เธอทั้งหลายย่อมเป็นผู้ปฏิบัติพลาด

 
พิมพิชญา
วันที่  16 ต.ค. 2555
หมายเลข  21902
อ่าน  1,291

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ ๔๑๗

กีฎาคีรีสูตร (ภิกขุวรรค) ข้อ ๒๓๘

ว่าด้วยการตั้งอยู่ในอรหัตตผล

" ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวการตั้งอยู่ในอรหัตตผลด้วยการไปครั้งแรกเท่านั้นหามิได้ แต่การตั้งอยู่ในอรหัตตผลนั้น ย่อมมีได้ด้วยการศึกษาโดยลำดับ ด้วยการทำโดยลำดับ ด้วยความปฏิบัติโดยลำดับ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็การตั้งอยู่ ในอรหัตตผลย่อมมีได้ด้วยการศึกษาโดยลำดับ ด้วยการทำโดยลำดับ ด้วยความปฏิบัติโดยลำดับ อย่างไร?

ดูกรภิกษุทั้งหลายกุลบุตรในธรรมวินัยนี้เกิดศรัทธาแล้ว ย่อมเข้าไปใกล้ เมื่อเข้าไปใกล้ ย่อมนั่งใกล้ เมื่อนั่งใกล้ ย่อมเงี่ยโสตลง เมื่อเงี่ยโสตลงแล้ว ย่อมฟังธรรม ครั้นฟังธรรม ย่อมทรงธรรมไว้ ย่อมพิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงไว้แล้ว เมื่อพิจารณาเนื้อความอยู่ ธรรมทั้งหลาย ย่อมทนได้ซึ่งความพินิจ เมื่อธรรมทนความพินิจได้อยู่ ฉันทะย่อมเกิด เมื่อเกิดฉันทะแล้ว ย่อมอุตสาหะ ครั้นอุตสาหะแล้ว ย่อมไตร่ตรอง ครั้นไตร่ตรองแล้ว ย่อมตั้งความเพียร เมื่อมีตนส่งไปแล้ว ย่อมทำให้แจ้งชัด ซึ่งบรมสัจจะ ด้วยกาย และย่อมแทงตลอด เห็นแจ้งบรมสัจจะนั้นด้วยปัญญา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ศรัทธาก็ดี การเข้าไปใกล้ก็ดี การนั่งใกล้ก็ดี การเงี่ยโสตลงก็ดี การฟังธรรมก็ดี ความพิจารณาเนื้อความก็ดี ธรรมอันทนได้ซึ่งความพินิจก็ดี ฉันทะก็ดี อุตสาหะก็ดี การไตร่ตรองก็ดี การตั้งความเพียรก็ดี นั้นๆ ไม่ได้มีแล้ว เธอทั้งหลายย่อมเป็นผู้ปฏิบัติพลาด ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติผิด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย โมฆบุรุษเหล่านี้ ได้หลีกไปจากธรรมวินัยนี้ ไกลเพียงไร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
พิมพิชญา
วันที่ 16 ต.ค. 2555

กราบเรียนขอคำอธิบายขยายความ จากการอ่านพระสูตรนี้

1. ธรรมทั้งหลายย่อมทนได้ซึ่งความพินิจ - ขอคำอธิบายอย่างละเอียดค่ะ

2. กุศลฉันทะเกิดมาจากธรรมทนความพินิจได้อยู่ และกุศลอุตสาหะ (วิริยเจตสิกที่ประกอบกับกุศลจิต) ก็เกิดมาจากกุศลฉันทะ กุศลวิริยะ ทำให้เกิดโยนิโสมนสิการ (ไตร่ตรอง) เมื่อไตร่ตรองย่อมตั้งความเพียร (ปรารภความเพียร) เข้าใจถูกต้องมั้ยคะ

3. เมื่อมีตน ส่งไปแล้ว ย่อมทำให้แจ้งชัด ซึ่งบรมสัจจะด้วยกาย - ขอคำอธิบายอย่างละเอียดค่ะ

4. "ด้วยการทำโดยลำดับ ด้วยความปฏิบัติโดยลำดับ" จากพระสูตรนี้ จะเห็นได้ว่า การฟังพระธรรม (ศึกษาพระธรรม) เพื่อเป็นปัจจัย ให้เกิดกิจของสภาพธรรมะ ที่จะทำหน้าที่และปฏิบัติกิจที่สมควรแก่สภาพธรรมะ ไม่มีตัวตนที่จะไปทำอะไรจริงๆ เข้าใจถูกต้องมั้ยคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 16 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

1. ธรรมทั้งหลายย่อมทนได้ซึ่งความพินิจ – ขอคำอธิบายอย่างละเอียดค่ะ

ซึ่ง ในพระไตรปิฎก อธิบาย ที่เป็นการเพ่งพินิจว่า หมายถึงปัญญา ที่สามารถจะเพ่ง เห็น ถึง ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ หากไม่มีปัญญาแล้ว ธรรมทั้งหลายที่กำลังปรากฏ ย่อมไม่ทน คือ ย่อมไม่สามารถให้โมฆบุรุษที่ไม่มีปัญญา สามารถรู้ได้เลย ครับ

อีกนัยหนึ่ง ธรรมทั้งหลายที่กำลังปรากฏ มีลักษณะไม่เปลี่ยนแปลง เห็น ก็ต้องเห็น ไม่ว่ากาลไหน เกิดกับใคร เสียงก็ต้องเป็นเสียง ไม่ว่าเกิดเวลาไหน กับใคร ธรรมทั้งหลายที่เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็น จิต เจตสิก รูป มีลักษณะเฉพาะตัว และ มีลักษณะที่เสมอกัน คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา ธรรมเหล่านี้มีลักษณะไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าเกิดกับใคร เวลาไหน เพราะฉะนั้น เมื่อมีลักษณะไม่เปลี่ยนแปลง ย่อมทนต่อการพิสูจน์ ด้วยปัญญา ทนด้วยเพราะมีลักษณะไม่เปลี่ยนแปลง ครับ

ที่สำคัญ ความเพ่งพินิจในที่นี้ คือ

ความเพ่งพินิจ เป็นความหมายของ ฌาน เป็นสภาพธรรมที่เพ่ง ซึ่งการเพ่งพินิจด้วยฌาน มี 2 อย่าง คือ

1. อารัมมณูปนิชฌาน การเข้าไปเพ่งอารมณ์ หมายถึง การเจริญสมถภาวนา ซึ่งองค์ของฌานทำกิจเพ่งอารมณ์ พร้อมกับสติสัมปชัญญะ ทำให้จิตสงบจากนิวรณ์ตามลำดับขั้น

2. ลักขณูปนิชฌาน การเข้าไปเพ่งสภาวะ หรือ เพ่งลักษณะของสภาพธรรม หมายถึง การเจริญวิปัสสนาภาวนา

ดังนั้น ธรรมทั้งหลายย่อมทนต่อการเพ่งพินิจ จึงหมายถึง ธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ย่อมทน คือ สามารถให้ปัญญาเกิดได้ ไม่ว่ากาละ เวลาไหน หากมีปัญญาแล้ว ธรรม ย่อมทนต่อการเพ่งพิสูจน์ คือ สามารถให้รู้ได้ เพราะ ปัญญาเกิดนั่นเอง เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องของปัญญาเป็นสำคัญ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 16 ต.ค. 2555

2. กุศลฉันทะเกิดมาจากธรรม ทนความพินิจได้อยู่ และกุศลอุตสาหะ (วิริยเจตสิกที่ประกอบกับกุศลจิต) ก็เกิดมาจากกุศลฉันทะ กุศลวิริยะ ทำให้เกิดโยนิโสมนสิการ (ไตร่ตรอง) เมื่อไตร่ตรองย่อมตั้งความเพียร (ปรารภความเพียร) เข้าใจถูกต้องมั้ยคะ

เมื่อพิจารณาธรรมด้วยปัญญา อันเป็นธรรมที่ พระพุทธเจ้า ทรงแสดง ที่ทนต่อการเพ่งพินิจ พิจารณา เมื่อเกิดปัญญา รู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนั้น ย่อมเกิดฉันทะ ความเป็นผู้ใคร่ที่จะศึกษา อบรมปัญญาในขณะจิตต่อไปด้วย และ อีกนัยหนึ่ง ย่อมเกิดฉันทะเจตสิก ที่เกิดพร้อมกับปัญญาในขณะนั้น และเกิดวิริยเจตสิกที่อุตสาหะพร้อมปัญญา และ ย่อมไตร่ตรอง เป็นชื่อของปัญญา คือ เป็นปัญญาระดับสูง ที่ไม่ใช่ขั้น คิดนึกเรื่องราว ซึ่งอรรถกถาอธิบายว่า เป็นการไตร่ตรองด้วยปัญญา ที่เห็นความจริงของสภาพธรรมที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา ที่เป็นวิปัสสนาญาณ และย่อมเกิดความเพียร ความเพียรในที่นี้ คือ วิริยเจตสิกที่เกิดมรรค คือ วิริยเจตสิกที่เกิดกับวิปัสสนาญาณ และรวมทั้ง วิริยเจตสิกที่เกิดกับมรรคจิต

3. เมื่อมีตนส่งไปแล้ว ย่อมทำให้แจ้งชัด ซึ่งบรมสัจจะด้วยกาย - ขอคำอธิบายอย่างละเอียดค่ะ

คำว่า ตนในที่นี้ หมายถึง ตน คือ จิต เจตสิก ที่สมมติเรียกกว่าตน มีตนส่งไป คือมี จิต เจตสิก ที่เกิดขึ้น รู้ความจริงที่เป็นบรมสัจจะ คือ พระนิพพาน ด้วยกาย คือ นามกาย ที่เป็น จิต เจตสิก นั่นก็คือ เกิด มรรคจิต ผลจิต ประจักษ์พระนิพพาน โดยไม่มีตัวเรามีตนที่ส่งไป แต่ เป็น จิต เจตสิก ที่เกิดขึ้น เป็นมรรคจิตที่ประจักษพระนิพพาน ที่เป็นบรมสัจจะ ครับ

4. "ด้วยการทำโดยลำดับ ด้วย ความปฏิบัติโดยลำดับ"

จากพระสูตรนี้ จะเห็นได้ว่าการฟังพระธรรม (ศึกษาพระธรรม) เพื่อเป็นปัจจัย ให้เกิดกิจของสภาพธรรมะที่จะทำหน้าที่ และปฏิบัติกิจที่สมควร แก่สภาพธรรมะ ไม่มีตัวตนที่จะไปทำอะไรจริงๆ เข้าใจถูกต้องมั้ยคะ

ถูกต้องครับ เพียงแต่บอกลำดับของการศึกษา ที่ต้องเป็นไปตามลำดับ เพียงแต่ว่า ลำดับที่เกิดขึ้น ก็เป็นการลำดับการปฏิบัติตามหน้าที่ของธรรม ที่เป็นธรรมปฏิบัติหน้าที่ไปตามลำดับ ไม่ใช่เรา ครับ ซึ่งหากไม่มีการเริ่มต้นที่ถูก คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ย่อมไม่ถึง การถึงบรมสัจจะได้เลย ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 16 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

- พระธรรม ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น มีความละเอียดลึกซึ้ง เพราะแสดงถึงสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ว่าจะเป็นพระสูตรใดก็ตาม ก็ไม่พ้นไปจากให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริง ตามความเป็นจริง

ธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่เปลี่ยนแปลงสภาพเป็นอย่างอื่น เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น สิ่งที่มีจริงๆ เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นยุคใดสมัยใด ความเป็นจริงของ ธรรม ไม่เคยเปลี่ยน แต่ก็จำกัดเฉพาะ บุคคลผู้ที่สะสม เหตุ ที่ดีมาแล้ว เห็นประโยชน์ ของความเข้าใจความจริง จึงจะมีโอกาสได้ฟัง ได้ศึกษา ได้เกิดปัญญา เป็นของตนเอง รู้สภาพธรรมที่มีจริง ตามความเป็นจริง ซึ่งจะต้องอาศัยการสะสมความเข้าใจถูก เห็นถูก ไปทีละเล็ก ทีละน้อยจริงๆ แต่บุคคลผู้ที่ไม่ได้ฟังพระธรรม ย่อมไม่สามารถที่จะ รู้ความจริงนี้ได้เลย แม้จะมี ธรรม เกิดขึ้น เป็นไป อยู่ตลอด ก็ไม่มีทางที่จะเข้าใจความเป็นจริงของธรรมได้เลยว่า เป็น ธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

- ฉันทะ ความพอใจ เกิดกับกุศลก็ได้ เกิดกับอกุศลก็ได้ เป็นธรรม ที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ถ้ามีความพอใจ ที่เป็นไป กับด้วยอกุศลธรรมประการต่างๆ ก็เป็นไป เพื่อความเสื่อมเท่านั้น ในทางตรงกันข้าม ถ้ามีความพอใจ ที่เป็นไป กับด้วยกุศล มีการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา เป็นต้น ก็ย่อมเป็นไป เพื่อความเจริญในกุศลธรรมเท่านั้น ในขณะนั้น โสภณธรรม ประการต่างๆ เกิดขึ้น ทำกิจหน้าที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฉันทะ ที่เป็นไป กับด้วยการอบรมเจริญปัญญา ย่อมเป็นเหตุ ให้ถึงความเจริญอย่างแท้จริง คือ สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น

- มี ตนส่งไปแล้ว แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป ในบางนัย แสดงถึง ความเป็นผู้มีความตั้งใจจริง มีความบากบั่นอย่างมั่นคง ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง ที่จะอบรมเจริญปัญญา ขัดเกลากิเลส จนกว่าจะถึงความดับหมดสิ้นไปในที่สุด

- ถ้าหาก ไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ตั้งแต่ในขั้นของปริยัติ คือรอบรู้ ในพระธรรมคำสอนแล้ว ก็ย่อมจะไม่มีเหตุปัจจัย ความเข้าใจถูก ในขั้นของปฏิปัตติ คือ การถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรม เกิดขึ้นเป็นไปได้ และเมื่อปฏิปัตติไม่มีแล้ว การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ที่เป็นขั้นของปฏิเวธ ก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะฉะนั้นแล้ว ความเจริญขึ้นของปัญญา ก็ต้องเป็นไปตามลำดับ ข้ามขั้นไม่ได้ ปัญญาจะมากได้ ก็มาจากการสะสมไปทีละเล็ก ทีละน้อย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 16 ต.ค. 2555

ธรรมไม่มีกาลเวลา ไม่ล้าสมัย ไม่ว่าในอดีตกาล ปัจจุบันและอนาต สามารถพิสูจน์ได้ ถ้าเข้าใจจริง ก็จะเข้าใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรม เป็นธาตุชนิดหนึ่ง เกิดแล้วดับ หาความเป็นสัตว์ บุุคคล ตัวตนไม่มี เพราะมี อวิชชา จึงหลงผิดว่ามีสัตว์ บุคคล ตัวตน ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
พิมพิชญา
วันที่ 18 ต.ค. 2555

ขอบพระคุณมากค่ะ ขออนุโมทนา สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
songjea
วันที่ 19 ต.ค. 2555

ขออนุโมทนากับผู้ถาม และผู้ตอบซึ่งกรุณาตอบอย่างละเอียดครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Nataya
วันที่ 24 พ.ค. 2563

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 24 พ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ