แบ่งปันสิ่งที่บันทึกจากชั่วโมงปฏิบัติธรรม ๕ พ.ค. ๒๕๕๖

 
wittawat
วันที่  7 พ.ค. 2556
หมายเลข  22868
อ่าน  1,432

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น

วันอาทิตย์ที่ 5..2556 กระผมจดบันทึกข้อความจากชั่วโมงปฏิบัติธรรม และก็ขอโอกาสในการแบ่งปันเป็นเนื้อความสรุปสั้นๆ ตามกำลังความเข้าใจครับ

-ภิกษุผู้ปฏิบัติธรรม ๓ ประการ ชื่อว่าปฏิบัติไม่ผิด

๑. เป็นผู้มีทวารคุ้มครอง ในอินทรีย์ทั้งหลาย

๒. เป็นผู้รู้ประมาณการในโภชนะ

๓. เป็นผู้ไม่เห็นแก่นอน

ผู้ที่เห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ไม่ถือเอาในนิมิต อนุพยัญชนะทั้งหลายที่เป็นอกุศล จะไม่ไหลไปในอินทรีย์ ผู้ที่สำรวมอินทรีย์แล้ว อภิชฌา และโทมนัส จะไม่เกิดขึ้น

<เนื้อความโดยสรุปย่อส่วนหนึ่งจากอปัณณกสูตร ว่าด้วยข้อปฏิบัติที่ไม่ผิด>

-สำรวม คือ อะไร

ขณะนี้มีความจริงปรากฏ และมีการเข้าใจมากขึ้นว่าขณะนี้ คือ ธรรม คือ สำรวม ปัญญาเป็นสภาพธรรมที่ไม่ติดในอนุพยัญชนะ ถ้าเป็นนิมิต ก็คือ “เห็นคนๆ นั้น ก็เป็นคนๆ นั้นทันทีที่เห็น” ที่จะไม่ติดในนิมิตได้ ก็เมื่อรู้ความจริง ว่าเป็นอนัตตา ทุกขณะทางตา คือธรรม “เพราะรู้ จึงไม่ติดจึงเป็นความสำรวมทางตา รู้แล้วติด ก็ไม่สำรวม”

-ขณะนี้มีตัวธรรมที่ปรากฏแต่ละหนึ่ง แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม ไม่รู้แม้สักอย่าง (เช่นทรงแสดงว่ามีปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นดับไป และก็มีจักขุวิญญาณจิตเกิด แต่ก็ไม่รู้ความจริงละเอียดทีละหนึ่งตามที่ทรงแสดง) ได้แต่ฟังเข้าใจ เพราะฉะนั้นก็ต้องฟังเข้าใจขึ้นว่า ไม่ใช่เรา (สะสมความเข้าใจว่าเป็นอนัตตา จนกว่าปัญญาจะละเอียดขึ้นรู้ความจริงทีละหนึ่งที่ปรากฏ)

-แม้ฟังธรรมแล้วเข้าใจ ก็เพราะธรรมฝ่ายดีที่สะสมมาที่จะเข้าใจว่าเป็นสิ่งนี้ตามที่ได้ฟัง

-ภาวนา คือ ค่อยๆ อบรมขึ้น ไม่ใช่เรา (ทำ) จนกว่าจะเข้าใจขึ้นจึง เป็น สัจจญาณ คือ ฟังเรื่องของสิ่งที่มีจริง ไม่ใช่คิดเรื่องอื่น แต่ฟังความจริง และพิจารณาว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ถ้ามีความเข้าใจลึกซึ้ง ตรงตามความจริง ขณะนั้นก็ไม่ติดข้องในนิมิต อนุพยัญชนะ แต่ถ้าสิ่งที่ปรากฏทางตาเกิดและไม่เข้าใจ ก็ยังมีความติดข้อง

-อะไร คือ อินทรีย์?

มหาภูตรูป เป็น อินทรีย์ หรือไม่? (ไม่เป็น) รูปใดที่เป็นอินทรีย์ได้? “ถ้าไม่มีจักขุปสาทรูป (รูปพิเศษที่อยู่กลางตา) สีนี้ปรากฏกับจิต (เห็น) ไม่ได้”

-จักขุปสาทรูปสำรวมได้หรือไม่?

ไม่ได้ เพราะจักขุปสาทไม่ได้ปรากฏ (เป็นเพียงธาตุที่ทำกิจกระทบกับวัณณรูป) แต่ขณะนี้ มีเห็น เห็นเป็นอินทรีย์ คือ ธาตุที่เป็นใหญ่ที่รู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ คือ จิตเป็น มนินทรีย์ จิตสำรวมอย่างไร? (แม้ธาตุเห็น คือมนินทรีย์เองก็สำรวมไม่ได้) สภาพที่สำรวมได้จึงต้องเป็นอินทรีย์อื่นที่รู้ธรรมอื่น ซึ่งก็คือ ปัญญินทรีย์ และ สตินทรีย์ มีปัญญาอย่างเดียวไม่ได้ เพราะปัญญาต้องอาศัยสติด้วย เช่น ขณะเมื่อฟังเข้าใจธรรม ก็มีปัญญาที่เข้าใจ และสติเกิดขึ้นระลึกรู้ธรรมที่สติระลึกรู้ได้ (สำรวม สังวร ด้วย สติปัญญาที่ปิดกั้นจากอกุศลคือความไม่รู้ความจริง)

-โพธิปักขิยธรรม

ธรรมมีหลากหลาย อะไรเป็นฝักฝ่ายให้สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ จักขุวิญญาณ (อเหตุกจิต) อกุศลจิตไม่เป็นโพธิปักขิยธรรม ทาน ถ้าไม่ประกอบด้วยปัญญาก็ไม่เป็นโพธิปักขิยธรรม สติที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาก็ไม่เป็น “ต้องเป็นสติที่ประกอบด้วยปัญญาที่เป็นไปเพื่อรู้แจ้งความจริงของสิ่งที่ปรากฏ จึงเป็นโพธิปักขิยธรรม”

-พระพุทธศาสนา อัศจรรย์ ด้วยอนุสาสนียปาฏิหารย์ เพราะสามารถรู้ได้ด้วยการฟัง มีความเข้าใจว่าสิ่งใดควรไม่ควร ธรรมทั้งหมดจึงสอดคล้องกัน ไม่เปลี่ยนแปลงตั้งแต่ต้น จนถึงที่สุด

[๒๕๙] ส. ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ก็ภิกษุปฏิบัติอย่างไร ชื่อว่า เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสํารวมในอินทรีย์.

พ. อาตมภาพย่อมกล่าว รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อันจะพึงรู้ด้วยจักขุ โสต ฆาน ชิวหา กาย มนะ ส่วนละ ๒ คือที่ควรเสพ ก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี.

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วอย่างนี้ ท้าวสักกะผู้จอมเทพ ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมทราบซึ้ง ถึงเนื้อความแห่ง ภาษิตที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วโดยย่อนี้ได้โดยพิสดาร เมื่อบุคคลเสพ รูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ธรรมารมณ์ อันจะพึงรู้ด้วยจักขุ โสต ฆาน ชิวหา กาย มนะ อย่างใดอยู่ อกุศลธรรมย่อมเจริญมาก กุศลธรรมย่อม เสื่อมไป ดังนี้ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เห็นปานนั้น ไม่ควรเสพ. เมื่อบุคคลเสพ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อันจะพึงรู้ด้วยจักขุ โสต ฆาน ชิวหา กาย มนะ อย่างใดอยู่ อกุศลธรรม ย่อมเสื่อมไป กุศลย่อมเจริญมาก ดังนี้แล รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เห็นปานนั้น ควรเสพ

<พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 136>

-ได้ฟังพระสูตรแล้ว ก็กำลังมีเห็นในขณะนี้ ถ้าบอกว่า ไม่ควรเสพก็คือ ตัวตน เพราะไม่มีใครเลี่ยงการเห็นได้ แต่เป็นอกุศล เพราะไม่เข้าใจความจริง อะไรทำให้สิ่งที่ปรากฏควรเสพ? (ปัญญา) “เพราะการอบรมเจริญปัญญา คือ การเสพสิ่งที่ปรากฏโดยควรเสพ” เป็นการเข้าใจความจริงโดยปัญญา ซึ่งหนทางเดียวคือ สะสมความเห็นถูก สิ่งที่ปรากฏก็ปรากฏเหมือนเดิม แต่ควรเข้าใจถูกต้องเพิ่มขึ้นในสิ่งที่ปรากฏ

-รู้แล้วเข้าใจความจริง อารมณ์นั้นก็เป็นอารมณ์ที่ควรเสพ

-“ธรรมทั้งหมดเป็นอนัตตา” แม้ได้ฟังบ่อยๆ ก็เป็นอกุศล แสดงว่าปัญญายังไม่พอ ก็ต้องฟังอีก เข้าใจอีก จนเข้าใจตรงตามความเป็นจริง

-อินทริยสังวรมีเมื่อใด? (สังวร หมายถึง การปิดกั้นไว้ดีพร้อมอินทริยสังวร คือ การปิดกั้นอกุศลที่เกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) เมื่อสภาพธรรมปรากฏ อกุศลจิตเกิด ไม่ว่าวาระใด ก็ไม่สังวรแต่ถ้าเห็นแล้วเกิดกุศล ก็คือ สังวร ซึ่งแล้วแต่ประเภทของกุศลว่าเป็นสังวรในระดับใดด้วย

-“ก็ผู้ใดเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ ด้วยสามารถแห่งการรู้ประมาณในการรับ ที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า แม้หากว่าไทยธรรมมีมาก ผู้ให้ประสงค์จะให้น้อย ผู้รับย่อมรับน้อยตามความประสงค์ของผู้ให้ ไทยธรรมมีน้อยผู้ให้ประสงค์จะ ให้มากผู้รับย่อมรับแต่น้อย ด้วยอํานาจของไทยธรรม ไทยธรรมมีมาก แม้ผู้ให้ก็ประสงค์จะให้มาก ผู้รับรู้กําลังของตน ย่อมรับแต่พอประมาณเท่านั้น และการรู้ประมาณในการบริโภคอันได้แก่การพิจารณา ที่ท่านกล่าวโดย นัยมีอาทิว่า พิจารณาอาหารในอาหารโดยแยบคาย ไม่บริโภคเพื่อเล่นเพื่อ มัวเมา ดังนี้ และโดยนัยมีอาทิว่า ก็ครั้นได้แล้ว ไม่ปรารถนา ไม่อยาก ไม่ต้องการบิณฑบาต เป็นผู้เห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครื่องออกไป บริโภคแล้วรู้ ด้วยปัญญาเครื่องพิจารณา แล้วจึงบริโภคอาหารดังนี้ นี้ชื่อว่าเป็นผู้รู้ประมาณ ในโภชนะ”

<ข้อความย่อ ส่วนหนึ่งจาก ขุทกนิกาย อิติวุตตก>

-ชีวิต เกิดขึ้น เพื่ออะไร? เพื่อติดข้องเรื่อยๆ หรือ เพื่อละความติดข้อง เป็นผู้สะสมการเสียสละ หรือ ความเห็นแก่ตัว เป็นผู้เห็นโทษของการเกิดมาติดข้อง เช่นอาหารมีอยู่ทุกวัน แต่ก็ติดทั้งหมด ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

-เลือกไม่ได้ที่จะละคลายความติดข้องทางใด อาจมีบางวาระที่ไม่ได้รู้ลักษณะของธรรม ก็สามารถละความติดข้องได้ เช่น บางคนติดในน้ำหอมดี ราคาแพงสละไม่ได้ ถ้าสละได้ ก็ต้องเป็นปัญญาเท่านั้น ที่รู้ว่าสิ่งใดควร ไม่ควร เมื่อใดเกิดละ ตอนนั้นก็มีปัจจัย “จากบุคคลหนึ่ง เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่สามารถสละสิ่งที่มีได้”

-คนที่สละได้ กับไม่สละใครดีกว่ากัน?

-ผู้มีสติสัมปชัญญะ มีปัญญารู้ว่าสิ่งใดควร ไม่ควร แม้เป็นอกุศลธรรม ปัญญาก็สามารถสละความติดข้อง โดยความเป็นเราได้

-บางคนรับประทานอาหารเฉพาะเวลาหิว บางคนไม่หิวก็รับประทาน ขณะนั้นก็สะสมความติดข้อง แต่บุคคลที่เห็นโทษ เพียงพอ ทานเฉพาะเวลาที่หิว เวลาที่ต้องรับประทานเท่านั้น ก็เปลี่ยนจากอกุศลมากๆ ซึ่งไม่มีใครทำ แต่เป็นปัญญาที่ค่อยๆ ละคลายอกุศลตามสิ่งที่ถูกที่ควร

-แต่ละคนทราบว่าสละอะไรได้บ้าง สละอะไรไม่ได้ เพราะความติดที่มีกำลัง ซึ่งห้ามโลภะไม่ได้ แต่ปัญญาสามารถเข้าใจ ความจริงในขณะนั้นได้ซึ่งก็ต้องเป็น จิรกาลภาวนา คือ ค่อยๆ เข้าใจความจริง

-เป็นตัวตนที่เสียสละหรือไม่?

ขณะที่ไม่สละ ก็คือ มีความติดข้อง เช่น สิ่งที่ดีเอาไป สิ่งที่ไม่ดีวางไว้ให้คนอื่น ด้วยความเห็นแก่ตัวติดข้อง

-แต่ขณะที่รู้ว่าเป็นธรรม ทุกคนเหมือนกัน (คือ รักสุข ไม่ต้องการทุกข์) สะสมกุศล อกุศล สะสมอัธยาศัยของการสละ จนกระทั่งสละเป็นธรรมดา เช่น สละความสุขของการไปเที่ยว เพราะเห็นประโยชน์ของการฟังธรรม “และถ้าชีวิตประจำวันไม่มีการเสียสละเลย ก็สละความยึดถือความเป็นตัวตนไม่ได้”

-ค่อยๆ สะสมการเป็นผู้เริ่มสละความติดข้องในชีวิตประจำวันจนเป็นบารมี ผ่องใส เป็นสัทธาที่ผ่องใสจากอกุศล จึงน้อมไปในกุศลประเภทต่างๆ ได้ เช่น การบริโภคพอประมาณ เป็นต้น

-ชาติหนึ่งของท่านพระมหากัสสปะเถระ (พระเถระผู้ทรงคุณเป็นลำดับ ๓ เป็นเอตทักคะในทางธุดงค์) เมื่ออบรมเจริญบารมี สมัยเป็น สาวกโพธิสัตว์ คือ เอกสาฎกพราหมณ์ผู้สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นผู้แม้มีผ้าผืนเดียวแต่ก็สามารถสละได้ เห็นถึงการสะสม และอัธยาศัยของผู้สามารถที่จะสละได้แม้อาคารบ้านเรือน ออกบวชเป็นบรรพชิต (สามารถสละใหญ่ถึงเพียงนั้น) กับคฤหัสถ์ก็สละไม่ได้

-พระธรรม ไม่สามารถฝืนใครทำอะไรได้ แต่เพื่อรู้ความจริง

-เติมกุศลทุกขณะเพื่อชำระล้างอกุศล เพราะถ้าไม่คอยเติมอกุศลก็เพิ่มพูนเรื่อยๆ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 7 พ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

"เติมกุศลทุกขณะเพื่อชำระล้างอกุศล เพราะถ้าไม่คอยเติมอกุศลก็เพิ่มพูนเรื่อยๆ "

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณ wittawat ด้วยครับ เป็นประโยชน์มากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
A1ONE
วันที่ 7 พ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณ wittawat ด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
mon-pat
วันที่ 7 พ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ถ้าชีวิตประจำวัน ไม่มีการเสียสละเลย ก็สละความยึดถือความเป็นตัวตนไม่ได้

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณ wittawat ด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 7 พ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณ wittawat ด้วยครับ

เป็นประโยชน์มากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
nong
วันที่ 8 พ.ค. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Jans
วันที่ 8 พ.ค. 2556

“ธรรมทั้งหมดเป็นอนัตตา” แม้ได้ฟังบ่อยๆ ก็เป็นอกุศล แสดงว่าปัญญายังไม่พอ ก็ต้องฟังอีก เข้าใจอีก จนเข้าใจตรงตามความเป็นจริง

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
อิสริยา
วันที่ 9 พ.ค. 2556

ดิฉันมีโอกาสที่ได้ไปฟังธรรมที่มูลนิธิแค่ครั้งเดี่ยวเมื่อเร็วๆ นี้ ทำให้นึกเสียดายว่าเรา ไม่มีโอกาสดีดีแบบนี้บ่อยนัก ในพระสูตรต่างๆ แต่คำมีความหมายมาก ซึ่งถ้าอ่านเองคงไม่เข้าใจได้ลึกซึ้งเหมือนที่ไปฟังที่มูลนิธิ มีความเห็นว่าบทความที่มาแชร์นี้มีประโยชน์มากเลยค่ะ ติดตามต่อไป

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
rrebs10576
วันที่ 12 พ.ค. 2556

ได้ฟังพระสูตรแล้ว ก็กำลังมีเห็นในขณะนี้ ถ้าบอกว่า ไม่ควรเสพ ก็คือ ตัวตน เพราะไม่มีใครเลี่ยงการเห็นได้ แต่เป็นอกุศล เพราะไม่เข้าใจความจริง อะไรทำให้สิ่งที่ปรากฏควรเสพ (ปัญญา) “เพราะการอบรมเจริญปัญญา คือ การเสพสิ่งที่ปรากฏโดยควรเสพ” เป็นการเข้าใจความจริงโดยปัญญา ซึ่งหนทางเดียวคือ สะสมความเห็นถูก สิ่งที่ปรากฏก็ปรากฏเหมือนเดิม แต่ควรเข้าใจถูกต้องเพิ่มขึ้นในสิ่งที่ปรากฏ

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
orawan.c
วันที่ 12 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chatchai.k
วันที่ 13 ธ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ