คำอธิษฐานก่อนนอน

 
ที่พึ่งที่ระลึก
วันที่  7 ก.พ. 2555
หมายเลข  20508
อ่าน  6,649

เคยได้ฟังธรรม แล้วได้ยินว่า ก่อนที่จะนอน พระพุทธเจ้า เคยสอนให้ตั้งจิตก่อนที่จะนอนหลับ โดยมีเนื้อหาที่ตั้งจิตก่อนที่จะหลับนอนประมาณว่า

"ขณะที่หลับขออย่าให้อย่าให้อกุศลทั้งหลาย กามทั้งหลาย ไหลไปตามการหลับของข้าพเจ้า"

ดังนั้น จึงขอเรียนถามว่าขอความเนื้อหาประมาณดังกล่าวมีอยู่ในพระไตรปิฎก เล่มไหน โปรด Link ข้อมูลให้ด้วยครับ

อนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 7 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จากที่กล่าวมาในคำอธิษฐานที่กล่าว ไว้ มีข้อความในพระไตรปิฎก เล่มที่ 23 ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย ใน มหาสุญญตสูตร

ซึ่งสามารถลิงก์ที่ ตัวหนังสือ ในหมวดพระไตรปิฎกข้างล่าง คำว่า พระสุตตันตปิฎกครับ

ข้อความมีว่า

[เล่มที่ 23] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 18

หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตย่อมน้อมไปเพื่อจะนอน เธอย่อมนอนด้วยใส่ใจว่า อกุศลธรรมลามกคืออภิชฌาและโทมนัส จักไม่ครอบงำเราผู้นอนอยู่อย่างนี้ได้ ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องการนอน.


ธรรมเป็นเรื่องละเอียด และต้องพิจารณาด้วยปัญญาอย่างละเอียดรอบคอบ แม้การตั้งจิตอธิษฐานที่จะไม่ให้อกุศลธรรมทั้งหลายเกิดนั้นถูกต้องหรือไม่ครับ

จากข้อความที่ผู้ถามยกมาในคำอธิษฐานนั้น ในความเป็นจริงแล้ว ในส่วนที่ยกพระไตรปิฎกมา หรือ ในความเป็นจริง พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้ตั้งจิตอธิษฐาน โดยการขอ คือ ขออย่าให้มีอกุศล ซึ่งเราจะต้องเข้าใจความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมว่า บังคับบัญชาไม่ได้ เป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่ ขอ หรือ ตั้งใจแล้วจะเป็นอย่างนั้น

แต่พระองค์แสดงธรรมให้เข้าใจ คือ ผู้ที่เข้าใจพระธรรมแล้ว ก็ใส่ใจในพระธรรม ใส่ใจ ในคำสอนในขณะนั้น ขณะที่จะหลับ อกุศลก็ไม่เกิดขึ้น ในขณะที่ใส่ใจ พิจารณาธรรม ที่เป็น สมถะและวิปัสสนา อกุศลธรรมทั้งหลาย ก็ไม่ครอบงำในขณะนั้น ซึ่งหากอ่าน ข้อความในพระไตรปิฎก ที่ยกมา จะมีคำว่า ใส่ใจ และ คำว่า เธอรู้สึกตัวอยู่ ไม่มีคำว่า ขอ หรือ ตั้งจิตอธิษฐานเลยครับ ดังนั้น จึงไม่มีใครใส่ใจ และรู้สึกตัว แต่เป็นหน้าที่ ของสภาพธรรมที่เกิดขึ้น นั่นคือ สติ สัมปชัญญะ หรือ สติและปัญญา ที่รู้สึกตัวในขณะที่กำลังนอน คือ กำลังพิจารณาธรรมในขณะนั้นตามความเป็นจริงของสภาพธรรมที่ไม่ใช่เรา หรือ พิจารณาธรรมในหมวดอื่นๆ อยู่ ขณะนั้น กำลังรู้สึกตัว มีสติ สัมปชัญญะ คือ มีปัญญารู้ตามความเป็นจริง แม้กำลังนอน จึงไม่เป็นอกุศล คือ อกุศล ไม่ครอบงำ ส่วนขณะที่นอนและหลับสนิท เป็น ภวังคจิต ไม่มีการพิจารณาธรรม ที่เป็น สมถะและวิปัสสนาในขณะนั้นครับ

จึงไม่มีเราที่จะพยายามที่จะทำให้อกุศลไม่เกิด ด้วยการอธิษฐานเลย เพราะ เจตนาเจตสิก ความตั้งใจเกิดขึ้น แต่ไม่ใช่สภาพธรรมที่จะไม่ให้อกุศลเกิดครับ แต่ธรรมที่จะ ละ กั้นกระแสกิเลสไม่ให้เกิดขึ้น คือ สติและปัญญาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 7 ก.พ. 2555

ดังนั้น ในสูตรนี้ที่แสดงถึงเรื่องการนอนนั้น พระพุทธเจ้า มุ่งหมายถึง การมีสติสัมปชัญญะ คือ สติและปัญญาก่อนที่จะหลับ ซึ่งก็แล้วแต่ว่าใครจะมีหรือไม่มี หากไม่ได้สะสมปัญญามาเลย หรือ มีปัญญาน้อย จะให้ทำ อธิษฐาน ตั้งจิตอย่างไร ขอ อย่างไร ให้อกุศลไม่เกิด แต่อกุศลก็เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัยได้อย่างง่ายดาย ส่วน ผู้ที่อบรมปัญญามามาก ธรรมก็ทำหน้าที่คล้อยไปตามปัญญาที่มีกำลัง ทั้ง ยืน เดิน นั่งและนอน ก็มีสติ สัมปชัญญะที่รู้ความจริงของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ กำลังมีในขณะที่นอน ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ชื่อว่า มีสติ สัมปชัญะ รู้สึกตัวแม้ในขณะที่นอนครับ

ดังนั้น พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ใช่ให้จะทำ แต่ให้เข้าใจ เมื่อปัญญามาก ย่อมน้อมไปตามที่พระพุทธองค์ทรงแสดง คือ มีสติ สัมปชัญญะในขณะที่ ยืน เดิน นั่ง นอน โดยไม่ต้องไปอธิษฐานที่จะไม่ให้อกุศลเกิดเลยครับ

แทนที่จะอธิษฐานก่อนนอน ก็ฟังพระธรรม พิจารณาพระธรรมก่อนนอน ตามกำลังของปัญญาที่จะเกิด โดยไม่ได้กังวลว่า อกุศลจะเกิดหรือไม่ เพราะเข้าใจถึงความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมครับ

ขออนุโมทนา

[เล่มที่ 11] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 442

สัมปชัญญะ (ความรู้สึกตัวด้วยปัญญา)

แต่ภิกษุใด นอนท่องบ่นอยู่ก็ดี มนสิการกรรมฐาน (พิจารณาธรรม) อยู่ก็ดี หลับไป ภายหลังลุกขึ้น ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า รูปธรรม (รูป) และอรูปธรรม (นาม) ที่เป็นไปในเวลานอนดับไปในขณะลุกขึ้นนั้นแหละ ภิกษุนี้ชื่อว่าเป็นผู้ทำความรู้สึกตัวในการหลับและการตื่น.

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 7 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระผู้มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ตลอด ๔๕ พรรษา ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดก็ตาม ไม่มีข้อความใดที่ส่งเสริมหรือสนับสนุนให้ใครเกิดอกุศลเลย แม้เพียงเล็กน้อย นี้คือ ความเป็นจริง แต่ธรรมเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย รวมทั้งกุศล และ อกุศล ด้วย ไม่มีใครบังคับบัญชาให้กุศล หรือบังคับไม่ให้อกุศลเกิดได้ แต่ก็เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ตามการสะสมของแต่ละบุคคลจริงๆ

แต่สำหรับบุคคลผู้ที่เข้าใจพระธรรม อันเป็นผลมาจากการได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมด้วยความละเอียดรอบคอบ เห็นประโยชน์ของพระธรรม ก็ย่อมจะมีการพิจารณาถึงธรรมที่ได้ยิน ได้ฟัง หรือ ระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏตามความเป็นจริง สภาพธรรมฝ่ายดี กล่าวคือสติและปัญญาเป็นต้น เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ แทนที่จะเป็นอกุศล คล้อยตามความเข้าใจที่ค่อยๆ เจริญขึ้น โดยไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ซึ่งการที่จะมีการพิจารณาถึงธรรมหรือระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่ได้ฟังพระธรรม มีความเข้าใจพระธรรม แต่ถ้าเป็นผู้ไม่เคยได้ฟังพระธรรมเลย ไม่เห็นประโยชน์ของพระธรรมเลย ย่อมไม่สามารถที่ใส่ใจถึงธรรมตลอดจนถึงการระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้เลย ก่อนนอนก็เป็นอกุศล ตื่นขึ้นแล้วก็มากไปด้วยอกุศลอีก ยากที่จะพ้นไปได้ ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Jans
วันที่ 7 ก.พ. 2555
ขอบคุณและขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เซจาน้อย
วันที่ 7 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wanipa
วันที่ 8 ก.พ. 2555

โมทนา ... สาธุ ... ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
jaturong
วันที่ 8 ก.พ. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
wannee.s
วันที่ 8 ก.พ. 2555

ในพระไตรปิฎก มีแสดงไว้ว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนให้มีสติในการหลับ และ ในการตื่นนอน ทรงสอนทุกอย่างที่เป็นไปในกุศล ทาน ศีล ภาวนา แสดงคุณและโทษของกาม แสดงหนทางให้ออกจากสังสารวัฏฏ์ คือ การอบรมปัญญาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ที่พึ่งที่ระลึก
วันที่ 8 ก.พ. 2555

ขอขอบคุณและอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
captpok
วันที่ 8 ก.พ. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
pamali
วันที่ 8 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคเจ้าอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ...

กราบเท้าท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

และขออนุโมทนาในกุศลจิตของท่านอาจาร์สุจินต์ฯ และทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
peem
วันที่ 5 ก.พ. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ