เรื่องของความดี - ศูนย์เด็กเล็กวัดซองกาเลีย อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี.

 
พุทธรักษา
วันที่  28 ธ.ค. 2555
หมายเลข  22247
อ่าน  3,891

ความเป็นมาของ "ศูนย์เด็กเล็กวัดซองกาเลีย" ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี บันทึกโดย คุณครูศุภชัย พลทิพย์ ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ปี ๒๕๔๗ ขณะที่ผู้เขียนสอนหนังสืออยู่ที่ "โรงเรียนบ้านเด็กป่า" ซึ่งเป็นโรงเรียน ที่ผู้เขียนร่วมกับเพื่อนชาวอังกฤษ ริเริ่มขึ้นมา เพื่อจัดการเรียนการสอนให้กับเด็กด้อยโอกาส เนื่องจากขณะนั้น การจัดการการศึกษาของรัฐยังไม่ครอบคลุมถึง ทำให้เด็กเหล่านี้ ซึ่งมีเป็นจำนวนมากในประเทศไทย ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามแนวตะเข็บชายแดน และ ในเมืองที่เป็นเมืองอุตสาหกรรม ที่มีแรงงานชาวต่างด้าวอาศัยอยู่ ซึ่งเด็กเหล่านี้ตกอยู่ในสถานะที่ไม่ได้รับการศึกษา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
พุทธรักษา
วันที่ 28 ธ.ค. 2555

เช้าวันหนึ่ง ขณะที่ผู้เขียนกำลังจะพาเด็กนักเรียนไปเรียนการทำบ้านดิน กับอาสาสมัครชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่บ้านเวียคะดี้ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองสังขละบุรีประมาณ ๒๐ ก.ม. ขณะที่กำลังรอรถสองแถวที่นัดหมายไว้มารับ คุณสุพจน์ (คุณพจน์ เจ้าของพนธ์นทีรีสอร์ท) ซึ่งเป็นเพื่อน ได้โทรศัพท์มาหา บอกว่า มีลูกค้ากลุ่มหนึ่ง ซึ่งเดินทางมาจากกรุงเทพฯ มีความประสงค์จะไปเยี่ยมโรงเรียน ที่ผู้เขียนและเพื่อนทำขึ้น ซึ่งคุณสุพจน์ ก็ไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน เพราะคุณสุพจน์เองก็ไม่เคยมาเยี่ยม เพียงแต่รู้ว่าผู้เขียนทำโรงเรียนให้เด็กๆ เท่านั้น ผู้เขียนจึงบอกกับคุณสุพจน์ว่า ไม่สะดวกในตอนนี้ เนื่องจากกำลังจะขึ้นรถพาเด็กๆ ไปเรียนการทำบ้านดิน แต่คุณสุพจน์ก็ยังพยายามพูดจาให้เหตุต่างๆ นานา ให้ผู้เขียนแวะไปพบกับลูกค้ากลุ่มนี้ ที่พนธ์นทีรีสอร์ทให้ได้ จนสุดท้าย ผู้เขียนรับปากว่าจะแวะเข้าไปพบ แล้วจะให้พี่วี (วีราวรรณพลทิพย์ (พี่สาว) ซึ่งในขณะนั้น ทำหน้าที่ดูแลเด็กที่ไม่สบาย ทั้งในโรงเรียนและตามหมู่บ้านต่างๆ ) เป็นคนพาลูกค้าของคุณสุพจน์ มาเยี่ยมเด็กๆ ที่โรงเรียน

พอรถมาถึง ผู้เขียนจึงได้เดินทางไปพนธ์นทีรีสอร์ทพร้อมทั้งเด็กๆ ที่จะไปเรียนการทำบ้านดิน เมื่อเดินทางไปถึง คุณพจน์จึงได้แนะนำตัวกับคณะของลูกค้า ที่บริเวณร้านอาหารของรีสอร์ท จำได้ว่า มีอยู่ประมาณ ๖-๗ ท่าน ซึ่งในกลุ่มท่านเหล่านั้น มีคุณดวงเดือน และ ท่านอาจารย์สุจินต์ รวมอยู่ด้วย เมื่อพบกัน จึงได้แนะนำตัวแล้วเรียนกับคณะว่า ไม่สะดวกที่จะพาไปโรงเรียนเอง แต่จะให้พี่สาวเป็นคนพาไป ซึ่งได้โทรศัพท์นัดพี่สาวไว้แล้ว หากผู้เขียนจำไม่ผิด น่าจะเรียนกับคุณดวงเดือน และเมื่อพี่สาวมาถึง ผู้เขียนจึงได้ลาคณะของคุณดวงเดือน แล้วเดินทางไปยังบ้านเวียคะดี้ เพื่อพาเด็กๆ ไปเรียนการทำบ้านดินตามแผน

ตอนเย็นหลังกลับจากโรงเรียนได้พบกับพี่วี พี่วีให้เบอร์โทรศัพท์ของคุณดวงเดือน ซึ่งฝากบอกมาว่า หากต้องการความช่วยเหลือเรื่องใด ให้โทรฯ ไปที่เบอร์นี้ ผู้เขียนจึงได้เก็บเบอร์โทรศัพท์ไว้ในกระเป๋าสตางค์ พร้อมทั้งได้จดบันทึกไว้ในสมุดบันทึกส่วนตัวหลังจากนั้น ๒-๓ วัน จึงได้เดินทางไปหาคุณพจน์ที่รีสอร์ท คุณพจน์ได้ถามถึงเรื่องที่คณะคุณดวงเดือนไปเยี่ยมที่โรงเรียน ผู้เขียนจึงเล่าให้คุณพจน์ฟัง และได้ทราบจากคุณพจน์ว่า ความตั้งใจเดิมของคณะคุณดวงเดือน ประสงค์จะไปเยี่ยมเด็ก ที่บ้านอุ่นรักของ "ดีดี้" ซึ่งเป็นหญิงสาวชาอิตาลีที่เข้ามาทำบ้านให้เด็กกำพร้า และทำโรงเรียนให้เด็กในมูลนิธิที่ตั้งขึ้นมา คุณพจน์ได้มีโอกาสคุยกับคุณดวงเดือน และได้เล่าเรื่องของผู้เขียนให้คุณดวงเดือนฟัง

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
พุทธรักษา
วันที่ 28 ธ.ค. 2555

ในขณะนั้น ผู้เขียนได้ทำโรงเรียน ซึ่งน่าจะใช้คำว่าห้องเรียน ดูจะเหมาะกว่า เพราะถูกสร้างขึ้นมาง่ายๆ จากวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น ไม้ไผ่ หญ้าแฝก เป็นต้น ไม่มีหน้าต่าง ไม่มีประตู ไม่มีแม้ห้องน้ำ สร้างขึ้นโดยการร่วมแรงของผู้ปกครองเด็ก ที่อยากให้ลูกได้เรียนภาษาไทย บางวันตกบ่ายๆ ก็นั่งเรียนตามใต้ต้นไม้ ลมพัดมาเอื่อยๆ กำลังดี บางวันก็ย้ายไปเรียนวาดรูปตามริมน้ำ ร้อนก็เล่นน้ำคลายร้อน เรียนในห้องเรียนที่เป็นป่าใหญ่ มีต้นไม้และพืชผักเป็นสื่อการเรียนการสอน ตกเย็นกลับบ้าน ยังมีผักที่เรียนในวันนั้นไปให้แม่ต้มจิ้มน้ำพริก หรือไม่ก็ผัดกินกันอร่อยไปทั้งบ้าน ได้ความรู้ทั้งผู้เรียนและผู้สอน

บางครั้ง ผู้เขียนก็เรียนรู้จากเด็ก บางครั้ง เราก็เรียนรู้จากคุณตาคุณยาย ที่มาช่วยสอน โรงเรียนของเรา ไม่มีเครื่องแบบ เพราะเสื้อผ้าที่ดี ไม่ได้ช่วยให้เราเป็นคนดี หรือ เรียนเก่งได้เลย แต่กลับเป็นอุปสรรคให้เด็กหลายร้อยหลายหมื่นคนไม่สามารถเดินเข้าสู่โรงเรียนได้ เพียงเพราะพ่อแม่ไม่สามารถหาเงินซื้อชุดนักเรียนให้ได้ โรงเรียนของเราไม่มีเวลาปิดเทอม เด็กอยากเรียนหรือพร้อมวันไหน ก็เดินเข้ามาได้ตลอด อาทิตย์หนึ่งจะมาเรียน ๔ วัน ช่วยพ่อเผาถ่านขาย ๒ วัน ไม่มีใครดุ เพราะเรารู้ว่าบางครั้ง เรื่องปากท้องของเด็กๆ และ ครอบครัว สำคัญกว่าเรื่องใด ท้องไม่อิ่ม แล้วจะเอาสมาธิที่ไหนมาเรียน อีกหน้าที่หนึ่งของผู้เขียน คือ ตามเด็กเหล่านี้ไปที่บ้าน แล้วคุยกับผู้ปกครอง ดูสภาพครอบครัว เรื่องข้าว เรื่องงาน สิ่งใดพอช่วยแบ่งเบาได้ ต้องรีบทำ สิ่งไหนเกินกำลังก็ปรึกษาเพื่อน ที่พอช่วยได้ ก็ช่วยกันไป

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
พุทธรักษา
วันที่ 28 ธ.ค. 2555

ตอนนั้นผู้เขียนทำห้องเรียนเช่นนี้ที่หมู่บ้านโจ่ดีพื่อ ที่ยโลไกล่ เตอปอง ไร่อ้อย และที่วัดเตาถ่าน จนมาถึงปลายปี ๒๕๔๗ จึงได้เริ่มเข้าไปทำที่วัดซองกาเลีย หลังจากที่มีชาวบ้านรู้ว่าผู้เขียนทำโรงเรียนให้เด็กๆ แล้วเห็นว่าผู้เขียนทำจริงๆ จึงมาพบแล้วเล่าให้ฟังว่า ที่หมู่บ้านซองกาเลียยังมีเด็กอีกเป็นจำนวนมากไม่ได้เรียนหนังสือ เนื่องจากพ่อแม่ไม่ใช่คนไทย ไม่มีบัตร ลูกจึงเข้าเรียนไม่ได้ ผู้เขียนจึงรับปากว่าจะเข้าไปดู หลังจากนั้น เมื่อผ่านไปสอนหนังสือที่วัดเตาถ่าน จึงได้ไปพบพระและชาวบ้าน ที่วัดซองกาเลีย ท่านเจ้าอาวาสยังพูดกับผู้เขียนว่า "จะเอาจริงหรือ โยมชัย ก.ศ.น. (ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนสังขละบุรี) เคยมาสอน สุดท้าย มาสอนไม่นาน ก็ทิ้งเด็กๆ ไป"

ผู้เขียนรับปากท่านว่า จะทำ และ ถ้าหากทำแล้ว จะไม่ทิ้งเด็กๆ หลังจากนั้น ผู้เขียนได้เดินทางเข้าออกหลายรอบ เพื่อสำรวจข้อมูลของเด็ก เพื่อหาสถานที่ ไปคุยกับหลวงพ่อและชาวบ้าน คิดหาแหล่งเงินที่จะมาต่อเติมอาคารที่มีอยู่ซึ่งหลวงพ่ออนุญาตให้ใช้ แต่ท่านเองไม่มีกำลังที่จะทำให้ สุดท้าย ก็มานึกถึงเบอร์โทรศัพท์คุณดวงเดือนที่ให้ไว้ ผู้เขียนเชื่อว่า หลายคนคิดเหมือนกันว่า หากเป็นไปได้ เราอยากเป็นผู้ให้ มากกว่าเป็นผู้ขอ หรือ เป็นผู้รับ โดยการเริ่มต้นของการขอ จะต้องหาเหตุผลที่ดี เขาจะอึดอัดใจไหม เขาจะเดือดร้อนเกินไหม ควรเริ่มต้นพูดอย่างไร ยิ่งไม่คุ้นเคย เห็นหน้าก็แว็บเดียว ยิ่งลำบากใจ แต่สุดท้ายก็ต้องลอง สำเร็จหรือไม่ ค่อยว่ากัน

ในที่สุด จึงได้โทรศัพท์ขอความช่วยเหลือจากคุณดวงเดือน ผู้เขียนยังจำได้ว่า หลังจากเรียนให้คุณดวงเดือนทราบแล้ว คุณดวงเดือนให้ผู้เขียนคิดค่าใช้จ่ายมา แล้วโทรฯ มาแจ้งให้ทราบ แล้วท่านจะช่วย เช้าวันรุ่งขึ้น หลังเสร็จจากการสอนที่วัดเตาถ่าน ผู้เขียนจึงแวะไปหาหลวงพ่อที่วัดซองกาเลีย รบกวนให้ท่านช่วยคิดค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าแรงงานในการก่อสร้าง เพราะตอนนั้น โรงเรียนมีแต่หลังคาและพื้น จึงต้องทำฝา ใส่หน้าต่างประตู ทำพื้นใหม่ รวมเบ็ดเสร็จ ต้องใช้เงินทั้งหมด ๗๐,๐๐๐ บาท จึงกลับมาเรียนให้คุณดวงเดือนทราบ ท่านก็เมตตาโอนเงินให้ ผู้เขียนจึงนำเงินไปให้หลวงพ่อเพื่อใช้ซื้อวัสดุก่อสร้าง หาช่างมาทำ ไปติดต่อนำเข้าหน้าต่าง ประตู พร้อมวงกบ จากประเทศพม่า โดยขอความอนุเคราะห์จากเจ้าหน้าที่ทหาร

เบื้องต้น เจ้าหน้าที่ทหาร กลัวว่าผู้เขียนจะนำวัดมาแอบอ้าง จึงต้องพามาดูสถานที่ก่อสร้างที่วัด และใช้เวลาหลังจากสอนนักเรียนที่วัดเตาถ่าน ตอนช่วงกลับบ้าน แวะมาดูงาน คุยกับหลวงพ่อ จนในที่สุดโรงเรียนจึงเสร็จ และเปิดสอนในวันที่ ๑๖ พ.ค. ๒๕๔๘ โดยมีครูเสาร์วันดี ทะเกิงกุล (ครูลิโหล่) เป็นครูสอน มีเด็กนักเรียน ๖๔ คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กกะเหรี่ยง ที่เหลือ เป็นพม่าและมอญ ที่ผู้ปกครองไม่มีเอกสารใดๆ บนพื้นฐานและหลักการเดิม คือ ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ไม่มีวันปิดรับสมัครเข้าเรียน เด็กๆ สะดวกเรียนวันไหน ก็มาบอกครูได้ ไม่มีเครื่องแบบนักเรียน มีอาหารกลางวันให้ทานฟรี โดยเด็กๆ นำข้าวมาเอง หากไม่มีก็รับที่วัด ซึ่งหลวงพ่อท่านเมตตาให้สามเณรเก็บไว้ให้

ช่วงปีแรกที่ผู้เขียนไปเยี่ยม พบเด็กบางคนมาโรงเรียน มีแต่เสื้อ ไม่มีกางเกง บางคนมีกางเกง แต่ไม่มีเสื้อ ผู้เขียนจะแวะเข้าไปเยี่ยมอาทิตย์ละครั้ง ครูลิโหล่จะเรียกผู้เขียนว่า "พี่ชัย" ส่วนเด็กๆ จะเรียกว่า "ครูพี่ชัย" ฟังดูก็น่ารักดี "ศูนย์เด็กเล็กวัดซองกาเลีย" ได้รับเงินช่วยเหลือค่าอาหารกลางวัน และ เงินค่าตอบแทนครูพี่เลี้ยง จากคุณดวงเดือน นับตั้งแต่วันที่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน (ปีการศึกษา ๒๕๕๕) นับเป็นเวลา ๘ ปีแล้ว ปัจจุบันมีเด็กมากกว่า ๔๐๐ ชีวิต ที่เริ่มการศึกษาขั้นพื้นฐานจากที่นี่

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
พุทธรักษา
วันที่ 28 ธ.ค. 2555

นอกจากนี้ ทางคุณดวงเดือนยังได้ให้ความช่วยเหลือ มอบโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กที่จบจากศูนย์เด็กเล็กวัดซองกาเลีย โดยการส่งเสียให้เรียนต่อ ในระดับประถมศึกษา ดูแลค่าใช้จ่ายในการศึกษาทุกๆ ด้าน พร้อมทั้งยังมอบค่าขนม ในการไปโรงเรียนทุกเดือน โดยคัดเลือกเด็กที่มาจากครอบครัวที่ยากจนแต่มีความประพฤติดี ในปัจจุบันมีทั้งหมด ๖ คน เป็นเด็กชาย ๓ คน เป็นเด็กหญิง ๓ คน นับเป็นความโชคดี ที่เด็กๆ เหล่านี้ได้พบกับคุณดวงเดือน ทำให้เริ่มมองเห็นอนาคต นอกจากนี้ ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ของทุกๆ ปี คุณดวงเดือนและคณะโดยการนำของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ยังได้ให้ความเมตตา เดินทางไกลจากกรุงเทพฯ เพื่อมาเยี่ยมเด็กๆ และครอบครัว รวมทั้งชาวบ้าน และ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ที่ปฏิบัติหน้าที่ปกป้องผืนป่าตะวันตก ซึ่งเป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของประเทศเราในขณะนี้ ชาวบ้าน และเด็กๆ บางคน ต้องเดินทางออกจากป่าล่วงหน้า โดยการเดินเท้าออกมา ต้องใช้เวลาเดินป่าหลายชั่วโมง

นอกจากมาเยี่ยม ไถ่ถามสารทุกข์ ยังนำอุปกรณ์การเรียน อุปกรณ์กีฬา ยารักษาโรค จากคุณหมอแสนใจดี (คุณหมอพัชรินทร์) เกลือ กะปิ เสื้อผ้า รวมทั้งของใช้สำหรับเจ้าหน้าที่ เช่น เครื่องสูบน้ำ เครื่องตัดหญ้า กล้องถ่ายรูปดิจิตอล เป็นต้น คุณดวงเดือน ยังเมตตาให้จัดอาหารกลางวัน ให้ผู้ที่เดินทางมาได้ทาน ซึ่ง รายการอาหารประกอบด้วย ก๋วยเตี๋ยวรสเด็ดสูตรของหมู (ภรรยาของผู้เขียนเอง) ไอศครีมกะทิแสนอร่อย ที่สอดไส้มาในขนมปังแสนนุ่ม น้ำกระเจี๊ยบเย็นชุ่มคอ ดับกระหายนอกจากนี้ ยังมีขนมและผลไม้ ที่ทางคณะเตรียมมา ซึ่งในทุกๆ ปี คุณดวงเดือน มักจะย้ำอยู่เสมอ ว่า "ให้ทุกๆ คน ทานให้อิ่ม อย่าให้ขาด เหลือไม่เป็นไร" นับเป็นความห่วงใยที่ปลุกให้ผู้เขียนต้องทำความดีให้มากยิ่งขึ้น ก่อนเดินทางกลับ เด็กๆ จะจัดการแสดงและร้องเพลง เพื่อเป็นการตอบแทนให้ทางคณะที่มาเยี่ยม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนมีความสุขก่อนลาจากกัน แล้วรอที่จะได้กลับมาพบกันในสถานที่เดิม นับเป็นความเมตตา เป็นบุญที่ยิ่งใหญ่ที่ทำให้หลายชีวิตของเด็กที่ด้อยโอกาส ได้มีอนาคตที่ดีขึ้น

จากที่เคยตื่นขึ้นมาแล้วไม่รู้ว่าชีวิตจะดำเนินไปอย่างไร แต่วันนี้ พอตื่นมาก็กลับรู้ว่า จะขับเคลื่อนชีวิตไปอย่างไร มีกำลังใจที่ส่งผ่านความรักความห่วงใย และไม่กลัวที่จะล้ม เพราะมีคนๆ หนึ่ง ที่จะคอยปลอบและยื่นมือมาฉุดเขา ให้ลุกขึ้นสู้ เด็กๆ หลายคนเคยโดดเดี่ยว แต่วันนี้ เขาเหล่านั้นรู้ว่าเขาไม่เดียวดาย ทั้งหมดนี้ คือ "คุณประโยชน์ของศูนย์เด็กเล็กวัดซองกาเลีย" ที่เริ่มจากคุณดวงเดือน บารมีธรรม ที่หยิบยื่นโอกาสให้แก่อีกหลายร้อยหลายพันคนได้มีอนาคตที่ดีขึ้นสำหรับผู้เขียนเอง ได้พูดกับตนเองและครอบครัวเสมอ ว่า "การได้พบกับคุณดวงเดือน บารมีธรรม นับเป็นมงคลของชีวิต" และให้ปณิธานกับตนเองว่า ตราบที่ยังมีลมหายใจ จะทำความดีโดยการช่วยเหลือผู้อื่นเช่นนี้ จนกว่านาฬิกาของชีวิตจะดับลง ศุภชัย พลทิพย์ เขียนที่บ้านสังขละบุรี วันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๕

... สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๖ ...

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 29 ธ.ค. 2555

ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 29 ธ.ค. 2555

อันความเมตตาปรานี จะมีใครบังคับก็หาไม่ ย่อมหลั่งมาเองดั่งฝนอันชื่นใจ จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน ...

เป็นเรื่องราวดีๆ ของผู้ที่มีเมตตากรุณา สำหรับเริ่มวันปีใหม่นี้ครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนากับท่านอาจารย์ดวงเดือน และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกๆ ท่าน ด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
khampan.a
วันที่ 29 ธ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบอนุโมทนาในกุศลของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ท่านอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม

และขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณพุทธรักษาและทุกๆ ท่านด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
เมตตา
วันที่ 29 ธ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ท่านจะพร่ำสอนเสมอๆ ว่า ความดี ดีเท่าไหร่ก็ไม่พอ ต้องเข้าใจธรรมด้วย

กราบอนุโมทนาในกุศลของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ท่านอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม

และขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณพุทธรักษาและทุกๆ ท่านด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
เซจาน้อย
วันที่ 29 ธ.ค. 2555

นับเป็นเรื่องราวดีๆ ของผู้ที่มีเมตตากรุณา สำหรับเริ่มวันปีใหม่นี้ครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตกับท่านอาจารย์ดวงเดือน

และขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณพุทธรักษาและทุกๆ ท่านด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ธนัตถ์กานต์
วันที่ 29 ธ.ค. 2555

กราบอนุโมทนาในกุศลของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ท่านอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม

และขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณพุทธรักษาและทุกๆ ท่านด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
tookta
วันที่ 29 ธ.ค. 2555

รู้สึกดีใจกับเด็กๆ ทุกคนที่ได้รับการอุปถัมภ์จากผู้ใหญ่ใจดีทุกๆ ท่าน และขออนุโมทนา กับกุศลจิตของทุกๆ ท่านที่มีความเมตตากับเด็กเหล่านั้นด้วยนะคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
สิริพรรณ
วันที่ 14 ก.ค. 2557

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
Nataya
วันที่ 25 เม.ย. 2563

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ