การทำบาปแห่งผู้รู้กับผู้ไม่รู้

 
mon-pat
วันที่  12 ต.ค. 2555
หมายเลข  21882
อ่าน  3,491

เรียนถามท่านคณาจารย์ทุกท่านครับ

ปัญหาที่ ๑๐

ถามถึงการทำบาปแห่งผู้รู้กับผู้ไม่รู้

“ข้าแต่พระนาคเสน สมมติว่ามีคน ๒ คน คนหนึ่งรู้จักบาป อีกคนหนึ่งไม่รู้จัก แต่กระทำบาปด้วยกันทั้งสองคน ข้างไหนจะได้บาปมากกว่ากัน?”

“ขอถวายพระพร ข้างไม่รู้จักได้บาปมากกว่า”

“ข้าแต่พระนาคเสน ราชบุตรของโยมหรือราชมหาอำมาตย์คนใดรู้ แต่ทำผิดลงไปโยมลงโทษแก่ผู้นั้นเป็นทวีคูณ”

“ขอถวายพระพร มหาบพิตรจะเข้าพระทัยความข้อนี้อย่างไร ... คือสมมติว่ามีคน ๒ คน จับก้อนเหล็กแดงเหมือนกัน คนหนึ่งรู้ว่าเป็นก้อนเหล็กแดง อีกคนหนึ่งไม่รู้ คนไหนจะจับแรงกว่ากัน?”

“ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า คนไม่รู้จับแรงกว่า”
“ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือผู้ไม่รู้บาปได้บาปมากกว่า” “ชอบแล้ว พระนาคเสน” ผู้ไม่รู้บาปได้บาปมากกว่า? สงสัยครับ

  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 13 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ในบุคคลสองคน คนหนึ่งรู้ว่าบาปแต่ก็กระทำบาป กับ อีกคนไม่รู้ว่าบาป แต่ก็ทำบาป เช่น ฆ่าสัตว์เหมือนกัน โดยทั่วไปแล้วก็มักเข้าใจว่า รู้แล้วยังทำ น่าจะบาปมากกว่า แต่ในความเป็นจริง การจะบาปมาก ไม่บาปมากหรือบาปน้อยนั้น สำคัญที่สภาพจิตเป็นสำคัญด้วยว่า ถ้าสภาพจิตเป็นอกุศลมากๆ ล้วนๆ ก็มีกำลังของกิเลสมาก ก็บาปมาก แต่ถ้าสภาพจิตขณะฆ่า ไม่ได้มีแต่อกุศลล้วนๆ แต่ก็มีกุศลสลับบ้าง ก็มีกำลังของกิเลสน้อยกว่าอกุศลล้วนๆ ก็บาปน้อยกว่าตามกำลังของกิเลสที่ต่างกัน

ดังนั้น ผู้ที่ทำบาป (เพราะมีความไม่รู้จึงทำบาป คือมีเจตนาฆ่า) คนที่ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดีเลย มีความไม่รู้มาก เมื่อทำบาปคือมีเจตนาฆ่า ย่อมเต็มไปด้วยอกุศลล้วนๆ เหมือนคนจับก้อนเหล็กแดงเต็มๆ ต่างกับคนที่รู้ผิดชอบชั่วดีบ้าง เมื่อกำลังทำบาปก็เกิดหิริเกิดกุศลสลับบ้างด้วยความละอาย

ดังนั้น คนที่รู้ผิดชอบชั่วดีเมื่อทำบาปกุศลก็สลับกับอกุศลบ้าง ไม่เป็นอกุศลล้วนๆ บาปจึงไม่เท่ากับคนที่ไม่รู้ ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดีเลย แต่ทั้งสองบุคคลก็มีเจตนาทำบาปเหมือนกัน แต่ต่างกันตรงอกุศลเกิดล้วนๆ หรือมีกุศลจิตสลับบ้างครับ

ขออนุโมทนา

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ ครับ

คาถา ว่าด้วยเรื่องก้อนเหล็กแดง [มิลินทปัญหา]

อย่างไหนบาปกว่ากัน

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 13 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การกระทำบาปอกุศลกรรม เป็นเรื่องของบุคคลผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ เมื่อสะสมมากขึ้นๆ มีกำลังมากขึ้นๆ ก็ถึงขั้นล่วงเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน ซึ่งในขณะนั้นก็เป็นการสะสมเหตุที่ไม่ดีให้กับตนเอง ที่จะเป็นเหตุให้เกิดผลที่ไม่ดีในภายหน้า เพราะอกุศลกรรมให้ผลเป็นทุกข์โดยส่วนเดียว เป็นไปไม่ได้เลยที่อกุศลกรรมจะให้ผลเป็นสุข

บุคคลที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็ยังจำแนกออกเป็นหลายประเภทตามการสะสมของแต่ละบุคคล มีทั้งประเภทที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ได้เห็นโทษของอกุศลบ้างในชีวิตประจำวัน เป็นต้น และ บุคคลที่ไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้เข้าใจความจริง ไม่เห็นโทษของอกุศล ไม่เห็นคุณของกุศล บุคคลทั้งสองประเภทนี้ ก็ย่อมมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ถ้าเริ่มเห็นโทษของอกุศล ก็จะค่อยๆ หลีกออกห่างจากอกุศลกรรม ซึ่งเข้าใจถูกว่าอกุศลกรรมนี้เองจะเป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนในภายหลังได้ และ เพิ่มพูนกุศลยิ่งขึ้นในชีวิตประจำวัน ที่เป็นเช่นนี้ได้ ก็ด้วยอาศัยพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จากที่เคยมากไปด้วยอกุศลประการต่างๆ ก็ค่อยๆ ขัดเกลาเมื่อมีความเข้าใจพระธรรม ซึ่งจะตรงกันข้ามกับผู้ที่ไม่รู้ถึงความผิดถูก ไม่ได้รับคำแนะนำในพระธรรมวินัย กระทำแต่อกุศลกรรม ไม่มีเครื่องนำทางชีวิตที่ดี ก็จะมีแต่พอกพูนอกุศลให้มีมากขึ้น ยากที่จะพ้นไปได้ หนักด้วยอกุศล ก็มีแต่จะทำให้จมอยู่ในสังสารวัฏฏ์โดยส่วนเดียว ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ประสาน
วันที่ 13 ต.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
nong
วันที่ 17 ต.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เฉลิมพร
วันที่ 27 เม.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ