เรียนถามเรื่องกังขติ ๘ ข้อ

 
homenumber5
วันที่  27 เม.ย. 2555
หมายเลข  21031
อ่าน  2,237

เรียนท่านวิทยากร

ดิฉัน สนใจในเรื่องกังขติ โดยขอเรียนถามดังนี้ค่ะ

ทราบว่า การที่จะละโมหะ ได้ต้อง ทำลายกังขติ ๘ ประการ

จึงขอเรียนถามว่า

กังขติ ๘ ประการนี้ มี กล่าวในที่ใดอย่างละเอียดหรือไม่ อย่างไรคะ

ขออนุโมทนาค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 28 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จากที่ผู้ถามได้ถาม ในเรื่อง กังขติ ๘ ประการ น่าจะมุ่งหมายถึง วิจิกิจฉา ๘ ประการ ที่เป็นความลังเลสงสัย ซึ่งการจะเริ่มดับกิเลสหมดสิ้น มีโมะ จนหมดสิ้น ก็จะต้องดับกิเลส คือความลังเลสงสัย ๘ ประการ ก่อนครับ ซึ่ง ขออธิบายความลังเลสงสัยดังนี้ครับ

วิจิกิจฉา มีลักษณะที่สงสัย ลังเลใจ ตัดสินใจไม่ได้ในเรื่องของสภาพธรรม มีความคิดเห็นเป็น ๒ อย่าง อุปมาเหมือนทาง ๒ แพร่ง เช่น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีคุณจริงหรือไม่ นรก สวรรค์ ชาติหน้ามีจริงหรือไม่ บาปบุญมีจริงหรือไม่ และ ผลของบาปบุญให้ผลได้จริงหรือไม่ วิจิกิจฉาเจตสิกเกิดกับอกุศลจิตประเภทโมหมูลจิต วิจิกิจฉาสัมปยุตต์เพียงดวงเดียวเท่านั้น

วิจิกิจฉา โดยทั่วไป จึงมุ่งหมายถึง ความลังเลสงสัย ในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ในสิกขา สงสัยในขันธ์ที่เป็นอดีต สงสัยในขันธ์ที่เป็นอนาคต สงสัยในขันธ์ที่เป็นอดีตและอนาคต สงสัยในปฏิจจสมุปบาท ดังนั้นจึงมุ่งหมายถึง ความลังสงสัยในเรื่องสภาพธรรมด้วยเป็นสำคัญ แต่ถ้าสงสัยในเรื่องทั่วๆ ไป เช่น เรื่อราวทางโลก ที่ไม่เกี่ยวกับสภาพธรรม เช่น สงสัยว่า ๔ บวก ๕ เป็นเท่าไหร่ ความสงสัยนี้ไม่ใช่วิจิกิจฉาครับ

วิจิกิจฉามี ๘ ประการ คือ

สงสัยในพระพุทธเจ้า ๑

สงสัยในพระธรรม ๑

สงสัยในพระสงฆ์ ๑

สงสัยในสิกขา ๑

สงสัยในขันธ์ที่เป็นอดีต ๑

สงสัยในขันธ์ที่เป็นอนาคต ๑

สงสัยในขันธ์ที่เป็นอดีตและอนาคต ๑

สงสัยในปฏิจจสมุปบาท ๑

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ ...วิจิกิจฉา [ธรรมสังคณี]

จากคำกล่าวที่ว่า

ทราบว่า การที่จะละโมหะได้ ต้องทำลายกังขติ ๘ ประการ หรือ ความลังเลสงสัย ๘ ประการ


- ในความเป็นจริงแล้ว การจะละโมหะ มีความไม่รู้นั้น จะต้องเป็นการละกิเลสไปตามลำดับ ซึ่งโมหะจะดับหมดสิ้นได้ คือ เมื่อถึงความเป็นพระอรหันต์ แต่ก็ต้องเริ่มจากการละโมหะ ความไม่รู้เบื้องต้น คือ การไม่รู้แม้ขั้นการฟัง ละความไม่รู้ ในขั้นการฟังว่า ธรรมคืออะไร จากไม่รู้ ค่อยๆ รู้ขึ้นจากการฟังธรรม เมื่อปัญญาเจริญขึ้นจนถึงสติปัฏฐาน เกิดประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรม ก็ค่อยๆ ละความไม่รู้ไปตามลำดับ และจนถึงความเป็นพระโสดาบัน ก็ละ วิจิกิจฉา ๘ ประการได้ แต่ก็ยังมีความไม่รู้อยู่มาก ดังนั้น ก็ต้องอบรมปัญญาต่อไป ดังนั้น หนทางการละความไม่รู้ คือ การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา โดยเริ่มจากการฟังให้เข้าใจ

ส่วน การละวิจิกิจฉา ๘ ประการ และโมหะ รวมทั้งละกิเลสได้ประการต่างๆ เป็นผลมาจากการเจริญสติปัฏฐาน ครับ

ดังนั้น สำคัญที่การอบรมเหตุ คือ ให้เข้าใจหนทางที่ถูกต้อง ที่เป็นการเจริญสติปัฏฐานว่าอบรมเจริญอย่างไร สำคัญคือ จากการฟังให้เข้าใจนั่นเองครับ นี่คือ หนทางการละโมหะ และกิเลสประต่างๆ

เพราะพระธรรมของพระพุทธเจ้า ทุกคำ คือ ธรรมที่ละ อกุศลที่เป็น โลภะ โทสะและโมหะ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 28 เม.ย. 2555

ขออนุญาตเรียนสอบถามเพิ่มอีกนิดนะครับว่า

การละวิจิกิจฉา ๘ นั้น จะเป็นไปตามลำดับหรือไม่ครับ

กล่าวคือ เริ่มตั้งแต่ละความสงสัยในพระพุทธองค์ได้ก่อน แล้วจึงความสงสัยเรื่องต่อๆ ไปตามลำดับ

ขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 28 เม.ย. 2555

เรียนความเห็นที่ 2 ครับ

วิจิกิจฉามี ๘ ประการ คือ สงสัยในพระพุทธเจ้า ๑ สงสัยในพระธรรม ๑ สงสัยในพระสงฆ์ ๑ สงสัยในสิกขา ๑ สงสัยในขันธ์ที่เป็นอดีต ๑ สงสัยในขันธ์ที่เป็นอนาคต ๑ สงสัยในขันธ์ที่เป็นอดีตและอนาคต ๑ สงสัยในปฏิจจสมุปบาท ๑

การละวิจิกิจฉา มีการละหลายระดับ คือ ละขั้นการฟัง คือ ค่อยละความสงสัย จากขั้นการฟัง แต่ยังไม่สามารถละคลายความสงสัยได้หมดสิ้น และระดับละคลายความสงสัย เมื่อสติปัฏฐานเกิด เมื่อมีความเข้าใจพระธรรมเพิ่มขึ้น ปัญญาเพิ่มขึ้น ก็สามารถละคลายควายสงสัย ในบางข้อ แต่ทีละเล็กละน้อย และ ระดับการละคลายความสงสัยที่จนหมดสิ้น คือ ระดับปัญญาที่เป็นโลกุตตรมรรค มี โสดาปัตติมรรค ย่อมละคลายความสงสัยทั้ง ๘ ประการ ไปพร้อมๆ กัน ไม่ใช่ตามลำดับ ครับ

ดังนั้น การละคลายความสงสัยในขั้นการฟัง จะค่อยๆ ละบางข้อ และไม่ใช่ต้องเป็นตามลำดับ แล้วแต่ว่าจะฟังระธรรมในหมวดไหน เรื่องอะไร ก็ค่อยๆ ละในข้อนั้น แต่ละในขั้นการฟังครับ เช่น ขณะที่เข้าใจพระธรรมก็เริ่มละคลายความสงสัย ในพระพุทธเจ้า เพราะเริ่มเลื่อมใส เริ่มละคลายความสงสัยในพระธรรมที่พระพุทธเจ้า และเริ่มละคลายความสงสัยในพระสงฆ์ด้วย หากฟังเกี่ยวกับชาดก ในเรื่องนั้น ก็ค่อยๆ ละความสงสัย ในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ แต่อาจจะยังไม่ได้ละ ความลังเลสงสัยในสิกขา (ข้อปฏิบัติเพื่อดับกิเลส) ในปฏิจจสมุปบาทไม่ได้ เพราะ หมวดธรรมที่ฟังไม่ใช่เรื่องการเจริญสติปัฏฐาน เรื่องปัจจัยและเรื่องปฏิจจสมุปบาท แต่ถ้าฟังเรื่องสภาพธรรม ก็สามารถละคลายเรื่องขันธ์ได้ เรื่องความเป็นเหตุปัจจัยที่เป็นปฏิจจสมุปบาทได้ แต่ทีละน้อย และก็เกิดความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ได้ เพราะได้เข้าใจพระธรรมในขณะนั้น ในเรื่องสภาพธรรม ครับ

สรุปได้ว่า ถ้าเป็น การละคลายความสงสัยในขั้นการฟัง ก็จะค่อยๆ ละคลายความสงสัย ในแต่ละข้อ ไม่ได้พร้อมกันทั้งหมด และก็ไม่ใช่ตามลำดับด้วย ครับ แล้วแต่ว่า พระธรรมที่ฟังนั้น เป็นหมวดเรื่องอะไร ครับ แต่ขณะที่โสดาปัตติมรรคเกิด ขณะนั้น ก็ไม่ได้ละ วิจิกิจฉา ๘ เป็นลำดับ แต่ละพร้อมกันทั้ง ๘ ข้อพร้อมๆ กันเลย ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 28 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตราบใดที่ยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคล ความลังเลสงสัยในสภาพธรรม ก็ยังมีอยู่ ความลังเลสงสัย เป็นกิเลสที่กางกั้นไม่ให้กุศลจิตเกิด คือ ในขณะที่วิจิกิจฉา ซึ่งเป็นความลังเลสงสัยในสภาพธรรมเกิดขึ้นนั้น กุศล เกิดไม่ได้เลย และหนทางที่จะเป็นไปเพื่อละคลายความสงสัยรวมไปถึงกิเลสอกุศลธรรมประการต่างๆ ด้วยนั้น คือ การอบรมเจริญปัญญา เพราะขณะที่ฟังพระธรรมเข้าใจ ขณะนั้นก็ละคลายความสงสัย ละคลายความไม่รู้แล้ว จนกว่าจะดับได้อย่างหมดสิ้น เมื่อถึงความเป็นพระอริยบุคคล ความลังเลสงสัย ดับได้อย่างหมดสิ้นไม่มีเหลือเมื่อถึงความเป็นพระโสดาบัน ส่วนโมหะ หรือ อวิชชา ความไม่รู้ นั้น จะดับได้อย่างหมดสิ้น เมื่อถึงความเป็นพระอรหันต์ การเป็นพระอริยบุคคลได้นั้นก็ต้องดำเนินตามทางที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ คือ การอบรมเจริญปัญญา จะขาดปัญญา ไม่ได้เลย เพราะพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นพระธรรมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งแต่ต้นจนจน เป็นไปเพื่อปัญญา ความเข้าใจถูก เห็นถูก โดยตลอด ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เซจาน้อย
วันที่ 29 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 30 เม.ย. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนา อาจารย์ผเดิม, อาจารย์คำปั่น และทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
homenumber5
วันที่ 20 พ.ค. 2555

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
wannee.s
วันที่ 22 พ.ค. 2555

ละความไม่รู้ คือ โมหะ คือ อวิชชา ด้วยการเจริญวิชา คือความรู้ คือปัญญา ให้เริ่มต้นด้วยการฟังธรรมให้เข้าใจก่อน ความเข้าใจเป็นหนทางนำไปสู่ข้อปฏิบัติที่ถูก ค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ