อยากทราบความหมายของคำว่าปฏิบัติธรรม

 
emancipation
วันที่  30 มิ.ย. 2555
หมายเลข  21315
อ่าน  2,161

ไม่ทราบว่ามีความหมายลึกซึ้งมากแค่ไหนครับ แล้วในชีวิตประจำวันของเราสามารถ

ปฏิบัติธรรมไปพร้อมๆ กับใช้ชีวิตประจำวันตามปกติไหมครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 30 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ปฏิบัติ ปฏิ (เฉพาะ) + ปตฺติ (การถึง)

การถึงเฉพาะ หมายถึง สัมมาปฏิบัติ คือการปฏิบัติชอบ การปฏิบัติถูกต้อง ได้แก่ขณะที่สภาพธรรมฝ่ายดีงามเกิดขึ้นทำกิจของตน เป็นไปในกุศลขั้นต่างๆ โดยเฉพาะการปฏิบัติธรรมขั้นวิปัสสนาภาวนา หมายถึง ขณะที่สติพร้อมสัมปชัญญะที่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรม และรู้ความจริงว่าเป็นเพียงนามธรรมรูปธรรมเท่านั้น ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย และไม่มีใครเป็นผู้ปฏิบัตินอกจากสติสัมปชัญญะและโสภณธรรมที่ทำหน้าที่ปฏิบัติกิจของตนๆ

ความเข้าใจถูกต้องในเรื่องความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม จะเป็นปัจจัยให้มีการปฏิบัติที่ถูกต้องและละความยึดถือความเป็นตัวตนได้ในที่สุด

คำว่าปฏิบัติที่ใช้กันในภาษาไทย กับปฏิบัติในภาษาบาลี ความหมายไม่ตรงกัน กล่าวคือ โดยมากจะเข้าใจกันว่า เป็นการไปทำ แต่ความจริงแล้ว ไม่ใช่การไปทำเพราะเหตุว่า ปฏิบัติธรรม ไม่ใช่การไปทำปฏิบัติ ไม่ใช่การไปทำอะไรที่ผิดปกติขึ้นมา แต่ธรรมเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของธรรม นั่นก็คือ สติ และ สัมปชัญญะ (ปัญญา) เกิดขึ้นระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริง ซึ่งจะต้องอาศัยการฟัง การศึกษาพระธรรมสะสมความเข้าใจขึ้นไปตามลำดับ เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว การปฏิบัติถูกต้อง ย่อมมีไม่ได้อย่างแน่นอน

เพราะฉะนั้นความเข้าใจ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด สำหรับคำว่า ปฏิบัติธรรมนั้น ในพระไตรปิฎกแสดงถึงคำเต็มไว้ คือ ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ หมายถึง การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมคือ สมควรแก่การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม บรรลุมรรค ผล นิพพาน ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 30 มิ.ย. 2555

ในเมื่อปฏิบัติธรรม คือ การรู้ความจริงที่เป็น จิต เจตสิก รูป ที่มีในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น ก็สามารถปฏิบัติธรรมได้ในชีวิตประจำวัน เพราะ ขณะใดที่ปัญญาเกิด รู้ความจริง ก็รู้ความจริงในขณะนี้ในชีวิตประจำวัน โดยมากในชีวิตประจำวัน เมื่อเห็นแล้วก็ชอบ ติดข้อง หรือ ไม่ชอบ เกิดอกุศลประการต่างๆ แต่เมื่ออบรมปัญญาขั้นการฟังไปเรื่อยๆ เมื่อปัญญาถึงพร้อม ปัญญาก็เกิด หลังจากเห็น ได้ยิน แทนอกุศลที่เกิดได้ จึงเป็นการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน ที่เป็นปัญญาเกิดรู้ความจริงในชีวิตประจำวัน ครับ

ดังนั้น อาจมีการกล่าวว่า ในชีวิตประจำวัน เต็มไปด้วยอกุศล วุ่นวาย ปัญญาจะเกิดได้อย่างไร ต้องไปอยู่ที่เงียบสงัด แต่ในความจริง อกุศลไม่ได้เว้นที่จะเกิดในสถานที่ไหน ที่เงียบสงัด หรือ ในชีวิตประจำวัน อกุศลก็เกิดได้ แต่ที่ปัญญาไม่สามารถเกิดได้ในชีวิตประจำวัน ก็เพราะว่า ปัญญายังไม่พอ ไม่ใช่อยู่ที่สถานที่ ครับ

หากไม่มีปัญญา ปัญญาไม่พอ ยังน้อยอยู่ จะอยู่ที่ไ่หน ก็ไม่สามารถรู้ความจริงได้ แต่เมื่อปัญญาถึงพร้อม ปัญญาไม่เลือกสถานที่เกิด ปัญญา ก็เกิด รู้ความจริงในชีวิตประจำวัน ครับ

นั่นคือ ขณะนั้นเป็นปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน และ ขณะที่กุศลจิตเกิด ประการต่างๆ ก็เป็นการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน สมควรแก่ธรรมนั้น ครับ ซึ่งจะขอยกคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ที่อธิบายไว้ในเรื่องนี้ ดังต่อไปนี้ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 30 มิ.ย. 2555

ท่านอาจารย์ ... เพราะว่าวันหนึ่งๆ ได้ฟังธรรมมากเหลือเกิน ใช่ไหมคะ บางท่านอาจจะฟังหลายๆ ชั่วโมงทีเดียว แต่ว่าจำไม่ได้ว่าที่ได้ฟังมาทั้งหมดนั้น เรื่องอะไรบ้าง แต่ธรรมใดที่จำได้ ก็พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ได้ทรงจำแล้ว ทำให้เข้าใจอรรถ รู้ธรรม แล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

แต่เมื่อเป็นผู้ที่ไม่มีวาจางาม ก็เป็นผู้ที่สามารถในอันปฏิบัติ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ตน แต่ไม่สามารถในอันปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกุล แก่ผู้อื่น

อีกท่านหนึ่ง ใน อลังสูตรที่ ๘ ข้อ ๑๕๙

ท่านผู้นี้เป็นผู้ที่ไม่เข้าใจได้เร็วในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ทรงจำธรรมที่ได้ฟังแล้ว ไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ได้ทรงจำแล้ว จึงไม่เข้าใจ อรรถ และ ธรรม เพราะฉะนั้น ก็ไม่ได้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม แต่ว่าเป็นผู้ที่มีวาจางาม เพราะฉะนั้นก็เป็นผู้ที่สามารถในอันปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่น แต่ไม่เป็นผู้สามารถในอันปฏิบัติประโยชน์เกื้อกูลแก่ตน

มีข้อสงสัยในเรื่องนี้ไหมคะ

ถาม ปฏิบัติอย่างไร จึงจะเรียกว่า ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

ท่านอาจารย์ เจริญสติปัฏฐาน ค่ะ

ถาม เจริญสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น การที่

ท่านอาจารย์ เจริญกุศลทุกประการ ไม่ใช่กระทำอกุศล ถ้าทำอกุศล ก็ไม่ใช่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

คุณนิภัทร ถ้ายังไม่เข้าใจเรื่องการ เจริญสติปัฏฐาน ก็เป็นแต่เพียงเข้าใจขั้นศีล ขั้นทานธรรมดานี้ ก็ปฏิบัติในเรื่องศีลเรื่องทาน นี่จะเป็นการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

ท่านอาจารย์ สมควรแก่ธรรม ขั้นทาน ขั้นศีล

คุณนิภัทร คือหมายความว่า ถ้าเข้าใจธรรมขั้นไหนก็ปฏิบัติธรรมขั้นนั้นให้สมบูรณ์ เรียกว่าปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม หรือ

ท่านอาจารย์ ค่ะ

คุณนิภัทร แล้วการที่จะปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมนี้ ก็จะต้องมีความสัมพันธ์กับข้อแรกๆ ก่อนที่จะถึงข้อนี้ เช่นต้องฟังให้เข้าใจ ต้องจำให้ได้ ต้องพิจารณาเนื้อความ และ จะต้องรู้อรรถ รู้ธรรม หมายความว่า ต้องเข้าใจเนื้อหา สาระของข้อความที่ฟังนั้น จึงจะปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมได้ ถ้าหากฟังไม่เข้าใจแล้ว การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมก็คงปฏิบัติไม่ได้

ท่านอาจารย์ แน่นอนค่ะ เพราะฉะนั้น บางท่านที่ไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่มีความเข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งเป็นสติปัฏฐานเลย แต่อยากจะปฏิบัติ ซึ่งการปฏิบัติโดยที่ไม่เข้าใจอะไรเลย ไม่ทำให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ทำให้เข้าใจตนเองตามความเป็นจริง ก็ย่อมไม่เป็นประโยชน์

คุณอดิศักดิ์ อาจารย์ยกตัวอย่างขึ้นมา ๗ จำพวกด้วยกันใช่ไหมครับ เท่าที่ผมจำได้มี ๗ จำพวก ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เข้าใจได้ เข้าใจไม่ได้ จำได้ จำไม่ได้ จำได้บางอย่าง พิจารณา บางคนก็ไม่พิจารณา ผมก็มาพิจารณาตัวเองว่า เราพิจารณาธรรมได้อรรถ ได้กุศลธรรม ได้ไปแค่ไหนแล้ว เมื่อพิจารณาแล้วก็คิดว่าคงจะจำได้บ้าง จำไม่ได้บ้าง เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง แล้วอย่างนี้ จะปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ได้ไหมครับ

ท่านอาจารย์ ขณะใดที่ปฏิบัติถูก ขณะใดที่เป็นกุศล ขณะนั้น เป็นการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

คุณอดิศักดิ์ ปฏิบัติธรรมได้สมควรแก่ธรรม แต่ยังไม่แล้ว ใช่ไหมครับอาจารย์

ท่านอาจารย์ ต้องเป็นพระอรหันต์ ค่ะ พอถึงคำว่า ปฏิบัติธรรม ก็สงสัยอีกเหมือนกันนะคะ ว่าปฏิบัติอย่างไร

ปฏิบัติธรรม เป็นการอบรมเจริญกุศลทุกประการ และ กุศลทุกประการที่จะเจริญขึ้น ก็จะพ้นจากการอบรมเจริญปัญญาไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีปัญญาความเข้าใจในพระธรรม กุศลธรรมทั้งหลายก็เจริญไม่ได้ แต่ที่กุศลทั้งหลายจะเจริญได้ ก็เพราะมีความเข้าใจพระธรรมเพิ่มขึ้น และ สำหรับ หิริ โอตัปปะ ก็เป็นเหตุที่จะให้เกิดปัญญาด้วย

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
nong
วันที่ 30 มิ.ย. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 30 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สำคัญอยู่ที่ความเข้าใจถูกเห็นถูก ถึงแม้ว่าจะมีคำว่า “ปฏิบัติธรรม” ปรากฏในคำสอนที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ก็ไม่ใช่การปฏิบัติธรรม แต่เป็นการปฏิบัติผิด ไม่เป็นไปเพื่อความเข้าขึ้นของปัญญา ในขณะที่ปฏิบัติผิดนั้น ก็เพิ่มพูนโลภะ ความติดข้องต้องการ และ ความเห็นผิด ให้เพิ่มขึ้น

แท้ที่จริงแล้ว การปฏิบัติธรรม เป็นการอบรมเจริญปัญญา เพื่อรู้สภาพธรรมที่ปรากฏ คือรู้นามธรรม และรูปธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งเริ่มต้นด้วยการศึกษาให้เข้าใจในสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมโดยประเภทต่างๆ ว่าเป็นธรรมแต่ละอย่างๆ ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เมื่อมีความเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ก็ย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้สติและปัญญา เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่สติและปัญญา เกิดขึ้นระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นการถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ตามความเป็นจริง โดยที่ไม่เลือกสถานที่ กาลเวลา และไม่มีการเจาะจงที่จะรู้สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด ทั้งหมดล้วนเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

สิ่งที่ขาดไม่ได้เลย คือ การฟังพระธรรม กาลสมัยนี้ ยังเป็นยุคที่พระธรรมยังดำรงอยู่ บุคคลผู้ที่เป็นกัลยาณมิตร เผยแพร่พระธรรมตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็ยังมีอยู่ จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ที่สะสมบุญมาแต่ปางก่อน เห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจความจริง จะได้สะสมปัญญาจากการได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมในแต่ละครั้ง สะสมเป็นอุปนิสัยที่ดีต่อไป จนกว่าจะถึงความสมบูรณ์พร้อมของปัญญาได้ในที่สุด

เพราะการที่ปัญญาจะมีมากได้ จะเป็นเหตุให้สติเกิดขึ้น ระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้นั้น ก็จะต้องเริ่มจากการฟังพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ไปทีละเล็กทีละน้อย ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เซจาน้อย
วันที่ 30 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

"ขณะที่ฟังพระธรรมแล้วเข้าใจ ขณะนั้นชื่อว่าปฏิบัติธรรมแล้วครับ"

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของอ.ผเดิม, อ.คำปั่นและทุกๆ ท่านครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ