กรรม

 
อรรถวาที
วันที่  7 ก.ค. 2555
หมายเลข  21366
อ่าน  1,412

พระพุทธศาสนาสอนเรื่องกรรมไว้อย่างไรครับ คำว่า กรรม แปลว่าอะไร มาจาก

ไหนครับ มีพระสูตรปรากฏในพระสูตรไหนบ้างครับ

แล้วพิธีตัดกรรมนั้นทำได้ไหมครับ

แล้วทำไมคนดีๆ ต้องมาตายก่อน คนชั่วยังปรากฏเต็มเมืองครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 8 ก.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ในคำสอนทางพระพุทธศาสนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงเรื่องกรรมไว้ในหลายๆ พระสูตร เช่น นิทานสูตร จูฬกัมมวิภังคสูตร สังขิตตสูตร เป็นต้น

กรรม คือ การกระทำ เป็นความจงใจ ความตั้งใจกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจ เมื่อกล่าวโดยสภาพธรรมแล้ว ได้แก่ เจตนาเจตสิก เจตนาที่เกิดร่วมกับกุศลจิต และ อกุศลจิต เมื่อสำเร็จเป็นกรรมย่อมให้ผลตามโอกาสอันควร เมื่อไม่ถึงโอกาสอันควร จึงยังไม่ให้ผล เป็นธรรมที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเลย

แต่เพราะมีธรรมเกิดขึ้นเป็นไป จึงมีการสมมติรู้กันว่า คนนั้นทำดี คนนี้ทำไม่ดี การกระทำดี ที่เป็นกุศลกรรม เกิดขึ้นเพราะมีการใส่ใจอย่างถูกต้องแยบคาย ในทางตรงกันข้าม การกระทำชั่วเกิดขึ้นก็เพราะมีการใส่ใจโดยไม่แยบคาย เป็นอกุศล นั่นเอง

กรรมที่ทำไว้แล้วทุกขณะไม่มีการสูญหายไปไหน เมื่อถึงโอกาสอันควรย่อมให้ผลตามควรแก่เหตุที่ได้กระทำไว้ เมื่อทำกรรมสำเร็จแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกรรมในชาตินี้หรือกรรมในชาติก่อนๆ ที่ผ่านมา เมื่อถึงคราวให้ผล ย่อมให้ผลตามฐานะของกรรม นั้นๆ ไม่มีใครสามารถตัดกรรมหรือลบล้างกรรมที่ทำสำเร็จไปแล้วได้

ไม่ว่าจะเป็นยุคใดสมัยใด ก็มีทั้งคนดี และ คนไม่ดี ด้วยกันทั้งนั้น แต่ละคนมีความประพฤติเป็นไปตามการสะสม เป็นคนดี เพราะมีธรรมฝ่ายดีเกิดขึ้นเป็นไป เป็นคนไม่ดี ก็เพราะธรรมฝ่ายที่ไม่ดี คือ อกุศลธรรม เกิดขึ้นเป็นไป เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ก็ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ มีแต่ธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้นเป็นไป

การเกิดมาเป็นมนุษย์ นั้น เป็นผลของกุศลกรรม เป็นผลของกรรมที่ดีงาม เมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว การที่จะตายเร็ว ตายช้า ไม่มีบุคคลผู้ใดสามารถรู้ล่วงหน้าได้ เป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ตายเร็ว หรือ ที่เรียกว่าอายุสั้น เพราะอกุศลกรรม คือ การฆ่าสัตว์ในอดีต เข้าไปตัดรอน ส่วน อายุยืนเพราะผลของกุศลกรรม คือ การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ และประการที่สำคัญ ถึงแม้ว่าจะเป็นผู้มีอายุยืนนาน แต่เป็นผู้ที่ประมาท มีชีวิตอยู่ด้วยความมัวเมา ไม่เจริญกุศล ไม่ได้ศึกษาพระธรรม ไม่ได้อบรมเจริญปัญญาแล้ว ย่อมเป็นชีวิตที่ไร้ค่า ไม่เป็นไปเพื่อประโยขน์ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นผู้ที่มีชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท เห็นว่าชีวิตสั้นมาก ไม่ประมาทในการเจริญกุศลประการต่างๆ พร้อมทั้งได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกขึ้นไปตามลำดับด้วยแล้ว แม้จะมีชีวิตที่สั้น ก็เป็นชีวิตที่ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นชีวิตที่มีค่า เกิดมาแล้ว ต้องตายทุกคน ไม่มีใครรอดพ้นจากความตายไปได้เลยแม้แต่คนเดียว

แทนที่จะไปมองว่าคนอื่นเขาไม่ดี คนอื่นเขาเป็นคนชั่ว ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า เมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว ตัวเองได้ทำตนให้คุ้มค่ากับการได้เกิดมาเป็นมนุษย์หรือยัง? ด้วยการสะสมความดีประการต่างๆ กล่าวคือ ศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญา และ เจริญกุศลประการต่างๆ สะสมเป็นที่พึ่งให้กับตนเองต่อไป อันเป็นทางเดียวที่จะค่อยๆ ขัดเกลากิเลสของตนเองให้เบาบางลงจนกว่าจะถึงการดับได้อย่างหมดสิ้นในที่สุด ครับ.

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเิติมได้ที่นี่ครับ

กรรม ๔ ประเภท [อรรถกถาสังขิตตสูตร]

กฏแห่งกรรม [จูฬกัมมวิภังคสูตร]

กรรมดีลบล้างกรรมชั่วได้หรือไม่

เราจะมีวิธีลบล้างกรรมเก่าได้อย่างไร

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 8 ก.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พิธีตัดกรรมนั้นทำได้ไหมครับ

บาป คือ อกุศลจิต และอกุศลกรรม เมื่อกระทำความชั่ว

บุญ คือ กุศลจิต และ กุศลกรรม เมื่อกระทำความดี.

ทั้งบาปและบุญ ที่มีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นตัวกรรม ซึ่ง การกระทำใดๆ นั้น เมื่อได้กระทำไปแล้วก็ไม่อาจที่จะเรียกร้อง ให้กลับคืนมาได้ไม่ว่าการกระทำนั้น จะเป็นบุญ หรือบาป.

สมมติว่า เราตีเด็ก เด็กนั้นเจ็บแล้วเราก็ขอโทษเด็ก ถึงเด็กจะไม่ถือโทษ คือ ยกโทษให้เราแต่เด็กก็ถูกตี เจ็บไปแล้ว เราเรียกเอา อาการตี และ อาการเจ็บอันเกิดจากการตีนั้นกลับมาไม่ได้ฉันใดการกระทำชั่วก็ตาม การกระทำดีก็ตาม เมื่อได้กระทำลงไปแล้วก็ไม่อาจเรียก กลับคืนมาได้ฉันนั้น

การกระทำชั่ว คือ บาป เมื่อมีกระทำลงไปแล้ว ผลของการกระทำชั่วนั้น ต้องมี ลบล้างไม่ได้ ความดี และ ความชั่ว ไม่ใช่สิ่งของที่จะสามารถหยิบยื่นให้ใครๆ ก็ได้ เมื่อต้องการ และ ไม่ใช่สิ่งที่จะหยิบทิ้งไปได้ เมื่อไม่ต้องการ ทั้งนี้เพราะว่าความดี ความชั่วนั้น เป็นนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม ที่มีรูปร่าง สัณฐาน แต่นามธรรม คือความดี, ความชั่วสะสมอยู่ในจิต ครับ เพราะฉะนั้น เมื่อทำไปแล้ว ก็ไม่สูญหายไปไหน.เพราะเหตุที่ผลของบุญ และ บาปนี้ ไม่ได้หายไปไหน ผู้ที่ได้กระทำกรรมนั้นๆ แล้วจึงต้องรับทุกข์บ้าง สุขบ้างคละเคล้ากันไป ตามเหตุ ตามปัจจัยตลอดชีวิต. ไม่มีสักคนเลย ที่จะมีแต่สุข หรือมีแต่ทุกข์ อย่างเดียว เพราะว่าทุกคนล้วนเคยกระทำทั้งบุญ และบาปมากมายนานแสนนานที่ยังคงวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏฏ์ ถ้าหากตัดกรรม ล้างบาปได้ เราก็คงมีแต่ความสุข ไม่มีทุกข์ แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ไม่ได้เป็นไปอย่างนั้นเลย ครับ

ทุกคนไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตามก็ยังคงได้รับผลของบาป คือความทุกข์กันอยู่ทั้งนั้น มากน้อย ตามแต่การสะสม การกระทำบาป ของผู้นั้น เช่นที่เรา ได้ประสบพบเห็นกันอยู่ในชีวิตประจำวัน แม้แต่คนที่นับถือศาสนาที่มีพิธิการล้างบาป ไถ่บาปได้ ก็ยังได้รับความทุกข์ เช่นเดียวกับคน ในศาสนาอื่นๆ . และ แม้มีการทำพิธี ล้างกรรม ก็ยังได้รับสุข และ ทุกข์ต่อไปในชีวิตประจำวัน

ด้วยเหตุนี้ การกระทำต่างๆ ที่ผู้ใด ได้กระทำไปแล้ว จึงไม่สามารถที่จะเรียกคืนมาได้ หรือ ล้างไปเสียได้ หรือ ตัดกรรม ผลของการกระทำนั้นจึงยังอยู่ แก่ผู้กระทำกรรมนั้น โดยมีการสะสม และสืบต่อไว้ในจิต เมื่อมีเหตุปัจจัยถึงพร้อม ก็แสดงผลตามควรแก่เหตุ หากว่าผู้นั้นยังเวียนว่ายตายเกิด อยู่ในสังสารวัฏฏ์นี้ ครับ

พระพุทธศาสนานั้น สอนแต่ความจริงซึ่งเป็นกฎธรรมดาของโลก ที่เป็นสัจจะ ทุกกาล ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา หรืออำนาจของผู้ใดทั้งสิ้น ทุกชีวิต ล้วนเป็นไปตามกรรม คือ การกระทำที่ตนได้ทำไว้และจะเป็นอย่างไรต่อไปนั้น ก็เพราะการกระทำของตนเอง ด้วยเหตุนี้ เราจึงเป็นทายาทของกรรม คือ ผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด (เป็นผู้นำเกิด) มีกรรม เป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรม เป็นที่พึ่งอาศัย เมื่อทำกรรมดี หรือ กรรมชั่วไว้ ก็ต้องเป็นผู้รับผลของกรรมดี และ กรรมชั่วนั้น ด้วยตัวเอง นี่เป็นความจริง ที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้

ศาสนาพุทธ สอนให้ละคลายบาปอกุศลธรรม ด้วย ปัญญาโดยการอบรมเจริญปัญญา ด้วยการเจริญวิปัสสนาภาวนาคือ การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ จนกว่าปัญญา จากการอบรมเจริญวิปัสสนาภาวนา จะคมกล้า สมบูรณ์พร้อม สามารถดับกิเลสได้ โดยสิ้นเชิง และไม่เกิดอีกเลยเป็นผู้ที่มีจิตบริสุทธิ์ หมดจด ปราศจากิเลส ก็คือ ผู้ที่บรรลุเป็นพระอรหันต์ นี่คือวิธีละบาป ตัดกรรมในพระพุทธศาสนา เพราะ ไม่มีกรรมที่จะต้องเกิดอีกนั่นเอง ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 8 ก.ค. 2555

แล้วทำไมคนดีๆ ต้องมาตายก่อน คนชั่วยังปรากฏเต็มเมืองหละครับ

- ในความเป็นจริงของปุถุชน หากเราเป็นผู้ตรงต่อธรรม อกุศลย่อมเกิดโดยมากกว่ากุศล เพราะฉะนั้น หากไม่เข้าข้างใคร ไม่เข้าข้างตนเอง ก็ต้องยอมรับตามสัจจะความจริงว่า ยังหนาไปด้วยกิเลส และสะสมกิเลสมามากด้วยกันทั้งนั้น และในชีวิตประจำวัน อกุศลเกิดมาก กว่ากุศลมาก แม้แต่ตัวเราเอง เพราะฉะนั้น หากจะกล่าวว่าคนอื่นไม่ดี เป็นคนชั่ว แม้ตัวเรา และ คนส่วนใหญ่ในสังคม ก็ยังเป็นคนไม่ดีอยู่เป็นส่วนมาก เพราะ ยังเป็นปุถุชนด้วยกันอยู่ทั้งนั้น ก็คงไม่แปลกที่มีคนชั่วเต็มเมือง คือ เต็มไปด้วยอกุศล

อกุศลที่เกิดขึ้นกับแต่ละคน หาก อกุศล เป็นรูปธรรม จับต้องได้ อกุศลที่เกิดขึ้นของแต่ละคน รวมกัน ในวันๆ หนึ่ง คงไม่มีที่เก็บพอเลย เพราะฉะนั้น ก็เต็มไปด้วยอกุศลด้วยกันทั้งนั้น ทั้งของแต่ละคน และ รวมกันเป็นสังคม

ดังนั้น จึงไม่ใช่คนดีตายก่อน คนชั่วเต็มเมือง ในสมัยนี้ เพราะสมัยนี้ เป็นยุคสมัยที่ผู้คนหนาด้วยกิเลสเป็นอย่างมาก โดยมากที่ตายไป ก็ปุถุชนที่หนาด้วยกิเลสที่ตายไป และ เกิดขึ้นใหม่ เป็นบุคคลใหม่ และ ผู้ที่ยังอยู่ ก็เป็นปุถุชนผู้หนาด้วยกิเลสที่เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น อกุศลที่เป็นอนุสัยกิเลส มีกันเต็ม เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม สำหรับปุถุชนแล้ว ไม่ว่าใคร ก็พร้อมที่จะทำบาปได้ ดังเช่น คนอื่นๆ ที่ทำชั่วกันได้ นี่แสดงถึงกำลัง อำนาจของกิเลส สัตว์จึงตายจากไป ตามกรรมที่ให้ผล ที่สำคัญ ไม่ว่าจะสมมติ คิดเอาเองว่าคนนี้ เป็นคนดี คนเลว และสำคัญว่ามีชีวิตอยู่ แต่แท้ที่จริงแล้ว กำลังตายอยู่ทุกขณะ

เมื่อจิตเกิดขึ้นดับไป ก็ตายแล้วทุกขณะ อกุศลเกิดขึ้น ที่กล่าวว่า เป็นคนชั่ว เพราะ เป็นคนอกุศล ที่สมมติว่าเป็นคนดี คนดี ก็มีอกุศลจิตเกิดขึ้นได้ เมื่ออกุศลจิตเกิดขึ้น ก็เป็นคนไม่ดีในขณะนั้น และคนไม่ดีก็ตายไป เพราะ อกุศลจิตนั้นก็ดับไป และ ขณะที่กุศลเกิดขึ้น ก็สมมติว่าเป็นคนดี และคนดีก็ต้องตายไป เพราะ จิตที่เป็นกุศลจิตเกิดขึ้นและดับไป นี่คือความตายที่เป้นสัจจะ ความจริง กำลังตายอยู่ทุกขณะ และก็กำลังเป็นคนดี คนชั่ว ที่ตายไปโดยสมมติ ทุกขณะ ที่เป็นกุศลจิต อกุศลจิต เกิดขึ้น และดับไป ตายอยู่ทุกขณะ

ประโยชน์ คือ รู้จัก คนดี หรือ คนชั่ว ในจิตใจหรือยังว่า ในความเป็นจริง ไม่มีเรา ไม่มีคนดี คนชั่ว เป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา เมื่อเข้าใจความจริงถึงความเป็นธรรมมากขึ้น ก็เกิดกุศลจิต มากขึ้น เมื่อพบเหตุการณ์ที่สำคัญว่า มีคนชั่วทำผิด มีมากมาย เพราะในความจริง ก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เป็นอกุศล เป็นแต่เพียงธรรมแต่ละอย่างเป็นไปเท่านั้น ไม่มีใครเลย ครับ

ประโยชน์จึงอยู่ที่ การอบรมปัญญา รู้ความจริงของตน โดยเฉพาะ ขณะที่เป็นคนดี คนชั่วของตนเองที่เกิดขึ้น นั่นคือ กุศลจิต อกุศลจิตที่กำลังเกิดในขณะนี้ ว่า คืออะไร เพื่อละคลายความไม่รู้ และความเห็นผิดว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน ครับ

การศึกษาพระธรรม ก็จะทำให้เกื้อกูลความเข้าใจถูก และคิดถึงเรื่องราว โดยเฉพาะ เรื่องคนอื่นน้อยลง กลับมาสนใจความจริงที่กำลังปรากฏกับตนเองในขณะนี้

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เซจาน้อย
วันที่ 13 ก.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

"ควรพิจารณากุศลบุคคลอื่น เพื่ออนุโมทนา"

"ควรพิจารณาอกุศลตนเอง เพื่อขัดเกลา"

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ