อยากทราบเรื่อง สุขุมรูป

 
boonpoj
วันที่  5 พ.ค. 2556
หมายเลข  22861
อ่าน  12,482

สุขุมรูป คือ รูปละเอียด มี ๑๖ รูป คือ รูปที่เว้นจากรูปหยาบ ๑๒ รูป

รูปหยาบ ๑๒ รูป ได้แก่ ปสาทรูป ๕ และ โคจรวิสยรูป ๗ (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อีก ๓) โคจรวิสยรูป ๗ เป็นรูปที่สามารถปรากฏได้ทาง ๕ ทวาร (รู้ทางมโนทวารได้ด้วย) แต่ปสาทรูป ๕ และสุขุมรูป ๑๖ เป็นรูปที่สามารถปรากฏได้ทางมโนทวารเท่านั้น

เรื่องรูปปรมัตถ์ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในหนังสือปรมัตถธรรมสังเขป หน้า ๓๒ - ๔๑ และภาคผนวกเรื่องรูป

ผมไปหาดูแล้วไม่พบ อยากทราบว่า สุขุมรูป คือ รูปละเอียด มี ๑๖ รูป คือ รูปที่เว้นจากรูปหยาบ ๑๒ รูป มีรูป อะไรบ้าง กรุณาช่วยแยก รูปละเอียด รูปหยาบ ให้ด้วยครับ สภาวรูป กับ อสภาวรูป รวมกันเป็น ๒๘ รูป

สภาวรูปมีทั้งหมด ๑๘ รูป คือ

มหาภูตรูป ๔ ปฐวี ดิน ๑ อาโป น้ำ ๑ เตโช ไฟ ๑ วาโย ลม ๑

ปสาทรูป ๕ จักขุ ๑ โสต ๑ ฆาน ๑ ชิวหา ๑ กาย ๑

ภาวรูป ๒ อิตถีภาวรูป ๑ เพศหญิง ปุริสภาวรูป ๑ เพศชาย

วิสยรูป ๔ (สี เสียง กลิ่น รส)

หทยรูป ๑ เป็นรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต ๑

ชีวิตินทริยรูป ๑ รูปที่เกิดในกลาปหนึ่งๆ ให้เป็นรูปดำรงชีวิต

โอชารูป ๑ เป็นรูปที่อาหารเป็นปัจจัยให้เกิดรูป ๑ รูป

อสภาวรูปมี ๑๐ รูป ได้แก่

ปริจเฉทรูป ๑ อากาศรูป คั่นอยู่ระหว่างทุกๆ กลาป

วิญญัติรูป ๒ กายวิญญัติรูป ๑ วจีวิญญัติรูป ๑

วิการรูป ๓ ลหุตารูป ๑ เบา มุทุตารูป ๑ อ่อน กัมมัญญตารูป ๑ ภาวะที่ควรแก่การงาน

ลักขณรูป ๔ อุปจยรูป ๑ แรกเกิด สันตติรูป ๑ เจริญขึ้น ชรตารูป ๑ เสื่อมลง อนิจจตารูป ๑

รูปทั้งหมดมีเท่านี้ ใช่หรือเปล่าครับ

ขอกราบขอบพระคุณ และ ขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 6 พ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

รูปเป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ใช่ธาตุรู้ กล่าวคือ เป็นธรรมที่ไม่รู้อารมณ์ รูปมีทั้งหมด ๒๘ รูปได้แก่

๐๑. ปฐวีธาตุ ได้แก่ ธาตุดิน แข็ง อ่อน

๐๒. อาโปธาตุ ได้แก่ ธาตุน้ำ

๐๓. เตโชธาตุ ได้แก่ ธาตุไฟ เย็น ร้อน

๐๔. วาโยธาตุ ได้แก่ ธาตุลม ตึง ไหว

๐๕. จักขุปสาทรูป

๐๖. โสตปสาทรูป

๐๗. ฆานปสาทรูป

๐๘. ชิวหาปสาทรูป

๐๙. กายปสาทรูป

๑๐. วัณณรูป หรือ รูปสี (รูปารมณ์)

๑๑. สัททรูป หรือ รูปเสียง (สัททารมณ์)

๑๒. คันธรูป หรือ รูปกลิ่น (คันธารมณ์)

๑๓. รสรูป หรือ รูปรส (รสารมณ์)

๑๔. อิตถีภาวรูป

๑๕. ปุริสภาวรูป

๑๖. หทยรูป

๑๗. ชีวิตรูป

๑๘. อาหารรูป

๑๙. ปริจเฉทรูป

๒๐. กายวิญญัตติรูป

๒๑. วจีวิญญัตติรูป

๒๒. ลหุตารูป

๒๓. มุทุตารูป

๒๔. กัมมัญญตารูป

๒๕. อุปจยรูป

๒๖. สันตติรูป

๒๗. ชรตารูป

๒๘. อนิจจตารูป

รูปทั้งหมด มี ๒๘ รูปเท่านั้น ไม่มาก หรือ น้อยไปกว่านี้ ซึ่งที่ผู้ถาม ถามว่า ผมไปหาดูแล้วไม่พบ อยากทราบว่า สุขุมรูป คือ รูปละเอียด มี ๑๖ รูป คือ รูปที่เว้นจากรูปหยาบ ๑๒ รูป มีรูป อะไรบ้าง กรุณาช่วยแยก รูปละเอียด รูปหยาบให้ด้วยครับ

รูปหยาบ ได้แก่ ปสาทรูป ๕ และ โคจรวิสยรูป ๗ รวม เป็น ๑๒ รูป

คือ ปสาทรูป ๕ คือ

๐๑. จักขุปสาทรูป

๐๒. โสตปสาทรูป

๐๓. ฆานปสาทรูป

๐๔. ชิวหาปสาทรูป

๐๕. กายปสาทรูป

และ โคจรรูป ๗ คือ

๐๖. สี (วัณณะรูป)

๐๗. เสียง (สัททรูป)

๐๘. กลิ่น (คันธรูป)

๐๙. รส (รสรูป)

๑๐. เย็น-ร้อน (ธาตุไฟ)

๑๑. อ่อน-แข็ง (ธาตุดิน)

๑๒. ตึง-ไหว (ธาตุลม)

รวมทั้งหมด เป็น ๑๒ รูป ที่เป็นรูปหยาบ ครับ

ส่วน รูปละเอียด ก็มี ๑๖ รูป เพราะ รูปทั้งหมด มี ๒๘ รูป รูปหยาบ ๑๒ รูปละเอียด จึงมี ๑๖ รูปดังนี้

๐๑. อาโปธาตุ ได้แก่ ธาตุน้ำ

๐๒. อิตถีภาวรูป

๐๓. ปุริสภาวรูป

๐๔. หทยรูป

๐๕. ชีวิตรูป

๐๖. อาหารรูป

๐๗. ปริจเฉทรูป

๐๘. กายวิญญัตติรูป

๐๙. วจีวิญญัตติรูป

๑๐. ลหุตารูป

๑๑. มุทุตารูป

๑๒. กัมมัญญตารูป

๑๓. อุปจยรูป

๑๔. สันตติรูป

๑๕. ชรตารูป

๑๖. อนิจจตารูป

ส่วนที่ผู้ถามได้ยกรูปทั้งหมดมา และ ถามว่า รูปมีทั้งหมดเท่านี้หรือไม่ คำตอบ คือ มีเท่านี้ คือ ๒๘ รูป ครับ ซึ่งในประเด็นคำถามนี้ ท่านอาจารย์สุจินต์อธิบายได้ดี เชิญอ่าน ครับ

ถาม สุขุมรูปคืออะไร

สุ. สุขุมรูปเป็นรูปที่ละเอียด

ถาม อย่างรูปหยาบ ก็อย่างเช่น ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม และสุขุมรูป อย่างเช่น รูปเบา รูปอ่อน รูปควรแก่การงานใช่ไหมครับ

สุ. ค่ะ รูป ๒๘ รูป แบ่งเป็นรูปหยาบเท่าไร รูปละเอียดเท่าไร ถ้าเราจำจำนวนได้

ถาม สุขุมรูปมี ๑๘ ใช่ไหมครับ

สุ. สุขุมรูป ๑๖ วิธีจำนี่ไม่ยากเลย มันคล้องจองกับเหตุผลกับสติปัฏฐาน อย่างรูปหยาบ สีถือว่าหยาบ เพราะปรากฏ เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ๗ แล้วใช่ไหมคะ โผฏฐัพพะ ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม และสี เสียง กลิ่น รส เป็น ๗ ตาก็หยาบ หูก็หยาบ จมูก ลิ้น กายหยาบ อีก ๕ รูป รวมทั้งหมด รูปหยาบมี ๑๒ รูป ที่เหลือเป็นรูปละเอียดเท่านั้น

เพราะแบ่งรูปหลายนัย รูปหยาบกับรูปละเอียด เพราะจริงๆ รูปมี แต่เราจะรู้หรือ อย่างหทยวัตถุ เราก็ไม่รู้ โอชารูป เราก็ไม่รู้ ธาตุน้ำ เราก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น จะกล่าวเป็นรูปหยาบไม่ได้ รูปหยาบก็คือรูปที่ปรากฏให้เห็น ให้รู้ ให้เข้าใจได้ เพราะว่าสืบต่ออยู่ตลอดเวลา อย่างทางตา สีก็ปรากฏอยู่เรื่อยๆ ถ้าอย่างนี้ไม่หยาบ แล้ว รูปอะไรจะไปหยาบ ในเมื่อไปปรากฏให้เห็น เสียงก็ปรากฏให้ได้ยิน รวมความว่า อารมณ์ทางตา ๑ ทางหู ๑ ทางจมูก ๑ ทางลิ้น ๑ ทางกาย ๓ เป็น ๗ รูป สี เสียง กลิ่น รส ๔ แล้ว โผฏฐัพพะ อีก ๓ เป็น ๗ และเพิ่มจักขุปสาทรูป เพราะว่าถ้าไม่มีจักขุปสาทรูป ไม่มีทางที่เราจะรู้รูปที่กำลังปรากฏทางตาได้ ถ้าตาเราบอดเดี๋ยวนี้ ไม่มีทางว่า มีอะไรปรากฏในห้องนี้เลย หรือถ้าหูหนวก เสียงก็ไม่ปรากฏ อย่างไรๆ เสียงก็ไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ๗ รูป ต้องอาศัยปสาท ๕ รูป จึงสามารถปรากฏได้ เพราะฉะนั้น ทั้ง ๑๒ รูป เป็นรูปหยาบ ที่เหลือแม้มี ก็ไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น เป็นสุขุมรูปทั้งหมด

เพราะฉะนั้น ที่ตัวเรา เราว่ามีทั้งตัว ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ความจริงไม่มีอะไร เพราะว่ารูปแต่ละรูปก็เหมือนโต๊ะ เก้าอี้ เขาก็เกิดดับไปเรื่อยๆ ไฟฟ้า หรือไมโครโฟน ก็เกิดดับไปเรื่อยๆ รูปอื่นที่ตัวก็เหมือนอย่างนั้น คือว่าเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอยู่เรื่อยๆ ไม่มีความหมายอะไร แต่ความหมายอยู่ตรงที่ว่า เมื่อรูปสีกระทบตา มีจิตเห็นเกิดขึ้น แค่นี้ ตรงนี้ตรงเดียวคือจิต ๑ ขณะ ซึ่งปรากฏเป็นโลก

เพราะฉะนั้น ที่เราจะไม่เห็นว่าเป็นตัวตน เราต้องย่อยลงมา จนกระทั่งมองถึงความจริงทะลุปรุโปร่งด้วยสติสัมปชัญญะ ที่ระลึกและรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม ที่แยกขาดจากรูปธรรมว่า ในขณะหนึ่งที่ปรากฏ มีสภาพรู้ ซึ่งกำลังมีสีกำลังปรากฏ ไม่มีเราเลย ทั้งหมดก็เหมือนรูปอื่นๆ ที่บังเอิญมาอยู่ตรงนี้ ใช่ไหมคะ แข็งๆ อ่อนๆ ตรงโน้นก็แข็งๆ อ่อนๆ ตรงนี้ มันก็ไม่มีความหมาย มันก็เกิดดับไปเรื่อยๆ

แต่ว่าข้อสำคัญที่สุดก็คือว่า มันมีสมุฏฐานที่ทำให้ต่างกับรูปที่ไม่มีชีวิต แต่จริงๆ แล้ว ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้ปรากฏ ถึงแม้ว่าจะมีความต่าง แต่ความต่างนั้นก็ไม่ปรากฏเท่ากับชั่วขณะที่เกิดแล้วยังไม่ดับ แล้วกระทบกับปสาท รูปจึงจะปรากฏได้ เพราะฉะนั้น จึงทรงจำแนกหรือทรงแสดงว่า รูป ๑๒ รูป เป็นรูปหยาบ ตัวเราไม่มีค่ะ ไม่มีจริงๆ อย่าไปคิดว่ามี มีชั่วขณะที่รูปกระทบตาแล้วปรากฏว่ามีสิ่งที่ปรากฏ ยังไม่เอาเรื่องราวอะไรมาต่อเลย มันมีอยู่แค่นั้นแล้วมันก็ดับ ไม่มีปอด ตับ หัวใจ เลือด สูบฉีดอะไรทั้งหมด นั่นเป็นเรื่องราวของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า

เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ความจริงว่าไม่มีตัวตน ก็ต้องมีความรู้เฉพาะอย่างซึ่งกำลังปรากฏขณะนั้นทันที แล้วมันก็ปรากฏเร็วมาก จากตามาหู นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ส่วนอื่นไม่มีความสำคัญเลย เราจะไปเกี่ยวโยงกับสมอง กับอะไร นั่นก็เป็นเรื่องคิดนึกหมด แต่จุดสำคัญก็คือว่า ต้องมีรูปที่เป็นโสตปสาทกับเสียงที่ยังไม่ดับ เป็นปัจจัยให้จิตได้ยิน เกิดขึ้นแล้วดับหมดไปอีกแล้ว นี่คือความจริงที่ว่า มันมีทีละชั่วขณะจิตเดียว แล้วก็หมด และส่วนอื่นก็มีแต่ความทรงจำทั้งนั้น

รูปทุกกลาปมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะซึ่งแสนเร็ว เพราะฉะนั้น เวลานี้รูปทุกกลาปที่นี่ก็เกิดดับ รูปทุกกลาปที่นี่ก็เกิดดับ รูปทุกกลาปที่นี่ก็เกิดดับ เพราะฉะนั้นมันไม่มีค่าอะไรเลย ในเมื่อมันไม่ปรากฏ ใช่ไหมคะ แล้วมันก็ดับเร็วมากด้วย ไม่มีความรู้สึกว่าหนักหรือเบา จนกว่าจะกระทบกายปสาท จึงจะรู้ว่าตรงนั้นมีรูปซึ่งเป็นปัจจัยให้กายวิญญาณเกิดขึ้นรู้รูปนั้นและดับด้วย มันไม่ได้เที่ยงเลย มีแล้วหามีไม่ มีก็เหมือนไม่มี

เชิญคลิกฟังได้ที่นี่ ครับ

รูปขันธ์

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
boonpoj
วันที่ 6 พ.ค. 2556

กราบขอบพระคุณ คุณ paderm ที่ให้ความกระจ่าง ชัดเจน มาก

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 6 พ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สภาพธรรมที่เป็นรูปธรรม มีจริงๆ เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ใช่ธาตุรู้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดง เพื่อประโยชน์ คือ ความเข้าใจถูก เห็นถูก ว่าเป็นธรรม ที่มีจริง ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่มีจริงแต่ละอย่างๆ เท่านั้น

รูปทั้งหมดจะมี ๒๘ รูป ทั้งที่เป็นรูปที่หยาบ และ ละเอียด เป็นสิ่งที่รู้ยาก เข้าใจยาก แม้ว่าจะมีอยู่จริงๆ ไม่ขาดเลย ซึ่งก็ต้องอาศัยการสะสมการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ในเบื้องต้นยังไม่สามารถจะประจักษ์แจ้งในรูปที่เป็นรูปละเอียด แต่อย่างน้อยการได้ฟังได้ศึกษาก็ยิ่งเห็นความละเอียดลึกซึ้งของพระธรรมว่า เป็นจริงโดยตลอด ทุกขณะ หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนไม่ได้ รูปที่พอจะรู้ได้ เข้าใจได้ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีปรากฏเป็นประจำคือ สี เสียง กลิ่น รส และ รูปที่รู้ได้ทางกาย ๓ คือ ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม รวมเป็น ๗ รูป ครับ

...ขอบพระคุณ อ. ผเดิม และขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาในการศึกษาพระธรรมของคุณลุงบุญพจน์ และทุกๆ ท่านด้วยครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 6 พ.ค. 2556

รูปหยาบ คือ รูปที่สามารถกระทบได้ เช่น ทางกาย เย็น-ร้อน อ่อน-แข็ง รูปละเอียดเป็นสุขุมรูป สัมผัสไม่ได้ กระทบไม่ได้รู้ได้ทางใจ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
orawan.c
วันที่ 7 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nong
วันที่ 8 พ.ค. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
thilda
วันที่ 3 พ.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
papon
วันที่ 6 พ.ย. 2556

กราบอนุโมทนาครับท่านอาจารย์

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 7 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Tuangporn
วันที่ 2 พ.ค. 2564

กราบท่านอาจารย์

กราบอนุโมทนากับทุกๆท่านด้วยค่ะ

สาธุค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
panasda
วันที่ 2 ส.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ