สติเกิดมีลักษณะเป็นอย่างไร และความต่างของสติขณะตื่นและหลับ

 
natural
วันที่  23 พ.ย. 2555
หมายเลข  22086
อ่าน  3,597

ผู้ถามเข้าใจความหมายของสติเพียงว่า คือ รู้สึกตัวว่าทำอะไร คิดอะไร (ขณะตื่น) จึงอยากทราบเพิ่มเติมว่า ขณะเกิดสติมีอาการอย่างไร และประโยชน์ของการเกิดสติมีอะไรบ้าง

นอกจากนี้ยังเคยได้ยินข้อความ "การหลับอย่างมีสติ" ซึ่งในขณะตื่นก็ยังไม่ค่อยรู้สึกตัวเท่าไร ขณะหลับจะเกิดสติได้อย่างไร

จึงขอความกรุณาผู้รู้ อธิบายความหมายของการหลับอย่างมีสติว่าเป็นอย่างไร และช่วยแนะนำแหล่งความรู้ในพระไตรปิฎก ที่ช่วยให้เข้าใจในเรื่องดังกล่าวเพิ่มขึ้นด้วยค่ะ

* พอจะมีวิธีหาความรู้ จากสิ่งที่ไม่เข้าใจ ผ่านพระไตรปิฎกอย่างไร (ขั้นตอนการค้นหาเรื่องที่สนใจ และการทำความเข้าใจกับศัพท์แต่ละคำ)

ขอบพระคุณอาจารย์และสหายธรรมทุกท่านเป็นอย่างสูง ที่กรุณาช่วยเพิ่มความเข้าใจในทุกๆ ครั้งที่ผ่านมาค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 23 พ.ย. 2555

คำว่า สติ ตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า คือ มีลักษณะระลึกได้ สติเป็นธัมมะฝ่ายโสภณธรรม เมื่อเกิดขึ้นย่อมเกิดร่วมกับจิตที่ดีงาม (โสภณจิต) เท่านั้น คือขณะที่เป็นไปในเรื่อง ทาน ศีล และภาวนา ขณะที่จิตเป็นอกุศลไม่มีสติเกิดร่วมด้วย แต่ภาษาทางโลกที่ใช้เรียกกัน มีความหมายไม่ตรงกับสภาวธรรมตามความเป็นจริง สติเป็นธรรมฝ่ายดี มีประโยชน์มาก เมื่ออบรมสะสมจนมีกำลังมากขึ้น เป็นสติปัฏฐาน เป็นอินทรีย์ เป็นพละ เป็นโพชฌงค์ เป็นอริยมรรค ย่อมทำลายอกุศลที่สะสมมานานแล้วได้ครับ

อนึ่งคำว่า หลับมีสติ ท่านหมายถึง ขณะก่อนที่จะหลับ มีสติ

ขอเชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่

ขอให้อธิบายความหมายของ คำว่า สติ

สติสัมปชัญญะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
pornchai.s
วันที่ 23 พ.ย. 2555

ความรู้ความเข้าใจพระธรรมจากพระไตรปิฎก จะเกิดจากการฟังหรือการอ่านข้อความที่ทำให้เราเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่ปรากฏในชีวิตประจำวันครับ ขอยกข้อความจาก ชมรมบัานธัมมะ มศพ. (ภาษาบาลีสัปดาห์ละคำล่าสุด)

เรื่องการฟังธรรมมาแสดงตามข้อความด้านล่างครับ

ธรรมในแนวทางที่ถูกต้อง ตรงตามพระธรรม ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นเรื่องที่ละเอียด ลึกซึ้ง ยาก แต่ไม่เหลือวิสัย สําหรับผู้ที่มีความตั้งใจ จริงใจ มีความเพียร อดทนที่จะฟัง ที่จะศึกษา และผู้ที่เห็นคุณประโยชน์ ย่อมให้เวลากับพระธรรม และแต่ละคน ที่จะฟังได้ มากบ้าง น้อยบ้าง ก็เป็นไปตามอุปนิสัยที่ได้สะสมมา แตกต่างกันไป แต่เมื่อเป็นผู้ใคร่ในการฟังธรรมอยู่เสมอ ตั้งใจฟังไปเรื่อยๆ ศึกษาไปเรื่อยๆ แม้จะยากในตอนแรก ก็ต้องเข้าใจได้มากยิ่งขึ้นในเวลาต่อมาอย่างแน่นอน

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้กล่าวเตือนไว้อย่างชวนให้คิดตาม ถึงการมีชีวิตเป็นปกติ กับการฟังพระธรรมไว้ดังนี้ "ไม่ว่าเราจะทำงาน ไปเที่ยว ดูหนัง ฟังเพลง ฯลฯ แต่ขออย่างเดียวอย่าขาดการฟังธรรม เพราะว่าพระธรรม เปรียบเหมือนเชือกที่ดึงเราขึ้นมาจากเหวลึก คือ อวิชชา ค่ะ" เพราะการฟังพระธรรม เป็นการฟังในสิ่งที่ประเสริฐที่สุดในชีวิต ยิ่งกว่าการฟังเสียงอื่นใด เป็นเหตุให้ปัญญาเจริญ โดยต้องอาศัยการฟังจากกัลยาณมิตร ผู้มีปัญญา พร้อมทั้งมีการศึกษาพิจารณาไตร่ตรองในเหตุในผลของธรรม ด้วยปัญญาของตนเอง และเมื่อไม่ขาดการฟังพระธรรม ให้เวลากับพระธรรม ก็จะเป็นผู้มีปกติสะสมความเข้าใจถูก เห็นถูก ไปตามลำดับ โดยไม่ต้องไปหาทางลัดใดๆ เพราะการทำเช่นนั้น จะเป็นเครื่องกั้นการเจริญขึ้นของปัญญา เพราะธรรมที่แท้จริง ไม่ง่าย ถ้าไปทำอะไรที่ผิดปกติ ที่คิดว่าเป็นหนทางที่ง่าย สิ่งนั้นก็คือ ความเห็นผิด และความไม่รู้

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 24 พ.ย. 2555

สติ ไม่ได้หมายความว่า การรู้ว่าทำอะไร เพราะการรู้ว่าทำอะไร รู้ด้วยอกุศลก็ได้ ดังในอรรถกถาสติปัฏฐานสูตร แสดงไว้ว่า การรู้ว่ากำลังเดิน กำลังยืนอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นการเจริญสติปัฏฐาน เพราะแม้สุนัขบ้านก็รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ เพราะฉะนั้น หาใช่มีสติที่ประเสริฐ ในพระพุทธศาสนา การมีสติต้องเกิดพร้อมกับปัญญาที่รู้ความจริงของสภาพธรรมและมีสติที่ระลึกในตัวสภาพธรรมนั้นครับ เพราะฉะนั้น หากไม่ได้ศึกษาธรรม ย่อมจะคิดเองว่าสติเป็นอย่างนี้

ส่วนประโยชน์ของสติ สติเป็นธรรมที่กั้นกระแสกิเลส เมื่อใดสติเกิดขึ้นย่อมทำให้อกุศลไม่เกิด กั้นกระแสของกิเลสในขณะนั้น และเป็นธรรมที่ทำให้กุศลเจริญขึ้น เพราะเมื่อใดสติเกิด ย่อมระลึกเป็นไปในกุศลประการต่างๆ และสติปัฏฐานที่เกิดขึ้นที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมย่อมทำให้ถึงการดับกิเลสได้ในที่สุดครับ ซึ่งก็จะต้องเริ่มจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ปัญญาที่เจริญขึ้นย่อมเกื้อกูลให้สติเจริญขึ้นด้วยครับ

ส่วนการอ่านพระไตรปิฎกเพิ่มเติม สามารถอ่านได้ในส่วนต่างๆ ซึ่งสามารถอ่านได้ในเว็บนี้ หมวดพระไตรปิฎก ส่วนคำศัพท์แต่ละคำ สามารถอ่านในกระดานสนทนา ในหมวด ธัมมนิเทสส ได้ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
natural
วันที่ 26 พ.ย. 2555

ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 28 พ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขณะที่กุศลจิตเกิดขึ้นเป็นไป จะไม่ปราศจากสติเลย เพราะสติเป็นสภาพธรรมที่ระลึกเป็นไปในกุศลธรรม ซึ่งจะตรงกันข้ามกับขณะที่เป็นอกุศลอย่างสิ้นเชิง เพราะขณะที่อกุศลเกิดขึ้นเป็นไปนั้นไม่มีสติเกิดร่วมด้วย สติจะไม่เกิดร่วมกับอกุศลจิต ความจริงเป็นอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น ผู้ที่สะสมอุปนิสัยมาดี สะสมกุศลและความเข้าใจพระธรรม แม้ก่อนที่จะหลับ สติของท่านก็ย่อมจะเกิดขึ้นเป็นไปในกุศลได้ เช่น ไตร่ตรอง พิจารณาถึงพระธรรมที่ได้ยินได้ฟังด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง เป็นต้น ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nopwong
วันที่ 28 พ.ย. 2555

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
rrebs10576
วันที่ 30 พ.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 8 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ