อาสวะกิเลสติดตามไปยังภพใหม่ด้วยรูปแบบใด

 
Noii
วันที่  17 ส.ค. 2555
หมายเลข  21574
อ่าน  2,593

เมื่อสิ้นกรรมในชาติหนึ่งๆ หากยังไม่เข้าถึงนิพพานก็ต้องไปจุติในภพใหม่ ในทันทีที่สิ้นกรรม ซึ่งจะภพไหนก็สุดแต่กรรมที่ได้สั่งสมเอาไว้ กรรม+อาสวกิเลส ติดตามไปยังภพใหม่ได้ จากการที่กระบวนการของการจุติไปยังภพใหม่นั้นรวดเร็วมาก จนไม่มีช่องว่างใดๆ และผนวกด้วยกระบวนการประชุมรวมกันของสภาพธรรม (จิต เจตสิก รูป) ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปอย่างรวดเร็วมากเช่นกัน

หากเป็นเช่นนี้จริง ก็จะไม่มีอะไรสะดุดเลย เพราะน่าจะเร็วกว่าการหายใจ ดังนี้แล้ว ก็สรุปได้หรือไม่ว่า นี่คือที่มาหรือกระบวนการถ่ายเท กรรม + กิเลสอาสวะ ที่เกิดขึ้นในแต่ละภพแต่ละชาติของสิ่งที่บัญญัติว่าสิ่งมีชีวิต และ จะเป็นเช่นนี้ไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จนกว่าจะบรรลุธรรม ใช่หรือไม่คะ

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาบุญแด่ทุกท่านด้วยค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 18 ส.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อาสวกิเลส หมายถึง อกุศลธรรมชนิดหนึ่งที่มีสภาพหมักหมมไว้ในขันธสันดาน เหมือนกับสุราซึ่งเป็นเครื่องหมักดองที่เก็บไว้นานๆ มีอำนาจทำให้เมาและหลงใหลได้ อาสวะยังเป็นสภาพที่ไหลไป ไหลไปสู่ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ สามารถไหลไปได้จนถึงภวัคคพรหม เมื่อว่าโดยภูมิ แต่เมื่อว่าโดยธรรม ก็ไหลไปได้จนถึงโคตรภู ทำให้สังสารวัฏฏ์เจริญสืบต่อไป

อาสวะมี ๔ อย่าง คือ ...

๑. กามาสวะ เครื่องหมักดองคือความยินดีในกาม ได้แก่ โลภเจตสิกที่เกิดกับ โลภมูลจิต ๘ ดวง

๒. ภวาสวะ เครื่องหมักดองคือความยินดีในภพ ได้แก่ โลภเจตสิกที่เกิดกับ โลภทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ๔ ดวง

๓. ทิฏฐาสวะ เครื่องหมักดองคือความเห็นผิด ได้แก่ ทิฏฐิเจตสิกที่เกิดโลภ ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวง

๔. อวิชชาสวะ เครื่องหมักดวงคือความไม่รู้ ได้แก่ โมหเจตสิกที่เกิดกับอกุศล จิตทั้ง ๑๒ ดวง

ซึ่งในความเป็นจริงของสภาพธรรม ที่เป็นจิต เป็นสภาพธรรมที่สะสม คือ สะสมทั้งฝ่ายดี ที่เป็นกุศล และ สะสมทั้งฝ่ายไม่ดี ที่เป็นอกุศล ที่เป็นกิเลส ที่เป็นอาสวะกิเลส เป็นต้น เพราะฉะนั้น กิเลสที่เกิดขึ้นกับจิต ไม่ได้หายไปไหน แต่จะสะสมไว้กับจิตนั้น และ เมื่อจิตประเภทนั้นดับไป จิตดวงใหม่เกิดขึ้น การสะสม ที่เป็นกิเลสก็ไม่ได้หายไปไหน ก็ไหลไป เป็นอาสวะที่ไหลไปสู่จิตดวงใหม่ ทำให้กิเลสที่เกิดขึ้นเมื่อจิตดวงก่อนๆ ที่ดับไป ก็สะสมต่อไปในจิตดวงใหม่ที่เกิดขึ้น ครับ

ซึ่ง คำว่าภพใหม่ ก็เป็นเพียง จุติจิตดับไป ปฏิสนธิจิตก็เกิดต่อ เพียงขณะเดียว ก็แล้วแต่ว่าจะเกิดเป็นอะไร แต่การสะสมทั้งฝ่ายดี และ ไม่ดีที่เป็นกิเลส อาสวะกิเลสก็ไม่ได้หายไปไหน ครับ หากหายไป ก็เท่ากับว่า ผู้นั้นก็จะไม่มีกิเลสอีกเลย จิตดวงใหม่ที่เกิดขึ้นไม่มีกิเลส และทางฝ่ายกุศล หากสะสมปัญญามา หากไม่ได้สะสมต่อไปในจิตขณะต่อไป ปัญญาที่สะสมก็หายไปหมด

แต่ในความเป็นจริง แต่ละคน ที่มีอุปนิสัยแตกต่างกันไป ก็เพราะ อาศัยการสะสมในจิตดวงอื่นๆ ในอดีตที่ดับไปนั่นเองครับ ทำให้เป็นผู้มักโกรธ เพราะในอดีต ที่จิตดวงก่อนๆ ดับไปนั้น โทสะมูลจิตเกิดบ่อยๆ เป็นปัจจัยให้สะสมในจิตดวงต่อๆ ไป ทำให้เป็นผู้มีอุปนิสัยมักโกรธ ครับ

เช่นเดียวกับการเปลี่ยนภพภูมิ ก็เพียงจิตขณะเดียว ซึ่งการสะสมของกิเลสที่เคยเกิดมาในจิตดวงอื่นๆ ไม่หายไปไหน สมดังกับ คำว่า อาสวะกิเลส ที่เป็นสภาพธรรมที่ไหลไป ไหลไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ และ ในจิตดวงต่อๆ ไป และไหลจนถึง พรหมภูมิ แม้จะเปลี่ยนภพภูมิ แต่กิเลสก็ตามไป ในแต่ละขณะจิต ไหลไปถึงภพภูมิต่างๆ ครับ และจะเป็นเช่นนี้จนกว่าจะดับกิเลสหมดสิ้น ดังที่ผู้ถามมีความเข้าใจถูกต้องแล้ว ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Noii
วันที่ 18 ส.ค. 2555

ขอบคุณค่ะ และคำอธิบายทำให้เข้าใจเพิ่มเติมได้ว่าไม่ควรใช้คำว่าติดตาม เพราะความจริงแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในที่ของมัน ไม่มีการเคลื่อนย้ายไปไหน เป็นเพียงผลจากการทำงานตามลักษณะของจิตเท่านั้น จุติจิตดับไป ปฏิสนธิจิตก็เกิดต่อ และภพใหม่ก็เกิดอยู่ตรงนั้นเอง ไม่มีอะไรเคลื่อนย้ายไปไหน จะเกิดแล้วตายอีกกี่แสนล้านครั้งหรืออีกกี่แสนล้านภพก็อยู่ตรงนั้นนั่นเอง หากจะยุติได้ ก็จากการบรรลุธรรมเท่านั้น.

เรียนถามเข้าใจถูกไหมคะ ถ้าเข้าใจถูก ขอเรียนถามต่อว่านิพพานก็อยู่ตรงนั้นด้วยหรือ ใช่หรือไม่ ถ้าใช่ เป็นการแยกกันอยู่หรือว่าเป็นรวมเป็นนิพพานเดียวกัน

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 19 ส.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 2 ครับ

ถูกต้องครับ จิต ไม่ได้ติดตามไป เพราะจิตเกิดขึ้นและดับไป เป็นจิตดวงใหม่เสมอ เพียงแต่สิ่งที่เกิดพร้อมจิตที่เป็นกิเลส เป็นต้น สะสมสืบต่อไปในจิตดวงต่อๆ ไปได้ครับ และจบลงได้ด้วยการบรรลุธรรมถึงการดับกิเลส และ ปรินิพพาน ครับ

ส่วน นิพพานเป็นสภาพธรรมที่จริง ซึ่ง นิพพานจะมีปรากฏได้ ก็ต่อเมื่อมีปัญญาที่เป็นระดับมรรคจิตที่เกิดขึ้น หรือ ผลจิตเกิดขึ้น ครับ นิพพาน จึงปรากฏกับจิตที่ประกอบด้วยปัญญาระดับสูง เพราะฉะนั้น นิพพาน จึงไม่ได้ปะปน ปนอยู่กับ จิต เจตสิก รูป แต่ นิพพาน เป็นสภาพธรรมที่ปราศจากจิต เจตสิก รูป ไม่ได้มีสถานที่ที่นิพพานอยู่ แต่จะปรากฏ มีอยู่เมื่อ มีจิตที่ประกอบด้วยปัญญาระดับสูงเกิดเท่านั้น ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Noii
วันที่ 19 ส.ค. 2555

เรียนความคิดเห็นที่ 3

เข้าใจในคำอธิบายค่ะ. อาจเพราะคำถามไม่ชัดเจน

ขออธิบายคำถามด้วยการเปรียบเทียบยกตัวอย่างโดยไม่กล่าวถึงรายละเอียดปลีกย่อยดังนี้.

ความดีเกิดขึ้นเพราะความชั่วหายไป

ความทุกข์เกิดขึ้นเพราะความสุขหายไป

กิเลสหมดเป็นสมุจเฉท เมื่อนั้นก็ถึงนิพพาน

ดังนั้นสมการง่ายๆ นิพพานเกิดขึ้นเมื่อหมดกิเลสเป็นสมุจเฉท ไม่ต้องไปวิ่งหานิพพาน ไม่มีการเคลื่อนไหวเคลื่อนย้าย

ประเด็นคำถามคือ เมื่อแต่ละบุคคลบรรลุนิพพานแล้ว (เฉพาะสิ้นอายุขัย) . นิพพานนั้นแยกหรือรวมไปสู่นิพพานเดียวกัน

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 19 ส.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 4 ครับ

เมื่อพระอรหันต์แต่ละรูป ปรินิพพานแล้ว ย่อมไม่ไปในนิพพานที่ใด เพียงแต่ใช้คำว่า อนุปาทิเสสนิพพาน หมายถึง การปรินิพพานโดยสิ้งเชิง หรือ การดับรอบ ไม่มีอะไรเกิดโดยสิ้นเชิง จึงเรียกว่า นิพพาน ที่เป็น อนุปาทิเสสนิพพาน ครับ

แต่ไม่ได้หมายความว่าไปนิพพาน ณ ที่หนึ่งที่ใด หรือ ถึง ตัวนิพพานอีกครับ เพราะ ไม่มีการเกิดขึ้นของ จิต เจตสิก รูป เพราะ การจะประจักษ์พระนิพพาน จะต้องมี จิต เจตสิกเกิดขึ้น พระอรหันต์ จึง ปรินิพพาน โดยการใช้คำว่า นิพพาน คือ ไม่มีการเกิดขึ้นของสภาพธรรมใดอีก เรียกว่า นิพพาน เป็น อนุปาทิเสสนิพพาน ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Noii
วันที่ 19 ส.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 5

ขอบคุณค่ะ เข้าใจในคำอธิบาย แต่ยังไม่เข้าไปอยู่ในใจ

คงต้องรอให้ประจักษ์แจ้งในธรรมนั้นก่อน จึงจะเข้าใจอย่างแท้จริง

ขอบคุณและขออนุโมทนาบุญค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
khampan.a
วันที่ 19 ส.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นสิ่งที่มีจริงทั้งหมด ทรงแสดงไว้อย่างละเอียดตลอด ๔๕ พรรษาเพื่อประโยชน์ คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูกของผู้ฟัง ผู้ศึกษา เกิดความเข้าใจถูก เห็นถูกเป็นปัญญาของตนเอง

สำหรับในเรื่องของอกุศลธรรม ซึ่งเป็นธรรมฝ่ายดำ นั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงแสดงจำแนกไว้หลายหมวดหมู่ เพื่อให้สัตว์โลกได้เข้าใจ และเห็นโทษของอกุศลธรรม ตามความเป็นจริง หนึ่งในนั้น คือ หมวดของอาสวะ ๔ ประการ

อาสวะ เป็นอกุศลธรรมที่บางเบาไหลไปอย่างรวดเร็ว ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และ ทางใจ ซึ่งไม่พ้นไปจากชีวิตประจำวันเลย เพราะเคยสะสมมาแล้วนานแสนนานในสังสารวัฏฏ์

อาสวะ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่ไม่รู้ เมื่อกล่าวโดยสภาพธรรมแล้ว ก็ไม่พ้นไปจากความติดข้องยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส และ สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ซึ่งก็มีจริงในชีวิตประจำวัน แต่เราก็ไม่รู้เลยว่าติดข้องแล้วในขณะนั้น หลังเห็น หลังได้ยิน เป็นต้น นี้คือ ลักษณะของอาสวะที่ ๑ คือ กามาสวะ

อาสวะที่ ๒ คือ ภวาสวะ ความติดข้องยินดีพอใจในภพ ในขันธ์ ในความมี ความเป็น, ขณะที่มีความเห็นผิดเกิดขึ้น ก็เป็นทิฏฐาสวะ ซึ่งเป็นอาสวะที่ ๓ และที่ร้ายไปกว่านั้น เป็นไปด้วยความไม่รู้ เป็นอาสวะ ที่ ๔ คือ อวิชชาสวะ

ทั้ง ๔ ประการนี้ เป็นสิ่งที่มีจริงทั้งหมด แต่เป็นอกุศลธรรม ที่จะต้องละด้วยปัญญา ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชน ก็ยังมีอาสวะ ครบ เพราะผู้ที่จะดับอาสวะได้ต้องเป็นพระอริยบุคคล อาสวะ ๔ นั้น ดับเป็นขั้นๆ ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป

กล่าวคือ พระโสดาบัน ดับความเห็นผิด ได้

พระอนาคามี ดับความติดข้องยินดีพอใจในกาม ได้

พระอรหันต์ ดับความติดข้องในภพ และ ความไม่รู้ ได้

ดังนั้น อาสวะ เป็นอันดับได้อย่างหมดสิ้น เมื่อถึงความเป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์ เป็นผู้สิ้นอาสวะทั้งปวง แล้ว พระอรหันต์ จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า พระขีณาสพ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
boonpoj
วันที่ 24 เม.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ