ไม่รู้ คือ โมหะ

 
pirmsombat
วันที่  11 มิ.ย. 2555
หมายเลข  21247
อ่าน  1,138

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความบางตอนจาการบรรยายธรรมโดยท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ไม่รู้ คือ โมห

โมหเจตสิก

เป็นสภาพธรรมที่แม้ว่ามี อารมณ์ ปรากฏ แก่ โมหมูลจิต

ลักษณะของโมหเจตสิก ก็เป็นลักษณะของสภาพธรรมที่ปิดบัง ลักษณะที่แท้จริงของอารมณ์นั้น เหมือนกับความมืดบอด ไม่สามารถที่จะเห็นอารมณ์ นั้นตามความเป็นจริงได้ คือ เป็นสภาพธรรม ที่ไม่เที่ยง และ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน

เพราะฉะนั้น ลักษณะของโมหเจตสิก เหมือนกับความมืดบอดจริงๆ ขณะใดที่โมหเจตสิกเกิดกับจิตใด ขณะนั้น คือถ้า ไม่สามารถจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามความเป็นจริงได้


จริงๆ แล้ว อวิชชา ทำให้ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง แล้วก็ทำให้เกิดความสงสัยด้วย ทั้งๆ ที่สภาพธรรมปรากฏเป็นจริง เปลี่ยนแปลงไม่ได้ คือ ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่มีใครที่สามารถที่จะไปเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้เลย แต่ความไม่รู้ทำให้บางคนบอกว่า รูปารมณ์ไม่เคยปรากฏ นี่ใช้ชื่อนะคะ คือใช้คำว่า รูปารมณ์

ขณะนี้มีใครบ้าง ที่ไม่มีสิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏในขณะที่กำลังเห็น แต่ไม่รู้ความจริงว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา เพียงเท่านี้เองค่ะ

อวิชชา ทำหน้าที่ของอวิชชา เนิ่นนานมาในแสนโกฏิกัปป์ และวิชชากำลังค่อยๆ จะมี วิริยะ เพียรที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม เพื่อที่จะละอวิชชา ความไม่รู้ที่สะสมมานาน แต่ไม่ใช่ไม่รู้อะไร ไม่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตาตามปกติ ให้เกิดเป็นความรู้ขึ้น จนกระทั่งมีความมั่นใจจริงๆ ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา

ลักษณะของอวิชชา กับลักษณะของปัญญานั้นต่างกัน

อวิชชาไม่รู้ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ก็ชอบสีต่างๆ นี่ก็เป็นเรื่องของสีที่ปรากฏ แต่ตราบใดที่ยังมี "อวิชชา" อยู่ ยังต้องมีความพอใจในสีที่ปรากฏ

แต่สำหรับผู้ที่เข้าใจ สีที่ปรากฏ หรือสิ่งที่ปรากฏทางตา ตามความเป็นจริง รู้ตัวว่าไม่ใช่เป็นความพยายาม จะไม่ให้มีความพอใจ ในสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นแต่เพียงเริ่มเข้าใจให้ถูกต้องว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นของจริงอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน


โมหเจตสิก ซึ่งเป็น สภาพที่ไม่รู้ความจริง ในสิ่งที่กำลัง เกิด ดับ จึงทำให้เกิดความต้องการในขณะนั้น ในสิ่งที่กำลังปรากฏนั้น

ข้อความบางตอนจาก

อวิชชาสูตร

ว่าด้วยอวิชชา และวิชชาเป็นหัวหน้าแห่งอกุศลและกุศล

ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย. ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

อวิชชาเป็นหัวหน้าในการยังอกุศลธรรมให้ถึงพร้อม เกิดร่วมกับความไม่ละอายบาป ความไม่สะดุ้งกลัวบาป ความเห็นผิด ย่อมเกิดมีแก่ผู้ไม่รู้แจ้ง ประกอบด้วยอวิชชา ความดำริผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้มีความเห็นผิด เจรจาผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้มีความดำริผิด การงานผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้เจรจาผิด การเลี้ยงชีพผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้ทำการงานผิด พยายามผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้เลี้ยงชีพผิด ระลึกผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้พยายามผิด ตั้งใจผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้ระลึกผิด.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

ส่วนวิชชา เป็นหัวหน้าในการยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม เกิดร่วมกับความละอายบาป ความสะดุ้งกลัวบาป ความเห็นชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้รู้แจ้ง ประกอบด้วยวิชชา ความดำริชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้มีความเห็นชอบ เจรจาชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้มีความดำริชอบ การงานชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้เจรจาชอบ การเลี้ยงชีพชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้ทำการงานชอบ พยายามชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้เลี้ยงชีพชอบ ระลึกชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้พยายามชอบ ตั้งใจชอบย่อมบังเกิดมีแก่ผู้มีระลึกชอบ.

จบอวิชชาสูตรที่ ๑

. วิชชาสูตร

ว่าด้วยวิชชาเป็นหัวหน้าแห่งกุศลธรรม

[๒๑๑] จริงอยู่ พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว พระสูตรนี้

พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

อวิชชาเป็นหัวหน้าแห่งอกุศลธรรม อหิริกะ อโนตตัปปะ เป็นไปตาม

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

ส่วนวิชชาแลเป็นหัวหน้าแห่งการถึงพร้อมแห่งกุศลธรรม หิริและโอตตัปปะ เป็นไปตาม.

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนั้น

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า

ทุคติอย่างใดอย่างหนึ่ง ในโลกนี้ และในโลกหน้า ทั้งหมดมีอวิชชาเป็นมูล อันความปรารถนาและความโลภก่อขึ้น ก็เพราะเหตุที่บุคคลเป็นผู้มีความปรารถนาลามก ไม่มีหิริ ไม่เอื้อเฟื้อ ฉะนั้น จึงย่อมประสบบาป ต้องไปสู่อบาย เพราะบาปนั้น

เพราะเหตุนั้น ภิกษุสำรอก ฉันทะ โลภะและอวิชชาได้ ให้วิชชาบังเกิดขึ้นอยู่ พึงละ คือ พึงสละ พึงก้าวล่วง ทุคติทั้งปวงเสียได้.

เนื้อความแม้นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้ว ฉะนี้แล.

จบวิชชาสูตรที่ ๓

ข้อความบางตอนจาการบรรยายธรรมโดยท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

เพราะอวิชชาจึงเกิดวิปลาสขึ้น

เพราะว่าความต่างของผู้ที่ไม่ใช่พระอริยบุคคลกับพระอริยบุคคล คือ พระอริยบุคคล ดับอกุศลเป็นสมุจเฉท ไม่มีเชื้อของอกุศลที่ดับแล้ว อย่างมิจฉาทิฏฐิ จะไม่เกิดขึ้นเลยกับพระโสดาบัน แม้กระนั้นทำไมยังมีอกุศล เป็นเพราะอวิชชาจึงเกิดวิปลาสขึ้น เมื่อไม่มีความเห็นผิดแล้ว เพราะฉะนั้น เวลาที่กุศลจิตของพระโสดาบันเกิดขึ้น ขณะนั้นมีวิปลาสไหม ท่านยังคงมีแต่วิปลาสในขณะที่เห็นว่า สุข หรือเห็นว่า งาม เท่านั้น เป็นเพียงความสำคัญและความคิดที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 12 มิ.ย. 2555

เพราะฉะนั้น ลักษณะของโมหเจตสิกเหมือนกับความมืดบอดจริงๆ ขณะใดที่โมหเจตสิกเกิดกับจิตใด ขณะนั้นไม่สามารถจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามความเป็นจริงได้

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาคุณหมอและทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
pirmsombat
วันที่ 12 มิ.ย. 2555

ขอบพระคุณและอนุโมทนาคุณผู้ร่วมเดินทาง คุณเซจาน้อย และ ทุกท่านครับ

(คุณไป อินเดียไหมครับ? ไปนะครับ จะได้คุยธรรมกันให้เยอะเลย)

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เซจาน้อย
วันที่ 12 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

"หมู่สัตว์ถูกสิ่งใดหุ้มห่อไว้จึงแล่นไป ท่องเที่ยวไปมาตลอดกาลนาน เหมือนกับถูกโมหะหุ้มห่อไว้ ธรรมนั้นอย่างอื่น แม้สักอย่างก็ไม่มีเลย บุคคลเหล่าใดละโมหะเสียได้แล้ว ทำลายกองแห่งความมืดได้แล้ว บุคคลเหล่านั้นย่อมไม่ท่องเที่ยวไปมาอีก เพราะอวิชชาอันเป็นต้นเหตุแห่งสงสารย่อมไม่มีแก่บุคคลเหล่านั้น"

ที่ชื่อว่าอวิชชาเพราะ "ประสบสิ่งที่ไม่ควรประสบ ไม่พบสิ่งที่ควรพบ ไม่รู้แจ้งความหมายแห่งขันธ์ ธาตุ อายตนะ อินทรีย์ สัจจะ ทำให้สัตว์โลกทั้งหลายต้องแล่นไปในสงสารอันหาที่สุดไม่ได้"

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณหมอและทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
kinder
วันที่ 12 มิ.ย. 2555

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
nong
วันที่ 13 มิ.ย. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
jaturong
วันที่ 13 มิ.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
pat_jesty
วันที่ 14 มิ.ย. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ