ท้าวสักกะปลอมเป็นคนจนถวายทานแด่พระมหากัสสปะ

 
นิรมิต
วันที่  15 ม.ค. 2556
หมายเลข  22334
อ่าน  7,197

กราบสวัสดีท่านวิทยากรและมิตรธรรมที่เคารพทุกท่าน

เรื่องนี้กระผมมีความสงสัยมาค่อนข้างนานแล้ว จึงขออนุญาตเรียนถามว่า การกระทำของท้าวสักกะ ที่ทรงปลอมตนเป็นคนจนเพื่อถวายทานแด่พระมหากัสสปะที่ท่านเพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติใหม่ๆ เพราะเหตุใด ทั้งๆ ที่เป็นอาการปลอมแปลง มีเจตนาให้ท่านพระมหากัสสปะเข้าใจว่า ตนมิใช่พระอินทร์ จึงไม่เป็นการมุสาวาท เพราะต้องไม่เป็นมุสาวาทแน่ๆ ในเมื่อท้าวสักกะก็สำเร็จโสดาปัตติผล จุติซ้ำเป็นท้าวสักกะทันที ตั้งแต่ได้ฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์

ขอบพระคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 15 ม.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นก็ขอเล่าเรื่องนี้โดยสังเขป เพื่อประโยชน์กับสหายธรรมทั้งหลายได้อ่านได้เข้าใจ

สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัสสปะออกจากนิโรธสมาบัติ ประสงค์จะสงเคราะห์คนเข็ญใจ จึงเที่ยวบิณฑบาต เพราะหากใครทำบุญกับพระภิกษุผู้มีคุณธรรมสูงและ ออกจานิโรธสมาบัติ ผลบุญย่อมมีมากมาย สมัยนั้นก็มีนางเทพธิดา มาในรูปร่างเทพธิดา ตั้งใจนำอาหารทิพย์มาถวายท่านพระมหากัสปปะ แต่เมื่อท่านเห็นว่าเป็นเทวดา ท่านพระมหากัสสปะปฏิเสธ เพราะต้องการอนุเคราะห์คนเข็ญใจ

ท้าวสักกะทราบเรื่องนี้ จึงแปลงเป็นคนยากจนมาก เป็นคนแก่ ทอผ้าอยู่ เนรมิตทางเดินและบ้านเก่าๆ ระหว่างทางที่ท่านพระมหากัสสปะมา พระมหากัสสปะไม่ได้เข้าฌานในขณะที่บิณฑบาต จึงไม่ทราบว่าเป็นท้าวสักกะปลอมตัวมา จึงสำคัญว่าเป็นคนจนเข็ญใจอย่างยิ่ง ท่านพระมหากัสสปะจึงมอบบาตรให้กับท้าวสักกะที่ปลอมมาเป็นคนจน ท้าวสักกะใส่อาหารทิพย์ กลิ่นหอมไปทั่วพระนครราชคฤห์ ท่านพระมหากัสสปะคิดว่า คนจนนี้ใส่อาหารประณีตมากดังเช่นอาหารของเทวดา จึงเข้าฌานและรู้ว่าเป็นท้าวสักกะปลอมตัวมา จึงกล่าวว่ากับท้าวสักกะว่า ท่านทำกรรมไม่สมควร เป็นโจรปล้นชาวบ้าน คนจนเข็ญใจ หากได้ใส่บาตรอาตมาย่อมได้เป็นเศรษฐีในวันนี้ ท้าวสักกะกล่าวว่า แม้กระผมก็เป็นคนจนเข็ญใจเช่นกัน และได้เล่าว่า เทพบุตร ๓ องค์ได้ทำบุญกับพระพุทธศาสนาและเมื่อมาเกิดเป็นเทวดา มีรัศมีกลบกระผม กระผมต้องหลบเข้าไปในที่อยู่เพราะรัศมีของเทพบุตรทั้ง ๓ เกินกระผม กระผมเป็นคนยากจนเข็ญใจเพราะเหตุนี้ ท้าวสักกะถามต่อว่า กระผมจะได้บุญหรือไม่ ท่านพระมหากัสสปะกล่าวว่า พระองค์ทำกุศลย่อมได้บุญ ท้าวสักกะเกิดปิติ กล่าวขึ้นว่า โอ ทานนี้เป็นทานอันยอดเยี่ยมที่เราถวายกับท่านพระมหากัสสปะ

ซึ่งคำถามผู้ถามสงสัยว่า ท้าวสักกะ เป็นพระโสดาบันแล้ว ทำไมยังลวงโดยการปลอมตัวมา

หากได้อ่านพระสูตรโดยละเอียด จะเห็นตอนหนึ่งที่ท้าวสักกะกล่าวว่า กระผมเป็นคนจนเข็ญใจเพราะมีรัศมีน้อย เป็นต้น และไม่ได้ทำบุญในพระพุทธศาสนา นี่ก็เป็นการแสดงชัดเจนแล้วว่า เหตุการณ์นี้ เกิดก่อนที่ท้าวสักกะจะเป็นพระโสดาบันเพราะในความเป็นจริง ผู้ที่ทำบุญในพระพุทธศานาก็ไม่ใช่หมายถึงทานเท่านั้น แม้แต่กุศลจิตที่เกิดพร้อมปัญา โดยเฉพาะการบรรลุธรรมโสดาปัตติมรรคจิตที่เป็นกุศลจิตประกอบด้วยปัญญาขั้นโลกุตตระ ย่อมเป็นกุศลในพระพุทธศาสนาที่มีกำลังมาก นั่นแสดงว่า ท่านยังไม่ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ยังไม่ได้ทำบุญ คือ ยังไม่ได้บรรลุ และ ผู้ที่บรรลุเป็นพระโสดาบัน โดยเฉพาะเทวดาโลก ความมีกำลังของพระอริยบุคคลก็ย่อมทำให้มีรัศมีมาก เช่นกัน แต่ที่ท่านมีรัศมีน้อยเพราะยังไม่ได้ทำบุญในพระพุทธศาสนา คือ บรรลุธรรม เป็นต้น ครับ

และ อีกประเด็นหนึ่ง ที่ท้าวสักกะตรัสว่า ท่านเป็นคนจนเข็ญใจ ซึ่งในความเป็นจริง หากท่านเป็นพระโสดาบัน ท่านจะไม่กล่าวเลยว่าท่านเป็นคนจนเข็ญใจ เพราะพระโสดาบันไม่ใช่คนจนในโลกนี้ แต่ คนจนในโลกนี้ คือ จนคุณความดี จนศรัทธา จนปัญญา เป็นต้น เพราะไม่มีอริยทรัพย์ แต่พระอริยเจ้าทั้งหลายเป็นผู้มีอริยทรัพย์ ๗ ประการ มี ศรัทธา และ ปัญญา เป็นต้น ดีแล้ว จึงไม่ใช่คนจนในโลก

สมดังในเรื่อง ท่านสุปปพุทธกุฏฐิ ที่ก่อนที่ท่านจะบรรลุเป็นพระโสดาบัน ท่านก็เป็นคนจนอย่างมาก และมีแผลเต็มตัว แต่ต่อมาท่านฟังพระธรรม บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว ท้าวสักกะมากล่าวกับท่านว่า ขอให้ท่านพูดคำว่า พระพุทธเจ้าไม่ใช่พระพุทธเจ้า เป็นต้น ปฏิเสธพระรัตนตรัย เราจะให้ทรัพย์กับท่าน เพราะท่านเป็นคนจนอย่างมาก ท่านสุปปพุทธกุฏฐิกล่าวว่า เราไม่ใช่คนยากจนในโลกนี้อีกแล้ว เพราะเรามีอริยทรัพย์ ครับ ไม่รับทรัพย์ของท้าวสักกะ

[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 344

ท้าวสักกะกล่าวว่า ใครที่เข็ญใจกว่าข้าพเจ้ามีอยู่หรือ พระคุณเจ้า พระเถระกล่าวว่า พระองค์เสวยสิริราชสมบัติในเทวโลก จะเป็นคนเข็ญใจได้อย่างไร ท้าวสักกะกล่าวว่า ข้อนั้นชื่อว่าเป็นอย่างนั้นนะ พระคุณเจ้า ก็ข้าพเจ้าได้กระทำกรรมอันงามไว้เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่อุบัติขึ้น แต่เมื่อพุทธุปบาทกาลเป็นไปอยู่ เทวบุตร ๓ องค์ นี้ คือ จูฬรถเทวบุตร มหารถเทวบุตร อเนกวัณณเทวบุตร กระทำบุญกรรมแล้วเกิดในที่ใกล้กับข้าพเจ้า มีเดชมากกว่าข้าพเจ้า เมื่อเทวบุตรเหล่านั้นคิดจะเล่นงานนักขัตฤกษ์ จึงพานางบำเรอลงสู่ระหว่างถนน ข้าพเจ้าจึงหนีเข้าเรือน เพราะเดชจากสรีระของเทพบุตรเหล่านั้นกลบร่างของข้าพเจ้า เดชจากร่างของข้าพเจ้าหาได้กลบร่างของเทพบุตรเหล่านั้นไม่ ใครจะเป็นผู้เข็ญใจกว่าข้าพเจ้าล่ะ พระคุณเจ้า พระเถระกล่าวว่า แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น ตั้งแต่นี้ไป พระองค์อย่าลวงอย่างนี้ แล้วถวายทานแก่อาตมา

นี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ในเรื่องนี้ จากคำถามที่แสดงว่า เหตุการณ์นี้ท้าวสักกะยังไม่ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน จึงยังมีการปลอมตัว เอนเอียงตามอกุศลที่เคยสะสมมาในความเป็นปุถุชน ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
nopwong
วันที่ 15 ม.ค. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
daris
วันที่ 15 ม.ค. 2556

แม้แต่เทวดาก็ยังมีทุกข์

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
นิรมิต
วันที่ 15 ม.ค. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

อยากจะขอเรียนสอบถามเพิ่มเติมหน่อยครับ อยากขอความกรุณาท่านวิทยากรยกข้อความตอนที่พระอินทร์บรรลุเป็นโสดาบันหน่อยครับผม ว่าท่านบรรลุตอนไหน ช่วงไหน ในสมัยพุทธกาลอ่ะคับ เพราะเคยได้ยินเขาเล่าผ่านๆ มา ก็เลยสำคัญเองว่าพระอินทร์บรรลุโสดาบันตั้งแต่การเฝ้าพระผู้พระภาคเป็นครั้งแรก ในตอนที่ท่านรู้ว่าท่านจะต้องสิ้นบุญ แล้วจุติไปปฏิสนธิในอบาย ท่านก็เลยมาเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วบรรลุพระโสดาบัน ปฏิสนธิกลับเป็นพระอินทร์ตามเดิม และก็เคยได้ฟังธรรมบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ในชุดจิตปรมัตถ์อ่ะครับ ประมาณช่วงแผ่นกลางๆ ไม่แน่ใจว่าตอนไหน แต่มีกล่าวถึงเรื่องนี้เหมือนกัน ซึ่งท่านอาจารย์ได้บรรยายว่า ในสมัยนั้นพระอินทร์บรรลุพระโสดาบันแล้ว

ขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 15 ม.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ท้้าวสักกะได้มาถวายบิณฑบาตทานแก่พระมหากัสสปะเถระเพราะกลิ่นของคุณความดีของท่านพระมหากัสสปะ กลิ่นของศีล กลิ่นของคุณความดี เป็นสิ่งที่เลิศ เป็นสิ่งที่ประเสริฐ ย่อมฟุ้งไปโดยรอบ ซึ่งเมื่อได้ถวายทานแก่พระมหากัสสเถระแล้ว ได้เหาะขึ้นไปพร้อมกับเปล่งอุทาน ๓ ว่า "ทานที่เป็นทานอย่างเยี่ยม เราได้ตั้งไว้ดีแล้วในท่านพระกัสสปะ" พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสว่า ท้าวสักกะมาถวายบิณฑบาตแก่พระมหาปัสสปะเพราะกลิ่นของศีล

สำหรับข้อความที่แสดงถึงท้าวสักกะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระโสดาบัน ปรากฏอยู่ในสักกปัญหสูตร

[เล่มที่ 14] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๒ หน้าที่๑๔๓

ครั้งนั้นแล ท้าวสักกะผู้จอมเทพได้ทรงลูบคลำแผ่นดินด้วยฝ่าพระหัตถ์ (เพื่อเป็นพยาน) แล้ว ได้ทรงอุทาน ๓ ครั้งว่า

นะโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

นะโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

นะโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[๒๗๒] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไวยากรณ์นี้จบลง ธรรมจักษุ (ดวงตาเห็นธรรม) อันปราศจากธุลี ไม่มีมลทิน ได้เกิดขึ้นแล้วแก่ท้าวสักกะผู้จอมเทพว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีอันเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมด มีอันดับไปเป็นธรรมดา อนึ่ง ธรรมจักษุเช่นนั้น ได้เกิดขึ้นแก่เทพดาเหล่าอื่นแปดหมื่นองค์ด้วย.

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 15 ม.ค. 2556

เรียน ความเห็นที่ 4 ครับ

จากที่ผู้ถามได้ถามว่า พระอินทร์บรรลุธรรมตอนไหน ซึ่งผู้ถามเข้าใจว่า เมื่อได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าครั้งแรกก็บรรลุธรรม จึงได้ยกข้อความใน อรรถกถา สักกปัญหสูตร อันเป็นพระสูตรที่พระอินทร์ถามปัญหาธรรมกับพระพุทธเจ้าและได้บรรลุธรรม ซึ่งข้อความในอรรถกถา อธิบายพอสรุปได้ดังนี้ ครับ

อรรถกถาอธิบายว่า พระอินทร์เหตุไรจึงเกิดความอุตสาหะ อยากเฝ้าพระพุทธเจ้าเหตุเพราะกลัวความตาย เพราะพระองค์รู้ว่าจะต้องจุติ คือ ตายจากการเป็นพระอินทร์ กลัวจะพลัดพรากจากสมบัติที่ตนเองมีอยู่ จึงปรารถนาไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ที่จะเป็นที่พึ่ง ซึ่งอรรกถาได้อธิบายว่า ก็พระอินทร์ไม่เคยเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้ามาก่อนหรือ

คำตอบ คือ เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้ามาก่อนหน้านี้หลายๆ ครั้งแล้ว เพราะท่านป็นผู้ไม่ประมาท แต่ตัวท่านก็ยังไม่บรรลุ (เพราะความจริงบรรลุเป็นพระโสดาบันในพระสูตรนี้เข้าเฝ้าครั้งนี้)

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า พระอินทร์ไม่ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันจากการเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าในครั้งแรกและครั้งต่อๆ มาด้วย อีกหลายครั้งที่เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าตามที่ได้กล่าวมาและข้อความอรรถกถาได้อธิบายไว้ ครับ

พระอินทร์ได้บรรลุในการที่ท่านจะต้องจุติ จึงเกิดความกลัว เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าถามปัญหาธรรม และ เมื่อได้ฟังพระธรรมก็บรรลุเป็นพระโสดาบัน เกิดเป็นท้าวสักกะองค์ใหม่ทันที ครับ

ขออนุโมทนา

[เล่มที่ 14] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 144

อรรถกถาสักกปัญหสูตร

บทว่า อุสฺสุกฺก อุทปาทิ คือ เกิดความอุตสาหะที่ประกอบด้วยธรรมขึ้น ถามว่า ก็แลท้าวสักกะนั้นก็ทรงเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ามาบ่อยแล้วมิใช่หรือ มีประชุมเทวดากันที่ไหนนั้น ก็ไม่ใช่ว่าท้าวสักกะนี้ไม่เคยเสด็จมา ขึ้นชื่อว่าเทวบุตรขนาดท้าวสักกะอยู่อย่างประมาทก็ไม่มี เมื่อเป็นเช่นนั้น ทำไม ท้าวสักกะนั้นจึงทรงเกิดความอุตสาหะเหมือนผู้ไม่เคยมาเฝ้าพระพุทธเจ้าเล่า ตอบว่า เพราะถูกความกลัวตายคุกคามเอา.

นัยว่า สมัยนั้น พระชนมายุของท้าวเธอหมดแล้ว ท้าวเธอได้ทรงเห็นบุพนิมิตรห้าประการ ทรงทราบว่า บัดนี้เราหมดอายุแล้ว ก็เครื่องหมายความตายปรากฏแก่เทวบุตรเหล่าใด ในเทวบุตรเหล่านั้น พวกใดเกิดในเทวโลกด้วยบุญกรรมเล็กน้อย พวกนั้นก็ย่อมถึงความหวาดสะดุ้งเพราะความกลัวว่า คราวนี้เราจักเกิดที่ไหนหนอ พวกใดได้เตรียมป้องกันภัยที่น่าสะพึงกลัวไว้ทำบุญไว้มากเกิดแล้ว พวกนั้นคิดว่า เราอาศัยทานที่ตนได้ให้ ศีลที่รักษาไว้ และภาวนาที่ได้อบรมไว้แล้ว จักเสวยสมบัติในเทวโลกชั้นสูง ย่อมไม่กลัว ส่วนท้าวสักกเทวราชเมื่อได้ทรงเห็นบุพนิมิตร ก็ทรงมองดูสมบัติทั้งหมดอย่างนี้ว่า เทพนครหมื่นโยชน์ ประสาทไพชยันต์สูงพันโยชน์ สุธรรมาเทวสภาสามร้อยโยชน์ ต้นมหาปาริฉัตรสูงร้อยโยชน์ หินปัณฑุกัมพลหกสิบโยชน์ นางฟ้อนยี่สิบห้าโกฎิ เทพบริษัทในสองเทวโลก สวนนันทน์ สวนจิตรลดา สวนมิสสกะ สวนปารุสก์ แล้วก็ทรงถูกความกลัวครอบงำว่า ท่านเอ๋ย สมบัติของเรานี้จักฉิบหายหนอ ต่อไปก็ทรงมองดูว่ามีใครบ้างไหมหนอ ไม่ว่าเป็นสมณะ เป็นพราหมณ์ หรือมหาพรหมผู้เป็นพระบิดาของโลก ที่พึงถอนลูกศรคือความโศกที่อาศัยหัวใจเราแล้วทำให้สมบัตินี้มั่นคงได้ เมื่อทรงมองใครๆ ก็ไม่เห็น ก็ทรงเห็นอีกว่า มีแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่ทรงสามารถถอนความโศกศัลย์ที่เกิดแก่เทพทั้งหลายเช่นเรา แม้ตั้งแสนได้ ต่อมาโดยสมัยนั้นแล ความขวนขวายเพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้เกิดขึ้นแก่ท้าวสักกะจอมทวยเทพผู้ทรงพระดำริอยู่อย่างนี้

เชิญคลิกฟังเรื่อง ปัญหาท้าวสักกะ ที่พระอินทร์บรรลุธรรมได้ที่นี่ ครับ

ท้าวสักกะ ๕

ท้าวสักกะ ๖

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
นิรมิต
วันที่ 15 ม.ค. 2556

กราบขอบพระคุณ อ.ผเดิม และ อ.คำปั่น และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
นิรมิต
วันที่ 16 ม.ค. 2556

ขออนุญาตเรียนถามเพิ่มเติมอีกสักคำถามครับ

พอดีได้อ่านพระสูตรเต็มๆ ของสมัยที่ท้าวสักกะบรรลุธรรม มีข้อความบางตอนที่ขอกราบเรียนถามเพื่อความกระจ่าง ครับ คือในช่วงที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสตอบปัญหาของท้าวสักกะ ในเรื่องของปปัญจธรรมที่ทรงแสดงว่าโสมนัส โทมนัส อุเบกขา ทรงแยกเป็น 2 คือที่ควรเสพก็มี และที่ไม่ควรเสพก็มีอยากขอเรียนถามว่า ปปัญจธรรม คืออะไร และ โทมนัสที่ควรเสพ คือโทมนัสที่ยังกุศลให้เจริญ คือโทมนัสอย่างไร แบบใด

ขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
paderm
วันที่ 16 ม.ค. 2556

เรียน ความเห็นที่ 8 ครับ

โทมนัสที่ไม่ควรเสพ คือ ความรู้สึกไม่สบายใจ อันจะทำให้อกุศลเจริญ กุศลเสื่อม เช่น การคิดถึง กามคุณ ๕ มี รูป เสียง เป็นต้น ที่ตนเองพลัดพราก ไม่ได้ ก็เกิดความรู้สึกไม่สบายใจ และ นำมาซึ่งอกุศลประการอื่นๆ เจริญขึ้น โทมนัสที่อาศัยเรือน คือ อาศัยกามคุณ ๕ เกิดความทุกข์ฬจ ความทุกข์ใจนั้นไม่ควรเสพ โทมนัสที่ควรเสพ คือ ความรู้สึกไม่สบายใจ อันจะเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลเจริญขึ้นควรเสพ เช่น เป็นผู้อาศัย ธรรมที่ได้เข้าใจ ปรารถนาเข้าใจมากขึ้น เกิดทุกข์ใจที่ยังไม่ได้ ความเข้าใจมากขึ้น จากความคิดนั้น แต่ก็เพียรพยายาม ทำให้เกิดกุศลจิตเจริญ ความทุกข์ใจอาศํยเนกขัมมะนี้ ควรเจริญ อันจะเป็นไปเพื่อทางออกจากทุกข์ ครับ

ปปัญจธรรม คือ กิเลสอันเป็นธรรมเครื่องเนิ่นช้า โดยมากทรงแสดงไว้ ๓ ประเภท คือ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ

ตัณหา จึงเป็นธรรมเครื่องเนิ่นช้า ทำให้ปัญญาไม่เจริญขึ้น หรือ แม้แต่ผู้ได้ยินได้ฟังธรรมมาบ้าง แต่เป็นผู้มีความหวัง มีความต้องการที่จะให้ได้ผลโดยเร็วจากการศึกษาพระธรรม นี่ก็เป็นเครื่องเนิ่นช้าด้วยเช่นกัน

มานะ (ความสำคัญตน) เป็นธรรมเครื่องเนิ่นช้าอีกประการหนึ่ง ไม่ให้ปัญญาเจริญขึ้นเพราะเหตุว่าเมื่อมีความสำคัญตน ย่อมไม่เข้าไปสอบถาม ไม่เข้าไปสนทนาธรรมกับท่านผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจสภาพธรรม ทำให้เป็นผู้หมดโอกาสในการเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น จึงเป็นธรรมเครื่องช้า ไม่เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญา

ทิฏฐิ (ความเห็นผิด) เป็นอกุศลเจตสิกที่เกิดร่วมกับโลภมูลจิต (ทิฏฐิคตสัมปยุตต์) ทำให้เป็นผู้มีความเห็นผิด ประการต่างๆ มีการยึดถือ ลูบคลำ ในข้อวัตรปฏิบัติที่ผิดซึ่งไม่เป็นหนทางที่เป็นไปเพื่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะมีความเห็นผิด มีการยึดถือในข้อวัตรปฏิบัติที่ผิด ความเข้าใจถูก เห็นถูกในสภาพธรรม ย่อมมีไม่ได้ ครับ

ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
wannee.s
วันที่ 16 ม.ค. 2556

ท้าวสักกะต้องการแสวงหาบุญจึงปลอมตัวลงมาทำบุญกับพระมหากัสสปะ.ส่วนเราเป็นมนุษย์จึงเป็นผู้ไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกประการค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
nong
วันที่ 16 ม.ค. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
jaturong
วันที่ 17 ม.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
นิรมิต
วันที่ 17 ม.ค. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
ทำดีทูเดย์
วันที่ 22 ม.ค. 2556
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
peem
วันที่ 9 มิ.ย. 2559

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
chatchai.k
วันที่ 30 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ