมมาไม่เหมือนกัน หากสัตว์โลกเข้าใจพระธรรมโดยนัยสมมติ เช่น ในพระสูตร ที่เป็นเรื่องราว พระองค์ ก็ทรงแสดงพระสูตร ที่เป็นโดยนัยสมมติ ให้ผู้นั้นฟัง และหากผู้ใดฟังโดยนัยปรมัตถ ที่เป็นพระอภิธรรม ที่เป็นแต่ตัวสภาพธรรมเข้าใจ พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดง โดยนัย อภิธรรม ปรมัตถให้ผู้นั้นฟัง และ เกิดปัญญา เพราะฉะนั้น จึงแล้วแต่ว่า สัตว์โลกนั้น ศึกษา เข้าใจโดยนัย เทศนาแบบใด ก็ทรงแสดงโดยนัยนั้น ครับ

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ 159

อรรถกถาเวปุลลปัพพตสูตร

ในเทศนา ๒ อย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงสมมติเทศนา แก่บุคคลผู้ฟังเทศนาโดยสมมติ แล้วสามารถบรรลุคุณวิเศษได้. ทรงแสดง ปรมัตถเทศนาแก่บุคคลผู้ฟังเทศนา โดยปรมัตถแล้วสามารถบรรลุคุณวิเศษได้.

พึงทราบอุปมาในข้อนั้นดังต่อไปนี้ เหมือนอย่างว่า อาจารย์ผู้ฉลาดในภาษา ท้องถิ่น พรรณนาความแห่งพระเวท ๓ บอกด้วยภาษาทมิฬแก่ผู้ที่เมื่อเขาสอน ด้วยภาษาทมิฬก็รู้ความ บอกด้วยภาษาแก่ผู้ที่รู้ด้วยภาษาใบ้เป็นต้นอย่างใด อย่างหนึ่ง ฉันใด มาณพทั้งหลายเหล่านั้น อาศัยอาจารย์ผู้ฉลาด เฉียบ แหลมย่อมเรียนศิลปะได้รวดเร็วฉันนั้น. ในข้อนั้นพึงทราบว่า พระพุทธเจ้าผู้มี พระภาคดุจอาจารย์ พระไตรปิฎกอันตั้งอยู่ในภาวะที่ควรบอก ดุจไตรเพท ความเป็นผู้ฉลาดในสมมติและปรมัตถ์ ดุจความเป็นผู้ฉลาดในภาษาท้องถิ่น เวไนยสัตว์ผู้สามารถแทงตลอดด้วยสมมติและปรมัตถ์ ดุจมาณพผู้รู้ภาษา ต้องถิ่นต่างๆ การแสดงด้วยสมมติและปรมัตถ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ดุจการ บอกด้วยภาษาทมิฬเป็นต้นของอาจารย์.


ส่วน การที่แต่ละคน เมื่ออ่านพระธรรม แล้วเข้าใจต่างกัน ไม่ได้อยู่ที่พระธรรม ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เพราะ พระธรรมของพระพุทธเจ้าไม่มีโทษเลย แม้เพียง คำเดียว แต่ โทษ อยู่ที่กิเลสของผู้นั้นเอง ที่อ่านแล้ว เข้าใจผิดในพระธรรม ก็ได้ อีกคนก็เข้าใจถูก ส่วนอีกคนก็เข้าใจผิด ไม่ต้องกล่าวถึง โดยนัยที่เป็นปรมัตถ ที่ ผู้อ่านจะเข้าใจผิดไปในบางบุคคล แม้แต่พระธรรมที่เป็นโดยนัย พระสูตร ที่เป็น เรื่องราว สัตว์ บุคคล แม้พระธรรมนั้นก็ลึกซึ้ง สมดังที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า พระสูตร ลึกซึ้ง โดย อรรถะ อภิธรรม ลึกซึ้งโดยสภาวะ เพราะฉะนั้น พระสูตร จึง ลึกซึ้งโดยอรรถ แม้อ่านเหมือนกัน ก็เข้าใจยาก และ เข้าใจผิดได้ ไม่ใช่ง่ายเลย เพราะฉะนั้น ความเข้าใจผิด จึงไม่ได้อยู่ที่พระธรรมเทศนา ทั้งโดยนัยปรมัตถ และ สมมติ พระธรรมทุกคำ ล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์ และ ทรงแสดงไว้ดีแล้ว ทุกคำ สำคัญที่ผู้ฟัง ผู้ใดสะสมปัญญามา ก็เข้าใจคำนั้นได้ แต่ ผู้ใดไม่สะสมปัญญา แต่ สะสมความเห็นผิดมา แม้จะอ่านพระธรรม คำเดียวกัน จะเป็นโดยนัยสมมติ หรือ ปรมัตถ ก็เข้าใจผิดได้เป็นธรรมดา ครับ

ให้เข้าใจถูกว่า พระธรรมละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง ในแต่ละคำ เผินไม่ได้ และ จะ ให้เข้าใจถูกอย่างเดียวโดยตลอด ก็เท่ากับประมาทพระปัญญาคุณ ดังนั้น เข้าใจ ได้แค่ไหนก็แค่นั้น บางเรื่องก็เหลือวิสัยของปุถุชนผู้มีปัญญาน้อย ก็ย่อมเข้าใจผิด ในพระธรรมได้เป็นธรรมดา ผู้ที่เข้าใจถูกโดยตลอดทั้งหมด ไม่ผิดเลย ก็จะต้องมี ปัญญาเท่าพระพุทธเจ้าแน่นอน แต่อย่างไรก็ดี พระธรรมก็ไม่เหลือวิสัย เพราะ มี ผู้ที่สะสมปัญญาเข้าใจพระธรรมมาแล้ว มี พระอริยสาวกในอดีต เป็นต้น เพียงแต่ เริ่มจากความเข้าใจถูกทีละน้อย ค่อยๆ สะสมไป ก็ย่อมถึงปัญญาที่มีกำลัง ดับกิเลส ได้ เพียงแต่ ต้องอาศัยการศึกษาพระธรรมอย่างยาวนาน และ ด้วยความอดทน นับ ชาติไม่ถ้วน พร้อมๆ กับการเจริญกุศลทุกๆ ประการ ที่อบรมบารมีจนถึงฝั่ง คือ การ ดับกิเลสได้ในที่สุด ครับ พระธรรมไม่เหลือวิสัย แต่ต้องอาศัยเวลา และความอดทน

เชิญอ่านข้อความที่ท่านอาจารย์สุจินต์บรรยายไว้น่าฟัง ครับ ในเรื่องความละเอียดลึกซึ้งของพระธรรม อ.สุจินต์

ส่วนความลึกซึ้งของพระสูตรจะเห็นได้ว่า ถ้าอ่านโดยที่ไม่มีพื้นความรู้ความ เข้าใจที่ถูกต้องเลย เพราะว่าพยัญชนะในพระสูตรแต่ละสูตรก็แสดงถึงว่าผู้ที่อ่านแล้ว เข้าใจแล้วก็คือผู้ที่มีความรู้ในเรื่องนั้น ไม่ใช่ว่าคนที่ไม่มีความรู้เลยก็จะไปถือข้อความ ในพระสูตรตามใจชอบ นั่นก็แสดงให้เห็นว่าอรรถในพระสูตรลึกซึ้งมาก และสำหรับ พระอภิธรรมคือ ธรรมที่ละเอียดยิ่งที่จะทำให้ผู้ฟังมีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูก ลึกซึ้งโดยสภาวะ เพราะแม้เราจะกล่าวรูปธรรม นามธรรม ไม่ใช่ตัวตน เราพูดตามได้ ไม่ใช่ตัวตน แต่ว่าตัวตนคืออะไร ก็จะต้องมีการเข้าถึงโดยการแทงตลอด ในการเรียน ด้วย และก็แทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรมต่อไป ถ้าไม่มีการแทงตลอดในการ เรียนก็ผิดเลย ไม่สามารถที่จะมีความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมได้ ก็เป็นเรื่อง ที่ละเอียดลึกซึ้ง ถ้าศึกษาแล้วจะเข้าใจว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ที่เลิศ กว่าบุคคลใดๆ ทั้งในโลกมนุษย์และในทุกโลก เพราะเหตุด้วยทรงมีพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ แม้ได้ทรงตรัสรู้แล้ว ความละเอียดของธรรม ไม่น้อมพระทัยที่จะทรงแสดงเพราะว่าเป็นเรื่องละ อย่างละเอียดมาก ต้องมีการ รอบคอบและระมัดระวังจริงๆ ว่าขณะที่เราศึกษาธรรมเพื่อละหรือเปล่า หรือว่าเพื่อ อะไร ถ้าตั้งตนไว้ผิดหรือว่าความเพียรผิด ไม่ใช่ความเพียรที่ถูกต้อง ก็ไม่สามารถที่ จะได้ประโยชน์จากการศึกษาธรรมด้วย

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เสือ
วันที่ 12 พ.ค. 2556

เป็นหัวข้อที่ควรศึกษาอย่างละเอียด

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
boonpoj
วันที่ 12 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
nopwong
วันที่ 13 พ.ค. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 13 พ.ค. 2556

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
nong
วันที่ 16 พ.ค. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ