วิธีปฏิบัติตามหลักจริยธรรมในธรรมบท

 
ทรง
วันที่  7 ก.พ. 2555
หมายเลข  20506
อ่าน  2,548

ขอทราบแนวทางหรือวิธีปฏิบัติตามหลักจริยธรรมในธรรมบทครับ แยกเป็นข้อย่อยๆ นะครับ

๑. การปฏิบัติตามธรรมในหมวดธรรมเป็นคู่กัน

๒. การปฏิบัติตามธรรมในหมวดความไม่ประมาท

๓. การปฏิบัติตามธรรมในหมวดหนึ่งในร้อยในพัน

๔. การปฏิบัติตามธรรมในหมวดบัณฑิต

๕. การปฏิบัติตามธรรมในหมวดพระอรหันต์

๖. การปฏิบัติตามธรรมในหมวดคนพาล


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 7 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คาถาธรรมบท เป็นพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ส่วนหนึ่ง ที่อยู่ในหมวด พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย

คำว่า ธรรมบท แปลว่า บทแห่งธรรม คัมภีร์ธรรมบทจึงเป็นคัมภีร์รวบรวมบทธรรมต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าตรัสเป็นพุทธภาษิตแก่บุคคลต่างๆ ต่างกรรม ต่างวาระ ต่างสถานที่ เป็นบทธรรมสั้นๆ ในรูปคาถา ประพันธ์เป็นบทร้อยกรองหรือบทกวี ตามหลัก ฉันทลักษณศาสตร์ ผู้อ่านสามารถจดจำได้ง่าย และมีความไพเราะลึกซึ้งมาก ที่สำคัญ คือ ธรรมบทแต่ละบทล้วนเป็นสัจจธรรม ซึ่ง ในพระไตรปิฎก พระอรรถกถาจารย์ ก็ได้อธิบายเนื้อความของพระคาถา ร้อยกรอง ในแต่ละเรื่องไว้อย่างละเอียดลึกซึ้ง เพื่อให้เข้าใจอย่างถูกต้องครับ ซึ่งในพระคาถาธรรมบท แบ่งเป็น วรรค ทั้งหมด ๒๖ วรรค ยกตัอวย่างเช่น ยมกวรรค อัปปมาทวรรค เป็นต้น และในแต่ละวรรค ก็แบ่งเป็นเรื่องๆ เป็นพระคาถา อาจจะมี ๑๐ พระคาถา เป็นต้นในวรรคหนึ่ง แต่ทั้งหมด ล้วนแล้วแต่เป็นพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง


ซึ่งจากคำถามที่ว่า จะมีวิธีปฏิบัติตาม พระธรรมในส่วน คาถาธรรมบทอย่างไร

เรียนอย่างนี้ครับว่า ก่อนอื่นต้องเข้าใจครับว่า ใครปฏิบัติ เรา หรือ ธรรม ในความเป็นจริง ธรรมปฏิบัติหน้าที่ คือ สติและปัญญาเกิดเมื่อไหร่ ก็ปฏิบัติเมื่อนั้น ดังนั้น เหตุให้เกิดการปฏิบัติตามพระธรรม คือ การฟัง การอ่านในพระธรรมส่วนนั้นให้เข้าใจ เมื่อมีความเข้าใจเกิดขึ้น ในขณะที่อ่าน หรือ ฟังในส่วนคาถาธรรมบท เช่น เรื่องความไม่ผูกโกรธ เมื่ออ่านและฟัง และเข้าใจว่า ความโกรธ เป็นโทษ และความผูกเวร ไม่ดี ปัญญาเกิดเห็นโทษ ก็งด ละเว้นจากบาปในขณะนั้น ชั่วขณะที่ปัญญาเกิด และเข้าใจตามความเป็นจริงของโทษของอกุศล ดังนั้น จึงไม่มีวิธีที่จะทำปฏิบัติ แต่อาศัยการฟัง การอ่านให้เข้าใจนั่นเองครับ เมื่อปัญญาเกิด ธรรมจะปฏิบัติหน้าที่ เป็นไปตามความเข้าใจ ไม่ว่าพระธรรมส่วนใด สำคัญที่ ศึกษาให้เข้าใจอย่างละเอียดรอบคอบ ด้วยจุดประสงค์ที่ถูกต้องเพื่อเข้าใจ ไม่ใช่อย่างอื่น ความเข้าใจที่เกิดขึ้น ก็คือ วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง เพราะนำไปสู่การละกิเลสนั่นเองครับ

พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ทุกคำ จึงเป็นพระปัญญาตรัสรู้ และเป็นไปเพื่อละคลายกิเลส เมื่อผู้ที่อ่านหรือฟังเข้าใจในขณะนั้นครับ จึงไม่ต้องหาวิธีจะทำอย่างไร อ่านและศึกษาให้เข้าใจ นั่นคือ วิธีที่ดีที่สุดในการศึกษาพระธรรมครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 7 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

บุคคลผู้ที่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน เมื่อมีความเข้าใจมากขึ้น ย่อมจะเห็นโทษของอกุศล และเห็นคุณของกุศลธรรมยิ่งขึ้น จึงเป็นเหตุให้อกุศลลดน้อยลง กุศลเพิ่มขึ้นตามกำลังของปัญญาที่เจริญขึ้น ทั้งหมดนั้น ล้วนเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยทั้งสิ้น ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญของใครทั้งสิ้น พระธรรมมีแต่ให้คุณประโยชน์สำหรับผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาและน้อมประพฤติปฏิบัติตามด้วยความจริงใจโดยส่วนเดียว ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายหรือโทษภัยใดๆ เลย

เมื่อศึกษาพระธรรมแล้ว มีแต่ได้สะสมปัญญา ได้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง การเข้าใจพระธรรมจึงเป็นลาภอันประเสริฐ เมื่อมีความเข้าใจพระธรรมมากขึ้น ในชีวิตประจำวันจึงมีการงดเว้นถอยกลับจากอกุศลมากขึ้น แล้วกระทำกุศลเพิ่มขึ้น กาย วาจา และใจ เป็นไปในทางที่ดีเพิ่มขึ้น เพราะถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้ศึกษาพระธรรมเลย นับวันก็จะมีแต่สะสมอกุศลเพิ่มมากยิ่งขึ้น

ดังนั้น ไม่ว่าจะศึกษาพระธรรมในส่วนใด ถ้าได้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ ทั้งนั้น ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เซจาน้อย
วันที่ 7 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 8 ก.พ. 2555

ถ้าเข้าใจธรรมะแล้ว ปฏิบัติธรรมหมวดไหนก็ได้ เพราะถึงกันหมด ตามฐานะอันสมควร ตามความเข้าใจ ตามกำลังของปัญญา ค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ