วิบากกรรมของพระพุทธองค์

 
วิริยะ
วันที่  14 ก.ย. 2555
หมายเลข  21735
อ่าน  3,577

ได้ฟังธรรมที่ท่านอาจารย์สุจินต์ บรรยาย มีอยู่ตอนหนึ่งที่ พระพุทธเจ้าทรงเล่าถึงกรรมในอดีตของพระองค์เอง มีชาติหนึ่ง ที่พระองค์ทรงห้ามไม่ให้โคกินน้ำขุ่น ดิฉันไม่เข้าใจว่า การห้ามโค ไม่ให้กินน้ำที่ขุ่น น่าจะเป็นความปรารถนาดี แต่ทำไมพระองค์จึงได้รับอกุศลวิบาก ดิฉันจำรายละเอียดไม่ได้ จำได้แต่ว่า ยังข้องใจแต่ประเด็นนี้อยู่

จึงขอเรียนถามค่ะ

ขอบพระคุณอย่างสูง


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 15 ก.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมเป็นเหตุ และเป็นผล ตรงตามสัจจะ คือ กรรมดี เมื่อทำย่อมให้ผลดี ให้ผลที่น่าปรารถนา กรรมไม่ดีเมื่อทำ ย่อมให้ผลไม่ดี ไม่น่าปรารถนา แต่กรรมดี จะให้ผลไม่ดี ไม่ได้เลย และ กรรมไม่ดี จะให้ผลดีไม่ได้เลย

ดังนั้น การที่พระพุทธเจ้าตรัสให้พระอานนท์ไปเอาน้ำมาให้ดื่ม แต่ถูกห้ามจากพระอานนท์ ถึง ๓ ครั้ง เพราะ พระอานนท์ทูลว่า น้ำขุ่น จากล้อเกวียนของรถที่เพิ่งผ่านไป ซึ่งพระพุทธเจ้าได้เล่าว่า เป็นอดีตกรรมที่ในอดีต พระองค์เป็นคนเลี้ยงโค ห้ามโค ไม่ให้ดื่มน้ำที่ขุ่นในขณะนั้น ซึ่งตามที่กล่าวแล้ว กรรมดี ย่อมให้ผลดี กรรมไม่ดี ย่อมให้ผลไม่ดี

ดังนั้น ถ้ากรรมดี จะทำให้ถูกห้ามจากการดื่มน้ำไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น จิตของพระโพธิสัตว์ในอดีตชาติที่เป็นคนเลี้ยงโค ขณะที่ห้ามไม่ให้โคดื่มน้ำ จะต้องด้วยจิตที่เป็นอกุศล ไม่ใช่ด้วยความหวังดีแน่นอน อาจจะเป็นเพราะ ด้วยความเร่งรีบที่จะเดินทาง เป็นต้นก็ได้ แต่ก็ต้องด้วยจิตที่เป็นอกุศล จึงทำให้ชาติเมื่อเป็นพระพุทธเจ้าก็ถูกห้าม แต่อย่างไรก็ดี พระพุทธองค์ก็ทรงได้ดื่มน้ำในครั้งที่ ๔

เมื่อพระอานนท์ยอมทำตามพระพุทธเจ้า เมื่อไปถึงท่าน้ำที่น้ำขุ่น พอจะตักก็ใสทันที อันเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ เพราะฉะนั้น ในอดีตชาติก็เป็นไปได้ที่ ทีแรกห้ามไม่ให้โคดื่ม แต่ตอนหลัง ก็ให้โคดื่ม นี่แสดงให้เห็นว่า การเกิดดับสลับกันของจิตเกิดดับอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น ขณะที่ห้ามไม่ให้โคดื่มจนโคไม่ได้ดื่ม เพราะการห้ามนั้นก็ด้วยจิตเป็นอกุศล ย่อมทำให้เกิดวิบากในปวัตติกาลได้ คือ หลังจากที่เกิดแล้ว คือ ถูกห้ามจากการดื่มน้ำ เมื่อสมัยเป็นพระพุทธเจ้าได้ ครับ ส่วนการที่โคถูกตีก่อนดื่มน้ำนั้น ในความเป็นจริง การถูกตี ผล คือ จะต้องได้รับการเบียดเบียนทางกาย หรือ เจ็บป่วยเป็นโรค ไม่ใช่การถูกห้ามจากการดื่มน้ำ

เพราะฉะนั้น ข้อสันนิษฐานที่ว่า เพราะการห้ามโคดื่มน้ำจะต้องตีก่อน จึงไม่ตรงตามเหตุผล ครับ เพราะฉะนั้น การห้ามโคดื่มน้ำก็ด้วยอกุศลจิตในขณะนั้น จึงถูกห้าม เหตุ จะต้องเป็นไปตามสัจจะ คือ กุศล ให้ผลที่ดี อกุศล ให้ผลที่ไม่ดี ครับ พระโพธิสัตว์ ยังมีกิเลสเป็นธรรมดา จึงสามารถเกิดจิตที่ไม่ดี เป็นอกุศลได้เป็นธรรมดา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
วิริยะ
วันที่ 15 ก.ย. 2555

เข้าใจแล้วค่ะ

ขอบพระคุณอย่างสูงและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เมตตา
วันที่ 15 ก.ย. 2555

[เล่มที่ 47] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้าที่ 203

ข้อความบางตอนจาก อรรถกถาสูจิโลมสูตร

(ส่วน) สูจิโลมยักษ์นอกนี้ ในสมัยแห่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า กัสสปะ เป็นอุบาสก ไปวัดฟังธรรมเดือนละ ๘ ครั้ง วันหนึ่งเมื่อเขาประกาศการฟังธรรมกัน เขาก็เล่นอยู่ที่นาของตน ใกล้ประตูสังฆาราม ฟังเสียงการโฆษณาแล้ว ก็คิดว่า ถ้าว่าเราจะอาบน้ำไซร้ ก็จักชักช้า ดังนี้ ทั้งๆ ที่มีร่างกายสกปรกนั้นเอง ก็เข้าไปยังโรงอุโบสถ แล้วก็นอนหลับไปบนเครื่องลาดอันมีค่ามาก ด้วยความไม่เอื้อเฟื้อ อาจารย์ทั้งหลายผู้กล่าวคัมภีร์สังยุตตนิกาย กล่าวว่า เขาผู้นี้เป็นภิกษุนั้นเอง หาใช่อุบาสกไม่ ด้วย กรรม นั้น และด้วยกรรมอื่นอีก เขาจึงไหม้ในนรก และมาเกิด ในกำเนิดยักษ์ที่ฝั่งแห่งสระโบกขรณี เขาเป็นผู้มีรูปร่างน่าเกลียด ด้วย วิบากอันเหลือลงแห่งกรรมนั้น ก็ที่กายของสูจิโลมยักษ์นั้นมีขนเหมือนเข็ม

ประโยชน์ของการศึกษาเรื่องจิต ว่าจิตขณะไหนเป็นกุศลวิบาก หรือ อกุศลวิบาก ก็คือขณะนี้เห็นเป็นวิบากจิต ได้ยินเป็นวิบากจิต ขณะที่ได้เห็นอารมณ์ที่ดี ขณะนั้นกำลังได้รับกุศลวิบาก แต่ขณะใดที่ได้ยินเสียงที่ไม่ดี เสียงนินทา เสียงต่อว่าให้ร้าย ขณะนั้นกำลังได้รับอกุศลวิบาก เพราะได้ยิน ซึ่งเป็นวิบากจิตเกิดขึ้นได้ยิน

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ค่ะ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
daris
วันที่ 15 ก.ย. 2555

ขออนุญาตเรียนถามเพิ่มเติมครับ

ได้อ่านคำถามของท่านเจ้าของกระทู้ และคำตอบของอาจารย์ผเดิมก็นึกถึงเรื่องหนึ่ง ที่ได้ฟังมาแต่ยังสงสัยอยู่ครับ จำรายละเอียดไม่ค่อยได้ แต่จำได้ว่าเกี่ยวกับ "จิตเบียดเบียนของพระโพธิสัตว์"

คล้ายๆ ว่า คนธรรมดาๆ อย่างเราๆ ถ้าพูดถึงวิหิงสา หรือการเบียดเบียนผู้อื่น เรามักจะคิดถึงการประทุษร้ายผู้อื่น ด้วยกายหรือวาจา แต่สำหรับพระโพธิสัตว์ แม้อกุศลที่เล็กน้อยกว่านั้นมากๆ ท่านก็ยังเห็นว่า เป็นจิตที่เบียดเบียนที่ต้องละ

ไม่ทราบว่าจำมาถูกรึเปล่า และจะหาอ่านได้จากพระสูตรไหนครับ

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 15 ก.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความเป็นไปของธรรม ใครๆ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลง หรือบังคับบัญชาได้ เมื่อได้เหตุได้ปัจจัยก็เกิดขึ้นเป็นไป แม้แต่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นบุคคลผู้เลิศ ผู้ประเสริฐที่สุดในโลก ก็ไม่สามารถบังคับ หรือเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมใดๆ ได้เลย แต่พระองค์ทรงตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง แล้วทรงแสดงให้ผู้อื่นได้รู้ตาม

ทุกอย่างที่เกิดขึ้น เป็นไป เป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัยทั้งสิ้น ไม่มีสภาพธรรมใดๆ เลยแม้แต่อย่างเดียวที่เกิดขึ้น โดยปราศจากเหตุปัจจัย ผลของกรรมที่เกิดขึ้น ย่อมมาจาก เหตุ คือกรรมที่ได้กระทำแล้ว กรรมดี ย่อมให้ผลที่ดี กรรมชั่ว ย่อมให้ผลที่ไม่ดี

เป็นไปไม่ได้เลย ที่กรรมดีจะให้ผลเป็นชั่ว และ กรรมชั่วจะให้ผลเป็นดี

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เป็นการได้รับผลของกรรม (วิบาก) นั้น ผู้ศึกษาพระธรรมก็สามารถเข้าใจได้ว่า ไม่มีใครที่จะไปแก้กรรม หรือ ตัดกรรมไม่ให้ผลเกิดขึ้นเป็นไปได้เลย แม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง พระองค์ยังได้รับผลของกรรมที่พระองค์ได้ทรงกระทำแล้วในอดีต

เมื่อมีความมั่นคงในเรื่องกรรมและผลของกรรม ก็จะเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิตประจำวัน ไม่กระทำอกุศลกรรม แล้วเพิ่มพูนกุศลในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ขาดไม่ได้เลย คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ต่อไป ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
bsomsuda
วันที่ 15 ก.ย. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
paderm
วันที่ 16 ก.ย. 2555

เรียนความเห็นที่ 4 ครับ

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้าที่ 628

ศีลนี้มี ๒ อย่าง คือวาริตตศีล ๑ จาริตตศีล ๑. ในศีล ๒ อย่าง นั้น พึงทราบลำดับการปฏิบัติ ในวาริตตศีลของพระโพธิสัตว์ดังต่อไปนี้. พึงเป็นผู้มีจิตเอ็นดูในสรรพสัตว์ โดยที่แม้ฝันก็ไม่พึงเกิดความอาฆาต.


จะเห็นนะครับว่า จิตที่คิดจะเบียดเบีบยผู้อื่น แม้เพียงฝัน ก็ไม่มี แสดงถึง ความมีกำลัง ของกุศลธรรม ของปัญญาของพระโพธิสัตว์ที่สะสมมามาก แม้เพียงฝัน ที่เป็นกิเลสอย่างเบาบาง ก็ยังไม่คิดเบียดเบียนอาฆาตผู้อื่น จะกล่าวไปไยถึงตอนตื่น

ดังนั้น ขณะที่เกิดจิตคิดเบียดเบียนก็มีโทษ และควรละ ซึ่งแม้ใน คัมภีร์ จริยาปิฎก เล่มที่ ๗๔ ที่แสดง ข้อประพฤติปฏิบัติของพระโพธิสัตว์ ที่จะทำให้เป็นพระพุทธเจ้า ก็แสดงถึง การประพฤติ ของพระโพธิสัตว์ว่า มีอย่างไรบ้าง

ในพระชาติหนึ่ง เกิดเป็น จูฬโพธิ เกิดความโกรธขึ้นมาในใจ ท่านเห็นว่า ความโกรธนั้นเบียดเบียนท่านแล้ว แม้จะไม่แสดงออกมาทางกาย วาจาเลย อันเป็นอกุศลที่ควรละ แม้เพียงเล็กน้อย ท่านก็ข่มกิเลสนั้น ด้วยการพิจารณาด้วยปัญญา

จะเห็นนะครับว่า ผู้มีปัญญาย่อมเห็น โทษของอกุศล แม้เพียงเล็กน้อยที่เ่กิดขึ้นในจิตใจ ว่ามีโทษ เบียดเบียนตนเองอยู่ด้วย อกุศลจิตที่เกิด อันเป็นธรรมที่ควรละ แต่จะละไม่ได้เลย ถ้าไม่มีปัญญา ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 16 ก.ย. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
daris
วันที่ 16 ก.ย. 2555

กราบขอบพระคุณอาจารย์ผเดิม, อาจารย์คำปั่นและขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
wannee.s
วันที่ 18 ก.ย. 2555

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
jaturong
วันที่ 18 ก.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ