ขอให้ยกตัวอย่าง

 
gavajidham
วันที่  7 ต.ค. 2555
หมายเลข  21849
อ่าน  7,483

ช่วยยกตัวอย่างที่แสดงถึงลักษณะของ-กามุปาทาน-ทิฏฐุปาทาน-สีลพพตุปาทาน

อัตตนุปาทาน

๑. * * ซึ่งเป็นทั้งส่วนที่อยากได้และไม่อยากเอา-ในชีวิตของคนเราที่จะหมายเข้าใจได้

๒. * * กามุปาทาน-ทิฏฐุปาทาน-อัตตนุปาทาน มีอันใดเป็นเหตุปัจจัยเกิดขึ้นก่อนหรือไม่

เพราะลักษณะมันใกล้กันมาก

๓. * * ทั้งหมดขอตัวอย่างชัดเจน-ชัดๆ ด้วย ๒-๓ ตัวอย่าง

๔. * * จริงๆ แล้วปรับแก้ที่ตัวอุปาทานมันสายไปแล้วใช่หรือไม่

ขอขอบคุณล่วงหน้า คุณpaderm


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 8 ต.ค. 2555
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อุปาทานในพระพุทธศาสนา เรียกว่า ความยึดมั่นที่เป็นอุปาทาน มี ๔ อย่าง คือ

๑. กามุปาทาน (ความติดข้อง)

๒. ทิฏฐุปาทาน (ความเห็นผิด)

๓. สีลัพพตุปาทาน (ข้อประพฤติปฏิบัติที่ผิด)

๔. อัตตวาทุปาทาน (ความยึดถือว่าเป็นตัวตน)

กามุปาทาน (ความติดข้อง) คือ โลภะ ที่ยินดีดีพอใจใน รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่ยินดีพอใจ ในรูปที่สวยมากๆ ขณะนั้นก็เป็นการยึดมั่นด้วยโลภะ คือ กามุปาทานแล้วครับ หรือ ขณะที่ชอบอาหารประเภทนี้มากๆ ก็มีความยึดมั่นด้วยโลภะ ที่พอใจในรสอาหารประเภทนั้น แต่ไม่ได้มีความเห็นผิด

ทิฏฐุปาทาน (ความเห็นผิด) คือ ขณะที่มีความเห็นผิดเกิดขึ้นประการต่างๆ เช่น มีความเห็นผิดว่า กรรมไม่มี ผลของกรรมไม่มี หรือ ตายแล้วไม่เกิดอีก หรือ ตายแล้วก็เที่ยง แน่นอน ไปอยู่ในสถานที่เที่ยงแน่นอน เป็นต้น ขณะนั้นก็เป็น การยึดถือด้วยความเห็นผิด ที่เป็น ทิฏฐุปาทาน

สีลัพพตุปาทาน คือ ข้อประพฤติปฏิบัติที่ผิด อันเกิดจากความเห็นผิด อันสำคัญว่าการกระทำเช่นนี้จะทำให้บรรลุ ยกตัวอย่างเช่น การเดินกระโหย่งดังเช่นฤาษี คิดว่าเป็นหนทางบรรลุ การนอนบนตะปู ทรมานตน สำคัญว่าเป็นหนทางบรรลุ การอาบน้ำ ล้างบาป เป็นต้น ครับ

อัตตวาทุปาทาน คือ ความเห็นผิดที่สำคัญว่ามีสัตว์ บุคคล ตัวตนจริงๆ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเกิดความคิดขึ้นมาว่า มีเราจริงๆ ในขณะนี้ ขณะนั้นก็ยึดถือด้วยความเป็นเราด้วยความเห็นผิด ครับ ที่เป็น การยึดมั่นด้วยความเป็นเรา คือ อัตตวาทุปาทาน ครับ

ส่วนในประเด็นอะไรเกิดก่อนนั้น ก็แล้วแต่ครับว่า จิตประเภทอะไรเกิด ก็เป็นอุปาทานประเภทนั้นเกิด โดยไม่ได้มีว่าอะไรเกิดก่อน เกิดหลัง ครับ เพียงแต่ว่าเราจะต้องเข้าใจในแต่ละอุปาทานว่า แต่ละอย่าง คืออะไร ก็จะเข้าใจถูกครับ

อย่าง กามุปาทาน ก็เป็นแต่เพียงโลภะ แต่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิดเลย เช่น ยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัสที่น่าพอใจ เป็นต้น

ส่วน ๓ อุปาทานที่เหลือ ทั้ง ทิฏฐุปาทาน (ความเห็นผิด) สีลัพพตุปาทาน (ข้อประพฤติปฏิบัติที่ผิด) อัตตวาทุปาทาน (ความยึดถือว่าเป็นตัวตน) เป็นการยึดมั่นด้วยความเห็นผิด แต่ เป็นความเห็นผิดใน ๓ อย่างนั้น ก็มีความเห็นผิดที่มีหลากหลายนัย แตกต่างกันไปตามที่กล่าวมา ครับ

เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ว่าจิตประเภทอะไรเกิด ถ้าเป็นโลภะที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิดเกิด เช่นติดข้องในนรสอาหาร ก็เป็นกามุปาทานเกิดในขณะนั้น เพราะฉะนั้น สรุปได้ว่า อะไรเกิดก่อนก็ได้ อยู่ที่ว่าจิตประเภทอะไร ประเภทไหนเกิดก่อน ซึ่งก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยของแต่ละคนที่สะสมมา ครับ

ส่วนคำถามที่ว่า

จริงๆ แล้วปรับแก้ที่ตัวอุปาทานมันสายไปแล้วใช่หรือไม่

ไม่มีคำว่าสาย หากเข้าใจหนทางการดับกิเลสที่ถูกต้อง เพราะ หนทางการดับกิเลส คือ การรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงที่มีลักษณะว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ซึ่งก็คือการเจริญสติปัฏฐาน ๔ นั่นเอง ซึ่งในสติปัฏฐานในหมวด จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การรู้ความจริงของจิตประเภทต่างๆ ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ซึ่งจิตไม่ได้จำกัดว่ามีแต่กุศล อกุศลจิตก็มี และ อกุศลก็มีจริง เพราะฉะนั้น อุปาทานประเภทต่างๆ ก็คือจิตที่เป็นกุศลประเภทต่างๆ มีโลภมูลจิต เป็นต้น ที่ประกอบด้วยความเห็นผิดและไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด หากเราเข้าใจหนทางการอบรมปัญญา ก็จะเข้าใจถูกต้องว่า การรู้ความจริง ก็คือ รู้ความจริงแม้ในขณะที่อกุศล ในขณะที่อุปาทานกำลังเกิดขึ้นในขณะนั้น ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา เพราะ เราไม่สามารถจะห้ามอุปทานไม่ให้เกิดได้ เพราะ ปุถุชนย่อมเกิดอุปาทานเป็นธรรมดา แต่หนทางการละอุปาทาน คือ การรู้จักตัวอุปาทาน คือ ขณะที่อกุศลจิตเกิดขึ้นว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา นี่คือ หนทางที่ถูก เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่การห้ามไม่ให้กิเลสเกิดขึ้น แต่กิเลสเกิดแล้ว อุปาทานเกิดแล้ว หนทางคือ รู้ว่าอุปาทานเป็นธรรมไม่ใช่เรา ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน ย่อมละกิเลสได้จนหมดสิ้น ครับ

ซึ่งก็อาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมไปเรื่อยๆ ปัญญาก็จะค่อยๆ รู้ความจริง จนดับกิเลสได้ ครับ แต่ต้องอบรมอย่างยาวนานนับชาติไม่ถ้วน ไม่มีคำว่าสาย หากเข้าใจหนทางที่ถูกต้อง ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 8 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อุปาทาน เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นความยึดมั่นถือมั่น สภาพธรรมที่ยึดมั่นถือมั่น ย่อมไม่พ้นไปจาก โลภะ (โลภเจตสิก) และ ทิฏฐิ (ทิฏฐิเจตสิก) ซึ่งเป็นความเห็นผิด เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว อุปาทานเป็นกิเลสที่มีกำลังยึดมั่นถือมั่น

ดังนั้น อุปาทานจึงไม่มีเฉพาะตัณหาหรือโลภะเท่านั้น ยังมีความเห็นผิดที่เป็นสภาพธรรมที่ยึดมั่นถือมั่นด้วย ธรรมเป็นจริงอย่างไร ก็ต้องเป็นจริงอย่างนั้น ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ นี้คือ ปรมัตถธรรม สภาพธรรมที่จริงที่สุด อยากได้ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ความเห็นผิดที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงของสภาพธรรม ที่มีในลักษณะต่างๆ จนถึงขั้นที่มีการลูบคลำยึดถือในข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ ที่ผิดแต่ก็เข้าใจว่าถูก ก็เป็นธรรมที่มีจริง ซึ่งตราบใดที่ยังดับไม่ได้ เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ เป็นไปตามเหตุปัจจัยจริงๆ

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงทั้งหมดทั้งปวง เพื่อให้ผู้ฟัง ผู้ศึกษาได้เข้าใจตามความเป็นจริง ได้เห็นโทษของอกุศล และ เห็นคุณของกุศลตามความเป็นจริง เมื่อเห็นโทษของอกุศล และเห็นคุณของกุศล ตามความเป็นจริงแล้ว ก็จะไม่เข้าใกล้อกุศล แต่จะถอยกลับจากอกุศลให้เร็วที่สุด แล้วตั้งใจมั่นในการที่จะอบรมเจริญกุศลต่อไป ซึ่งเป็นเครื่องเตือนที่ดีเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะศึกษาจากพระธรรมในส่วนใด เรื่องใด ก็ตาม ถ้าเข้าใจถูกต้องแล้ว ย่อมเป็นประโยชน์โดยแท้ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 8 ต.ค. 2555

ปุถุชนมีความติดข้องในตัวตน สัตว์ บุคคล เป็นธรรมดา เช่น ติดในรสอาหารอร่อย ติดในเสียงเพลงเพราะๆ รูปสวยๆ ฯลฯ หรือมีความเห็นผิดว่าบุญบาปไม่มี ทำให้ไม่เห็นโทษของวัฏฏ์ ทำให้ประมาทไม่เจริญกุศล เช่น การศึกษาธรรมะ เป็นต้น ค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ