ธัมมารมณ์

 
gboy
วันที่  12 ก.ย. 2555
หมายเลข  21722
อ่าน  2,314

ขอเรียนถามกรณีจินตนาการหรือความเพ้อฝัน เช่น คิดไปว่าคนนั้นมาจะพูดกับเรา อย่างใดอย่างหนึ่ง จัดเป็นธัมมารมณ์ประเภทใดครับ

ขอบคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 13 ก.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธัมมารมณ์ เป็นอารมณ์ที่จิตรู้ได้เฉพาะทางใจทางเดียวเท่านั้น มี ๖ อย่าง

๑. จิต ๘๙

๒. เจตสิก ๕๒

๓. ปสาทรูป ๕

๔. สุขุมรูป ๑๖

๕. นิพพาน

๖. บัญญัติ

ธัมมารมณ์ ๕ คือ ปสาทรูป สุขุมรูป จิต เจตสิก นิพพาน เป็นปรมัตถธรรม

ธัมมารมณ์ คือ บัญญัติ ไม่ใช่ปรมัตถธรรม

ดังนั้นจากคำถามที่ว่า

ขอเรียนถามกรณีจินตนาการ หรือความเพ้อฝัน เช่น คิดไปว่า คนนั้นมาจะพูดกับเราอย่างใดอย่างหนึ่ง จัดเป็นธัมมารมณ์ประเภทใดครับ


- ขณะที่ คิด จินตนาการ เพ้อฝัน เป็นเรื่องราว เรื่องใด เรื่องหนึ่ง คิดเป็นสัตว์ บุคคล เป็นต้น ขณะนั้น จะต้องมีจิตที่คิด แต่อารมณ์ของจิตที่คิด คือ บัญญัติ เพราะ ขณะนั้น ไม่ได้มีปรมัตถ์ คือ สี เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส รวมทั้ง สภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็น จิต เจตสิก รูป ในขณะนั้น

แต่กำลังนึกถึง เป็นเรื่องราวทางใจ ที่คิดนึกว่า เป็นสัตว์ บุคคล เพราะฉะนั้น ขณะนี้ในชีวิตประจำวัน ขณะที่เห็นเป็นสัตว์ บุคคล เป็นสิ่งต่างๆ ให้รู้ว่าเป็นจิตที่คิดนึกเรื่องราว แล้วที่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ และ ขณะที่แม้ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน เป็นต้น แต่ก็คิดนึกถึงใคร นึกถึงเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ขณะนั้นก็มีจิตที่คิด โดยมีบัญญัติเรื่องราว เป็นอารมณ์ ครับ ซึ่ง จัดเป็นธัมมารมณ์ อารมณ์ที่รู้ทางใจ โดยเป็นบัญญัติ ครับ

เชิญอ่านคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ที่นี่ ครับ

สุ.   บัญญัติเป็นธัมมารมณ์ เพราะว่าเป็นอารมณ์ที่รู้ได้ทางใจทางเดียวเท่านั้น

ก.   แล้วธัมมารมณ์นี้ ถ้าจะเป็นปรมัตถอารมณ์

สุ.   ธัมมารมณ์มี ๖ ประเภท เป็นปรมัตถธรรม ๕ ไม่ใช่ปรมัตถธรรม ๑ ฉะนั้น จะรู้ได้ว่า ... ขณะใดมีบัญญัติเป็นอารมณ์ก็คือ ...

ขณะใดที่ไม่มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ ขณะนั้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

ธัมมารมณ์

อารมณ์ ๖ - ธัมมารมณ์

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 13 ก.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อกล่าวถึงอารมณ์ ก็ยังส่องให้เข้าใจถึงสภาพธรรมที่มีจริงอีกอย่างหนึ่ง ที่เป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ นั่นก็คือ จิต (และเจตสิก) ที่เกิดร่วมด้วย เพราะทุกครั้งที่ จิต (และเจตสิก) เกิดขึ้น จะไม่ว่างเว้น หรือจะไม่ปราศจากอารมณ์เลย จะต้องเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด ตามสมควรแก่จิตประเภทนั้นๆ

เช่น สี เป็นอารมณ์ทางตา จิตที่เกิดขึ้นโดยอาศัยตา เป็นทวาร ก็รู้สีทั้งหมดตามกิจหน้าที่ของตนๆ

เสียง เป็นอารมณ์ทางหู จิตที่เกิดขึ้น โดยอาศัยหู เป็นทวาร ก็รู้เสียงทั้งหมด เป็นต้น

รวมไปถึง อารมณ์อีกประเภทหนึ่ง คือ บัญญัติ เป็นธัมมารมณ์ เป็นอารมณ์ที่รู้ได้เฉพาะทางใจ ก็เป็นอารมณ์ของจิตที่เกิดขึ้นโดยอาศัยมโนทวารเป็นทาง นั่นเอง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 13 ก.ย. 2555

ปกติธรรมดา เราก็อยู่ในโลกของบัญญัติ คิดนึกถึงเรื่องราวต่างๆ ส่วนมากเป็นไปกับอกุศลจิตที่คิด ถ้ากุศลจิตเกิด ก็คิดที่จะให้ทาน คิดที่จะทำความดี คิดที่จะช่วยเหลือคนอื่น คิดที่จะขัดเกลากิเลสความไม่ดีต่างๆ ด้วยการศึกษาพระธรรมให้เข้าใจความจริง และ ขณะที่คิดนึกเป็นเรื่องราวก็เป็นธัมมารมณ์ เป็นอารมณ์ที่รู้ได้ทางใจ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
gboy
วันที่ 13 ก.ย. 2555

ขอบพระคุณมากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ประสาน
วันที่ 14 ก.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ