การกระทบของรูป และปสาทะ

 
นิรมิต
วันที่  18 ก.พ. 2556
หมายเลข  22507
อ่าน  2,103

กราบสวัสดีท่านวิทยากรและมิตรธรรมที่เคารพทุกท่าน

มีความสงสัยอยากขออนุญาตเรียนถามดังนี้ครับ

เวลารูปกระทบปสาทะ ต้องกระทบทั้งหมดภูตรูป หรือ กระทบเพียงรูปนั้นๆ อย่างเดียวที่ปสาทะ เช่น การจักขุปสาทะจะกระทบกับวรรณรูป ทำให้เกิดจักขุวิญญาณ ทำทัสสนะกิจในวรรณรูปได้ เฉพาะวรรณรูปหรือสีเท่านั้นที่มากระทบจักขุปสาทะ หรือ ต้องมากระทบทั้งมหาภูตรูป คือ ในที่นี้หมายถึง ต้องมาทั้งกลุ่มก้อนที่เป็นกลาปๆ ที่เป็นอวินิพโภครูป หรือ มีแต่เฉพาะวรรณรูปที่แยกออกมาแล้วจากอวินิพโภครูปกลาป มากระทบจักขุปสาทะ

คืออย่างเช่น กายปสาทะกระทบมหาภูตรูป ที่เป็น ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตลม เวลาที่กระทบ ก็กระทบทั้งกลาป ใช่ไหมครับ หรืออย่างเช่น ชิวหาปสาทะจะรู้รสก็ต้องมีก้อนคำอาหาร ที่มีอวินิพโภครูปทั้งกลาปๆ มากระทบที่ลิ้น รสจึงปรากฏ แต่ทีนี้อย่างรูป เสียง หรือกลิ่น ก็ไม่เห็นว่าจะต้องมากระทบทั้งกลาปๆ อย่างกายวิญญาณหรือชิวหาวิญญาณ เพราะเหตุว่า อวินิพโภครูป ทั้งกลาป ก็ตั้งอยู่ตรงนั้น ที่ไกลออกไปอย่างเช่น เห็นภูเขา ตัวอวินิพโภครูป ที่บัญญัติว่าภูเขา ก็ตั้งอยู่ ไกลออกไป แต่ก็ยังเห็นวรรณรูปของภูเขา ซึ่งอยู่ไกลๆ ๆ ออกไป

ในข้อนี้เหตุที่ทำให้สงสัยคือ เวลาที่แสงจ้ามากๆ ก็แสบตาซึ่งเป็นกายวิญญาณ ก็แปลว่าขณะนั้นก็ต้องกระทบมหาภูตรูป แต่อันนี้ไม่ทราบว่า เป็นการกระทบมหาภูตรูปที่เป็นในดวงตาของเราเอง (คือลูกตารับแสงมากไปก็บีบตัว หรืออะไรอย่างนั้น ทำให้กายปสาทะกระทบโผฏฐัพพะในดวงตาเราเอง) หรือกระทบมหาภูตรูป ของวรรณรูปนั้นๆ ที่มาสู่คลองจักษุ หรือเสียง เวลากระทบโสตปสาทะ ก็กระทบทั้งสัททนวกกลาป หรือกระทบเพียงสัททรูป ที่แยกออกมาแล้ว เพราะอย่างเวลาเสียงเกิด เช่นเสียงตะโกนเรียก ฐานเสียง หรือฐานของสัททนวกกลาป อยู่ตรงนั้นที่คนตะโกน แต่เราอยู่ตรงนี้ก็ได้ยิน โดยนัยเดียวกับกลิ่นก็เช่นกัน

จึงมีความสงสัยว่า รูปหยาบที่เป็นวรรณรูป สัททรูป ฯลฯ นี้ กระทบปสาทะครั้งหนึ่งนั้น ต้องกระทบทั้งกลาป หรือกระทบเพียงรูปนั้นๆ

กราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 18 ก.พ. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตร่วมแสดงความคิดเห็น ครับ

สภาพธรรม เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ใครๆ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ รูปธรรมแต่ละรูปที่กระทบกับปสาทรูปแต่ละปสาทรูปนั้น ก็ต้องเป็นรูปแต่ละรูปที่สามารถกระทบกับปสาทรูปนั้นๆ ได้เท่านั้น แม้รูปจะเกิดเป็นกลาปะ (กลุ่ม) ก็ตาม ยกตัวอย่าง สี หรือ วัณณรูป ไม่ได้มีเฉพาะสีอย่างเดียวที่เกิดเพียงลำพัง มีมหาภูตรูป ๔ (ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม) มีกลิ่น มีรส มีโอชารูป เกิดด้วย แต่เฉพาะวัณณรูปเพียงรูปเดียวที่กระทบกับจักขุปสาทะ รูปอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกันไม่ได้กระทบกับจักขุปสาทะ ไม่ว่าจะได้เห็นรูปที่ใกล้หรือไกล ก็คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นสิ่งที่กระทบจักขุปสาทะได้ เท่านั้น เป็นธรรมที่มีจริงอย่างหนึ่ง

ในประเด็นที่เห็นรูปเช่นแสงจ้า แล้วเกิดอาการแสบตา ก็ต้องอาศัยความเข้าใจตั้งแต่ต้นจริงๆ ที่กล่าวถึงลูกตานั้น มีกายปสาทรูปซึมซาบอยู่ ที่เกิดอาการแสบตา ก็เป็นทุกขเวทนาทางกาย ในขณะที่กายวิญญาณเกิดขึ้น อันเกิดจากการกระทบของโผฏฐัพพธาตุกับกายปสาทะ เป็นเหตุให้กายวิญญาณเกิดขึ้น ในทำนองเดียวกัน ที่ได้ยินเสียงดังๆ เกิดปวดหูขึ้น ขณะที่ปวดนั้นก็เป็นทุกขเวทนาทางกาย ในขณะที่กายวิญญาณเกิดขึ้น จิตเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วทีละขณะๆ ไม่มีจิตเกิดพร้อมกัน ๒ - ๓ ขณะ

ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง จึงต้องค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ศึกษา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 18 ก.พ. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมแต่ละอย่างทำหน้าที่แต่ละอย่างแตกต่างกันไป ซึ่งสภาพธรรมที่เกิดขึ้น ไม่พ้นไปจากทาง ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ซึ่่งเป็นทางให้เกิดขึ้นของจิต เจตสิก ครับ

สำหรับ การกระทบกันของรูปและปสาทรูปนั้น ในความเป็นจริง สภาพธรรมแต่ละอย่างก็ทำหน้าที่คนละอย่าง และ กระทบกันไปคนละอย่าง สำหรับปสาทรูป 5 มีดังนี้

จักขุปสาทรูป คือ รูปที่มีความผ่องใส คือ ตา หมายถึง รูปที่เกิดจากกรรมที่มีความผ่องใสเหมือนกระจกเงาสามารถรับกระทบกับสีต่างๆ ตั้งอยู่ในกลางตาดำมีเยื่อตา ๗ ชั้นซึมซับอยู่ ประดุจสำลีที่อาบด้วยน้ำมันชุ่มอยู่ทั้ง ๗ ชั้น มีสัณฐานโตประมาณเท่าหัวเล็น ทำหน้าที่ได้ ๒ อย่างคือ ๑. เป็นจักขุวัตถุ ที่เกิดของจักขุวิญญาณ ๒ ดวง ๒. เป็นจักขุทวาร ทางรู้อารมณ์ของจักขุทวารวิถีจิต ซึ่ง จักขุปสาทรูป จะกระทบเพียงรูปที่เป็นเพียงสี วัณณรูปเท่านั้น ไม่ได้กระทบรูปอื่นๆ เลย ในกลาปเดียวกัน เพราะ ทำหน้าที่เพียงกระทบรูป คือ สี

โสตปสาทรูป คือ รูปที่มีความผ่องใสคือหู หมายถึง รูปที่เกิดจากกรรมที่มีความผ่องใส สามารถรับกระทบกับเสียงต่างๆ ตั้งอยู่ภายในช่องหู มีสัณฐานเหมือนวงแหวน มีขนสีแดงอย่างละเอียดงอกอยู่ ทำหน้าที่ได้ ๒ อย่างคือ ๑. เป็นโสตวัตถุ ที่เกิดของโสตวิญญาณ ๒ ดวง ๒. เป็นโสตทวาร ทางรู้อารมณ์ของโสตทวารวิถีจิต โสตปสาทรูป ทำหน้าที่กระทบรูป คือ เสียงเท่านั้น ไม่ได้กระทบรูปทั้งกลาป ไม่ได้ทำหน้าที่กระทบ สี เป็นต้น ครับ

ฆานปสาทรูป คือ รูปที่มีความผ่องใส คือ จมูก หมายถึง รูปที่เกิดจากกรรม ที่มีความผ่องใส สามารถรับกระทบกลิ่นต่างๆ ตั้งอยู่ภายในช่องจมูก มีสัณฐานเหมือนกีบเท้าแพะ ทำหน้าที่ได้ ๒ อย่าง คือ ๑. เป็นฆานวัตถุ ที่เกิดของฆานวิญญาณจิต ๒ ดวง ๒. เป็นฆานทวาร ทางรู้อารมณ์ของทวารวิถีจิต ซึ่ง ฆาปสาทรูป จะทำหน้าที่กระทบกับรูปที่เป็น กลิ่นเท่านั้น ไม่ได้กระทบรูปทั้งกลาป ที่เป็น สี เสียง เป็นต้น ครับ

ชิวหาปสาทรูป คือ รูปที่มีความผ่องใสคือลิ้น หมายถึง รูปที่เกิดจากกรรมที่มีความผ่องใสสามารถรับกระทบรสต่างๆ ตั้งอยู่ท่ามกลางลิ้น มีสัณฐานเหมือนปลายกลีบอุบล ทำหน้าที่ได้ ๒ อย่างคือ ๑.เป็นชิวหาวัตถุ ที่เกิดของชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง ๒. เป็นชิวหาทวาร ทางรู้อารมณ์ของชิวหาทวารวิถีจิต ซึ่งชิวหาปสาทรูป จะทำหน้าที่กระทบเพียงรูปเดียวเท่านั้น คือ รส ไม่ได้กระทบรูปอื่นๆ ที่ประชุมรวมกันเป็นกลาป อย่างน้อย 8 รูป ครับ

กายปสาทรูป คือ รูปที่มีความผ่องใส คือ กาย หมายถึง รูปที่เกิดจากกรรม ที่มีความผ่องใส สามารถรับกระทบโผฏฐัพพารมณ์ มีสัณฐานเหมือนร่างแห ซึมซาบอยู่ทั่วร่างกาย เว้นปลายผม ขน เล็บ หนังที่หนา และส่วนที่ไม่มีความรู้สึก ทำหน้าได้ ๒ อย่าง คือ ๑. เป็นกายวัตถุ ที่เกิดของกายวิญญาณ ๒ ดวง ๒. เป็นกายทวาร ทางรู้อารมณ์ของกายทวารวิถีจิต ซึ่ง กายปสาทรูป จะทำหน้าที่กระทบรูป ที่ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ที่เป็นลักษณะของธาตุดิน ไฟ และลมเท่านั้น ไม่ได้ทำหน้าที่กระทบรูปอื่นๆ เลย เช่น สี เสียง กลิ่น รส เป็นต้น ครับ แต่ การกระทบก็ต้องกระทบทีละรูป ทีละธาตุ กระทบธาตุดินก็ธาตุดิน ไม่ได้กระทบธาตุลมในขณะนั้น

สรุปได้ว่า ปสาทรูป 5 แต่ละปสาทรูป ไม่ได้กระทบรูปทั้งหมดในกลาปเดียว แต่ทำหน้าที่กระทบรูปแต่ละรูป ตามหน้าที่ของปสาทรูปนั้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้เกิดทวิปัญจวิญญาณจิต ดวงใดดวงหนึ่ง อันมีการกระทบรูปนั้น เพียงรูปเดียวเป็นปัจจัย

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
นิรมิต
วันที่ 18 ก.พ. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
one_someone
วันที่ 10 ก.ย. 2556

เป็นหัวข้อที่ควรศึกษาอย่างละเอียด

และ

เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
panai
วันที่ 14 ก.ย. 2556

ได้ความรู้ดีมากค่ะ..ขออนุโมทนา..

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
papon
วันที่ 14 ก.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ