การได้ทานอาหารอร่อยเป็นโลภะ หรือกำลังได้รับวิบาก

 
tee
วันที่  17 ก.พ. 2556
หมายเลข  22498
อ่าน  1,178

สงสัยว่าผู้ที่ทานอะไรๆ ก็อร่อยไปเสียทุกอย่าง (กินง่าย) เป็นโลภะหรือกำลังได้รับวิบากที่ดี


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 17 ก.พ. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นก็ต้องไม่ลืมว่า ทุกขณะเป็นธรรม มีจิตเกิดดับสืบต่อกันอย่างไม่ขาดสาย จิตขณะหนึ่งเกิดแล้วดับไป เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นเป็นไป จากการศึกษาพระธรรม ก็จะเข้าใจได้ว่า ขณะที่เป็นการรับผลของกรรมในชีวิตประจำวัน ไม่พ้นไปจากขณะเห็น ขณะได้ยิน ขณะได้กลิ่น ขณะลิ้มรส ขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นผลของกรรมอะไร ระหว่างอกุศลกรรมกับกุศลกรรม ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม ก็ทำให้ได้รับสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นผลของกุศลกรรมแล้ว ก็ทำให้ได้รับสิ่งที่ดี ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ

ชีวิตประจำวันยากที่จะพ้นไปจากโลภะความติดข้องยินดีพอใจ โลภะเป็นธรรมที่มีจริง เกิดเพราะเหตุปัจจัย ขณะที่ได้ทานอะไรก็อร่อยไปเสียทุกอย่าง ก็ต้องพิจารณาทีละขณะจิต ขณะที่ลิ้มรสเป็นผลของกรรม ได้ลิ้มรสที่ดี ก็เป็นผลของกุศลกรรม เป็นกุศลวิบาก ถ้าเกิดความติดข้องยินดีพอใจ ขณะนั้นก็เป็นไปกับด้วยโลภะ เพราะมีการลิ้มรส จึงติดข้อง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะมีแต่โลภะเกิดในขณะที่ทานอาหาร แม้ไม่ได้รับประทานอาหารที่อร่อย โลภะก็เกิดได้ ติดข้องในสิ่งอื่นๆ ได้ ซึ่งเป็นปกติในชีวิตประจำวันจริงๆ ตามความเป็นจริงแล้ว จิตเกิดดับสืบต่อกันอย่างไม่ขาดสาย เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง เป็นวิบากบ้าง เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยจริงๆ

สำหรับผู้ที่ดับโลภะซึ่งเป็นความติดข้องยินดีพอใจในกามคุณ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้แล้ว ความติดข้องในกามคุณก็ไม่เกิดขึ้น หรือ ถ้าประสบกับอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ก็ไม่เกิดโทสะ ความจริงเป็นอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น ใครๆ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

การศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม ก็เพื่อเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริง ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ตามความเป็นจริง ทุกขณะไม่ขาดธรรมเลย มีแต่ธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น และการที่จะเข้าใจถูกเห็นถูกได้ ก็ต้องมาจากเหตุ คือ การฟังพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 17 ก.พ. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมเป็นสภาพธรรมที่ละเอียดลึกซึ้ง ลึกซึ้งเพราะเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เป็น จิต เจตสิก ที่เกิดขึ้นแต่ละขณะ ที่เกิดขึ้น และ ดับไป ซึ่งการดำเนินชีวิตประจำวันก็ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่เกิดขึ้นทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และ ใจ ที่เป็นสภาพธรรม คือ จิต เจตสิก ที่เกิดขึ้น ดังนั้น ในชีวิตประจำวัน ขณะที่สมมติว่าทานอาหาร สิ่งที่มีจริงก็คือ ขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัสและคิดนึก จึงสมมติว่า กำลังทานอาหาร ซึ่งขณะที่ทานอาหารอร่อย อะไรอร่อยก็เรียกว่าอาหาร ขณะที่คิดว่าอร่อย ขณะนั้นไม่ใช่ขณะที่กำลังลิ้มรส แต่เป็นขณะที่คิดนึกปรุงแต่งจากการรู้รสที่เกิดขึ้น คิดนึกว่าอาหารอร่อย ส่วนขณะที่รู้รสเท่านั้น มีจริง คือ กำลังมีรสปรากฎเท่านั้น ขณะนั้นเป็นวิบาก เป็นผลของกรรม ที่รู้รส ซึ่งก็แล้วแต่ว่า รสนั้นจะเป็นรสที่ดี ก็เป็นกุศลวิบาก ถ้าเป็นรสที่ไม่ดี ก็เป็นอกุศลวิบาก

คราวนี้ จึงถึงความละเอียดของพระธรรมที่ว่า ขณะที่ทานอาหารที่อร่อยเป็นโลภะหรือเป็นวิบาก ซึ่งขณะที่รู้รสเท่านั้น ยังไม่ได้รู้เลยว่าเป็นรสชาติอร่อย หรือไม่อร่อย เป็นรสชาติของอาหารประเภทอะไร ขณะที่รู้รสเท่านั้นเป็นวิบาก ต้องแยกตรงนี้ ส่วนคิดว่าอาหารอร่อย เป็นขณะที่คิดนึก ละเอียดอีกครับว่า ขณะที่คิดนึกว่า อาหารอร่อย จำเป็นไหมจะต้องเป็นโลภะ สรุปคือ ไม่จำเป็น เพราะในความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เป็นรส รสเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นรูปธรรมที่กระทบได้ทางลิ้น รสที่ดี ประณีต ก็มี รสที่ไม่ดี ไม่ประณีต ก็มี ดังนั้นเมื่อคิดว่ารสชาติอาหารอร่อย ก็คิดด้วยจิตที่ไม่ใช่โลภะก็ได้ และ กล่าวด้วยสัจจะความจริง ที่ไม่ใช่จิตที่เป็นโลภะก็ได้

ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่ติดข้อง คิดว่าอาหารนี้อร่อย ติดในรสชาติ จึงคิดว่า อาหารนั้นอร่อยด้วยโลภะ คิดด้วยอกุศลที่ติดข้องในรสชาดอาหารในขณะนั้น นี่คือ อาหารอร่อยด้วยโลภะ แต่ขณะที่รู้รสเป็นผลของกรรม ที่ยังไม่ได้รู้ว่าอาหารอร่อย ส่วนคิดว่าอาหารอร่อยด้วยจิตที่ไม่ใช่โลภะ เช่น พระพุทธเจ้า ก็ทรงรู้รสเช่นปุถุชน ดังนั้น เมื่อพระองค์ทรงลิ้มรสที่ประณีตที่ดี ก็คิดได้ว่าอาหารนี้รสดี รสเลิศด้วยความไม่ติดข้อง อาหารอร่อย คือ อาหารมีรสดี โดยกล่าวตามความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เป็นรสนั้น การคิดว่าอาหารอร่อย เพราะแสดงถึงสภาพธรรมที่เป็นรสประณีตของจิตพระอรหันต์ ไม่ได้ติดข้อง ไม่ใช่โลภะ เป็นกิริยาจิตในขณะนั้น นี่คือความละเอียดของพระธรรมในแต่ละขณะจิตที่จะต้องพิจารณา ครับ ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
นิรมิต
วันที่ 18 ก.พ. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
nong
วันที่ 18 ก.พ. 2556

พึงพิจารณาความละเอียดของพระธรรม ตามกำลังของปัญญา

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Boonyavee
วันที่ 18 ก.พ. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
pavee
วันที่ 19 ก.พ. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
tee
วันที่ 19 ก.พ. 2556

ขอบคุณท่านผู้ตอบคำถามครับ จากคำตอบ ทำให้ผมเข้าใจต่อไปถึงสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้นกาย และใจ ได้ว่า มีการเกิดขึ้นทีละอย่างไปเรื่อยๆ เกิดดับสลับกันไป ไม่จบเท่าที่สติเกิดทัน

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
rrebs10576
วันที่ 21 ก.พ. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ทรงศักดิ์
วันที่ 21 พ.ย. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ