ขณะที่สติปัฏฐานเกิดขณะนั้นมีศีลด้วยหรือไม่

 
เด็กดาวคะนอง
วันที่  13 เม.ย. 2555
หมายเลข  20959
อ่าน  2,425

ขณะที่สติปัฏฐานเกิดขณะนั้นมีศีลด้วยหรือไม่


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 14 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมเป็นเรื่องละเอียดมาก จึงขออธิบายโดยละเอียดและเป็นลำดับไป พร้อมๆ กับข้อความในพระไตรปิฎก ครับ ค่อยๆ เข้าใจทีละคำ ครับ

สติปัฏฐาน คือ การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ตามความเป็นจริงว่า ธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา อันเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ที่เป็นกุศลขั้นการเจริญวิปัสสนา

ศีล ซึ่ง ศีล นั้นมีความละเอียดลึกซึ้งอย่างมาก ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงครับ ก็ขอแสดงโดยความละเอียด ว่า ศีล คืออะไร ศีลมีหลากหลายนัยแค่ไหน ก็จะทำให้สหายธรรมได้เข้าใจถูกในประเด็นนี้ว่า สติปัฏฐาน มี ศีลหรือไม่ ครับ เพราะ หากเข้าใจผิด คิดว่า สติปัฏฐาน ไม่มีศีล ก็จะไปพยายามทำศีลก่อน ค่อยทำสมาธิและทำสติปัฏฐานทีหลัง ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด ครับ

อธิบาย เรื่อง ศีล

ศีล มีหลากหลายนัย โดยมากเรามักเข้าใจว่า ศีล คือ การกระทำทางกาย วาจา และคือ การงดเว้นที่จะไม่กระทำบาป ทางกาย วาจาเท่านั้น เช่น งดเว้นจากกาฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม เป็นต้น หรือ ศีล ๕ เท่านั้นที่เป็นศีล แต่ในความเป็นจริง ศีล มีหลากหลายนัย ขึ้นอยู่กับว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดง โดยศีล ในนัยไหน จึงไม่ควรไปสรุปตายตัวว่า ศีลจะต้องมีความหมายอย่างนี้เท่านั้นครับ

ศีล มีอะไร เป็น ศีล บ้างครับ ในพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในพระไตรปิฎก ทรงแสดง ว่า ศีล มี ๔ อย่าง คือ

๑. เจตนา เป็น ศีล

๒. เจตสิก เป็น ศีล

๓. ความสำรวม สังวร เป็นศีล

๔. การไม่ก้าวล่วง เป็นศีล

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 14 เม.ย. 2555

เจตนา เป็น ศีล หมายถึง เจตนาที่งดเว้นจาก การฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม เป็นต้น เช่น ยุงกัด ก็ไม่ตบ ขณะที่งดเว้น ไม่ตบในขณะนั้น ก็เป็น ศีล ที่เป็นเจตนาศีล เจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์

เจตสิก เป็น ศีล คือ การงดเว้นจากความไม่โลภ (อนภิชฌา) งดเว้นจากการพยาบาท (อพยาบาท) และ มีความเห็นถูก (สัมมาทิฏฐิ) ชื่อว่า เจตสิกศีล

การไม่ก้าวล่วง เป็น ศีล คือ เจตนาสมาทานศีล หรือที่ถือเอาด้วยดี ด้วยตั้งใจที่จะขอรักษาศีล เช่น ไปต่อหน้าพระ และขอสมาทานจะรักษาศีล ขณะนั้นมีเจตนาที่จะประพฤติ รักษากาย วาจาที่เป็นไปด้วยดี ชื่อว่า เป็นศีล เพราะ มีความไม่ก้าวล่วงด้วยการสมาทานศีล ครับ จึงเป็นศีล

ความสำรวม หรือ สังวร เป็น ศีล ความสำรวม สังวรในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงการสำรวมภายนอกที่ทำสำรวม กิริยาสำรวม แต่ สำรวม สังวร หมายถึง การสำรวมด้วยจิตที่เป็นกุศล มุ่งที่ จิต เป็นสำคัญ ซึ่งการสำรวม หรือ สังวรนั้นมี ๕ ประการ คือ

ปาฏิโมกขสังวร คือ การประพฤติงดเว้นและปฏิบัติตามพระวินัยบัญญัติของพระภิกษุ ชื่อว่าเป็น ศีล

สติสังวร คือ การมีสติระลึกลักษณะของสภาพธรรม ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ชื่อว่า สติสังวร เป็นศีล

ญาณสังวร ปัญญาเกิด ละกิเลส ชื่อว่า สังวรด้วยปัญญาและการพิจารณาสิ่งที่ได้มาที่เป็นปัจจัย มี อาหาร เป็นต้น ของพระภิกษุ พิจารณาด้วยปัญญาแล้วจึงบริโภค ก็ชื่อว่า ญาณสังวร เป็นศีลในขณะนั้นด้วยครับ คือ ปัจจยสันนิสิตตศีล

ขันติสังวร ความเป็นผู้อดทนต่อหนาวและร้อน เป็นต้น ชื่อว่า สำรวมด้วยขันติ

วิริยสังวร คือ ปรารภความเพียรไม่ให้อกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว เจริญขึ้น เป็นต้น ชื่อว่าสำรวมด้วยวิริยะ

ซึ่งข้อความในพระไตรปิฎกและวิสุทธิมรรค แสดงไว้ชัดเจนครับว่า สังวร ก็เป็นศีลด้วย และไม่ใช่เพียงปาฏิโมกขสังวรศีล ที่เป็นการประพฤติตามพระวินัยบัญญัติของพระภิกษุเท่านั้นที่เป็นศีล แต่สังวรทั้ง ๔ มี สติสังวร เป็นต้น ก็ชื่อว่าเป็นศีลด้วยครับ

ดังข้อความในพระไตรปิฎกที่แสดงว่า สังวรทั้ง ๕ เป็น ศีลด้วย ไม่ใช่เฉพาะ สังวรที่เป็น ปาฏิโมกขสังวรศีลเท่านั้นที่เป็นศีล ครับ

จะเห็นนะครับว่า ศีล มีหลากหลายนัย คือ ทั้งเจตนางดเว้นจากบาปก็เป็นศีล และไม่ใช่เพียงงดเว้นจากบาป ที่เป็นวิรตีเจตสิกเท่านั้น เจตนาที่จะประพฤติสมาทานศีล ก็เป็นศีลด้วย คือ การไม่ก้าวล่วงก็เป็นศีล และประการสำคัญที่สุด แม้ไม่มีการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ไม่มีวิรตีเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่แม้แต่การสำรวม สังวร ก็ชื่อว่ามีศีล มีสติสังวร เป็นต้น ครับ

สติสังวร อีกชื่อหนึ่งก็คือ อินทรียสังวร ที่เป็นการสำรวม ทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ คือ สำรวมด้วยสติและปัญญาที่เกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรมไม่ใช่เรา ทางตา ... ใจ ครับ

ขณะนั้นชื่อว่า สติสังวร เป็นอินทรียสังวรและเป็นสติปัฏฐานด้วยในขณะนั้น ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 14 เม.ย. 2555

ดังนั้น สติสังวรก็คือ ขณะที่สติปัฏฐานเกิดนั่นเองครับ

เพราะฉะนั้น จึงกลับมาที่คำถามที่ว่า สติปัฏฐานเกิด มีศีลหรือไม่ และหากมีศีลเกิดร่วมด้วยกับสติปัฏฐานเพราะเหตุใด

หากไม่ละเอียด ก็จะคิดว่า ขณะที่มีศีล คือ ขณะที่สมาทานศีล หรือ ขณะที่งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น เท่านั้น จึงทำให้คิดว่า สติปัฏฐานเกิด โดยที่ไม่มีการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น ไม่มีศีล ในขณะที่สติปัฏฐานเกิด

แต่ในความเป็นจริง ตามที่ได้อธิบายแล้ว ศีลมีหลายนัย ครับ แม้ไม่ได้งดเว้นจากการทำบาปทางกาย วาจา แต่ขณะที่เป็น สังวร ก็ชื่อว่าเป็นศีล ซึ่ง สติสังวรก็เป็นศีล เป็นการสำรวมทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ไม่ให้อกุศลที่ไม่เกิด เกิดขึ้น เพราะรู้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ขณะนั้น สติสังวร เป็นสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น สติปัฏฐาน ที่เกิดขึ้น แม้ไม่มีการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ไม่มีการสมาทานศีล แต่ก็ชื่อว่ามีศีลด้วย โดยนัย สังวร เป็นศีล คือ สติสังวรนั่นเองครับ ก็จะไม่เข้าใจผิดว่า จะต้องไปพยายามทำศีลให้ดีครบถ้วนก่อน แล้วจึงไปอบรมสมาธิ และค่อยไปอบรมวิปัสสนาเจริญสติปัฏฐาน เพราะ ขณะที่สติปัฏฐานเกิด ก็มี ศีล สมาธิ และปัญญาด้วยแล้วในขณะนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่า เมื่อกล่าวว่า สติปัฏฐานเกิด มี ศีล สมาธิ ปัญญาแล้ว จึงไม่เห็นคุณของการรักษาศีล กุศลขั้นศีล ที่เป็นการประพฤติทางกาย วาจานะครับ ก็เป็นผู้เห็นคุณของการการรักษาศีลด้วย เพียงแต่ว่า ไม่เข้าใจผิดว่าจะต้องทำศีลให้ได้ก่อน จึงอบรมอย่างอื่นครับ เพราะ ศีลจะบริบูรณ์ไม่ได้เลย หากปราศจากปัญญา พระโสดาบันเท่านั้นที่จะมีศีลสมบูรณ์ ครับ

ซึ่งตัวอย่างในพระไตรปิฎก คือ นายเขมกะ ท่านล่วงศีลข้อ ๓ เป็นประจำ ต่อเมื่อฟังธรรม ก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ไม่ล่วงศีลอีกเลย จะเห็นนะครับว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เมื่อยังเป็นปุถุชนก็ยังล่วงศีลได้เป็นธรรมดา แต่การสะสมปัญญาไม่ได้หายไปไหน เมื่อได้เหตุปัจจัย คือ ได้ฟังพระธรรมเข้าใจ สติปัฏฐานเกิด ก็มี ศีล สมาธิ และปัญญาเกิดแล้วในขณะนั้น เป็นการอบรมไตรสิกขา (ศีล สมาธิ ปัญญา) ก็ทำให้สามารถบรรลุธรรม ละกิเลส แม้แต่ก่อนจะเป็นผู้ไม่บริบูรณ์ด้วยศีล เพราะล่วงศีลได้ เพราะความเป็นปุถุชน แต่ก็สมบูรณ์ได้ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน อบรมปัญญา ครับ

เป็นอันสรุปได้ว่า สติปัฏฐาน มีศีลด้วย มีสมาธิและปัญญาด้วย และสติปัฏฐานที่มีศีล เกิดร่วมด้วย เพราะในขณะที่สติปัฏฐานเกิด มีศีล โดยนัย สติสังวร สังวร เป็น ศีล ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 14 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง ในขณะที่สติปัฏฐานเกิด มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏพร้อมแล้วด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ที่มีการระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ มีความตั้งมั่นในอารมณ์ที่สติและปัญญารู้ตามความจริง และมีปัญญาที่เข้าใจธรรมตามความเป็นจริงในขณะนั้นด้วย ซึ่งจะต้องมีพื้นฐานความเข้าใจในเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวันทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ ซึ่งไม่พ้นไปจากเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงในแต่ละขณะ

ดังนั้น เรื่องศีล จึงเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ซึ่งในเวลาที่กล่าวนั้น กำลังกล่าวถึงศีลโดยนัยใด เช่น โดยนัยที่เป็นการสำรวมระวังในสิกขาบทต่างๆ ที่เป็นปาฏิโมกขสังวารศีล, โดยนัยที่เป็นสติปัฏฐาน ขณะที่สติปัฏฐานเกิดขึ้นระลึกรู้สภาพนามธรรมหรือรูปธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นการสำรวมระวังทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือทางใจ ก่อนที่จะมีการล่วงละเมิดออกมาทางกายหรือทางวาจาเป็นอินทริยสังวรศีล คือเป็นการสำรวมอินทรีย์ ๖ ด้วยสติสังวร เป็นต้น หรือบางครั้ง ยังแสดงถึงความเป็นปกติ ที่เป็นกุศลศีลบ้าง เป็นอกุศลศีล บ้าง อัพยากตศีล บ้าง ก็มี ซึ่งจะต้องมีความเข้าใจให้ชัดเจนว่ากำลังกล่าวถึงศีล ในนัยใด ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เซจาน้อย
วันที่ 14 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wannee.s
วันที่ 15 เม.ย. 2555

ขณะที่สติปัฏฐานเกิด เป็นการสำรวมด้วยสติซึ่งเป็นศีล โดยนัย ปฏิสัมภิทามรรค เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานเกิด มีทั้ง ศีล สมาธิ และ ปัญญา พร้อมกันค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 29 ก.ค. 2558

สาธุ อนุโมทนา และขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
สิริพรรณ
วันที่ 25 พ.ค. 2561

เป็นหัวข้อที่ควรศึกษาอย่างละเอียด อ่านครั้งเดียวไม่พอค่ะ สะสมความเข้าใจ มีคุณค่ายิ่ง

กราบอนุโมทนาขอบพระคุณในกุศลจิตทุกท่านด้วยความเคารพค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ประสาน
วันที่ 16 พ.ย. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ประสาน
วันที่ 16 พ.ย. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
ประสาน
วันที่ 16 พ.ย. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
apichet
วันที่ 13 มี.ค. 2562

ขอบคุณครับ

อนุโมทนาสาธุครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
chatchai.k
วันที่ 16 พ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
ทรงศักดิ์
วันที่ 17 ส.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ