เหล่านี้คืออกุศลกรรม?

 
นิรมิต
วันที่  3 ก.ย. 2555
หมายเลข  21666
อ่าน  3,016

กราบสวัสดีท่านวิทยากรและมิตรธรรมทุกท่าน

มีความสงสัยว่า เหล่านี้ เป็นอกุศลกรรมหรือเปล่า

๑. การทิ้งหนังสือ หรือตำราเรียน หรืออะไรต่างๆ ที่ดูแล้วเป็นสิ่งของที่มีคุณ เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ โดยเป็นการทิ้งไป ที่ไม่ใช่เอาไปบริจาคเพื่อประโยชน์ผู้อื่น ด้วยเหตุจำเป็นบางประการ (แต่ก็เป็นอกุศลจิตมากกว่า เพราะถ้าเป็นกุศลก็น่าจะมีโยนิโสมนสิการที่จะนำไปทำให้เกิดประโยชน์ เพราะเป็นของที่เป็นประโยชน์)

ทำนองเดียวกับการใช้เงินสุรุ่ยสุร่าย (แต่ไม่ได้เป็นไปในการสำมะเลเทเมาหรือผิดศีล ๕) ใช้น้ำใช้ท่าเปลือง ใช้ไฟเปลือง ไม่ช่วยชาติประหยัด อะไรแบบนี้ เป็นอกุศลกรรมไหม

๒. การมีความคิดลบหลู่พระรัตนตรัยทางใจ แต่ไม่ได้ออกมาเป็นกายกรรมที่ไม่เหมาะ ไม่ควรหรือเป็นวจีกรรมที่ประทุษร้ายหรือกล่าวลบคุณของท่าน เป็นอกุศลจิตที่เกิดแทรกคั่นขึ้นมาโดยไม่ได้ตั้งใจ (เหมือนอาการฟุ้งซ่านของจิต คิดว่าน่าจะเป็นอุททัจจะ) เกิดแล้วก็ระลึกทันที พยายามระลึก ระลึกได้ก็ดับไป แต่ก็ไม่วายเกิดขึ้นอีก แทรกคั่นเรื่อยๆ ระหว่างไหว้พระก็ดี กระทำกุศลก็ดี หรือขณะที่นั่งเฉยๆ ก็ดี

อย่างนี้เป็นบาปทางมโนกรรมหรือเปล่า แล้วเป็นอริยุปวาทด้วยไหม แต่เพราะไม่ได้ต้องการ ไม่ได้อยากให้เกิดเลย ไม่ได้จงใจให้เกิด แต่ก็ปรากฏขึ้นมาโดยไม่ทราบสาเหตุ ก็เลยไปพยามจะระลึกสติ ระลึกๆ ๆ เปลี่ยนอารมณ์จิตให้เป็นกุศล แต่มันก็ไม่วายผุดขึ้นในใจเป็นระยะๆ แล้วควรจะดับอย่างไรดีครับ

๓. การยินดีในอกุศลกรรมที่ผู้อื่นกระทำสำเร็จแล้ว เป็นอกุศลกรรมไหม อย่างเรามีคนไม่ค่อยชอบหน้า แล้วมีคนไปด่าเขา เราก็ดีใจ เกิดโสมนัสเวทนา ขณะนั้นเราจะบาปด้วยหรือเปล่า

๔. อกุศลกรรมบถ ๑๐ เข้าใจอย่างนี้ถูกต้องไหมครับ

ปาณาติบาต - เกิดกับ โทสะ เท่านั้น

อทินนาทาน - เกิดกับ โลภะ โทสะ

กาเมสุมิจฉาจาร - เกิดกับ โลภะ โทสะ

มุสาวาท - เกิดกับ โลภะ โทสะ

ปิสุณาวาจา - เกิดกับ โทสะ เท่านั้น

ผรุสวาจา - เกิดกับ โลภะ โทสะ

สับผัปปลาปะ - เกิดกับ โลภะ โทสะ

อภิชฌา - โลภะ เท่านั้น

พยาปาทะ - โทสะ เท่านั้น

มิจฉาทิฏฐิ - โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ เท่านั้น

ทั้งนี้ไม่มีเกิดกับโมหมูลจิตโดดๆ เพราะโมหมูลจิตกระทำกรรมออกมาทางกายและวาจาไม่ได้ ใช่หรือเปล่าครับ แต่ขณะกระทำอกุศลกรรม จิตทุกดวงย่อมมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วยอยู่แล้ว

กล่าวอย่างนี้ถือว่าถูกไหมครับ


ขอเพิ่มเติมสอบถามในเรื่องอื่นเล็กน้อยครับ

ปัญญาในขั้น สุตมยปัญญา กับ จินตามยปัญญา นี่ มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมตรงไหน ตอนไหน อย่างไร ในระหว่างการฟังพระอ่าน-ธรรม และพิจารณา-เข้าใจพระธรรม เพราะเราจะฟังพระธรรมด้วยกุศลหรืออกุศลก็ได้ เข้าใจพระธรรมด้วยกุศลหรืออกุศลก็ได้ และขณะที่เข้าใจด้วยกุศล ขณะนั้นถ้ามีปัญญาเจตสิก เกิดร่วมกับสติปัฏฐาน ระลึกเสียง ที่ปรากฏ หรือเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ที่ปรากฏ จากการฟังพระธรรมและเข้าใจ ขณะนั้นก็เป็นขั้นภาวนาแล้วไม่ใช่หรือครับ เป็นขั้นเจริญสติปัฏฐานแล้ว แล้วขณะที่เป็นขั้นอ่าน-ฟัง กับพิจารณา-เข้าใจ เนี่ย ปัญญาเจตสิกเกิดตอนไหน อย่างไร ครับ

ขอกราบขอบพระคุณและอนุโมทนาสาธุครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 3 ก.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

มีความสงสัยว่า เหล่านี้ เป็นอกุศลกรรมหรือเปล่า

๑. การทิ้งหนังสือ หรือตำราเรียน หรืออะไรต่างๆ ที่ดูแล้วเป็นสิ่งของที่มีคุณ เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ โดยเป็นการทิ้งไป ที่ไม่ใช่เอาไปบริจาคเพื่อประโยชน์ผู้อื่นด้วยเหตุจำเป็นบางประการ (แต่ก็เป็นอกุศลจิตมากกว่า เพราะถ้าเป็นกุศลก็น่าจะมีโยนิโสมนสิการที่จะนำไปทำให้เกิดประโยชน์ เพราะเป็นของที่เป็นประโยชน์)

ทำนองเดียวกับการใช้เงินสุรุ่ยสุร่าย (แต่ไม่ได้เป็นไปในการสำมะเลเทเมา หรือผิดศีล ๕) ใช้น้ำใช้ท่าเปลือง ใช้ไฟเปลือง ไม่ช่วยชาติประหยัด อะไรแบบนี้ เป็นอกุศลกรรมไหม


- สภาพธรรมที่เป็นอกุศล มีหลายระดับ ตามระดับกำลังของกิเลส อกุศล ที่เป็นเพียง อกุศลจิต ที่เกิดขึ้นในจิตใจ ไม่ได้ล่วงออกมาทางกาย วาจา เช่น โกรธ ไม่พอใจ เป็นต้น เป็นอกุศลจิต แต่ไม่ได้มีกำลัง และ อกุศล ที่ ประพฤติแสดงออกมาทางกาย วาจา แต่ไม่ถึง กับเป็นอกุศลกรรม เรียกว่า กายทุจริต วจีทุจริต ที่ทำด้วยกาย วาจา ด้วยจิตที่เป็นอกุศล แต่ไม่ถึงกับเป็นอกุศลกรรม ที่จะทำให้เกิดในอบายภูมิได้ ครับ เช่น การทานข้าว การแปรงฟัน ที่ทำด้วยอกุศลจิต เป็นกายทุจริต เป็นต้น

อกุศล ที่มีกำลัง คือ อกุศลกรรมที่ล่วงศีล ที่ประพฤติผิดทางกาย วาจาและใจ มีอกุศลกรรมบถ ๑๐ คือ การฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ มีความเห็นผิด เป็นต้น ที่เป็นกรรมที่ล่วงกรรมบถ ครบองค์กรรมบถ จัดเป็นอกุศลกรรม ที่จะสามารถให้ผลนำเกิดในอบายภูมิได้ ครับ

เพราะฉะนั้น การทิ้งตำราเรียน ที่ทำด้วยอกุศลจิต ก็เป็นเพียง กายทุจริต ที่แสดงออกมาทางกายด้วยอกุศลจิตเป็นปัจจัย แต่ไมใช่อกุศลกรรม เพราะ ไม่ได้มีกำลังถึงล่วงกรรมบถ ที่เป็น อกุศลกรรมบถ ๑๐ ข้อหนึ่งข้อใด ครับ

ส่วนการใช้เงินสุรุ่ยสุร่ายก็โดยนัยเดียวกัน ไม่ได้เป็นถึง อกุศลกรรมที่จะครบกรรมบถนำผลให้เกิดในอบายภูมิได้ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 3 ก.ย. 2555

๒. การมีความคิดลบหลู่พระรัตนตรัยทางใจ แต่ไม่ได้ออกมาเป็นกายกรรมที่ไม่เหมาะไม่ควรหรือเป็นวจีกรรมที่ประทุษร้าย หรือกล่าวลบคุณของท่าน เป็นอกุศลจิตที่เกิดแทรกคั่นขึ้นมาโดยไม่ได้ตั้งใจ (เหมือนอาการฟุ้งซ่านของ จิต คิดว่าน่าจะเป็นอุททัจจะ) เกิดแล้วก็ระลึกทันที พยายามระลึก ระลึกได้ก็ดับไป แต่ก็ไม่วายเกิดขึ้นอีก แทรกคั่นเรื่อยๆ ระหว่างไหว้พระก็ดี กระทำกุศลก็ดี หรือขณะที่นั่งเฉยๆ ก็ดี อย่างนี้เป็นบาปทางมโนกรรมหรือเปล่า แล้วเป็นอริยุปวาทด้วยไหม แต่เพราะไม่ได้ต้องการ ไม่ได้อยากให้เกิดเลย ไม่ได้จงใจให้เกิด แต่ก็ปรากฏขึ้นมาโดยไม่ทราบสาเหตุ ก็เลยไปพยามจะระลึกสติ ระลึกๆ ๆ เปลี่ยนอารมณ์จิตให้เป็นกุศล แต่มันก็ไม่วายผุดขึ้นในใจเป็นระยะๆ แล้วควรจะดับอย่างไรดีครับ

- เพียงการคิดลบหลู่ในใจ ไม่ได้มีการแสดงออกทางกาย วาจา ก็ยังไม่เป็นอกุศลกรรมที่มีกำลังที่จะครบกรรมบถ ที่จะเป็นมโนกรรม เป็นอริยุปวาท ครับ แต่เมื่อใด คิดในใจ อาศัยทางมโนกรรม แล้ว สำเร็จด้วยกาย และ วาจา กรรมนั้นสำเร็จ ที่เป็นมโนกรรม ได้ ครับ


๓. การยินดีในอกุศลกรรมที่ผู้อื่นกระทำสำเร็จแล้ว เป็นอกุศลกรรมไหม อย่างเรามีคนไม่ค่อยชอบหน้า แล้วมีคนไปด่าเขา เราก็ดีใจ เกิดโสมนัสเวทนา ขณะนั้นเราจะบาปด้วยหรือเปล่า

- การยินดีพอใจในกรรมที่ไม่ดีที่ผู้อื่นกระทำ ไม่ได้ถึงกับเป็นอกุศลกรรม แต่เป็นอกุศลจิตของผู้นั้นครับ

๔. ตอบ

โมหมูลจิต กระทำออกทางกาย วาจาได้ แต่เป็นการกระทำทางกายที่เคลื่อนไหวกาย โดยไม่รู้ตัว แต่ไม่มีกำลังถึงจะทำอกุศลกรรมได้ครับ แต่การกระทำอกุศลกรรมที่ด้วยโลภมูลจิต และ โทสมูลจิต ย่อมมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วยเสมอครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 4 ก.ย. 2555

จากคำถามที่ว่า

ปัญญาในขั้น สุตมยปัญญา กับ จินตามยปัญญา นี่ มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมตรงไหน ตอนไหน อย่างไร ในระหว่างการฟังพระอ่าน-ธรรม และพิจารณา-เข้าใจพระธรรม เพราะเราจะฟังพระธรรมด้วยกุศลหรืออกุศลก็ได้ เข้าใจพระธรรมด้วยกุศลหรืออกุศลก็ได้ และขณะที่เข้าใจด้วยกุศล ขณะนั้นถ้ามีปัญญาเจตสิก เกิดร่วมกับสติปัฏฐาน ระลึกเสียง ที่ปรากฏ หรือเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ที่ปรากฏ จากการฟังพระธรรมและเข้าใจ ขณะนั้นก็เป็นขั้นภาวนาแล้วไม่ใช่หรือครับ เป็นขั้นเจริญสติปัฏฐานแล้ว แล้วขณะที่เป็นขั้นอ่าน-ฟัง กับพิจารณา-เข้าใจ เนี่ย ปัญญาเจตสิกเกิดตอนไหน อย่างไร ครับ


- ขณะที่เข้าใจ จะต้องเป็นปัญญาเท่านั้น และ ปัญญาจะไม่เกิดร่วมกับอกุศลจิตเลย เพราะฉะนั้น ขณะที่เข้าใจจะต้องเป็นจิตที่ดีงามเท่านั้น ไม่เป็นอกุศลจิตเลย ครับ ซึ่ง ปัญญา ความเข้าใจก็มีหลายระดับ ทั้ง ปัญญาขั้นการฟัง ที่เรียกว่า สุตตมยปัญญา ขณะที่ฟังธรรมเข้าใจ ขณะนั้นก็เป็นสุตตมยปัญญา เป็นปัญญาขั้นการฟัง ปัญญาเจตสิกนั้นเกิดพร้อมกับจิตที่เป็นกุศล ในขณะที่กำลังฟังเข้าใจในขณะนั้น ครับ ซึ่งรวดเร็วและเล็กน้อยมาก จนไม่สามารถที่จะรู้ได้เลยครับ ต้องเป็นสติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ ลักษณะของปัญญาในขณะนั้น ซึ่งขณะนั้น คือ ขณะที่กำลังเข้าใจจะต้องเป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา ในขณะที่เข้าใจ แต่จะเป็นการเข้าใจด้วยอกุศลไม่ได้ ครับ

ดังนั้น ความเข้าใจ คือ ปัญญาเจตสิกเกิดขึ้นแล้ว ในขณะที่ฟังธรรมเข้าใจ แม้จะเข้าใจเล็กน้อย ก็มีปัญญา ครับ

และ ขณะที่คิดพิจารณาถูกต้องในเรื่องราวของสภาพธรรม ขณะนั้นคิดถูกด้วยปัญญา ปัญญาก็เกิดในขณะที่คิดถูกในขณะนั้น ครับ เป็น จินตามยปัญญา

และ ขณะที่สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา โดยไม่ใช่การคิดนึก ขณะนั้น ก็เป็นปัญญาเช่นกัน แต่เป็นปัญญาอีกระดับขั้นที่สูงกว่า ที่รู้ลักษณะตัวจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ครับ เป็นปัญญาที่เป็น ภาวนามยปัญญา

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
นิรมิต
วันที่ 4 ก.ย. 2555

กราบอนุโมทนาสาธุครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 4 ก.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดงนั้น เป็นสิ่งที่มีจริงทั้งหมด และสิ่งที่มีจริง ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ทั้งกุศล และ อกุศล ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

กุศล เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม เป็นสภาพธรรมที่ไม่มีโทษ เป็นสภาพธรรมที่ตัดบาป-ธรรม เป็นสภาพธรรมที่ทำลายอกุศลธรรม เพราะเหตุว่าในขณะที่เป็นกุศล นั้น อกุศลจะเกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ได้แก่ กุศลจิต และ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย กุศลธรรม ซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน เช่น ขณะที่ให้ทาน ขณะที่งดเว้นจากทุจริต ขณะที่ฟังพระธรรม ขณะที่มีการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น เป็นต้น

อกุศล เป็นธรรมฝ่ายดำ เป็นธรรมที่มีโทษโดยส่วนเดียว ไม่เป็นประโยชน์แก่ใครๆ ทั้งสิ้น โดยปกติของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น อกุศลเกิดขึ้นเป็นไปมากกว่ากุศล เช่น ขณะที่ติดข้อง ยินดีพอใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะที่โกรธ ขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ เป็นต้น เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ได้แก่ อกุศลจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ถ้าสะสมมากขึ้น มีกำลังมากขึ้นก็สามารถล่วงเป็นทุจริตกรรมเบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อนได้

เพราะฉะนั้น จะประมาทกำลังของอกุศลไม่ได้เล ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wannee.s
วันที่ 4 ก.ย. 2555

ของทุกอย่างที่ไม่ใช้แล้ว สภาพดี หรือ พอใช้ได้ ถ้าบริจาคให้คนอื่นดีกว่าทิ้ง และ ถ้าไม่รู้จะให้ใคร หรือ จะทิ้งจริงๆ ก็ให้วางไว้ข้างๆ ขยะ เผื่อคนเก็บของเก่าจะได้เอาไปใช้ หรือขายได้ เขาจะได้มีรายได้เลี้ยงชีพด้วย การทิ้งของไม่เป็นบาป แต่ถ้ากุศลจิตเกิด คิดจะให้เป็นบุญดีกว่า ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
นิรมิต
วันที่ 4 ก.ย. 2555

กราบอนุโมทนาท่านวิทยากรทุกท่านครับผม

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Graabphra
วันที่ 6 ก.ย. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ