หลงใหลในบุญ

 
Nareopak
วันที่  14 ก.พ. 2555
หมายเลข  20550
อ่าน  1,675

หากได้ทำกุศลหรือบุญใดๆ แล้วนึกถึงกุศลหรือบุญนั้นๆ บ่อยครั้ง อย่างไรถึงจะเป็นการหลงใหลในบุญ และอย่างไรถึงจะไม่ใช่เป็นการหลงใหลในบุญ

ขอบพระคุณค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 15 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

บุญ เป็นสภาพธรรมที่ชำระจิตให้สะอาด (เพราะโดยปกติแล้วจิตสกปรกด้วยอำนาจของอกุศลธรรม) จากที่เป็นอกุศล ก็ค่อยๆ เป็นกุศลขึ้นในชีวิตประจำวัน ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากขณะที่จิตเป็นกุศล เป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในการอบรมเจริญความสงบของจิต และเป็นไปในการอบรมเจริญปัญญา

ในความเป็นจริง โลภะ คือ สภาพธรรมที่ติดข้อง ไม่ปล่อย หรือ จะเรียกว่า หลงใหล พอใจในสิ่งนั้นก็ได้ โลภะ เป็นสภาพธรรมที่ติดข้อง พอใจ หลงใหลในสภาพธรรมได้เกือบทุกอย่าง เว้นแต่เพียง โลกุตตรธรรม มีมรรคจิค ๔ ผลจิต ๔ และพระนิพพาน ที่โลภะ ไม่สามารถติดข้องได้ครับ ดังนั้นสภาพธรรมแทบทุกอย่าง โลภะ สามารถติดข้องพอใจ หลงใหลได้หมดครับ

บุญ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่โลภะก็สามารถติดข้อง พอใจ หลงใหลในบุญที่เกิดขึ้นแล้วได้ครับ เช่น เมื่อทำบุญแล้ว นึกถึงกุศล คือ บุญที่ทำ ว่า เป็นบุญที่ใหญ่ เป็นบุญที่ประณีต การนึกถึงกุศลด้วยอำนาจความติดข้อง จึงเป็นการหลงใหลในบุญ พอใจในบุญ ที่เป็นโลภะ ไม่ใช่ฉันทะ ครับ หรือ คิดอยากจะทำบุญ เพื่อได้อานิสงส์ของบุญอีก จากที่เคยทำมา เมื่อนึกถึงบุญเพราะอยากจะได้ผลของบุญ ก็ติดข้องในบุญนั้น พอใจ หลงใหล ด้วยอำนาจของกิเลส คือ โลภะที่เกิดขึ้น อยากจะได้อานิสงส์ของบุญครับ หรือว่า รู้ว่าบุญเป็นสิ่งที่ดี ควรให้เกิด จึงพยายามที่จะนึกถึงบุญบ่อยๆ เพราะอยากให้จิตเป็นบุญ เป็นกุศล นั่นก็เป็นความหลงใหล พอใจ ติดข้องในบุญด้วยอำนาจกิเลสคือ โลภะแล้วครับ

ส่วน การนึกถึงบุญ ด้วยความไม่ติดข้อง ไม่หลงใหล คือ นึกถึงด้วยกุศลจิต แต่ไม่ใช่ความพอใจ ติดข้อง แต่เกิดจากการเห็นประโยชน์ของกุศล จึงนึกถึง ใคร่ที่จะทำด้วยฉันทะ ความพอใจในบุญ อันเป็นฉันทะ ที่เกิดกับกุศลจิต เมื่อมีปัญญา รู้ว่าอะไรควร ไม่ควร ก็นึกถึงว่าบุญควรกระทำ ด้วยฉันทะ ความพอใจใคร่ที่จะทำบุญ ด้วยปัญญาที่เห็นประโยชน์นั่นเองครับ และการนึกถึงบุญที่ได้ทำเกิดปิติโสมนัส ด้วยกุศลจิตว่าเป็นสื่งที่ดีงาม ในขณะนั้น ก็เป็นการนึกถึงบุญด้วยความไม่หลงใหล ครับ คือ เป็นกุศลในขณะที่นึกถึง และประการสำคัญที่สุด การนึกถึงบุญที่ประเสริฐ คือ เมื่อขณะที่ทำบุญ เกิดสติปัฏฐานระลึกลักษณะของสภาพธรรมในลักษณะของบุญ บุญหรือกุศลเป็นแต่เพียงสภาพธรรม ไม่ใช่เราทำบุญ หรือ ใครครับ นี่คือ การนึกถึงบุญที่ประเสริฐที่สุด เพราะเป็นไปเพื่อละกิเลสประการต่างๆ และเป็นหนทางการละ ความหลงใหล ติดข้องในบุญทั้งปวงครับ

สรุปได้ว่าขณะใด ระลึกนึกถึงบุญ ด้วยจิตที่เป็นอกุศล ด้วยความติดข้องพอใจ เป็นความหลงใหลในบุญ แต่ขณะใดเกิดกุศลจิตระลึกถึงบุญด้วยจิตที่เป็นกุศล ขณะนั้นไม่ได้หลงใหลในบุญ เพราะไมได้มีโลภะ ความติดข้องเกิดขึ้นในขณะนั้นครับ

ที่สำคัญ จิตของใครก็ของคนนั้น ไม่สามารถรู้ใจของใครได้ และไปตัดสินสภาพธรรมของใคร สภาพธรรมเกิดขึ้นเฉพาะตัวของแต่ละคน ดังนั้จะต้องเป็นสติและปัญญา ที่เป็นสติปัฏฐานของบุคคลนั้น ในขณะที่สภาพธรรมนั้นกำลังเกิด ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า ขณะใดเป็นการนึกถึงบุญด้วยจิตที่เป็นกุศล คือ ไม่ติดข้อง หลงใหลและขณะใด ระลึกนึกถึงบุญ ด้วยความติดข้องหลงใหล ครับ อาศัยการฟังพระธรรมศึกษาพระรรม ย่อมสามารถค่อยๆ เข้าใจความจริงของสภาพธรรมที่เกิดขึ้น ในขณะที่สติปัฏฐานเกิดครับ

ซึ่งก็ไม่ได้จำกัด หรือ ให้พยายามว่า จะต้องให้นึกถึงด้วยจิตกุศล หรืออย่าให้อกุศลจิตเกิดในการนึกถึงบุญ เพราะสภาพธรรมเป็นอนัตตา ก็แล้วแต่ว่าจิตอะไรเกิด แต่หนทางการอบรมปัญญาที่ถูกต้อง จึงไม่ใข่การจะทำ แต่เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น แม้แต่อกุศลจิตที่เกิดขึ้น ในการนึกถึงบุญ อกุศลจิตก็ควรรู้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ค่อยๆ เข้าใจความจริงเช่นนี้ ก็สบายด้วยการไม่บังคับเพราะเข้าใจความเป็นอนัตตาครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 15 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

บุญ เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม เป็นเครื่องชำระล้างจิตให้สะอาด ขณะใดที่กุศลจิตเกิดขึ้น เป็นไปในทานบ้าง เป็นไปในศีลบ้าง เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญา ขณะนั้นเป็นบุญ ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เพราะบุญ คือ กุศลจิต และ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เป็นธรรมที่มีจริง สำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ แม้กุศลจิตจะเกิดแล้ว โลภะ ก็สามารถเกิดขึ้นติดข้องในบุญ ได้ เป็นไปกับด้วยความติดข้องในบุญของตนเอง คิดถึงด้วยความติดข้องยินดีพอใจ ขึ้นชื่อว่าอยากหรือติดข้องต้องการแล้ว จะเป็นกุศล ไม่ได้ แต่ถ้าได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก เห็นโทษของอกุศล เห็นคุณของกุศลธรรม เข้าใจอย่างถูกต้องว่า อกุศล เป็นสภาพธรรมที่ไม่ดี เกิดขึ้นเมื่อใด ก็ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์เมื่อนั้น ในทางตรงกันข้าม กุศลธรรม เป็นธรรมที่ดีงาม เป็นสภาพธรรมที่ตัดหรือทำลายอกุศล ควรสะสม ก็จะมีความเพียร มีความอดทน มีฉันทะ ไม่ทอดทิ้งในการเจริญกุศล ประการต่างๆ ต่อไป เพราะเข้าใจอย่างถูกต้องว่า กุศลธรรม เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส ถ้ากุศลจิตไม่เกิดแล้ว ก็จะเป็นโอกาสให้อกุศลจิตเกิดขึ้น อย่างนี้ ไม่ใช่หลงใหลในบุญ แต่เป็นความตั้งใจ มีความจริงใจที่จะเจริญกุศล เห็นประโยชน์ของกุศล ไม่ใช่ด้วยความติดข้องต้องการในบุญ แม้แต่ในการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ก็เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกเท่านั้น ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
pat_jesty
วันที่ 15 ก.พ. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Nareopak
วันที่ 15 ก.พ. 2555

ถ้านึกถึงบุญที่ได้ทำแล้วแบบไม่ได้จงใจหรือตั้งใจที่จะนึกถึง

อย่างนี้จึงเป็นกุศล ถูกต้องไหมคะ

ขออนุโมทนาในคำตอบค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 15 ก.พ. 2555

เรียนความเห็นที่ 4 ครับ

ไม่จำเป็นเสมอไปครับ ว่า การนึกถึงโดยไม่ได้ตั้งใจ และนึกถึงบุญขึ้นมา จะเป็นกุศลในขณะนั้น หรืออาจจะเป็นกุศลในขณะนั้นก็ได้ครับ ซึ่งต้องรู้ เกิดสติและปัญญาในขณะนั้นว่า จิตขณะที่นึกถึงบุญ นึกอย่างไร ซึ่งก็เป็นไปได้ทั้งกุศลจิตและอกุศลจิต ส่วนการไม่ได้ตั้งใจและนึกถึงบุญขึ้นมา ก็แสดงถึงความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมแต่จะเป็นกุศล หรือ อกุศลหรือไม่ ก็แล้วแต่จิตในขณะนั้นว่า นึกถึงบุญอย่างไรครับ

ซึ่งก็ต้องเป็นสติและปัญญของผู้นั้นเองที่เกิดระลึกลักษณะของจิตที่กำลังคิดถึงบุญอยู่ครับ จึงจะรู้ได้ว่า เป็นกุศล หรือ อกุศลหรือไม่ครับ

ที่สำคัญ ไม่ได้อยู่ที่ จะเป็นกุศล หรือ อกุศล แต่สำคัญที่ว่า ขณะนั้นเข้าใจหรือไม่ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เราหรือไม่อย่างไร ในขณะนั้น ครับ แม้ขณะนี้เองครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wannee.s
วันที่ 15 ก.พ. 2555

ปัญญามีหลายระดับ เชื่อกรรมและผลของกรรมก็เป็นปัญญาขั้นหนึ่ง คนที่มีปัญญา เจริญกุศล เพื่อละอกุศล และอบรมปัญญาให้มากขึ้น จนกว่าปัญญาจะละทั้งกุศล คือไม่ติดในผลของกุศล และ ละอกุศลที่ไม่ดี ตามกำลังของปัญญา ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
jaturong
วันที่ 15 ก.พ. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Nareopak
วันที่ 15 ก.พ. 2555

"จนกว่าปัญญาจะละทั้งกุศล คือไม่ติดในผลของกุศล และ ละอกุศลที่ไม่ดี ตามกำลังของปัญญา" ประโยคนี้เตือนให้คิดได้ดีจริงๆ ว่าทั้งกุศลและอกุศลก็ไม่ควรยึดติด

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
เมตตา
วันที่ 15 ก.พ. 2555

ความหลงใหลในบุญ ก็คืออกุศลจิต ไม่ต้องไปคิดหวัง หรือหลงใหลในบุญที่ได้กระทำไว้แล้ว เพราะบุญที่ได้กระทำไว้แล้วเป็นเหตุที่ต้องได้รับผลที่ดีอยู่แล้ว แต่ขณะหลงใหลในบุญเป็นโลภะ เป็นความติดข้อง ขณะนั้นก็บั่นทอนกุศลค่ะ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
akrapat
วันที่ 16 ก.พ. 2555

จาคานุสติ คือ การระลึกในทาน หรือการให้ที่ตัวเองได้ธรรมแล้ว ... ทำบุญไม่ต้องบ่อยครับ อาศัย บุญไหนที่ทำแล้ว อานิสงส์ มากจะระลึกได้ไว พยายามระลึกบ่อยๆ ไม่ใช่เพื่อให้ได้บุญ แต่เพื่อให้มีสติ ที่เป็นไปทาน ...

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
เซจาน้อย
วันที่ 16 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขณะใด ระลึกนึกถึงบุญ ด้วยจิตที่เป็นอกุศล ด้วยความติดข้องพอใจขณะนั้นเป็นความหลงใหลในบุญ แต่ขณะใดเกิดกุศลจิตระลึกถึงบุญด้วยจิตที่เป็นกุศล ขณะนั้นไม่ได้หลงใหลในบุญ เพราะไม่ได้มีโลภะ ความติดข้องเกิดขึ้นในขณะนั้นครับ

ขอบคุณ และขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
ผิน
วันที่ 17 ก.พ. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ