บังเอิญ กับ กิเลส 3 กอง

 
เข้าใจ
วันที่  19 มิ.ย. 2555
หมายเลข  21278
อ่าน  3,853

ความเป็นจริงที่ได้สะสมไว้เปลี่ยนไม่ได้ เหมือนอาหารที่ตบแต่งไว้ดีแล้ว ก็ต้องได้รับอาหารนั้นเอง ไม่บังเอิญจะได้เห็น ไม่บังเอิญจะได้ยิน ไม่บังเอิญจะได้กลิ่น ไม่มีบังเอิญเลยที่จะกระทบสภาวะต่างๆ อย่างบังเอิญ มีบ้างไหมครับที่จะบังเอิญ แล้วอย่างเช่น ความโลภ ความโกรธ ความรุมหลงกิเลส ๓ กองนี้กองไหนมีกำลังมากกว่ากันครับ ระหว่างกิเลสใน ๓ กองในใจก็ว่าน่าจะเป็นโมหะ

ขออาจารย์กรุณาขยายความให้ทราบหน่อยครับ เพราะผมเองก็มักหลงโกรธอยู่บ่อยๆ บางครั้งมากจนล้นออกมา เป็นธรรมของจริงที่น่ารังเกียจจริงๆ

กราบขอบพระคุณครับ

ด้วยความเคารพ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 20 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สำหรับเมื่อกุศลจิต อกุศลจิตเกิดขึ้น ก็มีการสะสมไปไม่ได้หายไปไหน สะสมเป็น อุปนิสัยต่อไป และเมื่อมีการทำอกุศลกรรม และ กุศลกรรมแล้ว ย่อมมีปัจจัยให้เกิด วิบาก คือ มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ที่ดี หรือ ไม่ดี เป็นต้น ดังนั้น เมื่อมีการเห็น การได้ยินเกิดขึ้น ไม่มีการบังเอิญ แต่เป็นการ ถึงพร้อมของเหตุปัจจัยของสภาพธรรม เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม กรรมถึงการสุกงอม ย่อมเกิดวิบากจิตประเภทใดประเภทหนึ่ง จึงไม่มีการบังเอิญเลย สำหรับสภาพธรรม ครับ แม้การเกิดขึ้นของกุศลจิต อกุศลจิต ที่เกิดขึ้น ก็ไม่บังเอิญอีกเช่นกัน เพราะ อาศัยการ สะสม กุศล อกุศลในอดีตมา ทำให้เกิด กุศลจิต อกุศลจิต ตามการสะสม ครับ เพราะ ฉะนั้น เมื่อไม่รู้ความจริง ถึงเหตุปัจจัยของสภาพธรรม ย่อมสำคัญสิ่งที่เกิดขึ้นว่า เป็น ความบังเอิญได้ ครับ

ส่วนในเรื่องของกิเลส สามกอง คือ โลภะ โทสะ โมหะ ว่า กิเลสตัวไหนมีกำลังกว่ากันในความเป็นจริง โลภะ มีโทษน้อย คลายช้า โทสะมีโทษมาก คลายเร็ว ส่วน โมหะ ความไม่รู้ มีโทษมาก คลายช้า

โลภะ มีโทษน้อย คือ มีโทษน้อย เพราะเกิดเป็นปกติ และ หากเป็นโลภะที่ไม่ล่วงอกุศลกรรมบถ ก็ไม่เป็นการติเตียนของผู้อื่น เช่น การแต่งงาน เป็นต้น แต่ คลายช้า เพราะ นอนเนื่องสะสมไป คลายช้า เพราะสะสมให้ติดข้อง เหนียวแน่นมากขึ้น ต้องคลายด้วยปัญญา ส่วน โทสะ มีโทษมาก เพราะอาศัย ความโกรธย่อมทำให้อกุศลกรรมได้ง่าย เช่น ฆ่าบิดา มารดา มีโทษมาก แต่คลายเร็ว คือ เมื่อโกรธมีกำลังแล้ว ก็คิดได้ ในสิ่งที่ทำ คลายเร็วกว่า ส่วนโมหะ ความไม่รู้ มีโทษมากที่สุด มีโทษมาก คลายช้า มี โทษที่ทำให้เกิดกิเลสประการต่างๆ เพราะอาศัย โมหะ ความไม่รู้เป็นปัจจัย

สมดังที่ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ครับว่า อวิชชา ความไม่รู้ เป็นหัวหน้าของอกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะ อาศัย อวิชชา ทำให้เกิดอกุศล คือ โลภะ โทสะ และกิเลสประการต่างๆ มากมาย ครับ อกุศลจิตที่เกิดขึ้น ไม่ปราศจาก โมหเจตสิกเลย ครับ และคลายช้า โมหะ ขณะนี้ เกิดขึ้น ไม่รู้ตัวเลย มีความไม่รู้ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา และ จะคลายจากความไม่รู้ ด้วยปัญญา ระดับสูง ด้วยสติปัฏฐานที่เกิดขึ้นแต่ละขณะ และ จะดับโมหะได้หมดสิ้น เมื่อถึงความเป็นพระอรหันต์ ครับ โมหะ จึงมีโทษมากที่สุดครับ เพราะ อวิชชา ความไม่รู้ เป็นเบื้องต้นของสังสารวัฏฏ์ เพราะ อาศัย อวิชชา จึงเป็น ปัจจัย สังขาร การทำกรรม และเกิดการวนเวียนไปในสังสารวัฏฏ์ ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

อวิชชาสูตร - อวิชชาและวิชชาเป็นหัวหน้าแห่งอกุศลและกุศล - ๑๙ ส.ค. ๒๕๔๙

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
nong
วันที่ 20 มิ.ย. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เข้าใจ
วันที่ 20 มิ.ย. 2555

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์มากครับผมต้องค่อยๆ อ่านและศึกษาไปอีกหลายรอบจึงจะเข้าใจครับ ด้วยความเคารพ

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
edu
วันที่ 20 มิ.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับผม ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 21 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อได้ศึกษาพระธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนา อันแสดงถึงสภาพธรรมที่มีจริงตามความเป็นจริง จะทำให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ไม่มีคำว่าบังเอิญ ใพระพุทธศาสนา เพราะมีแต่สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย

ตราบใดที่ยังมีอกุศลอยู่ อกุศลก็ย่อมเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัยจริงๆ ในพระไตรปิฎก มีข้ออุปมาเหมือนกับ ต้นไม้ที่มียาง พอถูกมีดกรีด ยางก็ไหลออก เปรียบเหมือนกับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ หลังเห็น หลังได้ยิน เป็นต้น อกุศลจิต ก็ย่อมเกิดขึ้น เป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล เป็นไปกับด้วยความ ติดข้องบ้าง ความไม่พอใจ บ้าง เป็นต้น

แสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยจริงๆ ตราบใดที่ยังมีกิเลส กิเลสก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้นแล้ว ก็ไม่มีกิเลสใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย ครับ

..ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 22 มิ.ย. 2555

เพราะไม่รู้ ... จึงติด และเพราะไม่รู้นี่แหละ เป็นเหตุให้กระทำกรรม ... ทั้งบุญและบาป

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
peem
วันที่ 26 มิ.ย. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ