กิเลส ตัณหา

 
nano16233
วันที่  1 ก.ย. 2555
หมายเลข  21647
อ่าน  8,209

กิเลส และ ตัณหา คืออะไร?


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 1 ก.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบนมัสการพระคุณเจ้าที่เคารพ ครับ

ไม่ว่าจะกล่าวถึงอะไรก็ไม่พ้นไปจากธรรมที่มีจริง กิเลส ก็เป็นธรรมที่มีจริง เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต เวลาเกิดขึ้นก็เกิดร่วมกับอกุศลจิตเท่านั้น กิเลสไม่เกิดกับจิตประเภทอื่นเลย นอกจากอกุศลจิตเท่านั้น กิเลสมีมาก เช่น โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น เป็นกิเลส

แต่ถ้ากล่าวถึง ตัณหา แล้ว ก็เป็นหนึ่งในกิเลส เป็นความติดข้องยินดีพอใจ เป็นความอยาก เป็นความต้องการ อันเป็นชื่อหนึ่งของโลภะนั่นเอง

ดังนั้น กิเลส มีมาก กว้างขวางกว่าตัณหา เพราะตัณหาเป็นหนึ่งในกิเลส เวลากล่าวถึงกิเลส ก็กล่าวครอบคลุมทั้งหมด มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น แต่ถ้ากล่าวถึงตัณหาแล้ว ก็มุ่งถึงความติดข้องต้องการเท่านั้น ไม่ได้หมายถึงกิเลสประเภทอื่น ครับ

ขอกราบอาราธนานิมนต์พระคุณเจ้าคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อนี้ ครับ

กิเลสตัณหา

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 1 ก.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบนมัสการพระคุณเจ้า ครับ

จากกระทู้ เรื่อง กิเลสตัณหา ได้อธิบาย ความละเอียดของกิเลส และ ตัณหา คืออะไร แตกต่างกันโดยนัยไหนไปแล้ว ซึ่งจะขออธิบายความละเอียดของกิเลส และ ตัณหา โดยนัยต่างๆ ให้มากขึ้น เพื่อความเข้าใจถูกในเรื่องของกิเลส และตัณหา โดยนัยต่างๆ และ ความแตกต่างโดยนัยต่างๆ ครับ

กิเลส เป็นสภาพธรรมที่มีจริง โดยองค์ธรรม คือ เจตสิกที่ไม่ดี ที่เกิดร่วมกับจิต มีโลภะ โทสะ โมหะ มานะ เป็นต้น ส่วนตัณหา เหมือนกัน คือ เป็นเจตสิกอีกเช่นกัน คือ โลภเจตสิก แต่ ความแตกต่างของ กิเลส กับ ตัณหา อีกนัยหนึ่ง คือ กิเลส มีหลายประเภท ซึ่งแต่ละประเภท ทำหน้าที่แตกต่างกันไป กิเลสบางประเภท ไม่เป็นเหตุแห่งทุกข์ หรือ สมุทยสัจจะ แต่ ตัณหา เป็นเหตุแห่งทุกข์ นี่คือ ความแตกต่างประการที่หนึ่ง เพราะ อาศัย ตัณหา ความติดข้อง ที่เป็นเหตุแห่งทุกข์ จึงทำให้เวียนว่ายตายเกิด ไม่มีที่สิ้นสุด แต่กิเลสบางประเภท มี วิจิกิจฉา ถีนะ อุทธัจจะ ไม่ได้เป็นสมุทยสัจจะ ที่เป็นเหตุแห่งทุกข์

ความแตกต่างประการที่สอง กิเลส มีความหมายกว้าง ตัณหา มีความหมายแคบ ซึ่ง ตัณหา องค์ธรรมคือ โลภะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิเลส หากเคยได้ยินคำนี้ คือ วัตถุกาม คือ สภาพธรรมที่เป็นที่ตั้งของความติดข้อง ยินดีพอใจ

และอีกประการหนึ่ง คือ กิเลสกาม กิเลสกามนี้เอง กิเลสกาม คือสภาพธรรมที่ใคร่ ที่ติดข้อง ที่พอใจ หมายถึง ตัณหา หรือ โลภเจตสิก ซึ่งเป็นไปในอารมณ์ต่างๆ เพราฉะนั้น ตัณหา จึงเป็นกิเลสประเภทหนึ่งที่เป็น กิเลสกาม คือ โลภะ ครับ

ความแตกต่างประการที่สาม แตกต่างตามระดับของการละได้ กิเลสมีหลายอย่าง หลายประการ คือ โลภะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา ถีนะ อุทธัจจะ อหิริกะ อโนตตัปปะ ซึ่ง

ตัณหา หรือ โลภะ ละได้เมื่อถึงความเป็นพระอรหันต์

ส่วน กิเลสที่เป็นโทสะ ละได้ เมื่อเป็นพระอนาคามี

วิจิกิจฉาที่เป็นกิเลส ละได้เมื่อเป็นพระโสดาบัน เป็นต้น

จะเห็นนะครับว่า กิเลสมีมาก ซึ่งการจะสามารถละกิเลสได้ในแต่ละประเภท ก็แตกต่างกันไป แต่ สำหรับ ตัณหา หรือ โลภะ ละได้เมื่อถึงความเป็นพระอรหันต์ ครับ

ประการที่สำคัญที่สุด สำหรับการศึกษาธรรม โดยเฉพาะในเรื่องของกิเลส คือ การศึกษาชื่อกิเลส เพื่อเข้าใจว่า กิเลส คือ ธรรม ไม่ใช่เรา ซึ่งกิเลสไม่ได้อยู่ที่ไหนไกล กำลังเกิดในขณะนี้ พระพุทธเจ้า จึงทรงแสดงธรรม ให้เห็นกิเลสที่อยู่ในจิตใจของพุทธบริษัทตามความเป็นจริง ให้เห็นโทษของกิเลสประการต่างๆ และ เมื่อเห็นโทษ จึงอบรมปัญญาเพื่อละกิเลส แต่ไม่ใช่แสดงกิเลส และ จะให้ทำละกิเลส โดยไม่มีความเข้าใจพระธรรม เพราะ กิเลส จะละได้ ก็ด้วยอาศัยปัญญา ไม่ใช่เรา

เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นโทษของกิเลสโดยนัยต่างๆ จึงอบรมปัญญาเพื่อจะละกิเลส นั่นคือ รู้จักตัวกิเลสที่เป็นข้าศึกภายใน ตัณหา ก็เป็นกิเลสที่เป็นข้าศึกภายใน ถ้าไม่รู้ ก็ละไม่ได้ รู้ด้วยปัญญา ว่า กิเลสประเภทต่างๆ รวมทั้ง ตัณหา ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา เมื่อเข้าใจดังนี้ การศึกษาธรรมก็จะเบาสบาย เพราะไม่ไปบังคับพยายามให้กิเลสและตัณหาไม่เกิด เพราะเป็นไปไม่ได้ แต่ อยู่กับกิเลสด้วยความเข้าใจที่เกิดขึ้น หลังจากกิเลส และ ตัณหา เกิดแล้ว ว่า เป็น ธรรม ไม่ใช่เรา นี่คือ หนทางละกิเลส เพราะ รู้จักกิเลส และไม่บังคับกิเลส

สำคัญ คือ อบรมเหตุ คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ธรรมฝ่ายดีที่เกิดขึ้น จะรู้ และ ละ ทีละน้อย ครับ

สัตว์โลกมีกิเลส แต่ใครจะเห็นโทษของกิเลส ตามความเป็นจริง นั่นคือ รู้จักตัวกิเลส ชื่อว่า รู้จักโทษของกิเลส

กราบนมัสการพระคุณเจ้า ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
nano16233
วันที่ 1 ก.ย. 2555

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
พร้อมเสมอ
วันที่ 2 ก.ย. 2555

สาธุ และ ขออนุโมทนาที่ท่านอาจารย์กรุณาอธิบายอย่างแจ่มแจ้งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 3 ก.ย. 2555

กิเลสกว้างกว่า รวมทั้ง โลภะ โทสะ โมหะ

ส่วนตัณหาก็เป็นหนึ่งในกิเลสที่ติดข้องในกามคุณ ๕

แม้แต่พระอนาคามี ท่านก็ยังมีตัณหา คือความยินดีในภพที่ท่านเป็นอยู่

ส่วนพระอรหันต์ท่านดับตัณหา ดับกิเลสหมดไม่มีส่วนเหลือเลย ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 4 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ